เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SCIENCE + SKINCAREletPBwrite
กันแดดสามัญประจำบ้าน
  •        ภายใต้อากาศที่ร้อนระอุและแสงแดดที่มีอนุภาพขั้นสูงในการทำลายผิวหนังถึงแม้จะเป็นปัญหาที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาปากท้องแต่ก็สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ และคุณต้องไม่อยากได้ยินชื่อมันอย่างแน่นอนนั่นก็คือ มะเร็ง....

          การที่ผิวหนังของเราสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงเท่ากับว่าเราได้รับรังสี Ultraviolet (UV) ซึ่งก็มีทั้ง UVA และ UVB โดยรังสี UV ทั้งสองชนิดเมื่อเราได้รับในปริมาณที่มากพอจะทำลาย DNA ของเซลล์ผิวหนังและทำให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา ( Melanoma ) ในส่วนของ UVB หลังจากได้รับรังสีเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผิวของเรามีสีที่เข้มขึ้น ส่วน UVA นั้นมีความสามารถในการเข้าสู่ชั้นผิวหนังที่ลึกกว่า UVB จึงทำให้เกิดการทำลาย DNA ของผิวหนังชั้นที่ลึกลงไป รวมทั้งสร้างสารอนุมูลอิสระขึ้นมาทำให้เกิดเป็นริ้วรอยของผิวหนัง ผิวดูแก่กว่าวัย รวมทั้งมีการกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและสุดท้ายจึงพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนัง

          การลงทุนที่นอกจากจะคุ้มค่าทั้งต่อสุขภาพและทั้งเงินในบัญชี (ที่อาจต้องแบ่งไปให้กับคลีนิคเสริมความงามในอนาคต) ก็คงหนีไม่พ้นการลงทุนในการซื้อครีมกันแดดดีๆมาครอบครองและใช้เป็นประจำทุกวัน 


     การเลือกซื้อครีมกันแดด

           เมื่อพูดถึงการเลือกซื้อครีมกันแดดแต่ละคนย่อมมีปัจจัยที่ช่วยในการเลือกซื้อต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อโดยดูจากราคา ยี่ห้อ รีวิวจากผู้ใช้จริง หรือเลือกดูจากปริมาณ SPF

            SPF หรือ Sun Protection Factors เป็นค่าที่ใช้บอกปริมาณเวลาที่เราสามารถอยู่ภายใต้แสงแดดได้โดยที่ผิวไม่ถูกทำลายจาก UVB เช่นเมื่อเราทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 นั่นหมายความว่าเราจะสามารถทำกิจกรรมนอกร่มได้โดยไม่ถูก UVB ทำลายผิวได้นาน 50 เท่ามากกว่าคนที่ไม่ทาครีมกันแดด มาถึงตรงนี้หลายคนคงคิดว่าถ้าอย่างนั้นยิ่ง SPF สูงก็ยิ่งดีน่ะสิ แต่ต้องช้าก่อนเพราะมีรายงายที่น่าเชื่อถือโดย EWG ประเทศสหรัฐอเมริกาชี้แจงว่า สำหรับผู้ที่ต้องเจอแดดเป็นประจำรวมทั้งผู้ที่มีผิวเซนซิทีฟต่อแสงแดดมาก SPF 30-50 ก็เพียงพอแล้ว โดย SPF 50 มีความสามารถในการป้องกัน UVB ถึง 98% (เมื่อทาอย่างถูกต้อง) และผลิตภัณฑ์กันแดดที่มี SPF 100 มีความสามารถในการป้องกัน UVB 99% นั่นหมายความว่าปริมาณ SPF ที่มากกว่า 50 มีความสามารถในการป้องกันรังสี UVB มากขึ้นไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ  

          นอกจาก SPF แล้วการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดโดยดูจากประเภทและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นๆก็จะช่วยให้เราสามารถเลือกใช้กันแดดที่เหมาะสมกับตัวเราเองและทำให้เราพึงพอใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์นั้นต่อไปได้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ที่เราใช้มีผลอย่างมากในการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและกันแดดเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ทุกวันอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันผิวของเราจากแสงแดด ผลิตภัณฑ์กันแดดแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

