“ความหลังได้สอนข้าพเจ้าว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน น้ำตาและรอยยิ้มเป็นแค่ความฝัน
อุปาทานเป็นที่เกิดของความทุกข์...ความหลังสอนข้าพเจ้าให้รู้จักระมัดระวังในการติดต่อกับคน...
ความหลังมีประโยชน์นะท่าน”
ทุกวันนี้เมื่อกล่าวถึง "ปักกิ่ง" เมืองหลวงของมหาอํานาจใหม่อย่างจีน ในสายตาของคน ทั่วไปนั้น ย่อมจะเป็นมหานครแห่งอนาคต เต็มไปด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้า และกําลังทะยานไปสู่การเป็นศูนย์กลางของโลก แต่นั่นไม่ใช่ในความนึกคิดของ ระพินทร์ พรเลิศ และผู้อ่านทั้งหลายซึ่งถูก “ความหลัง” ของสด กูรมะโรหิต ตรึงให้ฝังอยู่ที่นครปักกิ่งในช่วงปี ค.ศ. 1932 อย่างสดใหม่ แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม และก็เป็นปักกิ่งที่ทรงเสน่ห์อันเหลือประหลาดดังที่สด กูรมะโรหิตได้เปิดเรื่องในนวนิยายของตนที่ชื่อ ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง ว่า นครปักกิ่งเป็นเมืองที่ความสวยงามไม่ได้ผูกติดอยู่กับแสงสี ฉูดฉาด ไม่ได้มีงานเต้นรําหรือแฟชั่นโก้หรูเฉกเช่นเมืองเซี่ยงไฮ้ที่ใครหลาย ๆ คนในเวลานั้นรวมถึงเราในปัจจุบันฝันถึง แต่ระพินทร์กลับบรรยายถึงความงามของปักกิ่งที่ยากจะลืมเลือนผ่านธรรมชาติอันร่มรื่น เยือกเย็น เป็นนครแห่งศิลปะที่ประณีต สิ่งเหล่านี้คือจุดเด่นสําคัญที่ทําให้เขามองความงามต่างออกไป เช่นเดียวกับกลวิธี การเขียนของสด กูรมะโรหิต ซึ่งเปรียบได้กับความฝันที่เยือกเย็น สงบสุข เก่าแก่ และประณีตไม่ต่างกับนครโบราณ ด้วยว่าภาษาที่ใช้นั้นเรียบง่าย ทว่าคงความลึกซึ้งเอาไว้ใน คําพูด ไม่ได้ฉวัดเฉวียน รวดเร็ว และโฉบเฉี่ยวอย่างเมืองเซี่ยงไฮ้ แต่กลับตรึงผู้อ่านไว้ได้อย่างแนบแน่น
ปักกิ่งอันสงบเย็นนี้ก่อความหลังของรพินทร์ผ่านเรื่องราวมากมายที่อบอวลด้วยความรักแบบมนุษยธรรม ความมีไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์ และสถานที่แห่งนี้ทําให้เขาได้พบกับผู้คนหลายเชื้อชาติ ต่างศาสนา แม้ว่าจะมีที่มาต่างกัน แต่ระพินทร์ก็มอบความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่พวกเขา ไม่ว่าจะเป็น
วารยา ราเนฟสกายา หรือ
วลาดิมีร์ รวมไปถึงตัวละครอีกมากมายที่เข้ามาร่วมกันก่อความหลัง และผู้คนเหล่านี้ก็ได้สร้างมุมมองที่ลึกซึ้งต่อมนุษย์ให้แก่ระพินทร์อย่างประเมินค่าไม่ได้
หากแต่ปักกิ่งที่งามงดเป็นเพียงฉากเบื้องหน้า ฉากหลังที่ทับซ้อนอยู่นั้นกลับเล่าถึงความทุกข์ยาก ความลําบากของประชาชนทุกชนชั้นในนครหลวงเก่าแก่ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่ขุนศึกแย่งยื้อกันขึ้นมามีอํานาจ ผนวกกับภัยคุกคามภายนอกที่รุกรานเข้ามาในแมนจูเรียของญี่ปุ่นซึ่งคืบคลานเข้าใกล้ปักกิ่งทุกขณะ โศกนาฏกรรมของผู้คนซึ่งเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ การแย่งชิง การต่อสู้ดิ้นรนต่อโชคชะตา และการสูญสลายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามกาลเวลา ถูกแทรกเสริมเข้าไปในเรื่องเล่าแห่งศิลปะอันประณีตในนครปักกิ่งของระพินทร์อย่างแนบเนียน
