สุริศร วัฒนอุดมศิลป์
สำนักพิมพ์อรุณ
นวนิยายที่เข้ารอบการประกวดนายอินทร์อวอร์ด ปี 2549 ใจความสำคัญพูดถึงประเด็น mercy killing ควบคู่ไปกับความรักระหว่างชายชาย ประเด็นที่ว่าอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับยุคนี้ แต่สำหรับ 15 ปีที่แล้วเรียกได้ว่าเข้าข่าย taboo ทั้งขัดกับศีลธรรมชาวพุทธอันดีงามที่ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และความรักระหว่างเพศเดียวกันก็ดูเป็นเรื่องประหลาดวิปริต ลองนึกดูว่ายุคนั้นคนไทยทั่วไปคงทำหน้างงถ้าได้ยินคำว่าการุณยฆาตและยังมองว่าการเป็นเกย์คือความผิดปกติเหมือนเป็นโรคร้ายที่ส่งต่อกันผ่านทางพันธุกรรมอีก
เรื่องย่อคือ หมอปรเมษฐ์ นิวโรศัลยแพทย์หนุ่มผู้ผลักดันเรื่อง mercy killing ให้เกิดในไทย ถูกรพ.คัดค้านหัวข้อนี้มาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ในวันที่โคตรจะเซ็ง ก็ได้มาเจอกับหนุ่มน้อยนักดนตรี น้องเนรัญสุดน่ารัก (ใช่ ชั้นฟิลเต้อน้องเป็นรู้กน้อยเรียบร้อย หนูลูกแม่) ที่สะพานขาดครึ่งในสวนแห่งหนึ่งใจกลางกรุง หมอกับน้องมีเหตุให้ได้เจอกันบ่อยๆ พอคุยกันนานๆ เข้าหมอก็เริ่มสบายใจที่จะเล่าเรื่องราวความประสาทแดกในชีวิตให้น้องฟัง น้องก็รับฟังอย่างดี เป็นกำลังใจให้หมอฮึดสู้ในวันที่ต้องผ่าตัดเคสใหญ่ และเป็นที่พักพิงในวันที่ชีวิตหมอโคตรจะเฮงซวย จนหมอก็ชอบน้อง แถมน้องยังบอกออกมาตรงๆ อีกว่าใช่ครับ ผมเป็นเกย์ ความลูกคนจีน บ้านขายทอง เป็นความหวังของวงศ์ตระกูลอะเนอะ ก็ทำให้หมอประสาทแดกใส่น้องพอสมควร ไม่ ผมไม่ได้เป็นเกย์ เราเลิกคุยกันเถอะเน โอ๊ย อีบ้า แต่สุดท้ายก็ฝืนหัวใจไม่ไหว ตามไปง้อน้องถึงเชียงใหม่ รักกันหวานชื่นปานใด แต่สุดท้ายก็หนีความจริงไม่ได้ ที่ว่ายังไงครอบครัวหมอก็รับเรื่องลูกชายเป็นเกย์ไม่ได้อยู่ดี
อ่านแล้วมันแบบ มันกำมือ มันจมน้ำ มันเครียด พล็อตละครหลังข่าว ลูกชายที่ต้องสืบทอดกิจการครอบครัว ต้องถูกจับคลุมถุงชนเพื่อรักษาเกียรติวงศ์ตระกูล โอ๊ยยยย กีดกันด้วยแผ่นฟ้าด้วยชะตาแต่ฉันไม่ยินดีที่จะฝ่าไปที่แท้จริง
ครึ่งเรื่องแรกเปิดมาค่อนข้างดี ปูประเด็น mercy killing แบบจัดเต็ม มีบทสนทนาดิสคัสเรื่องศีลธรรมเรื่องความเป็นความตายของผู้ป่วยแบบกรุบ จากมุมมองตัวละครในหลายๆ มุม ทั้งมุมคนที่ยังยึดติดว่าการฆ่าคนเป็นบาป ยอมไม่ได้หรอกค่ะ มุมคนที่อยากปล่อยให้คนที่รักจากไปอย่างไม่ทรมาน และมุมของคนที่มองว่าการตายของคนคนหนึ่ง ก็เป็นเพียงอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นหนึ่งในหลายๆ ล้านครั้ง เป็นธรรมชาติอันซ้ำซากไม่รู้จบ it’s not a big deal และผู้ที่เป็นเจ้าของชีวิตควรมีสิทธิเลือกว่าจะอยู่หรือจะตาย ที่สำคัญแนวคิดสนับสนุนการุณยฆาตนี้มาจากบุคคลที่ชื่อว่าเป็นแพทย์ เป็นผู้ช่วยชีวิตคน อย่างที่บอกคือในยุคนี้การุณยฆาตไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร (แม้ในไทยจะยังไม่มี) ในตอนนั้นการดิสคัสเรื่องการุณยฆาตในเล่มนี้ เราว่ามันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่พอสมควร
เกือบๆ จะครึ่งเรื่องหลัง คือการเล่าประเด็นถัดมา ซึ่งก็คือชายรักชาย เมื่อหมอผลักดันเรื่องการุณยฆาตไม่สำเร็จ คนที่ก้าวเข้ามาเป็นที่พักใจให้หมอในวันที่ล้มเหลวคือน้องเน นักดนตรีตัวน้อยๆ ที่ยอมรับออกมาตรงๆ ว่าผมเป็นเกย์ครับ และสนใจหมอเมษแต่แรกพบบนสะพานอย่างไรก็ตาม ความรักของหมอเมษกับน้องเนก็ไม่ต่างอะไรกับสะพานขาดครึ่งที่พวกเขาพบกัน สังคมในยุคนั้นมองว่าพวกเขาไม่สมบูรณ์และไม่มีทางสร้างครอบครัวที่เพียบพร้อมตรงกับความคาดหวังของคนรอบข้างได้ แล้วมันต่างอะไรสะพานที่มีเพียงครึ่งเดียว มีค่าอะไรถ้าไม่สามารถใช้ข้ามไปอีกฝั่งได้
ตอนนี้เราจะพบกับความน้ำเน่าเงาจันทร์อันคลิเช่ได้จากบริบทต่างๆ ทางสังคมที่ไม่ยอมรับความรักอันหลากหลาย ตัวละครหมอเมษเองก็ยังคงติดอยู่กับขนบเก่าๆ ของครอบครัวคนจีนที่ต้องเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ตอบแทนวงศ์ตระกูลด้วยการแต่งงานกับผู้หญิงที่พ่อแม่เลือกให้ แม้กระทั่งน้องเน คนที่ยืดอกยอมรับเรื่องตัวเองเป็นเกย์โดยไม่ปิดบังใดๆ ก็ยังจัดตัวเองให้ไปอยู่ในสถานะพลเมืองชั้นสองที่ด้อยค่าและไม่มีสิทธิมีเสียงในตัวคนรัก ได้แต่ก้มหน้ารับชะตากรรมที่ฝืนไม่ได้ว่าตนมีค่าน้อยกว่ามดลูกของผู้หญิงที่สามารถให้กำเนิดชีวิตใหม่เพื่อสืบสานวงศ์ตระกูลต่อไป
โอย อันค่านิยมแห่งความชอกช้ำระกำใจ คลิเช่ชิบหาย แต่ก็เจ็บปวดเหี้ยๆ เลยเหมือนกัน
หลังจากนี้เนื้อเรื่องจะเหวี่ยงเราให้จมลงในน้ำเน่าที่เหม็นหืน ดำดิ่งลึกลงไปลึกจนไม่เห็นแสงสว่างใดๆ เมื่อประเด็น mercy killing ตอนต้นวกกลับมาชนกับเรื่องชายรักชายได้อย่างร้ายกาจ! เป็นช่วงที่เราทั้งหงุดหงิด ขาดอากาศหายใจและอยากจะกรี๊ดไปพร้อมๆ กัน อยากไปกรี๊ดใส่หน้าหมอเมษในความประสาทแดกว่า มึงทำอะไรรรรร๊ (เข้าใจสภาพสังคมในตอนนั้น แต่กูก็ยังอยากกรี๊ดอยู่ดี) และอยากไปกรี๊ดใส่น้องเนด้วยเหมือนกันที่คิดว่าการเป็นเกย์รับจะต้องไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย มันไม่ใช่ลูก ฮืออออออ