    1. Physical sunscreen กันแดดแบบฟิสิคัลจะทำหน้าที่ในการสะท้อนรังสี UV ออกจากผิวหนังโดยกันแดดแบบฟิสิคัลจะมีส่วนประกอบสำคัญคือ Zinc Oxide และ Titanium Dioxide ซึ่งส่วนประกอบทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นที่ยอมรับโดยองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ว่าผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีส่วนประกอบของสารทั้งสองชนิดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ “ Safe and Effective” คือทั้งปลอดภัยในการใช้และมีคุณสมบัติในการป้องกันทั้งรังสี UVA และ UVB ได้ดีมาก ข้อเสียอย่างเดียวที่พบได้จากผู้ที่ใช้ Physical sunscreen ก็คือคราบสีขาวที่อาจพบได้บ่อยจาก nanoparticle หรืออนุภาคขนาดเล็กระดับนาโนของ Zinc Oxide และ Titanium Dioxide 
    2. Chemical sunscreen ผลิตภัณฑ์กันแดดแบบเคมีจะทำหน้าที่ในการดูดซับรังสี UV ไว้จึงจำเป็นที่จะต้องมีส่วนประกอบที่เรียกว่า UV filter ซึ่งก็จะมีทั้ง UVB filter และ UVA filter ตัว filter นี้ก็จะเป็นสารเคมีต่างๆเช่น UVB filter : Octinosate, Octisalate, Octocrylene ส่วนของ UVA filters ก็มีตัวอย่างเช่น Oxybenzone, Avobenzone, Bisdisulizole disodium, Ecamsule เป็นต้น อย่างไรก็ดีจากการศึกษาทำให้มีความกังวลต่อการใช้ chemical sunscreen เนื่องจากส่วนประกอบของกันแดดชนิดนี้ส่วนมากโดยเฉพาะ Oxybenzone สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ที่บริเวณผิวหนัง ( Rodrigue 2006 ) อีกทั้งยังสามารถถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด และถูกตรวจพบในน้ำนมของหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่าการใช้กันแดดที่มีส่วนประกอบของ Ocxybenzone ในระยะยาวจะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของผู้ใช้แต่จากงานวิจัยของ Krause, 2012 พบว่า Oxybenzone มีความเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนอ่อนๆ จึงอาจมีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเพศได้ นอกจาก Oxybenzone แล้ว Octinoxate, Octisalate , Homosalate และ Octocrylene ก็สามารถตรวจพบในกระแสเลือดได้เช่นกัน 


    ก็เหมือนกับการซื้ออาหารที่เราต้องพลิกหลังซองเพื่อดูปริมาณโภชนาการที่จะได้รับ กันแดดก็เช่นกันเราจำเป็นที่จะต้องดูส่วนประกอบเพื่อหลีกเลี่ยงสารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้และอันตรายต่อผิวและร่างกายเรา นอกจากนี้แล้วการใช้กันแดดที่มีคุณสมบัติในการป้องกันทั้ง UVA และ UVB ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกซื้อกันแดด เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ที่ขายตามท้องตลาดในปัจจุบันถึงแม้จะมีการจ่าหน้าว่าเป็น Broad spectrum คือป้องกันทั้ง UVA และ UVB แต่ก็พบว่าความสามารถในการป้องกัน UVA นั้นมีน้อยกว่ามากทั้งที่ปัญหาของผิวพรรณที่เกิดจาก UVA เป็นปัญหาที่รุนแรงกว่า
           ถ้า SPF เป็นตัวชี้วัดเวลาที่ UVB สามารถทำร้ายผิวเราได้ PA หรือ Protection Grade of UVA ก็เป็นตัวชี้วัดที่บอกเราว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆสามารถป้องกันรังสี UVA ได้ในระดับไหน โดยตัวชี้วัดนี้ถูกพัฒนาขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น แบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ 
    - PA+  คือ ระดับการป้องกัน UVA ต่ำ
    - PA++ คือ ระดับการป้องกัน UVA ปานกลาง
    - PA+++ คือระดับการป้องกัน UVA สูง
    นอกจากเราจะเลือกซื้อกันแดดจากระดับ PA แล้วส่วนประกอบของกันแดดที่เป็นที่ยอมรับว่าสามารถป้องกันรังสี UVA ได้ดีมาก ก็คือ Avobenzone และ Zinc oxide


    วิธีการใช้ครีมกันแดด

         คุณคิดว่าใครควรจะใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดมากที่สุด.....คำตอบที่ถูกต้องคือ ทุกคนค่ะ ไม่ว่าจะเพศไหนก็ควรใช้กันแดดเพราะเราทุกคนต้องพบเจอกับแสงแดดในทุกวันและกันแดดสามารถเริ่มใช้ได้ตั้งแต่เด็กที่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนแนะนำให้ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดป้องกันแสงแดดเมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมนอกร่มและหลีกเลี่ยงการอยู่ภายใต้แสงแดดเป็นเวลานาน

