เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Cp's viewcp.
เลือกอย่างอลิซ
  • สวัสดีค่ะ เมื่อปีที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้ลงเรียนวิชาหนึ่งในคณะ ชื่อวิชาว่า ปรัชญากับภาพยนตร์ ใน  คลาสเรียนเราจะนั่งดูภาพยนตร์และนำมาวิเคราะห์ในเชิงปรัชญา หรือเปรียบเทียบดูว่าภาพยนตร์เหล่านั้นได้นำเสนอปรัชญาอะไรบ้างไหม และปลายเทอมนักศึกษาแต่ละคนก็ต้องเลือกภาพยนตร์ที่ชอบซักเรื่องมาวิเคราะห์บ้าง

    เราได้เลือกทำเรื่อง อลิซในดินแดนมหัศจรรย์ ALICE IN WONDERLAND ภาคแรก ซึ่งเป็นภาพยนตร์ผจญภัยแฟนตาซีในปี 2010 ที่เราชอบมากๆตั้งแต่ตอนดูครั้งแรกในปีนั้น ( แต่ดูคราวนั้นก็ยังไม่รู้เรื่องหรอกว่ามันจะเป็นปรัชญาอะไร ) และยังกำกับโดยทิม เบอร์ตัน ผู้กำกับที่ชอบพอดีอีก ช่วงนั้นนึกเรื่องอะไรไม่ออก เลยลองกลับมาดูอีกทีแล้วก็เห้ยย ... ขุ่นพระ นำเสนอปรัชญาได้น่าสนใจดี

    จริงๆแล้ว หากใครเคยเรียนปรัชญาจะเห็นได้เลยว่าอลิซในดินแดนมหัศจรรย์เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอแนวคิดทางปรัชญาทั้ง 2 ภาค แต่ภาคที่ 2 เราขอไม่พูดถึงแล้วกัน

    แล้วมันเป็นปรัชญายังไงล่ะ ? เรื่องหลักของอลิซเราเห็นว่ามันคือปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) การพูดถึงตัวตน ตัวตนที่แท้ในแบบของซาร์ต ( ฌอง ปอล ซาร์ต ) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส โดยกล่าวถึงเสรีภาพในการเลือก และความรับผิดชอบ ซาร์ตเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่มีอยู่ เราล้วนว่างเปล่าและมากำหนดชีวิตของตนในภายหลัง ซึ่งมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นผู้สร้างและกำหนดภาวะของตนเอง มนุษย์เลือกชีวิตที่ตนปรารถนาได้ แต่การเลือกเหล่านั้นเราก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่เลือกกระทำและผลที่ตามมาด้วย ฟังดูแล้วเหมือนจะดีในตอนแรก แต่สุดท้ายเราทุกคนล้วนต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเอง เหมือนกับเป็นคำสาป ที่สาปให้มนุษย์มีเสรีภาพ และความรับผิดชอบที่ตามมาเราต้องรับไว้คนเดียวอีกด้วย สิ่งที่ตามมามันอาจจะเป็นความปวดร้าว โดดเดี่ยวหรือสิ้นหวังที่ต้องรับภาระความรับผิดชอบนี้ไว้ แต่ซาร์ตก็ยังมองว่ามันเป็นคุณค่าของชีวิตที่เราจะตระหนักถึงเสรีภาพที่เรามี และเลือกชีวิตด้วยตัวเอง

    ย้อนกลับมาที่ภาพยนตร์บ้าง ตลอดภาพยนตร์มีการตั้งคำถามเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั่วๆ ไป เช่น ฉากที่อลิซถามแม่ว่า ความเรียบร้อยนั้นใครเป็นคนกำหนด ดูเร่ื่อยๆก็เหมือนจะเป็นบทสนทนาธรรมดา แต่มันก็เป็นการตรวจสอบและตั้งคำถามแหละว่าสิ่งที่ถูกกำหนดมา มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องและต้องทำจริงหรอ แล้วถ้าเขาให้เราใส่ปลาไว้บนหัวแทนหมวก เราจะมองว่ามันเป็นความเรียบร้อยที่ควรทำ หรือเป็นเรื่องแปลกๆ ที่ไม่น่าทำกันแน่ ( เขาไม่ได้ยุยงส่งเสริมให้เราเป็นตัวเองหรือแปลกจนไร้ระเบียบหรอกนะ แต่มันแสดงให้เห็นว่าเราน่าจะลองตั้งคำถามกับเรื่องรอบตัวบ้างว่าทำไม เผื่อเราจะมีทางเลือกปฏิบัติอย่างอื่น หรือรับรู้เหตุผลมากกว่าการทำตามๆกัน เพราะเขาบอกมา )


