ตั้งแต่รู้ว่าจะได้เดินทางไปยังประเทศตุรกีผมก็คิดทันทีว่าต้องไปลองไก่งวงให้ได้! และความตั้งใจของผมก็พังทลายเมื่อไปถึงและพึ่งรู้ว่าคนที่นั่นเค้าไม่ได้กินไก่งวงกันในชีวิตประจำวันกัน
ก็แหม ชื่อประเทศดันแปลว่าไก่งวงแบบตรงตัวซะขนาดนี้ผมว่าหลายๆคนก็คงจะเข้าใจผิดเหมือนกันกับผมใช่มั้ยล่ะ แต่ก็นั่นแหละ อาหารประจำเทศกาลคริสต์มาสคงไม่ได้เป็ที่นิยมในเมืองมุสลิมซักเท่าไหร่ แล้วมาที่นี่ต้องกินอะไรกันแน่?
1.เคบับ (Kebab)
ได้ยินชื่อนี้ทุกคนคงจะนึกถึงแผ่นแป้งโรตีสีขาวที่ม้วนห่อไส้เนื้อสัตว์และผักต่างๆ ถููกต้องครัับ แต่ยัังถููููกไม่หมด จริิงๆแล้วเคบััับหมายถึงเนื้อสัตว์ย่าง เราจึงอาจพบเห็นร้านเคบับบางร้านในตุรกีที่ไม่มีแผ่นแป้ง แต่เป็นเพียงเนื้อเสียบไม้ขายเหมือนหมูปิ้งบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นไก่ เนื้อ แพะ แกะ หรืออาจจะรวมถึงหมูด้วย แต่เพราะเคบับเป็นอาหารที่นิยมในประเทศแถบเมดิเตอเรเนียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติมุสลิมจึงแทบไม่มีหมูให้เห็นเลย
เคบับเป็นอาหารที่มีประวัติศาสตร์อยู่คู่กับชาวเติร์กมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ชาวเติร์กรู้จักการนำเนื้อสัตว์มาย่างไฟเป็นอาหารจานด่วน โดยเนื้อย่างแบบหมุนๆบนเตาที่เราคุ้นเคยนั้นมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Doner Kebab สามารถกินได้หลายวิธีเช่น กินกับขนมปัง กินกับข้าว หรือกินกับแผ่นแป้งแบบที่เราเคยเห็นกัน
2.เตอร์กิชดีไลต์ (Turkish Delight)
ขนมหวาน หว้านหวาน หวานโคตรๆ เป็นขนมที่เกิดมาเพื่อถูกเรียกว่าขนมหวานโดยแท้จริง เตอร์กิชดีไลต์เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล ผสมกับแป้ง อาจมีการเติมถั่ว หรือผลไม้แห้งผสมลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติและรสสัมผัส และเพิ่มความหวานหยาดเยิ้มด้วยการเติมน้ำตาลไอซิ่งโรยทับลงไปอีก
คนตุรกีนิยมกินเตอร์กิชดีไลต์คู่กับชา รสหวานจัด ตัดกับความฝาดของชาเป็นรสชาติที่เข้ากันได้ดี และถึงแม้ว่าจะหวานขนาดไหน เตอร์กิชดีไลต์ก็เป็นขนมที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ชื่อเสียงด้านความหอมหวานเย้ายวนของโด่งดังจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก
ถ้าใครเคยอ่านนิยายชื่อดังอย่างนาร์เนียร์ จะเห็นฉากสำคัญฉากหนึ่งที่แม่มดขาวตัวร้ายของเรื่อง ใช้เตอร์กิชดีไลต์ในการล่อลวงเด็กน้อยเอ็ดมันต์ให้ทำตามคำสั่งของตัวเองด้วย เป็นการเปรียบเทียบว่าขนมชนิดนี้อร่อยจนยอมทำทุกอย่าง กินเสร็จแล้วก็อย่าลืมออกกำลังกายกันด้วยล่ะ
3.ชา(Cay)
