จากหนังสือ - คนแบบไหน อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
คนแบบไหน อยู่ใกล้แล้วเพลีย 1/4
⭐️สามารถรับฟังได้ทาง Youtube ในลิงค์ด้านล่างโพสต์นะคะ
ช่วงวันหยุดยาวนี้ แพนแพนมีมี เจอนั่น เจอนี่ ไปเจอหนังสือ
คนแบบไหน อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
คนแบบไหน อยู่ใกล้แล้วเพลีย
เขียนโดยคุณ โคะมิยะ โนะโบะรุ
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ( counseling psychology)
ซึ่งงานของคุณ โคะมิยะ ก็เน้นเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาคนทั่วไป เพื่อให้บุคคลนั้นๆ ทำความเข้าใจปัญหาของตนและวางแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง รวมถึงพัฒนาตนเองให้สามารถไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและการทำงาน
-----
มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ในบทแรกที่เราจะมาถอดบทเรียนกันนี้
เราจะเริ่มที่ - การพิจารณา ตัวของเราเอง ...
รวมไปถึงคนรอบๆข้างเรา
ว่า มีความต่างอะไรที่เห็นได้ชัดบ้าง ระหว่าง
"คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ" กับ "คนที่อยู่ด้วยแล้วเพลีย"
ซึ่งคุณโคะมิยะ ได้รวบรวมมาให้เราไว้แล้ว 8 ประการ
-----
ข้อที่ 1
คนที่อยู่ด้วยแล้วเพลีย : เป็นผู้รับอย่างเดียว
คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ : เป็นผู้ให้
คิดว่าตัวเราเองมีชีวิตอยู่ด้วยการเป็นผู้ให้ หรือ เป็นผู้รับ มากกว่ากันคะ
ทำไมการเป็นผู้ให้ ถึงอยู่ด้วยแล้วสบายใจ?
คุณโคะมิยะ ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจ ว่า
ทำไมเจ้าลูกเหล่าลูกสุนัขลูกแมว จึงได้รับความรักจากมนุษย์นัก
พวกมันไม่ได้คิดว่าจะต้องแกว่งหางท่าไหน
หรือคลอเคลีย พันหน้าแข้ง ข้างไหน หรือต้องม้วนตัวกี่ครั้ง
พวกมันไม่ได้คิดแบบนั้น แต่พวกมันแสดงออกอย่าง "ซื่อตรง" ว่ามันสนใจมนุษย์ !
เพราะพวกมันเริ่มจากการสนใจเราก่อน
พวกมันจึงได้รับความรักจากเราไปเต็มๆ
เปลี่ยนจากเหมียวแวะเวียน มาเป็น เจ้านายของบ้านอย่างง่ายดายอะไรแบบนั้น
ข้อสำคัญของการเป็นผู้ให้คือ "ต้องเรียนรู้ ที่จะสนใจผู้อื่น" เป็นอันดับแรก
เมื่อนั้นเอง ประตูบานแรกก็จะถูกเปิดออก
เราสามารถเริ่มให้จากสิ่งเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่น
กล่าวขอบคุณพนักงานร้านสะดวกซื้อ ด้วยเสียงดังฟังชัด
ด้วยใจที่ขอบคุณที่พวกเขาคอยให้บริการเรา คอยช่วยหยิบข้าวของใส่ถุงให้
คอยถามไถ่ว่าเรากำลังมองหาอะไร
หรือขอบคุณพนักงานที่คอยเปิดประตู เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คนขับรถแท๊กซี่ ด้วยความรู้สึกขอบคุณที่พวกเขาอำนวยความสะดวกเรา
เพราะการให้ เป็นเหตุให้มีความสุขมากกว่าการรับ
กิจการ 20:35
-----
ข้อที่ 2
คนที่อยู่ด้วยแล้วเพลีย : ใส่ใจผลลัพธ์หรือปฏิกิริยาตอบกลับจากคนอื่นมากเกินไป
คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ : ใส่ใจความรู้สึกของตัวเองมากกว่าผลลัพธ์
เราอาจจะไม่สามารถเป็นผู้ให้ที่สมบูรณ์แบบได้
แต่หัวใจของผู้ให้คือ การคิดว่า ตัวเราเองนั้น จะสามารถทำสิ่งดีๆ อะไรเพื่อคนอื่นได้บ้าง...
