เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
TalkAtiveYingYue_A
#กูสั่งให้มึงทำข่าว ย้อนบทบาทสื่อไทยในภาวะวิกฤต
  • ในยุคที่เกิดสงครามข้อมูลข่าวสารมากมายทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม (Fake news) โลดแล่นอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต หน้าที่และภาระของสื่อยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดร้ายแรงอย่างประเทศไทย แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่บทบาทของสื่อไทยในเวลานี้ นี่คือการทำหน้าที่ของสื่ออย่างดีที่สุดแล้วหรือ ? 

    จากกรณีนายกฯใช้ข้อกำหนดตามมาตรา 9 ในพ.ร.ก. ฉุกเฉินให้อำนาจกสทช. สั่งตัดอินเทอร์เน็ตผู้โพสต์ข้อความที่อาจสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ประกาศฉบับนี้ออกมาภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ท่ามกลางวิกฤตเรื่องปัญหาวัคซีน โรงพยาบาลเต็ม ประชาชนตายคาบ้าน ตายตามถนน หลังการออกประกาศได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความเหมาะสมและขอบเขตอำนาจของนายกฯ

    การออกประกาศครั้งนี้ย้ำถึงความเป็นทรราชย์หน้าเก่าในคราบนายกฯของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะประกาศนี้ไม่เพียงแต่ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแต่ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการ “ปิดปากสื่อ” ที่ออกมานำเสนอความจริง (ซึ่งไม่ถูกใจรัฐบาล) ออกสู่สาธารณะ 

    หลังจากนั้นไม่นานได้เกิดเหตุการณ์นายกฯถูกตัวแทนสื่อ “รุมฟ้อง” ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่หาดูได้ยากและถือเป็นก้าวใหม่ของวงการสื่อไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสื่อที่ฟ้องนายกฯนั้นเป็นสื่อออนไลน์เกิดใหม่ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People way magazine, echo, และ PLUS SEVEN

    เวลานี้สื่อกระแสหลักมีบทบาทมากน้อยเพียงใดท่ามกลางสถานการณ์การปิดกั้นเสรีภาพสื่อไทย ? แม้ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เกิดองค์กรสื่อออนไลน์ขึ้นมากมายและเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในสังคม แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าสื่อกระแสหลักก็ยังคงมีความจำเป็นอยู่

    แต่ในประเทศไทยภายใต้สถานการณ์การปิดกั้นเสรีภาพสื่อ สื่อออนไลน์เกิดใหม่กลับกลายมาเป็นหัวหอกในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ที่เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง มิหนำซ้ำสื่อกระแสหลักยังสร้างความชอบธรรมให้รัฐในการปิดกั้นเสรีภาพสื่อและเสรีภาพประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

    ใช่ว่าเสรีภาพสื่อไทยถูกปิดกั้นโดยสิ้นเชิง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 ระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของ บุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของ ประชาชน และ มาตรา 35 ระบุไว้ว่า บุคคลซึ่งประกอบอาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งอาชีพ 

    แม้เสรีภาพสื่อจะได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญก็เป็นแค่สิ่งที่ใช้อ้างได้ว่าประเทศเป็นประชาธิปไตยและสื่อมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แท้จริงแล้วคืออำนาจนิยมต่างหากที่ฝังรากลึกในสังคมไทยและทำให้สื่อไทยหลายองค์กรก็เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะกลัวโดนผู้มีอำนาจสั่งปิด 

    หลายครั้งที่สื่อกระแสหลักไม่กล้าแตะข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมหรือประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภา เช่น เรื่องอื้อฉาวอย่างคดีคิงส์เกต หรือ การเข้าร่วมCPTPP ประเด็นทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่กระทบการดำเนินชีวิตของประชาชนในประเทศทั้งสิ้น แต่กลับไม่ถูกส่งไปถึงประชาชนอย่างทั่วถึง 

    แม้ในหลายเรื่องถูกยกขึ้นมาถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ แต่เมื่อก้าวพ้นโลกออนไลน์ออกไปแล้วจะพบว่ายังมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร จนเกิดกระแส #กูสั่งให้มึงทำข่าว ขึ้นในทวิตเตอร์เพื่อเรียกร้องให้สื่อหลักนำเสนอข่าวสารบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่ได้กลับมาก็ยังคงเป็นความเงียบ

    ปัจจุบันลมได้เปลี่ยนทิศไปแล้ว ไม่เหมือนเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด 19 และข้อกังขามากมายในการทำงานของรัฐบาล สิ่งที่สังคมต้องการคือความจริงและการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกฝีก้าว นี่ไม่ใช่เรื่องของอำนาจนิยมอีกต่อไปแต่หมายถึงการอยู่รอดและความเป็นความตายของทุกชีวิตในประเทศ 

    แฮชแท็ก #กูสั่งให้มึงทำข่าว คือภาพสะท้อนความไร้น้ำยาของสื่อกระแสหลักในการนำเสนอข่าวจนประชาชนต้องออกมาเรียกร้อง หากสื่อทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้วแฮชแท็กนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

    ท้ายที่สุดแล้วหากสื่อกระแสหลักยังไม่ปรับตัวและไม่ยอมรับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม เมื่อเวลานั้นมาถึงนั่นอาจจะไม่ได้หมายถึงการล่มสลายของรัฐบาลทรราชย์เพียงอย่างเดียว แต่อาจรวมถึงการล่มสลายขององค์กรสื่อกระแสหลักด้วยเช่นกัน 

    Sasitorn Ak.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in