เริ่มต้นด้วยการคิดรายละเอียดอย่างจริงจัง เนื่องจากตัวละครที่วางไว้มีความเกี่ยวข้องวิญญาณ เราจึงเริ่มจากการอ่านบทความเกี่ยวกับการปรากฎตัวของวิญญาณในวรรณกรรม ดูว่าวิญญาณต้องการจะสื่อสารกับคนเป็นอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงไปต่อที่หนังสือโดยเฉพาะแนวลึกลับ เราอ่านเพื่อที่อยากรู้ว่าเขาดำเนินเรื่องอย่างไรจนทำให้คนอ่านลุ้นจนถึงตอนจบ โดยส่วนใหญ่ที่เลือกศึกษามักเป็นสื่อของญี่ปุ่น แน่นอนว่ามีเรื่องมิตรภาพเข้ามาเกี่ยวด้วย คราวนี้เราเลยเลือกดูภาพยนตร์ไทยเรื่องเด็กหอ และแอนิเมชันเรื่อง anohana ซึ่งเพื่อนบอกว่ากลิ่นอายมันคล้ายกับเรื่องที่เราอยากทำ เพื่อดูว่าเขาปลดล็อคปมในใจของตัวละครอย่างไร
หลังจากศึกษามาเรื่อย ๆ ก็ได้เวลาปรึกษากับอาจารย์ เราเข้าไปคุยเพื่ออธิบายพล็อตทั้งหมดที่มี และรับคำแนะนำในสิ่งที่ต้องทำต่อ นั่นก็คือการเชื่อมโยงเหตุการณ์กับตัวละคร เสมือนว่าเราอยู่ในโลกนั้นจริงๆ เรารู้สึกว่ายากเอาเรื่อง เราค่อย ๆ กำหนดตัวละครขึ้นมาทีละตัว เริ่มขยายเหตุการณ์ให้มันกว้างขึ้ิน ในช่วงนั้นมีหลงทางไปบ้าง โชคดีอีกแล้วที่ได้น้องคนสนิทแนะนำเรื่องการสร้างคาแรคเตอร์ของตัวละคร จนทำให้เรารู้จักตัวละครของตัวเองดีมากขึ้นเหมือนกับว่าคลอดออกมาเอง
ถัดจากการสร้างตัวละครแล้วก็เริ่มมาสร้างฉาก ฉากหลัก ๆ ที่วางไว้คือตัวเมืองและชนบท โดยจะเน้นไปที่ชนบทซะส่วนใหญ่ เราเริ่มหาภาพฉากในหัวจากในเว็บต่าง ๆ ซึ่งปัญหาก็คือเซ็ตติ้งที่อยากได้ไม่มีในประเทศไทยเลย เราเลยปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำ อาจารย์ได้บอกว่าให้คิดภาพให้ตรงกับหัวมากที่สุด ถ้าหากไม่มีในไทยก็ให้สร้างเมืองสมมติขึ้นมาใหม่โดยไม่ต้องระบุจังหวัดก็ได้ แต่ปัญหาของเราตอนนี้คือติดความเป็นญี่ปุ่นมากเกินไป อาจเพราะครึ่งหนึ่งในตัวเราคือญี่ปุ่นแล้วตัวเราเองก็อ่านงานญี่ปุ่นมาค่อนข้างเยอะ จะต้องคิดต่อว่าทำอย่างไรให้คนอ่านรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ประเทศญี่ปุ่น
และเพราะว่าอยากให้สิ่งที่อยู่ในหัวมันออกมาเป็นภาพให้มากที่สุดเราเลยคิดว่าจะทำผังเมือง เพื่อที่จะได้รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน และจุดเกิดเหตุที่เป็นนปมในเรื่องอยู่ที่ไหน อีกอย่างมันดีต่อการที่เราจะใช้ในการบรรยายเพราะเรามีภาพเมืองออกมาแล้ว
ขั้นตอนสุดท้ายคือการคิดรายละเอียด เรารู้สึกว่าสิ่งนี้ยากมากและต้องใช้เวลา เพราะมันคือหัวใจหลักของสิ่งที่ทำอยู่ นอกจากที่เราต้องคิดว่าตัวละครมีที่มาที่ไปอย่างไร อะไรที่ทำให้เขากลายเป็นแบบนั้น และสิ่งแวดล้อมมันส่งผลอะไรกับเขาบ้าง เราต้องรู้ด้วยว่าเล่าจะเล่าเรื่องยังไง อธิบายในมุมมองของใคร แล้วแต่ละโครงหลักของเราจะพูดถึงอะไร ซึ่งมันละเอียดมาก บวกกับใกล้พรีเซนต์ความคืบหน้า 30% ตัวเราในตอนนั้นที่คิดได้ไม่ละเอียดเท่าไหร่จึงตกอยู่ในความเครียดอีกครั้ง แต่คราวนี้เราพอรับมือมันได้แล้ว เมื่อรู้ว่าตัวเองจะเป็นอย่างไรเลยตัดสินใจที่ไปไหว้พระพิฆเนศอีก (ท่านอาจจะเบื่อหน้าแล้วเพราะไปบ่อย) เพื่อขอกำลังใจในวันพรีเซนต์
เราได้คิวเป็นอาทิตย์ที่สอง ระหว่างนั้นเพื่อนในที่ปรึกษาเดียวกันก็พรีกันไปหมดแล้ว ช่วงที่รอให้ถึงคิวตัวเองก็คิดรายละเอียดไปพลาง เพิ่มเติมตรงนั้นตรงนี้ในเรื่องเริ่มจากการเขียนพล็อตให้ละเอียดกว่าเดิม ทำผังความสัมพันธ์ของตัวละคร และภูมิหลังของตัวละครให้ชัด ๆ เราคิดแค่ว่าเราต้องรู้ให้ละเอียดเพื่อที่ตัวเองหายกังวลและรู้สึกมั่นใจในตอนพรีมากขึ้น
ในที่สุดก็ถึงคิวที่เราต้องออกไปพูดแล้ว