เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
the day before yesterdayMARU.TANI
พักผ่อนตามอัธยาศัย ณ Chiba, Japan
  • 14 วันกับการทดลองเป็นนักศึกษาที่ Chiba University ประเทศญี่ปุ่น 

    14 วันกับการใช้ชีวิตใต้ชายคาอาคารที่เรียกว่าหอพักนักศึกษา

    14 วันกับการเรียนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมและความคิดของคนญี่ปุ่น

    14 วันกับการเก็บภาพถ่ายความสวยงามของชิบะ เมืองเก่าSawara และเทศกาลประจำหน้าร้อนอย่างHanabi Taikai



    กับ 14 วันในเดือนที่ร้อนนนที่สุดของญี่ปุ่น จะสนุกจนเหงื่อหยดติ๋งติ๋งแค่ไหน

    ไป-ชม-กัน




    ที่มา  ที่ไป

                     MU ASEAN+3 Mobility Program 2018 คือหัวข้อFwdเมลที่ถูกส่งเข้ามาในมือถือพร้อมๆกับอีกหลายๆโครงการจากฝ่ายกิจการนักศึกษา กดเข้าไปดูสักพักก็จับประเด็นได้คร่าวๆว่า ไปเรียนที่ญี่ปุ่น 2อาทิตย์ และ25,000 บาท อื้มมมน่าสนใจพอตัวอยู่ ประจวบกับนี้เป็นการปิดเทอมครั้งสุดท้ายของชีวิตนักศึกษาก่อนที่เราจะขึ้นปีสี่และเตรียมตัวเริ่มต้นชีวิตการทำงาน การออกไปเจอญี่ปุ่นอีกครั้งไม่ซิ...เรียกว่าออกไปเข้าใจญี่ปุ่นในมุมมองที่ต่างจากครั้งก่อนๆจะดีกว่า มันคงจะเป็นความทรงจำและประสบการณ์ที่ดีทีเดียว ไม่รอช้ากรอกใบสมัคร ตอบคำถามที่ราวกับจะให้เราสวมบทเป็นนางงามuniverse อย่างคำถาม What attitudes and beliefs are of special importance to you ? และอีก4-5 คำถามในทำนองคล้ายกัน เราก็ตอบออกไปด้วยความนึกคิดเท่าที่สมองน้อยๆจะคิดได้ กรอกข้อมูลทุกอย่างเสร็จ ยื่นใบสมัครต่อกลุ่มบุคคลเดียวกับที่ส่งอีเมลเข้ามาในตอนแรก แล้วมาลุ้นผลกันว่าจะนกไม่นกก


                   สำหรับใครที่ยังงงๆ ว่ามันคือโครงการอะไร เรียนอะไร ทำอะไร สมัครยังไง ใครสมัครได้บ้างมาเราจะอธิบายให้ฟัง โครงการ  Mahidol University ASEAN+3 Mobility Program เป็นโครงการของทางมหาวิทยาลัยมหิดล โครงการนี้มีมานานหลายปีแล้วโดยเขาจะส่งนักศึกษาไปเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต ณต่างแดนรวมถึงทำความเข้าใจรูปแบบสังคมที่แตกต่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม กัมพูชา แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดกลุ่มประเทศ Asean +3 อย่างญี่ปุ่นและเกาหลี (ปีนี้ยังไม่มีระเทศจีน)โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือนักศึกษาจากทุกๆคณะที่ศึกษาอยู่ในชั้นปีที่2 หรือ 3 ของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นเอง สำหรับระยะเวลาก็จะจัดอยู่ระหว่าง 2 สัปดาห์ถึง4สัปดาห์ อย่างในปีนี้มีสำหรับคนที่เลือกไปญี่ปุ่นก็จะไป2สัปดาห์แต่สำหรับคนที่เลือกไปเกาหลีก็จะอยู่ที่4สัปดาห์ ต้องติดตามรายละเอียดเอาว่าแต่ละปีจะเป็นยังไง(กดติดตามได้ที่เพจfb : MU ASEAN Mobility Program ) สำหรับค่าใช้จ่ายก็จะอยู่ระหว่าง 25,000-30,000 บาท ราคานี้รวมตั๋วเครื่องบินไป-กลับ หอพัก ค่าอาหารเช้ากับอาหารเย็น(โครงการไปเกาหลีไม่รวมค่าอาหาร) และค่าเรียนซึ่งถือว่าคุ้มมากๆ เพราะราคานี้เป็นเพียง30%เท่านั้นสำหรับทริปนี้ อีก70%ทางมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้สนับสนุนจร้าาา





