“ศาลสิงห์โตทอง” นั้นคือรูปปั้นสิงโตขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) บริเวณข้างตึกคณะเศรษฐศาสตร์โดยมีลักษณะหันหน้าไปยังท่าน้ำศิริราช กล่าวคือ หันหน้าออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาราวกับกำลังมองหาผู้เป็นที่รักของตนที่จมลงสู่แม่น้ำนั้น
รูปปั้นสิงโตนี้เป็นหนึ่งใน “หินอับเฉา” หรือ “ตุ๊กตาอับเฉา” อันเป็นสินค้าจากประเทศจีนที่นำมาสู่ประเทศไทยและยังมีประโยชน์ไว้สำหรับใช้ถ่วงใต้ท้องเรือสำเภาจีนให้มีน้ำหนักพอที่จะกินร่องน้ำให้สามารถแล่นข้ามมหาสมุทรได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีตุ๊กตาอับเฉาหรือหินอับเฉานี้มาด้วยกันสองตัวเป็นคู่กันเพื่อให้เรือสำเภาเกิดความสมดุล
ตามตำนานได้เล่าขานกันมาว่า ในวันหนึ่งเกิดพายุลูกใหญ่ที่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ส่งผลให้เรือสำเภาจีนที่เข้ามาค้าขายนั้นอับปางลง ต่อมามีความพยายามที่จะกู้สินค้าเหล่านั้นขึ้นมา จึงได้รูปปั้นสิงโตเพศเมียนี้ขึ้นมาแต่ได้มาแค่เพียงตัวเดียวเท่านั้น รูปปั้นสิงโตเพศชายที่คู่กันกลับไม่สามารถงมขึ้นมาได้หรือบ้างก็เล่าว่า การจมลงสู่ใต้ท้องน้ำของรูปปั้นสิงโตตัวผู้นั้นเกิดจากอุบัติเหตุในการขนสินค้าลงจากเรือ ซึ่งแม้จะเหลือรูปปั้นสิงโตเพศเมียเพียงตัวเดียว
ชาวบ้านก็ยังนำรูปปั้นนี้มาตั้งไว้ในลักษณะหันหน้าเข้าหาฝั่ง แต่ทว่าวันหนึ่งสิงโตเพศเมียนี้กลับหันหน้าออกจากฝั่งไปยังแม่น้ำ โดยไม่ว่าเรื่องเล่าใดก็ตามแต่สิ่งที่ประจักษ์ชัดแก่ผู้ที่ได้พบเห็นนางสิงโตนี้คือแบบอย่างแห่งความรักที่ซื่อสัตย์ ผู้ซึ่งมองหาและรอคอยคู่ของนางเสมอมา ไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยไปสักเท่าใด
มีเรื่องเล่าเมื่อหลายสิบปีก่อนถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ สิงโตทอง ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้ว่ามีอภินิหารนัก ทุกปีจะต้องมีเด็กจมน้ำตายสังเวยไม่ต่ำกว่า ๑ คน ชาวบ้านแถวริมน้ำเจ้าพระยาเชื่อกันว่า ท่านต้องการเอาตัวไปเป็นบริวาร ความเป็นมาของ สิงโตหินนี้เป็นอย่างไรมาตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไหร่ เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแก่โบร่ำโบราณ ที่ปัจจุบันไม่ใคร่จะมีใครรู้ประวัติ หรือจำรายละเอียดในที่มาของสิงโตหินตัวนี้ได้
คนเก่าแก่ละแวกริมแม่น้ำเจ้าพระยา เล่าลือกันว่าความจริงแล้วสิงโตหินที่เห็นนี้เป็นหนึ่งในสามของสิงโตหินที่จมอยู่ใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางกอกน้อย แต่ได้ถูกนำขึ้นมาสักการะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑ ตัว โดยสิงโตหินที่อยู่ใต้น้ำอีก ๒ ตัวนั้น ตัวหนึ่งมีขนาดเท่ากับสิงโตหินในธรรมศาสตร์ แต่อีกตัวมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นแม่สิงโตกับลูกสิงโต ๒ ตัว จึงมีเรื่องเล่าลือกันว่าเคยมีคนได้ยินเสียงร้องของสิงโตตัวลูกในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร้องหาแม่สิงโตและสิงโตตัวเล็กอีกตัวที่อยู่ใต้น้ำ ความที่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้คนเห็นอยู่บ่อยๆ จึงต้องทำการสร้างศาลให้โดยเรียกศาลนี้ว่า ศาลสิงโตทอง เพื่อให้ชาวธรรมศาสตร์และประชาชนที่สัญจรไปมาทางน้ำหรือผู้ประกอบอาชีพในแม่น้ำเจ้าพระยาได้มาสักการะขอความคุ้มครองให้ปลอดภัยหรือบนบานขอในเรื่องอื่น
#ตุ๊ดกูรู : ToodGuRu
เรื่องบางเรื่องไม่ต้องพึ่ง “กูรู” แค่เป็น “กูรู้” ก็พอ
#สาระ #ความรู้ #ตุ๊ดกูรู
Twitter : https://twitter.com/ToodGuRu
Facebook : https://www.facebook.com/toodguru
Maggang : https://toodguru.maggang.com/
Minimore : http://minimore.com/b/RcoPh
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in