ท่ามกลางความสนิทสนมของระพินทร์กับผู้คนต่างชนชาติ หลากเผ่าพันธุ์ที่ดําเนินไปอย่างราบรื่น ระพินทร์เองก็ได้บอกเล่าถึงความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไว้ด้วย ทั้งระหว่างชาวจีนกับชาวตะวันตก และแม้แต่ระหว่างชาวตะวันตกด้วยกันเอง ความขัดแย้งทางสีผิว สงคราม และสันนิบาตชาติดังกล่าวล้วนเป็นพื้นหลังของนวนิยายเรื่องนี้ ระพินทร์กําลังบอกเล่าให้เห็นความขัดแย้งของมนุษย์อันสากลผ่านปักกิ่ง และด้วยความเหมาะเจาะอย่างยิ่ง บริบทของเรื่องซึ่งตั้งอยู่บนการเอารัดเอาเปรียบ หน้าไหว้หลังหลอก การต่อสู้แย่งชิงกันของมนุษยชาติ ก็เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยต้องเผชิญสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยในปีพ.ศ. 2475 ซึ่งในบางมิติก็ดูจะทาบทับลงไปในนครปักกิ่งของระพินทร์อย่างเหมาะเจาะราวกับจับวาง
สด กูรมะโรหิตบอกเล่าถึงความหลังอันตราตรึงของนครปักกิ่งผ่านตัวละครหลักซึ่งก็คือ นายระพินทร์ พรเลิศ นักศึกษาชาวไทยที่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่นครปักกิ่ง ประเทศจีน ระพินทร์เป็นชายหนุ่มที่เพิ่งผ่านพบโลกนี้เพียงแค่ยี่สิบกว่าปีเท่านั้น ทว่าความคิดของเขาที่สะท้อนผ่านตัวอักษรทําให้ เห็นว่า เขาเหมือนคนที่ใช้เวลาหลายสิบปีเพ่งพินิจโลกใบนี้ทั้งใบ เขามองโลกอย่างที่คนเข้าใจโลกมอง ระพินทร์เข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งที่มีเกิดและมีดับตามกาลเวลาของมัน ไม่มีสิ่งใดคงอยู่กับเราได้ตลอด ชีวิตในโลกนี้ก็เป็นเพียงบทบาทหนึ่งที่เราได้รับ เหตุการณ์ในชีวิตก็เป็นเสมือนฉากหนึ่งที่เราจะต้องดําเนินไป ในการคบหาสมาคมกับผู้คน ระพินทร์จะระวังเสมอว่าจะสามารถเชื่อใจใครได้มากน้อยแค่ไหน และหากมีบทเรียนว่าเขาไว้ใจใครผิด เขาก็จะจําและพินิจชีวิตด้วยความระมัดระวังยิ่งขึ้น
มีอีกความเชื่อหนึ่งที่ยึดมั่นเขาไว้กับโลกใบนี้และช่วยให้เขาเป็นผู้อยู่อย่างเข้าใจโลก นอกเหนือจากการกระทําของคนเราแล้ว เขายังเชื่อว่า “โชค” คือสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนและบันดาลทุกอย่างโดยไม่มีที่มาที่ไป เราตกต่ำหรือสูงขึ้นได้ก็เพราะโชค โชคมอบให้เราได้ทั้งความยุติธรรมและอยุติธรรม ช่วงชีวิตของระพินทร์หรือแม้แต่ใครก็ตามบนโลกนี้ล้วนยึดโยงอยู่กับโชคอย่างหาคําตอบไม่ได้
หากแต่โชคไม่ใช่ทั้งหมดของระพินทร์ เขาหาได้จํานนต่อมันอย่างหมดรูป ด้วยความที่เป็นคนช่างคิด ช่างพิจารณาถึงสภาวะรอบตัวอย่างรอบคอบ เขาจึงมักตั้งคําถามกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะชีวิตส่วนตัว สังคม หรือการเมือง เขาไม่เพียงแต่ใคร่ครวญถึงปัญหาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังพยายามหาทางออกด้วยตนเองเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนด้วย โดยเฉพาะข้อเสนออันโดดเด่นทางสังคมการเมืองเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ที่ทั้งระพินทร์ และตัวของผู้เขียนอย่างสด กูรมะโรหิต ได้อุทิศชีวิตให้ตราบเท่าวาระสุดท้าย
อีกตัวละครหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงคงจะไม่ได้ก็คือ วารยา ราเนฟสกายา ผู้เป็นบุคคลในฉากสําคัญฉากหนึ่งในชีวิตของระพินทร์ วารยาเป็นหญิงสาวชาวรัสเซียที่ไม่สามารถพบได้ทั่วไป ตามเทียนสินดังที่แอลเลนเพื่อนของระพินทร์กล่าวไว้ วารยาผู้มีดวงตาสะท้อนความเศร้าโศกคนนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ยากจะเข้าใจในเวลาอันแสนสั้น โชคชะตาเล่นตลกกับเธอโดยโยนความเลวร้ายมาให้ไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่เรื่องที่เธอต้องจากแม่ที่รัสเซียมาอาศัยอยู่ที่ฮาร์บินกับพ่อและน้อง ๆ ตั้งแต่เด็กเนื่องจากการปฏิวัติทางการเมืองครั้งสําคัญของรัสเซีย น้อง ๆ ของเธอตายไป ส่วนเธอและพ่อรอดตายและได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่ปักกิ่ง แม้เงินเก็บของครอบครัวจะร่อยหรอมากขึ้นทุกที แต่เธอก็ไม่สามารถหางานที่ ตนเองจะสามารถทําได้ ส่วนพ่อผู้แก่ชราก็ไม่สามารถทํางานได้เช่นกัน นอกจากนี้ ความสาหัสที่เกาะกินหัวใจของเธอก็คือความอับโชคด้านความรัก วารยาผิดหวังกับความรักเมื่อครั้งที่อยู่ฮาร์บิน เธอสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองไปครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งอยู่ปักกิ่ง เธอพบรักกับ เหลียง เพื่อนชายคนหนึ่งของระพินทร์ เธอกับเขาตกลงปลงใจกัน แต่สุดท้าย เหลียงก็สร้างความปวดร้าวให้เธออีกครั้งเพราะต้องไปแต่งงานกับคนที่มีเชื้อชาติและศาสนาเดียวกัน
วารยาจึงเป็นภาพแทนของประชาชนคนหนึ่งซึ่งถูกโชคชะตาย่ำยีจนเกือบจะปลิดชีวิตในโลกนี้ของตนด้วยลูกปืน และเป็นภาพแทนของประชาชนที่ยึดมั่นในการทําความดีแต่กลับไม่ได้รับความดีนั้นตอบแทน สิ่งที่ตอบแทนเธอมาตลอดคือความเศร้าโศกที่สะท้อนผ่านแววตาใสซื่อของเธอ วารยาเกือบจะถอดใจและมุ่งไปสู่เส้นทางชีวิตที่เลวร้าย แต่กลับมีไมตรีจิตของกัลยาณมิตรอย่างระพินทร์รองรับชีวิตที่พังทลายของเธอไว้ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยมนุษยธรรม ระพินทร์ผู้มองโลกและมองคนอย่างลึกซึ้งได้ศึกษาชีวิตของวารยา รวมถึงพยายามเข้าใจเธออย่างแท้จริงตามระเบียบของบุคคลที่ได้บอกเล่าไว้ว่าเขาคือ “นักศึกษาชีวิต” ผู้ชอบเข้าใจความเป็นมนุษย์ วารยาจึงใช้ชีวิตต่อไปด้วยความสงบนิ่งและหวังจะซึมซาบเข้าไปในหัวใจของระพินทร์บ้าง แต่ด้วยความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และความตั้งใจของวลาดิมีร์ที่ต้องการให้เธอหลุดพ้นจากความรักความใคร่ทั้งปวง ทําให้ระพินทร์จําต้องแยกจากชีวิตของตนกับวารยาและปล่อยให้เธอได้เริ่มชีวิตใหม่ที่สวยงาม ความรักใคร่ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ระพินทร์เลือกที่จะทิ้งและประคองความรักนั้นให้เป็นความรักเยี่ยงมนุษยธรรม
วลาดิมีร์ ซึ่งเป็นพ่อของวารยา เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่พบได้ยากยิ่งในนวนิยายทั่วไป วลาดิมีร์เป็นญาติเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ในชีวิตของวารยา เมื่อเขาเห็นว่าเธอต้องทํางานหาเงินเลี้ยงดูพ่อผู้แก่เฒ่าอย่างเขา เพื่อสละความทุกข์ยากที่หนักหนาสําหรับลูกสาว เขาจึงตัดสินใจปลิดชีวิตของ ตัวเองด้วยการยิงปืนเข้าที่ขั้วหัวใจและทรุดแทรกอยู่ภายใต้แผ่นหิมะแห่งนครปักกิ่ง