    ศาสนา พิธีชงชา พิซซ่าหน้าฮาวายเอี้ยน



                   วันแรกในดินแดนอาทิตย์อุทัย แสงแดดสาดส่องเข้ามาสู้กับแสงไฟนีออนที่ถูกเปิดทิ้งไว้ตลอดทั้งคืนด้วยความกลัวผี กิจกรรมวันนี้ทางอาจาย์ของมหาวิทยาลัยได้พาพวกเราออกเดินทางไปยังฝั่งตะวันออกของจังหวัดชิบะ ไปสัมผัสกับความเจแปนนิสสขั้นสุดกับวัดKou kufu zen ji วัดเล็กๆที่ตั้งอยู่กลางป่าไผ่ โดยในวันนี้เราจะต้องเข้าร่วมพิธีชงชาและฝึกนั่งสมาธิในรูปแบบของศาสนาพุทธนิกายเซน ได้ฟังดังนั้นก็แอบตื่นเต้นเบาๆ


                 เราเริ่มกันที่กิจกรรมนั่งสมาธิกับท่านเจ้าอาวาสวัด ไม่ต้องมีบทสวดอะไรให้มากความ พวกเราเริ่มต้นด้วยการนั่งเรียงแถวหน้ากระดาน ขาซ้ายทับขาขวา มือประสานกันระดับหน้าตักเอาปลายนิ้วโป้งมาชนกันเป็นวงกลม ตามองต่ำ รี่เปลือกตาลงคล้ายพระพุทธรูป และนั่งเหลือมๆบนหมอนสีดำขนาดไม่ใหญ่ (เท่าที่เข้าใจเจ้าหมอนนี่อาจจะมาช่วยรองกระดูกก้นกบของเราเพื่อที่จะได้ไม่เมื่อยก้นเอา) โดยปกติสำหรับคนที่มานั่งสมาธิจะนั่งอย่างน้อย45นาทีโดยเขาจะยึดตามก้านธูปที่ถูกจุดขึ้น และอีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือเมื่อใดก็ตามที่เรานั่งหยุกหยิกจิตใจเหมอลอยหรือแอบหลับ เจ้าอาวาสก็จะเอาไม้ยาวเกือบ1.5ฟุตมาตีที่ไหล่ข้างขวาเพื่อเรียกสติกลับมาเรียกการลงโทษแบบนี้ว่าKyosakuซึ่งทุกคนจะได้ลิ้มรสชาติของการโดนตีนี้แต่บอกก่อนว่าสู้รสหวายหรือกิ่งมะยมที่ไทยไม่ได้เลย


                นั่งไปท้องก็ร้องไปได้เวลาอาหารกลางวันเต็มทีเดินตามเจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นไปไม่ไกลจากศาลานั่งสมาธินำเราไปยังสวนดอกไม้ Ichihara ภายในเราได้พบกับร้านขายของเล็กๆที่ถูกเซ็ตไว้อย่างน่ารัก ต้นไม้ดอกไม้ถูกจัดแจงอย่างไม่เป็นระเบียบเรียงรายไปตามทางเดินคอนกรีตนำพวกเราไปพบกับบ้านไม้เล็กๆ 2-3หลังตั้งอยู่ที่ปลายสวน และนั้นคือที่รับประทานอาหารของพวกเรา อาหารถูกเสิร์ฟอยู่เต็มโต๊ะ ทั้งสลัด สปาเก็ตตี้ และพิซซ่าหน้าต่างๆ เดี๋ยวนะ! นี่ฉันกำลังจะได้กินพิซซ่าในวัดจริงดิ แล้วมีอย่างนี้กันทุกวัดรึป่าวนะ? ถามเจ้าหน้าที่ที่นั่งร่วมโต๊ะอาหารกับเราเขาอธิบายว่า ไม่ได้มีกันทุกวัดหรอก แต่เหตุผลที่ที่นี่ต้องมีสวนดอกไม้และร้านอาหารอยู่ภายในวัดก็เพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้คนรุ่นใหม่มาเยี่ยมเยือนวัดกันและเป็นการโปรโมตวัดไปอีกแบบนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหรือถึงขั้นมีการจัดคอนเสิร์ตมาแล้วก็มี นึกเปรียบเทียบกับเมืองไทยก็อาจจะคล้ายกับงานวัดบ้านเราก็เป็นได้