การให้โดยที่ใจของเราอยากให้นั้น นำมาซึ่งความรักและความสุขที่เราจะมีต่อตัวเอง
เช่น เราต้องการทำของขวัญให้เพื่อนสนิท หรือให้คนรักของเรา
ถ้าหากเราทำให้ด้วยใจที่คาดหวังว่าเค้าจะต้องชอบ ต้องชื่นชม หรือตื่นเต้นสุดๆ แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ การตอบสนองของพวกเขา มันพุ่งไปไม่ถึงเพดานที่เราคาดหวังเอาไว้ ... เราก็จะผิดหวัง
แต่ถ้าหากเราทำ และให้ด้วยใจ ที่เราคิดมาอย่างดี และตั้งใจมาอย่างดี ว่าเราอยากทำสิ่งนี้ให้ เลือกของขวัญชิ้นนี้ให้ เพราะใจของเราอยากจะทำให้
ไม่ว่าเค้าจะรู้สึกชอบ ชอบนิดหน่อย หรือชอบมากๆ สิ่งนั้นเป็นกำไรที่เราจะได้ นอกเหนือจากการ ให้ที่มาจากความตั้งใจของเรา
เมื่อเราได้ให้ด้วยหัวใจจริงๆ เมื่อนั้นก็ถือว่าเป็นความสำเร็จและชัยชนะแล้ว
อีกหนึ่งเรื่องที่เราชอบในหัวข้อนี้ก็คือ
การขอบคุณด้วยใจจริงและการยอมรับน้ำใจผู้อื่น ด้วยใจยินดี
หลายๆคนอาจจะติดอยู่ที่ คำว่า 'เกรงใจ' และลงเอยด้วยการปฏิเสธน้ำใจผู้อื่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
คุณโคะมิยะได้เขียนไว้ว่า
คนที่ไม่รักตัวเองมักไม่ยอมรับน้ำใจจากผู้อื่น
โคะมิยะ โนะโบะรุ
การที่เรายอมรับน้ำใจจากผู้อื่น คือผู้ที่เชื่อว่าตัวเราเองสามารถมอบความสุขให้กับอีกฝ่ายได้ ด้วยการยอมรับในน้ำใจและความช่วยเหลือของเขา
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่ได้แปลว่า เราจะกลายเป็นคนที่ทุกคนชอบหรือสบายใจที่จะอยู่กับเรา
เพราะฉะนั้น ขอให้เราเพียงยึดมั่นเอาไว้ว่า
เราจะเป็นตัวของตัวเอง
ที่ได้มอบสิ่งดีๆ ให้คนอื่น
-----
ข้อที่ 3
คนที่อยู่ด้วยแล้วเพลีย : พยายามแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองดูดี
คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ : เปิดเผยข้อเสียของตัวเองอย่างจริงใจ
ในหัวข้อนี้ คุณโคะมิยะได้ยกตัวอย่าง ชาย หญิง ที่พยายามโอ้อวด และ อวยตัวเอง ถึงคุณสมบัติต่างๆ ตั้งแต่พบกันครั้งแรก
มีคำขยายความที่รู้สึกเจ็บแสบถึงการทำแบบนี้ว่า
การโอ้อวดเหมือนการป่าวประกาศว่า
"ฉันไม่มีสเน่ห์ ถึงได้พยายามขนาดนี้"
ลองสังเกตตัวเองว่าเรามักจะสนิทกับคนแบบไหน
หรือคนแบบไหนที่เราเลือกที่จะใช้เวลาด้วยมากที่สุด
...