เรื่องราวความรัก ระหว่างวลาดิมีร์และวารยาเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความสัมพันธ์ในเรื่อง หากมองอย่างผิวเผินอาจเห็นว่า วลาดิมีร์ได้ทอดทิ้งลูกสาวที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวไว้ในโลกที่โหดร้ายและกัดกร่อนเธอจนแทบไม่หลงเหลือความเป็นคน แต่เมื่อพิจารณาดูให้ละเอียด จะเห็นว่าวลาดิมีร์มิได้ตัดช่องน้อยแต่พอตัว แต่เขาเชื่อว่าเมื่อตัดตัวเองซึ่งเป็นบ่วงหนึ่งที่ทําให้ลูกสาวต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ยากออกไป วารยาจะได้มีชีวิตใหม่ที่สุขสงบขึ้น
เรื่องราวที่ยากจะคาดเดาเนื่องจากอํานาจของโชคชะตาและปัญหาบ้านเมืองที่แปรปรวนเหล่านี้ เคลื่อนคล้อยไปพร้อมๆ กับบางสิ่งที่เป็นระเบียบยิ่งคือฤดูกาล ผู้เขียนเลือกใช้ฤดูกาลเป็นตัวขับเคลื่อนเวลาผ่านคําบอกเล่าของระพินทร์ พรเลิศ ให้ได้ทราบถึงจุดเริ่มต้นความหลังของเขา เริ่มตั้งแต่ “สปริง” หรือฤดูใบไม้ผลิที่เป็นภาพแทนความรักในมนุษยธรรมที่เริ่มจะผลิบานของระพินทร์ที่มีให้ต่อ วารยา ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และเมื่อฤดูหนาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความทุกข์ยากหนาวเหน็บได้ผันผ่าน ก็แสดงให้เห็นถึงการพรากจากกันของวารยาและระพินทร์ ที่แม้ภายในใจจะผูกพันกันอย่างไม่สามารถลืมเลือนได้ แต่ก็จําต้องแยกไปอยู่คนละตำแหน่งแห่งที่ ฤดูกาลที่เคลื่อนไปนี้เปรียบเสมือนแนวคิดหนึ่งที่ระพินทร์ยึดถืออยู่ตลอด นั่นก็คือไม่มีสิ่งใดคงอยู่ได้ตลอดกาล เหมือนกับฤดูที่ต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป เหมือนกับชีวิตที่มีสุข มีทุกข์ มีขึ้น มีลง เมื่อมีสุขก็พึงอย่าระเริงใจจนหลงลืมสิ่งต่างๆ เมื่อมีทุกข์ ก็พึงอย่าเศร้าหมอง ชีวิตก็มีเพียงเท่านี้ เราเป็นหมากให้โชคชะตาขับเคลื่อนไปสู่สิ่งต่างๆ เราก็ไม่ควรหยุดนิ่งเฝ้ารอชะตาบันดาลเพียงอย่างเดียว แต่ควรทําตนให้เป็นประโยชน์เพื่อได้ในสิ่งที่เราสมควรได้รับ อนิจจา! โชคชะตาก็เฉกเช่นฤดูกาลที่หมุนเวียนกลับมาที่เดิมอยู่เสมอ เพราะเป็นสัจธรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ข้อเสนอต่อสังคมการเมืองของ สด กูรมะโรหิตก็เช่นกัน สดได้เล่าถึงเรื่องราวการเมืองและสังคมซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นไว้ผ่านตัวละครระพินทร์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่สร้างความขัดแย้งให้กับหลายฝ่ายอย่าง “ความเสมอภาค” ในความตอนหนึ่ง ระพินทร์บอกเล่าถึงความเสมอภาคในยุคสมัยนั้นผ่านข้อความที่ว่า
“ตราบใดที่ชาติมหาอํานาจยังเห็นแก่ตัวอยู่ นั่นคือตราบใดที่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ การเมืองและทางผิวยังมีอยู่มิได้ ตราบนั้นเราก็จะไม่พูดกันถึงสันติภาพอีก”