          ปริมาณกันแดดที่เหมาะสมในการใช้นั้น Skin Cancer Foundation ได้แนะนำว่าให้ใช้กันแดดปริมาณ 1 ออนซ์สำหรับการทาทั่วร่างกาย แต่เนื่องจากการตวงอาจทำได้ยากในชีวิตจริงผู้เขียนเลยขอแนะนำว่าสำหรับผิวหน้าให้ใช้ปริมาณ 2 ข้อนิ้วทาทั่วใบหน้าและทาซ้ำ 2 ครั้งอย่าลืมทาบริเวณหู และหลังคอ ส่วนผิวกายก็เน้นทาให้ทั่วครบทุกส่วนและควรทาซ้ำ 2 ครั้งเช่นกัน 

         อย่าลืมว่ากันแดดมีเวลาในการทำงานของมันและในชีวิตจริงเราเจอทั้งแสงแดดรุนแรง เหงื่อที่ไหลก็ชะล้างกันแดดเราออกไปได้จึงมีการแนะนำจาก FDA ว่าผู้ที่ใช้กันแดดควรทากันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมงพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด 


    เรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้หรืออาจจะรู้แล้วเกี่ยวกับกันแดด

    • ผลิตภัณฑ์กันแดดแบบสเปรย์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการหายใจเอาสารกันแดดเข้าไปในทางดินหายใจและผลิตภัณฑ์กันแดดแบบสเปรย์อาจจะให้การป้องกันแสงแดดได้ไม่ครอบคลุมพื้นผิวเท่ากับกันแดดแบบครีม
    • ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ ( Retinyl palmitate, Retinyl acetate, Retinyl linoleate และ Retinol) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เนื่องจากวิตามินเอมีความสามารถในการเพิ่มการเจริญของเซลล์ผิวหนัง (Hyperplasia) และเมื่อวิตามินเอสัมผัสกับแสงแดดจะทำให้เกิดเป็นสารอนุมูลอิสระที่สามารถทำลาย DNA ของเซลล์ผิวหนังได้ จึงควรหลีกเลี่ยงกันแดดที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ 
    • ผลิตภัณฑ์กันแดดแบบกันน้ำหรือ Waterproof sunscreen ในความเป็นจริงแล้วไม่มีกันแดดชนิดไหนที่ สามารถกันน้ำได้ 100% มีการทดสอบผลิตภัณฑ์กันแดดที่เขียนว่าสามารถกันน้ำได้พบว่าอันที่จริงแล้วสามารถกันได้เพียง 40 นาทีของการว่ายน้ำหรือดีที่สุดคือ 80 นาที


    โดยสรุปแล้วผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นเพียงหนึ่งในตัวช่วยในการถนอมผิวเราที่สำคัญคือการใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดผิวเราจากแสงแดดและไม่ทำกิจกรรมนอกร่มนานจนเกินไป ผู้เขียนแนะนำให้ทุกท่านมีกันแดดติดบ้านไว้เหมือนยาสามัญประจำบ้านและใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันอันตรายต่อผิวดังที่กล่าวมาข้างต้น 




    Source :

    Ewg. (n.d.). EWG's 2019 Guide to Safer Sunscreens. Retrieved March 6, 2020, from https://www.ewg.org/sunscreen/report/imperfect-protection/


    Richard, E. G. (2019, June). Sunscreen. Retrieved April 30, 2020, from https://www.skincancer.org/skin-cancer-prevention/sun-protection/sunscreen/


    Harvard Health Publishing. (2018, July). The science of sunscreen. Retrieved April 30, 2020, from https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/the-science-of-sunscreen


    Matta, M. K., Zusterzeel, R., Pilli, N. R., Patel, V., Volpe, D. A., Florian, J., … Strauss, D. G. (2019). Effect of Sunscreen Application Under Maximal Use Conditions on Plasma Concentration of Sunscreen Active Ingredients. Jama, 321(21), 2082. doi: 10.1001/jama.2019.5586


    Autier, P., Dore, J.-F., Negrier, S., Lienard, D., Panizzon, R., Lejeune, F. J., … Eggermont, A. M. M. (1999). Sunscreen Use and Duration of Sun Exposure: a Double-Blind, Randomized Trial. JNCI Journal of the National Cancer Institute, 91(15), 1304–1309. doi: 10.1093/jnci/91.15.1304


    Latha, M. S., Martis, J., Shobha, V., shinde, R. sham, Banger, S., Krishnankutty, B., … Kumar, N. (2013). Sunscreening Agents. Sunscreening Agents, 6. Retrieved from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3543289/



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in