                 อิ่มท้องกันไปแล้วเราไปต่อกิจกรรมภาคบ่ายด้วยพิธีชงชา 茶道(chadou) หรือ 茶の湯 (Cha no yu) เอาจริงๆตอนนั้นไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับพิธีนี้เลย สรุปจากที่เห็นก็คือมีคุณป้าใส่ชุดกิโมโนเข้ามาตักน้ำร้อนใส่ชามใส่ผงชาเขียวเอาไม้คล้ายพู่กันคนๆแล้วยกเสิร์ฟ (ย้ำอีกทีว่าสรุปเพราะรายละเอียดแต่ละขั้นตอนเยอะมากๆ) ณ ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจว่าพิธีมีเพื่ออะไร แล้วให้อะไรกับเรา เลยเข้าไปอ่านบทความของ MARU MURA เพจชื่อดังที่บอกเล่าเรื่องราวทุกๆอย่างที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นไว้ เขากล่าวไว้ว่า ...



           " หัวใจหลักของพิธีชงชา คือ ความสุนทรีย์ในความเรียบง่าย การรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วยจิตใจที่นิ่งสงบและบริสุทธิ์ โดยมีหลักของศาสนาพุทธนิกายเซนเข้ามา  ทำให้บรรยากาศและเครื่องประดับต่างๆในพิธีชงชา  มีลักษณะของความสงบ เรียบง่าย และสง่างาม "        











    ただいま | Tadaima | กลับมาแล้วค่ะ 





                         อีกสิ่งนึงที่คู่กับชีวิตนักศึกษานอกจาก7-11ก็คือหอพักนักศึกษา หอพักที่นี่ทำเราช็อคไปหลายรอบอยู่ตั้งแต่เท้าซ้ายก้าวข้ามขอบธรณีประตูเข้ามาก็ถูกรัวภาษาญี่ปุ่นเป็นชุดและถึงแม้จะฟังอะไรไม่ออกเลยก็พอจะจับน้ำเสียงได้ว่า (ุ)โดนว่าอยู่ ประกอบกับภาษากายที่สื่ออกมา โอเคเขาไม่ให้ใส่รองเท้าขึ้นตึก(เนื่องจากพื้นของทั้งตึกถูกบุไปด้วยพรม)  ลากกระเป๋าขึ้นห้องไปพร้อมกับความเหนื่อยขั้นสุด(พึ่งแบกกระเป๋าเดินทาง15กิโลข้ามสะพานลอยมา)กะเปิดแอร์นอนเล่นชิวๆซักหน่อย โนะโน้ววว ครั้นเปิดประตูเข้าไปทางขวามือของห้องพบกับ เตียง 1.5ฟุตหนึ่งเตียง ตู้เสื้อผ้าขนาดย่อม วนมาด้านซ้าย พบกับ แอร์ โต๊ะเขียนหนังสือ+โคมไฟ และอ่างล่างมือพร้อมกระจกบานไม่ใหญ่มาก สิ่งสำคัญนะตอนนี้นอกจากแอร์ที่ถูกเปิดโดยตั้งอุณหภูมิซึ่งน่าจะต่ำอุณหภูมิภายนอกห้อง10กว่าองศาได้ เตียงคือเป้าหมายถัดไปของเรา บนฝูกขนาดใหญ่ปราศจากสิ่งใดๆปกคลุม ผ้าห่มหรือหมอนก็คงไม่ต้องพูดถึงเพราะมันได้ถูกยัดอยู่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่วางจุมปุกรอเจ้าของห้องคนใหม่มาเปิด หน้าที่ของผู้มาเยือนอย่างเราคือการหยิบมันออกมาปูนั้นเอง โดยก็มีทางคุณลุงเจ้าของหอมาเปิดคอร์สอบรมการใช้ผ้าชนิดต่างๆในการปูที่นอน(ภาษาญี่ปุ่น+ภาษากาย) หลักสูตร3นาทีนอนได้ให้พวกเราดูกัน 