ใช่แล้ว... คนที่มีข้อบกพร่องหรือปมบางอย่างที่คล้ายคลึงกันกับเรา
หรือคนที่ยอมรับจุดบกพร่องของตัวเองแล้วพูดมันให้เราได้รับรู้
คนที่สมบูรณ์แบบ มักจะไม่มีใครเข้าใกล้
เพราะคนรอบข้างจะ ตั้งกำแพง ใส่พวกเขา
และไม่ได้สนิทกับใครอย่างจริงจัง
เพราะความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงคือ เราไม่สมบูรณ์แบบ
แต่คนที่พยายามจะสมบูรณ์แบบทุกเรื่อง ทำให้คนรอบข้างรู้สึกอึดอัด
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องแสดงความอ่อนแอออกมาจนกลายเป็นเรียกร้องให้คนอื่นมาเห็นอกเห็นใจ หรือรู้สึกสงสาร เพียงแค่บอกตัวเองว่า
"เราไม่จำเป็นต้องดีจนเกินความจำเป็น" ( หรือแสร้งว่าเราเป็นคนดีพร้อม )
ผ่อนคลายและหายใจลึกๆ ไปกับการเป็นมนุษย์อย่างธรรมชาติบ้าง
-----
ข้อที่ 4
คนที่อยู่ด้วยแล้วเพลีย : ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และเมื่อคนอื่นทำผิด ก็กล่าวโทษอย่างหนัก
คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ : ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองและให้อภัยเมื่อคนอื่นทำผิด
ในข้อนี้ เราชอบมาก และรู้สึกว่า คุณโคะมิยะ ได้ถ่ายทอดออกมาดีมากๆ และเป็นประโยชน์ในเชิงลึกมากๆ
การยอมรับในข้อผิดพลาดหรือการที่เราจะต้องชี้ให้เห็นข้อผิดพลาด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขนั้น เป็นเรื่องที่เปราะบางมากๆ ทีเดียว
แต่คุณโคะมิยะ ได้สื่อสารผ่านหนังสือว่า
เมื่อเราจำเป็นต้องพูดกับคนอื่นถึงข้อผิดพลาด
เพื่อนำไปสู่การแก้ไข หรือทำให้ดีขึ้น
เราจำเป็นต้องพูดเหมือนกับว่า สิ่งนั้นเป็นข้อผิดพลาดของเราด้วย
นั่นจะทำให้ ผู้รับฟัง เปิดใจยอมรับฟังง่ายขึ้น
โดยที่ไม่ทำลายศักดิ์ศรีของอีกฝ่ายด้วย
เพราะว่ามนุษย์เรามีศักดิ์ศรี มีอคติ และความทะนงเป็นของตัวเองเป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อเราต้องรับมือหรืออยู่ร่วมกับมนุษย์คนอื่นๆ ให้เรา 'ทำความเข้าใจ' ว่าเขาเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ความรู้สึก อย่ามองว่าเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้เหตุผลได้ตลอดเวลา
เพราะแท้ที่จริง มนุษย์เราย่อมรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร
แต่โดยปกติธรรมชาติแล้ว เราก็ให้อารมณ์นำหน้าก่อนอยู่ดี
กล่าวคือ มนุษย์เราขับเคลื่อนด้วยอารมณ์
และใช้เหตุผลมารองรับภายหลัง
