เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
NON-Ficmenalin
นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ (novelist as a profession)
  • "เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพราะได้รับคำขอจากสำนักพิมพ์ แต่มาจากความอยากเขียนเองตั้งแต่แรก พูดได้ว่าเป็นเรื่องที่ผมเริ่มเขียนเพื่อตัวของผมเอง"
    - ฮารูกิ มูราคามิ



    นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ (novelist as a profession)
    職業としての小説家

    ผู้เขียน: ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami/春樹 村上)
    ผู้แปล: อรรถ บุญนาค และ มุทิตา พานิช
    สนพ. กำมะหยี่, พิมพ์ครั้งที่ 1, ตุลาคม 2560

              นี่เป็นหนังสือเล่มแรก นักเขียนคนแรก ที่เราไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือ (ฉบับแปลไทย และเฮียตัวจริงไม่ได้มา) งานจัดที่ร้านก็องดิด (Candide Books) ตรงคลองสาน ซึ่งเราอยากไปร้านนี้มานานมาก แต่ยังลีลาไม่กล้าไปสักที (เป็นพวกกลัวสถานที่ที่ไม่เคยไป แถมยังหลงทิศหลงทางด้วยแหละ ?) ปะเหมาะเคราะห์ดีทางร้านจัดงานเสวนาเล็ก ๆ เปิดตัว นักเขียนวนิยายเป็นอาชีพ พร้อมเปิดขายด้วย เราก็เลยตัดสินใจลองไปดู อยากฟังว่าเขาจะพูดอะไรกันยังไง แต่ปรากฏว่าไปช้า เลยได้ที่นั่งซะไกล สรุปฟังไม่ค่อยได้ยินเท่าไร แอบเสียดาย ส่วนที่ประทับใจในงานคือเขาจัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเมนูจากในผลงานของเฮียทั้งหมด ชอบมาก เรียบง่าย อบอุ่น โก้เก๋ เป็นกันเอง

              มาพูดกันถึงตัวหนังสือ นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพอาจจะไม่ใช่คู่มือสำหรับการเขียนนิยาย หากแต่เป็นการพูดคุย บอกเล่าประสบการณ์ ความรู้สึกนึกคิดของนักเขียนผู้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งในสไตล์ของงานเขียน/ดำเนินเรื่อง และความคิดความอ่าน ดังที่เห็นจากผลงานต่าง ๆ ของเขา ทั้งที่เป็นนิยาย, เรื่องสั้น, บทความ/บทสัมภาษณ์, ฯลฯ อย่างฮารูกิ มูราคามิ ถ้าคุณสงสัยว่านักเขียนนวนิยายที่มีผลงานโด่งดังอย่างเขาเริ่มต้นทำงานยังไง มีแบบแผนเช่นไร และหนทางในวงการนักเขียนของเขาเป็นแบบไหน เขารู้สึกอย่างไรกับรางวัลต่าง ๆ ทั้งทีไ่ด้และพลาดไป เล่มนี้อาจให้คำตอบ

              จากประวัติส่วนตัวย่อ ๆ ที่เคยอ่าน เฮียมีนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากทั้งคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นครูสอนวรรณกรรมญี่ปุ่นทั้งคู่ พอมาอ่าน นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ เล่มนี้ก็ทำให้รู้มากขึ้นอีกว่า เฮียกับการอ่านนั้นผูกพันกันลึกซึ้ง เรียกว่าหนอนหนังสือตัวยงคนหนึ่งเลยแหละ แล้วแกอ่านวรรณกรรมเด่น ๆ ของนักเขียนดังระดับโลกเลยด้วยนะ อ่านภาษาอังกฤษด้วย ดูจากตอนหนึ่งที่แกกล่าวถึงการอ่านหนังสือว่าคือความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต "ไม่ว่าจะยุ่งขนาดไหนหรือชีวิตข้นแค้นขนาดไหน การอ่านหนังสือและฟังดนตรีคือความปิติอันยิ่งใหญ่สืบเนื่องมาไม่เคยเปลี่ยน มีเพียงความปิตินั้นไม่มีใครขโมยไปจากผมได้" (หน้า 39) ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะไหน งานเยอะแค่ไหนก็จะหาจังหวะอ่านจนได้ เรานับถือคนแบบนี้อะ ตัวเราแม้จะชอบอ่าน แต่ก็ยังมีช่วงที่ห่าง ๆ ไป เพราะขี้เกียจ ยิ่งถ้ายุ่ง ๆ ก็จะไม่อ่านเลย เอาเวลาไปเล่นเกมแทน ?