                       จบจากห้องนอน มาต่อกันที่ห้องน้ำ หอพักที่นี่มี4ชั้น ชั้นละประมาณ 30 ห้องคำนวณคร่าวๆถ้าอยู่กันเต็มก็จะประมาณ 120 คน แต่ละชั้นจะมีห้องน้ำและห้องซักผ้าประจำอยู่ ก็โอเคห้องน้ำรวมไม่เป็นไร เคยผ่านโฮสเทลนอนรวมกันเกือบ20 คนห้องน้ำห้องเดียวยังผ่านมาได้แล้วเลย สบายมาก จนคุณลุงเจ้าของหอคนเดิมให้ลงไปรวมตัวกันข้างล่างเพื่อจะอธิบายการใช้ห้องน้ำให้พวกเราฟัง แล้วก็มาถึงบางอ้อ ห้องน้ำที่เห็นว่ามีทุกชั้นนั้นนะมีแค่คุณชักโครกเท่านั้นถ้าจะอาบน้ำจะต้องลงมาที่ชั้น1 จะมีห้องอาบน้ำเปิดให้บริการอยู่ 4ห้องด้วยกัน ใช่ค่ะ 4ห้องทั้งตึก4ห้อง ณ ตอนนั้นก็เอาแล้วไงนี้จะต้องมารออาบตอนเที่ยงคืนรึป่าว แต่ปรากฏว่าทั้งสองอาทิตย์ที่อยู่มาไม่เคยต้องรอห้องอาบน้ำเลยลงไปทีไรก็ว่างตลอดจนแอบสงสัยว่าคนญี่ปุ่นเขาอาบน้ำกันรึป่าวเพราะเคยมีประสบการณ์ไปเที่ยวเกาหลีแล้วไปอาศัยใต้ชายคาเพื่อนเกาหลีซึ่งเป็นเพื่อนของเพื่อนอีกทีและตอนนั้นก็เป็นหน้าร้อนเช่นกันผลปรากฏว่านางก็ไม่อาบน้ำ หรือมันจะเป็นกิจวัตรที่เขาไม่ค่อยอาบน้ำกันนะของคนแถวภูมิภาคนี้ 




                      สำหรับเงิน25,000 บาทที่จ่ายไปยังครอบคลุมถึงอาหารเช้าและเย็นอีกด้วยโดยทางหอพักจะเตรียมไว้เป็นเวลาถ้าลงมาช้าก็อดไปนะจ๊ะ ภายในห้องอาหารสิ่งแรกที่เราต้องทำคือการไปหยิบป้ายห้องที่แขวนไว้บนบอร์ดมาใส่กล่องเพื่อเป็นการบอกว่าเจ้าของห้องนี้มากินข้าวแล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือหยิบถาดอาหารขึ้นมาโดยอาหารจานหลักจะถูกแยกเป็นสองฝั่งคือ ฝั่งอาหารญี่ปุ่น และแบบตะวันตก ... ขอหยุดการบรรยายไว้เท่านี้  เป็นคุณเมื่อรู้ว่ามีอาหารญี่ปุ่นกับอาหารฝรั่งให้เลือกคุณคิดไว้ว่ามันจะเป็นยังไง ส่วนตัวคิดว่าฝั่งญี่ปุ่นจะเป็นข้าวปั้น เบนโตะ ไข่ตุ๋น หรือ อะไรที่มันญี่ปุ๊นญี่ปุ่น ส่วนฝั่งตะวันตกก็อาจจะเป็นไข่ดาวแฮมไส้กรอก อะไรประมาณนี้ ...ตัดกลับมาที่โลกความเป็นจริงอาหารที่อยู่ตรงหน้าทั้งสองฝั่งเหมือนกันจนแยกไม่ออกถ้าจะมีอะไรที่ต่างก็คงเป็นป้ายที่ติดอยู่บนชั้นวางอาหารแค่นั้นแหละที่ต่าง ความงุนงงอยู่กับเราไม่นานเมื่อคุณลุงเจ้าของหอคนเดิมที่สอนปูที่นอน อธิบายว่าสำหรับคนที่เลือกอาหารฝั่งตะวันตกจะมีขนมปังปิ้งและผลไม้ให้อยู่ในตู้เย็น ส่วนคนที่เลือกอาหารญี่ปุ่นจะมีเป็นกับแก้มอย่างเต้าหู้เย็นหรือนัตโตะ(ถั่วเน่า)ให้ ซึ่งแต่ละวันเมนูอาหารก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้างผสมกันไป ก็เป็นความแปลกใหม่ในชีวิตดีอารมณ์มันต่างจากการไปพักตามโรงแรม โฮสเทล หรือบ้านโฮสต์family ที่ผ่านๆมา  แต่ความสนุกยังไม่จบเท่านั้น กินเสร็จยกถาดอาหารทุกอย่างกลับไปที่เคาเตอร์ เพื่อไปคืนภาชนะ แต่ถ้าจะเก็บเฉยๆก็ธรรมดาไปเพราะเราจะต้องต่อแถวเพื่อล้างถ้วยชามลามไหให้คุณป้าประจำห้องอาหารด้วย ต้องทิ้งเศษอาหารและขัดเศษข้าวหรืออะไรที่ติดกับจานแบบหยาบๆเพื่อส่งต่อให้คุณป้าล้างอีกต่อนึงอีกที ล้านจานเสร็จก็อย่าลืมเช็ดถาดอาหารให้เรียบร้อยเป็นการเสร็จพิธี พร้อมไปเรียนหนังสืออ 