เพราะฉะนั้น เราต้องสื่อสารโดยการทะนุถนอมใจอีกฝ่าย
ยอมรับข้อด้อยของเขา และพึงระลึกว่า เขาเป็นมนุษย์
เขามีทั้งอารมณ์และเหตุผล
แต่ถ้าหากเป็นตัวเราเองที่ทำผิด เราก็ต้องกล้าที่จะยอมรับและเอ่ยคำขอโทษอย่างจริงใจ กล้าที่จะพูดข้อบกพร่องของตัวเองออกมา
ไม่มีใครต่อว่าคนที่ยอมรับข้อด้อยของตัวเองอยู่แล้ว
-----
ข้อที่ 5
คนที่อยู่ด้วยแล้วเพลีย : ตีความเจตนาคนอื่นไปในทางลบ
คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ : พยายามทำความเข้าใจเจตนาคนอื่นอย่างถูกต้อง
การตีความคนอื่น เราคิดว่า ข้อนี้คือ คำว่าการ 'ตัดสิน' คนอื่น
ตัดสินคนอื่น โดยใช้มาตรฐานชีวิตของตัวเองไปวัดคนอื่น
จนบางทีอาจจะกลายเป็นการตำหนิอีกฝ่ายว่า แย่ หรือ ใช้ไม่ได้
บางครั้งคนอื่นอาจจะแตกต่างจากตัวเรา
คิดต่าง แสดงออกต่าง พูดต่าง หรือตอบสนองต่อปัญหา ต่างออกไปจากเรา
แต่การที่เราไปตีความพวกเขา โดยไม่รู้ข้อเท็จจริง
ก็เท่ากับว่า เรากำลังคิดว่าความคิดของเรานั้นถูกต้อง และ ของคนอื่นผิด
ขอให้ทำความเข้าใจว่า แต่ละคนก็มีวิธีคิดและวิธีใช้ชีวิตต่างกันออกไปเท่านั้นเอง
เราจึงจำเป็นต้องพยายามทำความเข้าใจผู้อื่นอย่างถูกต้อง
โดยไม่คาดเดาไปเอง ด้วยการเปิดใจและการสื่อสาร
-----
ข้อที่ 6
คนที่อยู่ด้วยแล้วเพลีย : คิดว่าตัวเองถูกเสมอ
คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ : พร้อมรับฟังความเห็นและมุมมองที่ต่างไปจากของตน
ในเรื่องนี้คุณโคะมิยะ ได้ยกตัวอย่าง ความสัมพันธ์กับเพื่อนสาวคนสวยของเขา
เธอเป็นคนสวยและเป็นนางแบบด้วย
เธอได้เล่าเกี่ยวกับงานของเธอให้เขาฟังว่า
'ตอนถ่ายรูป ฉันต้องถือแก้วกาแฟแล้วก็ยิ้ม แต่ในแก้วนั้นไม่มีอะไรเลย! ช่างเป็นงานที่ไร้แก่นสาร'
ถ้าหากว่าเราเป็นคุณโคะมิยะ มีเพื่อนเราที่ทำงานเป็นนางแบบมาพูดกับเราแบบนี้ เราจะตอบสนองเธอว่าอย่างไร?
...
ส่วนทางคุณโคะมิยะ ได้ตอบเธอไปว่า
'ลักษณะงานก็เป็นแบบนั้นอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ อย่าบ่นอย่างนั้นสิ'
ทุกคนคิดว่า ผลออกมาเป็นยังไงคะ?
...
หลังจากวันนั้น ทั้งสองคนก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย
ทุกคนคิดว่า เหตุผลที่เธอไม่มาเจอเขาอีก เป็นเพราะอะไรคะ?
...
คุณโคะมิยะ ได้ทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกเสียดาย
และเขียนเล่าไว้ในหนังสือว่า
สิ่งที่คุณเอะริโกะ เพื่อนนางแบบของเขาไม่พอใจนั้น
ไม่ใช่เพราะว่า ในแก้วไม่มีกาแฟ...