ตุรกีเป็นแหล่งผลิตชาที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และมีปริมาณการบริโภคชาสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก เราจึงสามารถพบเห็นชาได้ในทุกตารางเมตรในประเทศตุรกี ทั้งในร้านอาหาร โรงแรม ร้านค้าริมทาง หรือบนท้องถนน โดยชาตุรกีจะเสิร์ฟในถ้วยทรงเว้าๆโค้งๆคล้ายรูปร่างในฝันของผู้หญิงหลายๆคน และจานรองกระเบื้องหรือเซรามิคที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์
ชาที่คนตุรกีดื่มนั้นค่อนข้างเข้มและขม จึงไม่ถูกปากนักท่องเที่ยวมากนัก จึงมีการคิดค้นชารสผลไม้ขึ้นมา และเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว และชาผลไม้ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ ชาแอปเปิ้ล ถ้าจะเรียกให้ถูกคือ ชารสแอปเปิ้ล เพราะมันมีแต่รส ไม่ส่วนผสมที่เป็นแอปเปิ้ลจริงๆอยู่เลย
4.ไอติมตุรกี (Turkish Ice-cream)
ความแตกต่างของไอติมที่ตุรกีคือ เนื้อไอติมจะค่อนข้างเหนียว เหนียวจนต้องเคี้ยวเวลากิน แต่ก็ไม่ได้เหนียวติดฟันขนาดนั้นนะ ใครใส่ฟันปลอมก็ยังกินได้อยู่ แต่ความพิเศษจริงๆไม่ได้อยูที่รสชาติ หรือเนื้อสัมผัส แต่อยู่ที่วิธีการขาย
คนขายไอติมที่ตุรกีขึ้นชื่อมากเรื่องของการกวนส้นตึก และการแกล้งคน กว่าจะได้กินแต่ละลูกก็โดนแกล้งจนเกือบท้อ โยกไปโยกมา ย้ายไปย้ายมา มีการแอบสลับ หมุนนู่นนี่นั่น จนอดสงสัยไม่ได้ว่าราคาที่จ่ายไปคือราคาไอติมบวกกับค่าดูการแสดงใช่มั้ย ว่าแล้วก็ยากโยกเงินไปมาซักสองสามทีก่อนจะจ่ายดูเหมือนกันแฮะ
5.โยเกิร์ต (Yogurt)
โยเกิร์ตมีต้นกำเนิดจากชนเผ่าบัลแกเรียตั้งแต่ประมาณ 600-700 ปีก่อนคริสตกาล วิธีการทำโยเกิร์ตในสมัยนั้นคือใส่นมไว้ในถุงที่ทำจากหนังแกะ แล้วผูกไว้กับตัว ความร้อนจากร่างกายจะทำให้จุลินทรีย์เติบโต
คนตุรกีนิยมกินโยเกิร์ตมาก ถึงขนาดว่ามีโซนโยเกิร์ตโดยเฉพาะในซูเปอร์มาเก็ต หรือมีร้านที่ขายเฉพาะโยเกิร์ตก็มี
โยเกิร์ตที่นี่เป็นทั้งของคาวและของหวาน มีทั้งกินเปล่าๆแบบที่เรากินกัน และมีการนำไปทำอาหารเช่น ซุปโยเกิร์ต โยเกิร์ตแตงกวา ที่รสชาติออกเขียวๆ จั๊กจี้ลิ้นนิดหน่อยอาจจะเพราะไม่ค่อยคุ้นเคย
แม้ว่าตุรกีไม่ใช่แหล่งกำเนิดของโยเกิร์ต แต่โยเกิร์ตตุรกีเป็นจุดเริ่มต้นให้คนทั่วโลกหันมานิยมโยเกิร์ตก็ว่าได้ มีบันทึกว่าสมัยพระเจ้าฟรานซิสที่1 แห่งฝรั่งเศส พระองค์ประชวร รักษายังไงก็ไม่หาย แพทย์ชาวตุรกีที่เดินทางมาจึงถวายโยเกิร์ตให้เสวยทำให้อาการดีขึ้นแล้วก็หายได้ ทำให้โยเกิร์ตกลายเป็นอาหารที่เลื่องลือด้านสรรพคุณมาถึงปัจจุบัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in