  • แล้วเลือกอย่างอลิซ ต้องเลือกอย่างไร จากภาพยนตร์เราจะเห็นอยู่แล้วว่าชีวิตอลิซถูกเลือกโดยคนอื่นมาอยู่แล้ว เช่น การต้องเดินทางมางานเลี้ยงที่ตัวเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคืองานหมั้นของตน ถูกคาดหว้งให้แต่งงานกับท่านลอร์ด ถูกคาดหวังว่าจะเป็นลูกสะใภ้ที่ดี แม้ตอนที่ตัวเองตกเข้าไปที่วอนเดอร์แลนด์ก็ยังถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นอลิซที่ฆ่าอัศวินของราชินีแดง ต้องเป็นอลิซที่ทำตามคัมภีร์พยากรณ์ ต้องเป็นอลิซแบบอลิซที่เคยเดินทางมาตอนเด็กๆ   มันเป็นการตกอยู่ในสภาวะกดดันที่บังคับให้เราเลือกตามแรงคาดหวังของคนอื่น


    จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าอลิซทำตามทุกอย่างตามสิ่งที่คนอื่นบอก ตามแนวคิดของซาร์ตแล้ว เท่ากับว่า ความเป็นมนุษย์และชีวิตของอลิซเองถูกลดคุณค่าลงไป ถึงสถานการณ์กดดันหรือการถูกบังคับสามารถทำให้เราเข้าใจผิดและหลงลืมเสรีภาพของเราจนได้เกิดเป็น bad faith (การหลอกตัวเองว่า ฉันนั้นเลือกไม่ได้) แต่อย่าลืมว่าการที่เราไม่เลือกนั้นก็คือเราเลือกที่จะไม่เลือกเช่นกัน แต่เราจะเลือกแบบนั้นทำไม ในเมื่อเรามีเสรีภาพมากกว่านั้น

    สถานการณ์ต่างๆ สิ่งต่างๆรอบตัวเป็นเพียงแค่เพียงข้อเท็จจริงบางอย่างที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา  ซึ่งเราจะต้องนำมาพิจารณาอย่างเช่นที่อลิซทำ ดังนั้น สถานการณ์จะไม่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของเราเลย ถ้าเราตระหนักถึงเสรีภาพของเรามากพอ


    มาเริ่มดูกันเลยดีกว่าว่าจริงหรอ.. ที่สภาพแวดล้อมภายนอก แรงกดดัน ความคาดหวังจากคนอื่น จะยังทำให้เรามีเสรีภาพและชีวิตที่เราเลือกได้เองอยู่

    ตั้งแต่อลิซตกลงมาในโพรงกระต่ายเธอเจอแต่เรื่องแปลกๆ และเรื่องแปลกเหล่านั้นดันเป็นเรื่องจริงเสียด้วยสิ ตอนที่เธอหยิกตัวเอง แล้วบอกว่า “นี่มัน ความฝันฉันนี่ ถ้าฉันตื่นพวกเธอก็จะหายไป”   ใช่จ่ะ..ไม่มีใครหายไป ตอนนี้เธอรู้แล้วว่าทุกอย่างรอบตัวเธอ เธอควบคุมมันไม่ได้แล้ว เธอต้องรับมือกับมัน เช่นตอนที่เธอตัดสินใจหันหน้าไม่หนีแบนเนอร์สแนช เธอโดนข่วนเข้าที่แขนจนบาดเจ็บ หรืออาจจะมากไปกว่านั้น เธออาจตายได้ถ้าโดนทหารราชินีแดงจับตัวไป แน่นอนสิ่งที่เธอเลือกทำเหล่านี้เธอต้องรับผิดชอบผลที่ตามมา หรือเธอจะเลือกหนีแล้วไปพบคนทำหมวก ทางเลือกมีมากมาย สภาพแวดล้อมไม่ได้มีีผลบังคับการตัดสินใจของเธอหรอก แต่มันอยู่ที่ศักยภาพการตัดสินใจของเธอมากกว่า ว่าเธอเลือกทางเดินชีวิตที่เหมาะและดีกับเธอภายใต้สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ในวอนเดอร์แลนด์ไหม