แต่เป็นเพราะเธอกำลังรู้สึกว่า ไม่อยากให้คนอื่นต้องมองเธอแค่เพียงหน้าตาหรือมองเห็นแต่ภาพภายนอก ว่าเป็นพวกไร้แก่นสาร เธออยากให้มองเธอ ในแบบที่เธอเป็นจริงๆมากกว่า
เธอจึงเลือกที่จะสื่อสารออกมาถึงความไม่สบายใจเมื่อต้องทำงานแบบนั้น
บางทีแก้วกาแฟที่ว่างเปล่าอาจจะเป็นการเปรียบเทียบชีวิตของเธอเอง...ที่เธอกำลังรู้สึกกับตัวเอง ว่าชีวิตของเธอช่างว่างเปล่าเหลือเกิน
เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนให้กับเราว่า
เราต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือเหตุผลของคนอื่นให้มากขึ้น
เพราะไม่มีใครถูกต้อง 100% หรือผิด 100%
เราสามารถเรียนรู้จากพวกเขา แม้ว่าจะคิดต่างกัน
และใช้ชีวิตโดยให้ความสำคัญกับความคิดตัวเอง
แต่ก็เปิดใจยอมรับฟังคนอื่น ด้วยใจที่ยินดี
-----
ข้อที่ 7
คนที่อยู่ด้วยแล้วเพลีย : มองเห็นแต่เรื่องแย่ๆ และปัญหา
คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ : มองหาแต่เรื่องดีๆ
เคยมีเพื่อนที่ชอบบ่น ชอบด่า ต่อว่าได้ทุกอย่างรอบตัวมั้ยคะ
คนที่มีโลกมืดมน มองเห็นแต่ปัญหา
และเลือกที่จะมองข้ามข้อดีทั้งหมดของชีวิตไป
คนที่มีมุมมองเช่นนี้
ต่อให้พวกเขาออกไปจากสถานการณ์ตรงหน้า
เขาก็อาจจะรู้สึกดีสักระยะ แล้วไม่นานเขาก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก
คุณโคะมิยะ ได้ยกตัวอย่าง คนที่แต่งงาน เพียงเพราะต้องการ 'เติม' ความสุขให้ตัวเอง เขาหรือเธอ จะมีความสุขในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็จะกลับกลายมาเป็นคนที่ไม่มีความสุขอีก
เป็นเพราะอะไร?
เพราะมุมมองที่พวกเขามีต่อชีวิต
สายต่อของพวกเขามองหาแต่ข้อเสีย จุดบอด จนทำให้ตัวเองไม่มีความสุขกับชีวิตเลย
พวกเรากำลังเป็นคนแบบนั้นอยู่มั้ยคะ?
แต่ไม่เป็นไร หากว่าเราจะเป็นคนแบบนั้น
เพราะมันเป็นเรื่องที่ปกติมากๆเลย
คุณโคะมิยะ ได้แนะนำว่า
หากเราอยากเป็นคนที่จดจ่อและสนใจสิ่งที่ทำให้มีความสุขไม่ได้
ให้เราลองเริ่มเขียน
สมุดบันทึก คำขอบคุณ
ให้เป็นนิสัย
โดยเขียนเป็นคำสั้นๆง่ายก็ได้
เช่น วันนี้ตื่นเช้ามาสดใสเหมือนเคย
วันนี้ได้ทำงานอีกวัน ถึงจะเหนื่อย แต่ก็ขอบคุณมากๆ เลย ที่มีงานให้ทำนะ
คุณ...มีน้ำใจ ช่วยเหลือเรา
ได้กินไอศกรีมตอนบ่ายที่อากาศร้อนจัด
เราอาจจะเขียนแค่ 3 หัวข้อ หรือ 1 หัวข้อก็ยังได้
เพียงขอให้เราเริ่มมองหา และ ทำติดต่อกันจนเป็นกิจวัตร
อย่าเพียงคิดในหัว
แต่ให้เขียนออกมา
เพื่อให้สมองของเราจดจำ
เราเชื่อว่าการเขียนมีพลังมากๆ
แล้วเราจะผ่านช่วงเวลาที่มืดมนไปได้ง่ายมากขึ้น
ถ้าหากเรามีความสุข
หรือโลกเขาเรามืดมนน้อยลง
เราจะกลายเป็นคนที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข
-----
ข้อที่ 8
คนที่อยู่ด้วยแล้วเพลีย : กลัวว่าการเป็นจุดเด่นจะทำให้ถูกเกลียด
คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ : ไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของตัวเอง
หลายๆคน มักจะไม่ชอบทำตัวโดดเด่นจนเกินไป
บางคนอาจจะคิดว่า เพราะฉันเป็นมนุษย์เก็บตัวหน่ะ
ฉันไม่ชอบสังคมหรอก ขอไม่ไปเจอคนอื่นดีกว่า
แต่ขอให้เราลองพิจารณาดีๆ ว่า เราเหนื่อยที่จะต้องพบเจอผู้คนเพียงอย่างเดียว
หรือเรากำลังกลัวความคิดเห็นของพวกเขาที่มีต่อเราด้วย?