ก็บอกเลยว่าอ่านจบแล้วเหม่อ ร้องไห้ไม่ออกแต่น้ำมูกไหล มีหลายแนวคิดกล้าตั้งคำถามกับวีถีแบบเก่า แต่ก็ยังมีอีกหลายแนวคิดเช่นกันที่ก็ยังยึดติดกับขนบแบบเดิม ชอบมากๆ ที่เขาเขียนออกมาตรงๆ ในปี 2549 ว่านี่คือนิยายความรักของเกย์ค่ะ แต่ก็ขัดใจที่มีประโยคนึงบอกว่าการเป็นเกย์มันคือความผิดปกติทางพันธุกรรมเหมือนตาบอดสี งง มันไม่ใช่ไหมคุณพี่ มันไม่ใช่ความผิดปกตินะคะ
เอาจริงเป็นเรื่องที่ตราตรึงใจ การใช้ถ้อยคำสั้นกระชับ ไม่เวิ่นเว้อ บทบรรยายไม่ได้ใช้ภาษาเว่อวังแต่ solid จินตนาการภาพในหัวตามได้เป็นฉากๆ ชัดเจน เหมือนกำลังดูละครอยู่ เพราะจังหวะการเล่าเรื่องและบทพูดก็มีความละครหลังข่าวจริงๆ อ่านแล้วเชื่อ เชื่อทุกอย่างเลย ความรักของหมอเมษกับน้องเนบริสุทธิ์มาก โดยเฉพาะน้องเนที่รักหมอแบบไม่หวังอะไร เขาเขียนให้เราเชื่อได้จริงๆ ว่าน้องขอแค่ได้รักหมอก็พอแล้ว เป็นความรักที่เจียมตัวทุกกระเบียดนิ้วด้วยอิทธิพลแนวคิดที่กดความเป็นเกย์อยู่ ถ้าน้องเนอยู่ในยุคนี้ เราเชื่อว่าน้องจะเขี่ยหมอทิ้งแล้วไปมีผัวใหม่แบบสวยสับ แต่เราว่าหมอเองก็จะทำหน้าเหม็นเบื่อกลอกตาใส่เรื่องคลุมถุงชนแล้วตอกหน้าป๊าไปเหมือนกันว่า ป๊าอยากแต่งก็แต่งเองสิ นี่ชีวิตอั๊ว เป็นหมอแล้วมีงานทำดูแลตัวเองได้แล้วนะ อะไรแบบนี้
อีกจุดที่ชอบมากๆ คือการใช้สะพานขาดครึ่งมาเป็นซิมโบลแทนหลายๆ อย่าง ทั้งความรักที่ไม่สมบูรณ์และเส้นแบ่งของความเป็นความตาย สอดประสานเรื่อง mercy killing และความรักของคนเพศเดียวกันได้เป็นอย่างดี มุมหนึ่งก็ทำให้เรานึกถึงสะพานโอฆสงสารในพิธีกงเต็กที่คนละฝั่งของสะพานหมายถึงโลกคนเป็นและโลกหลังความตาย ก็สอดคล้องกับครอบครัวของหมอเมษที่เป็นครอบครัวคนจีนไปอีก
หนังสือหนา 247 หน้า ดิฉันใช้เวลาอ่านแบบตาแตก มีหยุดไปกรี๊ดบ้างเป็นบางช่วงสิริรวมเวลา 5 ชั่วโมงเศษ ใครว่าเล่นมือถือมากแล้วสมาธิสั้น อ่านหนังสือยาวๆ ไม่ได้แล้ว ตอบเลยว่าไม่จริง ถ้าเจอหนังสือที่เราเชื่อ อ่านแล้วอินทุกตัวอักษร หนังสือจะลากให้เราจมลงไปได้อย่างไม่ยากเย็ยก็ต้องบอกว่าสายนิยมดราม่าปวดจิตปวดใจไม่ควรพลาดแต่ประการใด ชีวิตตัวเอกรันทดมากๆ ทั้งสองคน แต่ช่วงที่เขารักกันก็เป็นความทรงจำที่สวยงามอย่างปฏิเสธไม่ได้ และตอนจบก็สรุปเรื่องการฆ่าตัวตายได้ดีว่า การให้อิสระคนได้ตายโดยเสรีในภาวะที่เขาคนนั้นยังช่วยเหลือได้ แท้จริงเป็นสิ่งที่สมควรและเป็นการเคารพสิทธิ์ในร่างกายของเจ้าของร่างจริงหรือเปล่า
แต่หนังสือหายากมาก...เข้าใจดี กราบขอบพระคุณกรก.ที่บังเอิญมีเล่มนี้และให้ยืมมาค่ะ
สำนักพิมพ์ลอง reprint มั้ยคะ มีคนรออ่านอยู่มากมาย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in