              นอกจากนี้ยังได้อ่านเรื่องสำคัญอีกอย่าง คือความรู้สึกที่เฮียมีต่อนักอ่านที่อ่านผลงานของเฮีย ถ้าคนที่เป็นแฟนมาอ่าน เชื่อว่าต้องยิ้มไม่หุบและคงยิ่งคงความชื่นชอบต่อไปได้ด้วยกำลังใจอันเหนียวแน่น แม้ว่าเฮียจะบอกว่าเขียนเพื่อตัวเอง ไม่ได้คำนึงถึงใครสักคน/คนอ่านเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินไป และ "ไม่ว่าจะเขียนอะไรยังไง สุดท้ายก็ถูกตำหนิอยู่ดี" (หน้า 243) แต่หากอ่านโดยละเอียดจะพบว่าหลักการนี้น่าจะลดแรงกดดัน และทำให้คงรูปแบบเฉพาะตัวไว้ได้ ไม่ได้เขียนเพื่อเอาใจใคร ไม่ได้เขียนเพื่อรักษาฐานนักอ่าน หากแต่เขียนเพื่อรังสรรค์ผลงานที่ตนอยากถ่ายทอดออกมาด้วยความสนุกและความสุขที่ได้เขียน

              อาจจะฟังเหมือนไม่แคร์ว่าใครจะอ่าน หรือรู้สึกอย่างไรกับผลงาน แต่จริง ๆ แล้วกับนักอ่านแล้วนั้นเฮียแกใส่ใจและรู้สึกขอบคุณพวกเราอยู่นะ แม้แต่พวกรางวัลทั้งหลายแหล่ รวมทั้งรางวัลโนเบลที่เรา ๆ ช่วยกันลุ้นพี่ท่านอยู่ทุกปี แล้วก็ผิดหวัง(แทน)อยู่เนือง ๆ นั้น สำหรับเฮียแล้วรางวัลพวกนั้นยังไม่อาจเทียบเท่ากับคนที่ซื้ิอหนังสือแกอ่าน อาจจะฟังดูหลงตัวเองไปหน่อย แต่เฮียบอกไว้ประมาณนี้แหละ "สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้อ่านที่แสนดี ไม่ว่าจะเป็นรางวัลทางวรรกรรมระดับไหน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือบทวิจารณ์ดี ๆ หากเทียบกันแล้วล้วนไม่มีความหมายที่แท้จริงเท่ากับผู้อ่านที่สละเงินซื้อหนังสือของผมไปอ่าน" (หน้า 69) โอ๊ย ตอนอ่านนะ ยิ้มไม่หุบโล้ยยยยย น่ารักขนาดนี้ หนูจะอุดหนุนเฮียเรื่อยไปเลยค่าาา (ตอนไปญี่ปุ่นนี่ก็ไปสอยหนังสือเฮียมานะ แม้จะอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกก็เถอะ เอามาเก็บให้ชื่นใจ) นับจากนี้พอถึงช่วงโนเบล เราคงเลิกลุ้นแล้วล่ะ เจ้าตัวเขาบอกเองว่าไม่อยากได้ เพราะได้มาก็เปรียบเหมือนถือเผือกร้อน เพิ่มความไม่สบายใจมากกว่า เราก็อย่าไปยัดเยียดให้แกเลย ?

              จริง ๆ มีอีกมากมายหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่คงเขียนลงในบล็อกนี้ไม่ได้ทั้งหมด (จริง ๆ คือขี้เกียจแล้ว) ใครสนใจลองหามาอ่านดู เฮียแกยังมีเล่าถึงขั้นตอนในการทำงาน เหตุผลที่ช่วงออกผลงานแรก ๆ ต้องย้ายไปอยู่เมืองนอก ผู้คนต่าง ๆ ที่ได้พบเจอในวงการ รวมทั้งนักแปลที่แปลงานแกเป็นภาษาอังกฤษ การเริ่มมีชื่อเสียงในต่างประเทศ ฯลฯ บางช่วงบางตอนอ่านแล้วก็พอจะเข้าใจว่าทำไมบางคนถึงไม่ชอบ/หรือหมั่นไส้แก 555 ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจเฮียหรืองานของเฮียมากขึ้นมาอีกนิด เผลอ ๆ สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนก็อาจได้อะไรดี ๆ เป็นแนวทางต่อไปก็ได้นะ

              สุดท้ายนี้ บล็อกนี้เป็นบล็อกสุดท้ายของปี 2560 (2017) หนังสือเล่มนี้ก็เป็นเล่มสุดท้ายที่อ่านจบในปีนี้เช่นกัน ขอใช้พื้นที่ตรงนี้อวยพรปีใหม่ให้กับทุกคนที่เข้ามาอ่านจนถึงตรงนี้ หรืออาจถึงขั้นติดตามอ่านกันมาหลายบล็อกหลายเรื่องแล้ว สวัสดีปีใหม่นะคะ ขอให้สุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ อะไรไม่ดีก็ให้ผ่านพ้นไปกับปีเก่า และได้อ่านหนังสือสนุก ๆ กันเยอะ ๆ เลยเนอะ ส่วนคืนนี้ ถ้าสนใจมาร่วมอ่านหนังสือข้ามปีกันไหมคะ เรากำลังอ่าน เทียบท้าปฐพี (且试天下) อยู่ สนุกมาก น่าจะเป็นบล็อกแรกของปี 2561(2018) ล่ะ Happy New Year ค่า ? 


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in