    FRE"Shy" อีกครั้ง

     



    มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "ชีวิตเฟรชชี่มีได้แค่ครั้งเดียว"

                  สำหรับเด็กซิ่วอย่างฉันก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับคำพูดนี้นะแต่มันคงใช้ไม่ได้กับการมาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ทุกอย่างใหม่ไปซะหมดทั้งสถานที่ ผู้คน และภาษาที่ใช้สื่อสารกัน เป็นความท้าทายและแอบมีความกลัวอยู่เล็กๆ โชคดีที่พวกเรามีเพื่อนใหม่อย่างโอคุซัง มาคอยเป็นไกด์ให้


                  พวกเราเจอโอคุซังนักศึกษาชาวญี่ปุ่นชั้นปีที่4 จากคำแนะนำของstaffที่ดูแลพวกเราอีกที เพื่อมาช่วยเราหาอะไรกินในตอนกลางวันช่วงที่มหาวิทยาลัยดูจะว้าวุ่นที่สุดกับ1ชั่วโมงที่ทำยังไงก็ได้ให้ท้องตัวเองอิ่มและพร้อมเรียนต่อในตอนบ่าย เดินสวนนักศึกษามากมายที่ต่างเดินบ้าง กึ่งวิ่งบ้าง ขี่จักรยานบ้าง และสักพักเราก็มาหยุดอยู่ที่โรงอาหาร เก้าอี้และโต๊ะทุกตัวถูกจับจองอยู่ก่อนแล้วมองซ้ายมองขวาก็ไม่มีทีท่าว่าจะมีใครลุกในเร็วๆนี้ โอคุซังจึงเปลี่ยนเป้าหมายพาเราไปยังร้านสะดวกซื้อฝั่งตรงข้ามแทน ภายในจำนวนคนก็ไม่ต่างจากโรงอาหารมากนัก ข้าวกล่อง ข้าวปั้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปวางเรียงรายอยู่เต็มตู้แช่และชั้นวางของ บ่งบอกถึงการได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษาเป็นอย่างมาก 
                  จบจากเมนูอาหารกลางวันมา ไปต่อกันที่ห้องเรียนตลอด2สัปดาห์ของเรา ตารางเรียนจะแบ่งออกเป็น4topicsหลักๆ กับ4lecturers
    -1- Japanese Religious History
    -2- Japanese Language 
    -3- Gender and Sexuality in Japan
    -4- Japanese Pop Culture
    อาจารย์ทั้งหมดเป็นอาจารย์จากต่างประเทศ(ยกเว้นclassภาษาญี่ปุ่น)ที่มาอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลานานซึ่งเขาเหล่านั้นก็เป็นอาจารย์ประจำอยู่ตามมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ภายในคลาสอาจารย์จะหยิบยกประเด็นน่าสนใจขึ้นมาและเปิดประเด็นให้พวกเราได้แสดงมาความคิดเห็นกันภายในห้อง  นอกจากนี้ยังมีการเปิดสารคดี ภาพยนตร์หรือแม้แต่การ์ตูนอนิเมชั่นทำให้การเรียนภายในห้องไม่น่าเบื่อจนเกินไป 
                     การเรียนตลอด2สัปดาห์มีหลายหัวข้อหลายคำถามที่น่าสนใจและสร้างความประหลาดใจให้เราอยู่เนืองๆอย่างศาสนาพุทธในญี่ปุ่นที่นับวันจะยิ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับความคิดของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป มุมมองต่อคำว่าGender equality และแรงขับเคลื่อนของกลุ่มLGBT หรือจะเป็นหัวข้อJob hunting ของนักศึกษาชั้นปีที่3-4ที่จะต้องเตรียมตัวหางานทำก่อนจบการศึกษาทั้งในด้านความรู้และทักษะในการให้สัมภาษณ์ไปจนถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทรงผมหรือแม้แต่ถุงเท้าที่ใส่ ในฐานะของนักศึกษาสายวิทย์อย่างเราความรู้เหล่านี้เป็นอะไรที่ใหม่และเปิดโลกให้กับเรามากๆ เราอาจเคยเห็นเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับสังคมญี่ปุ่นมาคร่าวๆจากข่าวหรือบทความบนอินเตอร์เน็ตแต่การได้มาเรียนอย่างเจาะลึกกับอาจารย์ที่ศึกษาหัวข้อข้างต้นอย่างจริงจัง ทำให้เราทราบถึงเหตุผลความเป็นมาของสังคมญี่ปุ่นในปัจุบัน และทำให้เราเข้าใจประเทศนี้มากยิ่งขึ้น