ปัญหาเรื่องสันติภาพและความเสมอภาคซึ่งเป็นปัญหาสําคัญในสมัยนั้น ยังคงเป็นปัญหาสําคัญที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนในสมัยนี้ การแบ่งแยกชาติพันธุ์ การแบ่งชนชั้น และสีผิว ล้วนเป็นสิ่งที่ สด กูรมะ โรหิตได้พูดถึงเมื่อแปดสิบกว่าปีที่แล้ว งานเขียนชิ้นนี้จึงไม่ได้ล้าหลังไปแต่อย่างใด หากแต่เป็นการหมุนเวียนกลับมาให้มนุษยชาติได้ประสบพบเจออีกครั้งไม่ต่างจากฤดูกาล จะต่างกันก็แต่เพียงว่า เขาหาใช่ผู้ที่เฝ้าดูฤดูกาลใต้แดดร้อนจ้าหรือปล่อยให้เสื้อผ้าเปียกปอน แต่ได้เสนอทางออกต่อหนทาง สุดโต่งทั้งหลายผ่านสหกรณ์อันเป็นฉัตรกางกั้นชั้นดีสําหรับมวลมนุษยชาติที่ประสงค์จะมีสันติภาพ ความเสมอภาค และเสรีภาพ รวมถึงเป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะยุคสมัยใดอีกด้วย
ท้ายที่สุด ไม่ผิดนัก หากเราจะกล่าวว่า
ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง หาใช่เพียงนวนิยาย ย้อนยุคที่อบอวลไปด้วยสายสัมพันธ์หอมกรุ่นของหนุ่มสาวท่ามกลางความขัดแย้งที่กําลังคุกรุ่น ซึ่งเล่าโดยชายหนุ่มผู้เข้าอกเข้าใจต่ออีกฝ่ายซึ่งกําลังทุกข์ยาก แต่นวนิยายเรื่องนี้กำลังพูดถึงสายสัมพันธ์ที่ ยิ่งใหญ่ระหว่างมนุษย์ซึ่งสด กูรมะโรหิตนิยามว่าคือ “มนุษยธรรม” ภายใต้เรื่องเล่าที่บรรยายถึงการกดขี่แก่งแย่งและสภาพสังคมที่กําลังจะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสุดโต่งในนวนิยาย สดได้สร้างสรรค์ให้ระพินทร์พยายามหาทางออกจากความอดอยากยากเข็ญของประชาชนที่ทุกข์ยากอยู่ในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงแค่สําหรับวารยาผู้น่าสงสาร แต่เป็นทางออกให้กับโลกทั้งใบผ่านข้อเสนออันหนักแน่นเรื่องสหกรณ์ซึ่งสอดรับกับแนวคิดของสดในโลกความเป็นจริง นี่จึงไม่ใช่นิยายที่บันทึกเรื่องความรัก ความหลัง แต่เป็นมนุษยธรรมที่คนคนหนึ่งจะสามารถทําเพื่อคนคนหนึ่งได้ และสด กูรมะโรหิตได้แปรมนุษยธรรมนั้นเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ ดังนั้น จึงไม่แปลกหากจะกล่าวว่า เรื่องเล่าและข้อเสนอของ “สด” ก็จะยัง “สดใหม่” เสมอในบรรณพิภพและสังคมนี้
บรรณานุกรมสด กูรมะโรหิต. ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสด-เนียน กูรมะไรหิต, 2552.
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น
ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ
“เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563
อ่านฉบับ E-book ได้ที่ .....
หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน: ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิสด-เนียน
กูรมะโรหิต ประจำปีการศึกษา 2561 เขียนขึ้นขณะเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน: จิรภัทร บุณยะกาญจน
ศิษย์เก่านิสิตระดับปริญญาตรี ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลงรักตัวหนังสือในวรรณกรรมพอ ๆ กับรัก
ภาพ และเสียงในภาพยนตร์ ใช้เวลาว่างไปกับการคิด (มาก)
และการขีดเขียน แต่ไม่เคยมีสิ่งไหนควรค่าแก่การให้ความ สนใจมาก
ไปกว่าการนอนหลับอย่างเพียงพอ
ภาพประกอบ: จุฬารัตน์ กุหลาบ
บรรณาธิการต้นฉบับ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป
กองบรรณาธิการ: ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ
ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลาบ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in