  • ต่อมา เรื่องแรงกดดันและความคาดหวังจากคนอื่นล่ะ อลิซถูกคาดหวังและต้องรับแรงกดดันมากมายจากคนรอบข้าง อย่างที่พูดๆไป ถูกคาดหวังให้แต่งงานจะได้มีชีวิตที่ดี เป็นสะใภ้ที่ดี เลี้ยงดูท่านลอร์ดได้ พอเข้ามาในวอนเดอร์แลนด์ก็ถูกคาดหวังให้เป็นอลิซที่เป็นอัศวินของราชินีขาว เพื่อที่อัศวินของราชินีแดงจะได้ตายตามคำพยากรณ์


    ดูสายตาหลายคู่นั่นสิ จับจ้อง รอคอยและคาดหวังในคำตอบ ไม่ให้กดดันได้ยังไง แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความต้องการของคนอื่นและเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องเลือกก็ได้ อลิซมีสิทธิที่จะคิดและตัดสินใจด้วยตัวเธอเอง อย่างคำที่ราชินีขาวได้บอกกับอลิซ

    " เธอมีชีวิตเพื่อให้ผู้อื่นพอใจไม่ได้ การตัดสินใจเป็นของเธอเอง ถ้าเธอเลือกที่จะไป เส้นทางนั้นเธอจะต้องก้าวไปคนเดียว


    สิ่งที่ราชินีขาวบอกไม่ได้เพียงเรื่องการตัดสินใจเป็นอัศวินเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นเสรีภาพของชีวิตว่าเธอหนะ มีชีวิตเป็นของเธอนะ สุดท้ายแล้วคนที่ใช้ชีวิตเธอก็คือเธอเอง ท้ายที่สุดอลิซก็เลือกเป็นอัศวินโดยที่เธอตัดสินใจเอง


    และตอนกลับมาที่โลกของเธอ เธอก็เลือกที่จะปฏิเสธการแต่งงานและใช้ชีวิตในแบบของเธอ เธอไม่ได้มีชีวิตที่สบาย เธอทำงาน เธอเดินทาง แต่นั้นก็คือสิ่งที่เธอเลือกและยินดีกับมัน


    ขอโทษด้วยนะคะท่านลอร์ด ไม่แต่งค่ะ ...

  • ประเด็นต่อมาคือ เรื่องราวในอดีตมีผลต่อการตัดสินใจของเราในปัจจุบันที่มีผลต่อไปในอนาคตหรือไม่ อย่างที่หลายๆ คนในวอนเดอร์แลนด์พูดถึงตัวตนของอลิซในอดีต ความมหึมันส์ อย่างที่คนทำหมวกเคยพูดถึง สำหรับคำตอบของซาร์ตในเรื่อง อดีต ปัจจุบัน อนาคต นั้น คือ ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอดีตหรืออนาคตนั้นหลอมรวมกับปัจจุบัน เราแค่มองไปยังจุดนั้นในอดีต และมองกลับมาที่ปัจจุบันและเลือกทางที่จะไปสู่อนาคต พูดง่ายๆ คือ เสรีภาพเราอยู่ที่ปัจจุบัน เราเลือกในปัจจุบัน ไม่ว่าอดีตเราจะเป็นอย่างไร สุดท้ายมันคือความทรงจำ อย่างที่อลิซเคยมาวอนเดอร์แลนด์  นั่นไม่ใช่ฝันแต่คือความทรงจำของเธอ เธอมองมันกลับไปเพื่อรับรู้ว่ามันเกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องจริง และเธอก็เลือกที่จะเป็นเธอแบบไหนในปัจจุบันและเรื่องที่เกิดในอนาคตก็คือเรื่องที่เธอต้องรับผิดชอบนั่นเอง และซาร์ตเองก็เชื่ออีกว่า มนุษย์เราไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเรื่องราวในอดีต