    SAWARA / SAHARA



                        
                         หลายปีก่อนเราและครอบครัวติดซีรี่ย์ญี่ปุ่นอยู่เรื่องนึง หนังจะฉายทุกๆวันเสาร์-อาทิตย์ช่วงดึกๆทางช่องThaipbs (สมัยทีวียังมีแค่6ช่อง) ซีรี่ย์เรื่องนี้มีชื่อว่าUmechan Sensei (คุณหมอหน้าใสหัวใจนักสู้) เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะสงคราม ตัวละครเอกที่มีชื่อเดียวกับชื่อซีรี่ย์เป็นเด็กสาวแสนธรรมดาและไม่มีความมั่นใจในตัวเองแต่แล้ววันนึงก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เธออยากจะเป็นหมอขึ้นมาท่ามกลางความคิดของคนในครอบครัวที่ไม่คิดว่าเธอจะเป็นได้

                         อีกหนึ่งความดีงามของซีรี่ย์เรื่องนี้คือเพลงประกอบ (Sakasama No Sora さかさまの空 -SMAP) เพลงนี้จะถูกเปิดขึ้นทุกครั้งตอนซีรี่ย์จบพร้อมๆกับanimationจำลองหมู่บ้านญี่ปุ่นโบราณที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เป็นญี่ปุ่นมุมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน มันจึงเป็นภาพจำที่ทำให้เราอยากจะมาเห็นด้วยตาตัวเองซักครั้ง
                         เราเจอSawara ในเพจของMaru Mura ที่นี่คือ1ใน7สถานที่ที่ควรไปเมื่อมาChiba  ภาพที่แสดงมันตรงกับภาพจำของเรามากๆ ไม่รู้ว่าซีรี่ย์เรื่องนี้มาถ่ายที่นี่รึเปล่าเพราะมีสถานที่แบบนี้หลายแห่งอยู่เหมือนกัน แต่มาถึงChibaแล้วก็ลองไปดูซักหน่อย แต่จะให้ไปถ่ายรูปธรรมดาก็จะน่าเบื่อไป หันไปเจอกล้องฟิลม์ของFuji(Fujifilm Simple Ace 400) ในร้านสะดวกซื้อ เอาวะเสี่ยงดวงดูหน่อยหละกัน ด้วยความที่ถ่ายได้แค่27รูปเราจึงอุทิศฟิลม์ทั้งม้วนนี้ให้กับSawara

                        Sawaraในวันที่เราไปเป็นวันเดียวกับวันที่ผู้สื่อข่าวประกาศว่าญี่ปุ่นร้อนที่สุดในรอบ5ปี  ณ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกเพราะมันก็ร้อนเหมือนกันในทุกๆวัน เดินออกจากรถไฟสิ่งแรกที่เห็นคือinformation centre รับรู้ได้ถึงความเป็นสถานที่เที่ยวของที่นี่แต่ก็ไม่คิดว่าโบชัวร์แรกที่เราเห็นจะเป็นversionภาษาไทย และอีกหลายๆป้ายตามาที่มีตัวหนังสือภาษาไทยแทรกอยู่ถึงแม้จะตัวไม่ใหญ่เท่าภาษาอังกฤษหรือจีนก็ตาม บ่งบอกว่ามีคนไทยมาเยอะแค่ไหน



