ในยุคทีวีดิจิทัลที่ละครโทรทัศน์ตกอยู่ในภาวะซบเซา เป็นที่น่าประหลาดใจว่าละครไทยที่ครองความนิยมไว้ได้อย่างเหนียวแน่นนั้นไม่ใช่ละครหลังข่าวที่ใช้ทุนสร้างสูงหรือใช้นักแสดงชื่อดังช่วงชิงความนิยมจากคนดู แต่กลับเป็นละครพื้นบ้านเช้าวันหยุดทางช่องเจ็ดสีเรื่อง สังข์ทอง
เพศวิถีอันหลากหลายและความเป็น “วาย” ในสังข์ทองเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้แตกต่างออกไปและน่าติดตาม
เช่นเดียวกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสังข์ทองปี 2018 ที่เด่นชัดขึ้นมากจากเดิม ขณะที่หกเขยยุคปี 2007 แสดงอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติของตนด้วยเครื่องแต่งกายเท่านั้น หกเขยจากสังข์ทอง 2018 กลับแสดงอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติที่มีวัฒนธรรมของตนอย่างชัดเจนในหลายรูปแบบ เขยลาวเว้าลาว เขยฝรั่งสปีคอิงลิชง่าย ๆ และมีคนรับใช้คอยแปลไทยให้ แม้แต่เขยจากชาติที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินกับภาษาเช่นพม่าหรือแขก ก็ยังแสดงอัตลักษณ์ทางภาษาด้วยการพูดไทยตามสำเนียงของชาติตนและไม่ใช่เพียงวัฒนธรรมทางภาษาเท่านั้น แต่ความคิดความเชื่อและวิถีชีวิตที่หลากหลายก็ปรากฏชัดขึ้นมากในหลายฉากหลายตอน เช่น ตอนเขยจีนใช้กำลังภายในเหาะมางานเลือกคู่พร้อมคนรับใช้ที่คอยถือหม้อชาจีนตาม หรือเขยแขกใช้ตะเกียงอะลาดินเป็นอาวุธคู่กาย ยิ่งไปกว่านั้น ตัวละครหกเขยยังแสดงปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนต่างชาติต่างภาษาที่มีทั้งความไม่เข้าใจกัน ความขัดแย้งกัน ความพยายามแสดงฐานะที่เหนือกว่ากัน ไปจนถึงความพยายามในการปรับตัวเข้าหากันและช่วยเหลือกันฉันมิตร เช่น การที่เขยแต่ละชาติเคารพพ่อตาตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาติตนจนพาให้พระธิดาผู้เป็นชายาเคอะเขินด้วยความไม่คุ้นเคย การที่เขยพม่าหยิบขวานออกมาอวดเพื่อแสดงอำนาจและเขยฝรั่งก็หยิบปืนออกมาข่มกลับบ้าง หรือการที่ตัวละครเขยฝรั่งพยายามหัดภาษาไทยเพื่อคุยกับชายาและท้าวสามนต์ผู้เป็นพ่อตา เป็นต้น ดูเหมือนว่าภาษาและวัฒนธรรมของคนต่างชาติพันธุ์ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ชมชาวไทยที่จะทำความเข้าใจเรื่องได้อีกต่อไป แต่กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินเรื่องและเป็นตัวชูโรงที่ทำให้เกิดความบันเทิงชวนติดตามได้เป็นอย่างดี
อันที่จริงแม้ประเด็นความหลากหลายทางเพศวิถีและความหลากหลายทางชาติพันธุ์เช่นนี้จะเคยปรากฏอยู่บ้างแล้วในวรรณคดีไทยบางเรื่อง เช่น ในบทเจรจาละครอิเหนาในรัชกาลที่ 5 ที่ตัวละครต่างมีการแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตน หรือเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน แต่ดูเหมือนว่าภายใต้บริบททางสังคมในอดีตที่คนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจหรือขาดการยอมรับสิ่งที่แตกต่างจากตนเอง ความหลากหลายเช่นนี้กลับไม่เคยมีพื้นที่ที่ชัดเจนในละครโทรทัศน์จักร ๆ วงศ์ ๆ หรือแม้แต่ละครทั่วไปมาก่อน กระทั่งในยุคปัจจุบันที่เราคุ้นเคยกับความหลากหลายในสังคมมากขึ้นและแบ่งแยกความต่างของเรากับผู้อื่นน้อยลง ผู้สร้างละครจึงได้โอกาสสอดแทรกความหลากหลายรูปแบบต่าง ๆ ที่เคยถูกมองข้ามและไม่เคยปรากฎอยู่ในวรรณคดีสังข์ทองฉบับเดิมเข้าไปในคราวนี้ และทำให้ความหลากหลายต่าง ๆ ในสังคมไทยที่เคยเลือนรางมีความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการหยิบยกความหลากหลายมานำเสนอให้เห็นชัดเจน
จากการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ข้างต้น ดูเหมือนว่าแนวคิดสำคัญแนวคิดหนึ่งของละครสังข์ทองปี 2018 ที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างชัดเจนก็คือ แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมที่สัมพันธ์กับการตระหนักรู้และยอมรับความหลากหลายของผู้อื่นไปพร้อม ๆ กับการทำความเข้าใจตนเอง อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ดูจะเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อยเนื่องจากเนื้อเรื่องหลักตามสังข์ทองแบบฉบับไม่ได้เปิดช่องให้กับความเท่าเทียมนัก ในทางตรงกันข้าม กลับแสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามองวรรณคดีโบราณผ่านสายตาของคนสมัยใหม่ การซ่อนรูปทองในตัวเจ้าเงาะที่คล้ายจะเป็นคติสอนใจของเรื่องว่าอย่ามองคนเพียงหน้าตา สุดท้ายก็กลับชวนให้ตั้งคำถามว่านางรจนาก็เห็นรูปทองก่อนมิใช่หรือถึงได้โยนพวงมาลัยให้เจ้าเงาะ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าแม้สังข์ทองปี 2018 จะเดินตามเนื้อเรื่องหลักส่วนนี้เหมือนเดิม แต่แทนที่จะเลือกปกปิดการ “เลือกคนที่หน้าตา” ของนางรจนาหรือนำเสนอแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อรักษาภาพลักษณ์นางเอกไว้ ละครเรื่องนี้กลับแหวกแนวด้วยการเน้นพฤติกรรมดังกล่าวของนางรจนาผ่านคำพูดและการกระทำของนางเอง เช่น การวางแผนต่าง ๆ เพื่อทำลายรูปเงาะโดยไม่สนใจความรู้สึกของพระสังข์ผู้เป็นสามี หรือการขอให้พระสังข์ถอดรูปเงาะทิ้งโดยอ้างว่าคนอื่นหาว่านาง
ในการสร้างงานละครโทรทัศน์สักเรื่องขึ้นมานั้น บริบททางสังคมในแต่ละยุคสมัยย่อมมีความสำคัญต่อการสร้างงานอย่างใกล้ชิด เป็นธรรมดาที่ผู้ผลิตมักจะสร้างผลงานในแบบที่คนดูนิยมชมชอบ การที่ละครสังข์ทองในปี 2018 ได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นนี้จึงแสดงให้เห็นว่าขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีรสนิยมการเสพวรรณคดีนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ประโลมโลกแบบเดียวกับที่เคยเป็นมาในอดีตแนวคิดหรือค่านิยมบางประการในภาพรวมของสังคมกลับไม่ได้หยุดอยู่ที่เดิม จะเห็นได้ว่าในทุกวันนี้ ความแตกต่างทางเพศหรือเชื้อชาติไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่นอกสายตาของผู้ชมหรือเป็นอุปสรรคในการเสพงานละครอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ผู้ชมมองเห็น ยอมรับ และให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมและการเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่เป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน ผู้ผลิตละครเรื่องสังข์ทองเองก็สามารถจับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเหล่านี้ได้และรู้จักทดลองปรับเสริมเติมแต่งเรื่องเพื่อนำเสนอความคิดใหม่ ๆ ให้เข้ากับยุคสมัยได้เป็นอย่างดี และในทางกลับกัน อาจกล่าวได้ว่า
การนำวรรณคดีที่ได้รับความนิยมในทุกยุคทุกสมัยอย่างเรื่องสังข์ทองมาสร้างใหม่ด้วยบทละครโทรทัศน์ที่ผสมผสานความเก่ากับความใหม่ได้อย่างกลมกล่อมลงตัวนั้น จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ และสิ่งนี้เองที่อาจเป็นคำตอบสำหรับข้อสงสัยที่ว่าละครสังข์ทองยุคนี้มีดีที่ตรงไหน จวบจนถึงตอนนี้ ละครสังข์ทองยุค 2018 ก็ยังคงออกอากาศอยู่ หากลองเปิดโทรทัศน์ดูละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ในตอนเช้าของช่วงวันหยุดพร้อมคุณตาคุณยายหรือหลาน ๆ ที่บ้านเพื่อสนุกไปกับละครเรื่องนี้ด้วยตนเองก็น่าจะดีไม่น้อย
สามเศียร (ผู้ผลิต)
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน: เปมิกา ภูภากรณ์
ศิษย์เก่านิสิตระดับปริญญาตรี ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชอบอยู่บ้าน ชอบอ่านหนังสือเรื่องเกี่ยวกับเด็ก ๆ หรือครอบครัว ชอบวาดรูปเล่นและชอบจินตนาการเรื่อยเปื่อย ช่วงนี้สนใจ กระทู้รีโนเวทและสร้างบ้านในพันทิปเป็น พิเศษ ปีที่สร้างสรรค์ผลงาน: 2561 บรรณาธิการต้นฉบับ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป กองบรรณาธิการ: ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลาบ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in