    สุดท้าย ท้ายสุดที่จะพูดถึงก็คือ คัมภีร์พยากรณ์ คัมภีร์ที่ฉายภาพให้เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอนาคต มันไม่ได้แสดงว่าชะตาชีวิตเราถูกกำหนดไว้ตามนั้นแล้วหรอ ? แล้วเรามีเสรีภาพหรือเลือกได้ยังไงถ้ามันถูกกำหนดไว้แล้ว ?  การพยากรณ์ในเรื่องเป็นเพียงแค่การแสดงเหตุการณ์ล่วงหน้า คล้ายๆกับเรื่องการรับรู้ของพระเจ้ากับเจตจำนงของมนุษย์ ที่ว่า พระเจ้าเพียงรับรู้ว่าเราจะทำอะไรหรือเกิดอะไรขึ้น แต่พระองค์ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจหรือเจตจำนงของมนุษย์ มนุษย์มีเจตจำนงและมีอิสระด้วยตนเอง คัมภีร์พยากรณ์ก็เช่นกัน ยกตัวอย่าง ตอนที่เบออส สุนัขในเรื่องที่พูดคุยกับอลิซตอนที่เธอตัดสินใจจะไปวังของราชินีแดง ซึ่งนั่นคัมภีร์ไม่ได้บอกให้เธอไป แต่อลิซก็เลือกที่จะไป

    "ตั้งแต่ฉันตกลงมาในรูกระต่ายนี่ ก็มีแต่คนคอยบอกให้ฉันทำนู้นทำนี่ เป็นนู้นเป็นนี่ เดี้ยวตัวหด เดี้ยวขยาย ถูกมองว่าเป็นอลิซ ถูกมองว่าไม่ใช่อลิซ นี่มันความฝันฉันนะ ฉันจะเลือกเอง"

    เช่นนี้แล้ว ภาพที่เห็นในคัมภีร์จึงไม่ได้มีอิทธิพลต่อเสรีภาพ การเลือกกระทำของเรา
    เพราะสุดท้ายแล้วคัมภีร์จะเป็นยังไง ฉันจะเลือกเองจ่ะ



    ในแง่ของซาร์ต อลิซถือว่าเป็นมนุษย์ที่ตระหนักถึงเสรีภาพและคุณค่าของชีวิตมากๆ คนหนึ่ง เพราะเธอได้เลือกและรับผิดชอบชีวิตของเธอเอง ไม่ได้ใช้ชีวิตไปตามแรงกดดันหรือสภาพแวดล้อมภายนอก ก็คือ เธอไม่ได้หลอกตัวเองด้วย ว่าเธอเลือกไม่ได้


    สำหรับซาร์ตแล้ว มนุษย์พร้อมที่จะทำในสิ่งที่ตนปรารถนาเสมออย่างที่อลิซได้ทำ


    ขอบคุณที่เข้ามาร่วมอ่านจนถึงบรรทัดนี้นะคะ ฮ่าา เราเขียนในมุมความคิดของเราและประเด็นของ  ซาร์ตเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นนะ หากใครอ่านและมีความเห็นอย่างไรก็มาแชร์กัันนะ :)


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
(@fb1355864308258)
ชอบมากๆเลยค่ะ อ่านตั้งเเต่ต้นจนจบไม่ข้ามซักคำเลยได้ความรู้แนวคิดอะไรดีๆโครตเยอะเลย มันเจ๋งมากๆ ทำต่อไปนะคะคุณเขียนดีมากก