ความกลัวเหล่านั้น เป็น 'กำแพง' ที่ป้องกันตัวเรา
และเป็นกำแพงที่ให้คนอื่นๆ ก็ไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่ของเราด้วย
แต่เรื่องแบบนี้มักจะเกิดขึ้นได้
และไม่มีใครเป็นฝ่ายผิด
เพียงแต่ความรู้สึกกลัวนั้น อาจจะมาจากประสบการณ์บางอย่างในอดีตของเรา
จนทำให้เราคิดว่า เราไม่คู่ควร ที่จะได้รับความรักหรือความรู้สึกดีๆ จากคนรอบข้าง
วันนี้ขอให้เราเข้าใจเกี่ยวกับตัวเราเองใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า
ตัวเราเป็น ของขวัญ
เราจึงได้เกิดมา
เราเป็นเหมือนของขวัญแก่คนรอบข้าง เราจึงได้เกิดมา
เพราะฉะนั้น อย่าได้ปฏิเสธการมีอยู่และเกิดขึ้นของเรา ที่เป็นดั่งของขวัญแก่พวกเขาเลย
ขอให้เรามั่นใจ และไม่ต้องหวาดกลัว
ลองบอกกับตัวเองว่า ฉันเป็นของขวัญ ฉันเป็นสิ่งดีๆ ฉันจึงเกิดมา
แล้วเริ่มต้นสานสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
สำหรับมนุษย์ชอบเก็บตัวหรือ Introvert ขอให้ เริ่มต้นในระดับที่เรารู้สึกสบายใจนะคะ ^_^
หรือแม้ว่า เมื่อเราเริ่มต้นสานสัมพันธ์แล้ว
แต่เราก็รู้สึกเหมือนถูกโจมตีเลย
เมื่อนั้นให้เราคิดว่า การกระทำที่ทำให้คุณปวดใจนั้น
ไม่ได้เป็นปัญหาที่คุณ
แต่เป็นปัญหาที่ตัวเขาเองต่างหาก
คนที่เกลียดเรานั้น แท้ที่จริง เขาไม่ได้เกลียดเราหรอก
เพียงแต่มีบางอย่างในตัวเรา ที่เขาอยากมี อยากเป็น
แต่เขาไม่ได้เป็น...นั่นทำให้เขาเจ็บปวด และแสดงความเกลียดชังออกมา
ถ้าหากวันใดที่เขาคลายปมในใจนั้นแล้ว
เขาจะกลายเป็นคนที่อยากจะมอบความรักให้กับเรา
เพียงแต่ตอนนี้เขาเลือกที่จะแสดงความเกลียดชังออกมา
เพราะความเจ็บปวดและความกลัว ปกคลุมหัวใจพวกเขาอยู่นั่นเอง
ขอให้เราท่องเอาไว้ว่า
ฉันเป็นที่รักของเขา
เพราะเมื่อเราเชื่อว่าเราเป็นที่รัก
เราก็จะอ่อนโยนกับคนอื่นได้มากขึ้นตามไปด้วย
-----
รับฟังเพิ่มเติมทาง Youtube
https://youtu.be/5jOrz0EpOd0
-----
ขอบคุณสำหรับการรับชมและรับฟัง
แพนแพนมีมี เจอนั่น เจอนี่ :)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in