      ความสวยงามของหน้าร้อน 





                            ก่อนมาญี่ปุ่นเรามีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนสาวชาวญี่ปุ่นพวกเรารู้จักกันที่โฮสเทล ณ สิงคโปร์ ตลอด2สัปดาห์ที่อยู่ที่นั้นหัวข้อที่คุยกันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประเทศญี่ปุ่นเลยจนกระทั่งวันสุดท้ายก่อนเราจะกลับไทยเราก็เปิดประเด็นขึ้นว่า "สัปดาห์หน้าเราจะเรียนที่ชิบะ2สัปดาห์ ตอนนี้อากาศคงร้อนน่าดูเลยใช่ไหม?" สิ้นประโยคบอกเล่าผสมคำถาม หญิงสาวจากดินแดนปลาดิบก็ตอบกับมาด้วยน้ำเสียงปกติแต่แอบปนความเกรี้ยวกราดเบาๆ เธอสาธยาความเลวร้ายของหน้าร้อนออกมา ทั้งอากาศที่ร้อนอบอ้าวสุดๆ พายุและแผ่นดินไหวที่พึ่งเกิดไปหมาดๆ บ่งบอกความไม่ควรไปอย่างชัดเจนแม้จะไม่มีคำพูดนั้นออกมาก็ตาม ในใจเราอยากจะไปขอค่าโครงการคืน ณ เดี๋ยวนั้น(แม้จะเป็นไปไม่ได้)

                          ความร้อนบดบังความสวยของญี่ปุ่นไปเยอะพอสมควร จากมือที่จับกล้องต้องเปลี่ยนมาจับพัด จากกระติกที่บรรจุน้ำอุณหภูมิห้องก็ต้องเปลี่ยนเป็นกระป๋องน้ำอัดลมแทน สีหน้าเคร่งเครียดของผู้คนบนรถไฟฟ้า ผ้าเช็ดหน้าถูกใช้งานอย่างเต็มที่ในการซับเหงื่อที่ผุดออกมาไม่รู้จักหมด คงเป็นอีกเสียงที่ยืนยันว่าไม่ควรมาญี่ปุ่นในหน้าร้อน แต่ความคิดนี้ก็เปลี่ยนไปเมื่อเรามาพบกับ...

                         ฮานาบิ ไทไค (花火大会) หรือเทศกาลชมดอกไม้ไฟ เป็นดั่งข้อความข้างต้น "ความสวยงามของหน้าร้อน"  หากช่วงเวลาที่ดอกซากุระเบ่งบานคือหน้าใบไม้ผลิที่ทุกคนเฝ้ารอ เทศกาลชมดอกไม้ไฟคือสิ่งที่เราและคนญี่ปุ่นตั้งตารอคอยเช่นกัน ร้านอาหารนับสิบๆร้านตั้งเรียงรายเป็นแถวยาวตั้งฉากกับผู้คนที่รอซื้ออาหารกันอย่างเป็นระเบียบ ทาโกะยากิ โอโคโนมิยากิ ยากิโซบะ สเต็กหมูเสียบไม้ย่างไฟ และน้ำแข็งใสที่ให้เลือกใส่น้ำหวานอย่างอิสระ พื้นที่ลานจอดรถกลางแจ้งถูกจับจองจนเต็มตั้งแต่ก่อนงานเริ่มเป็นชั่วโมง จำนวนคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆพร้อมกับแสงอาทิตย์ที่ลาลับขอบฟ้าไป ไม่นานเสียงประกาศตามสายก็กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงานและเริ่มนับถอยหลังไปพร้อมๆกัน

     

    เสียงเพลง และความงดงามของดอกไม้ไฟ องค์ประกอบต่างๆทำให้เรารับรู้ได้ถึงความตั้งใจของผู้จัดทำได้ไม่ยาก มันทำให้เราลืมเหตุผลต่างๆนาๆและตั้งตารอคอยหน้าร้อนให้หวนกลับมาอีกครั้งและเราจะพาคนที่เรารักมาดูด้วยกัน






    ...  เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย...chapterนี้อัดแน่นไปด้วยภาพถ่ายและเรื่องราว      หวังว่าทุกคนจะชอบ สำหรับใครที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวโครงการก็สามารถถามกันเข้ามาได้เลยน้าา ...

    ขอบคุณค่ะ
    MARU.TANI

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Vichai Rairat (@fb1508702765839)
เพิ่งอ่านจบ