เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
untitled tagsPrywrytes
เจรจาผู้ไม่ผิด
  • “หนุอยากลงเรียนตัวนี้ค่ะ”

    “แต่วิชานี้เรียนตอนหนึ่งทุ่มนะคะ เสร็จสามทุ่มค่ะ เป็นวิชาสามหน่วยกิต เรียนครั้งเดียวต่อสัปดาห์”

    “ค่ะ หนูอยากเรียนค่ะ”

    “เลิกสามทุ่มนะคะ”

    “ค่ะ ทราบค่ะ”

    “จะดีหรือคะ”

    “หมายถึงอะไรคะ”

    “กลับดึกมันอันตรายนะคะ”

    “หนูกลับได้ค่ะ”

    “มีรถส่วนตัวมารับหรือคะ”

    “เปล่าค่ะ ก็ไปขึ้นรถไฟฟ้าแล้วเดินกลับบ้านเหมือนปกติ รถไฟฟ้าหมดเที่ยงคืนนี่คะ”

    “คุณรู้ศิลปะป้องกันตัวหรือคะ”

    “เปล่าค่ะ”

    “เดินจากมหาวิทยาลัยไปรถไฟฟ้าตอนกลางคืนมันอันตรายนะคะ”

    “ทราบค่ะ แต่มันก็ไม่ได้ดึกมาก”

    “ไฟตรงถนนระหว่างนั้นก็ไม่ค่อยสว่าง”

    “เดี๋ยวหนูพกสเปรย์พริกไทยก็ได้ค่ะ”

    “สเปรย์พริกไทยผิดกฎหมายนะคะ สถาบันสนับสนุนให้ผู้เรียนพกติดตัวไม่ได้”

    “สถาบันไม่ต้องสนับสนุนก็ได้ค่ะ หนูพกของหนูเอง”

    “ไม่ได้หรอกค่ะ เพราะคุณพูดมาแล้ว ตัวแทนสถาบันก็ต้องห้ามปรามความคิดนั้น”

    “นกหวีดเตือนภัยก็ได้ค่ะ ขอหนูลงเรียนตัวนี้ได้หรือยังคะ”

    “นกหวีดพวกนั้น เสียงดังไม่พอหรอกค่ะ ข่าวก็ลงตั้งเยอะว่าใช้แล้วก็ไม่มีใครมาช่วย”

    “ก็ไม่ได้เกิดเหตุทุกวันนี่คะ หนูอาจจะไม่ต้องใช้อะไรเลยก็ได้”

    “แล้วถ้าเกิดอะไรขึ้นกับคุณ เพราะเลิกเรียนดึกล่ะคะ สถาบันต้องดูแลผู้เรียนค่ะ”

    “สถาบันจะออกเงินค่าแท็กซี่ให้หนูทุกอาทิตย์ไหมคะ”

    “ไม่ได้หรอกค่ะ เป็นสวัสดิการไม่จำเป็น ออกให้ไม่ได้”

    “งั้นหนูจ่ายแท็กซี่เองก็ได้ค่ะ”

    “แท็กซี่ก็เสี่ยงอันตรายนะคะ โดยเฉพาะเวลากลางคืน”

    “แกล้งทำเป็นโทรศัพท์คุยกับคนอื่นตลอดก็ได้ค่ะ”

    “แล้วถ้าคนขับแท็กซี่ไม่สนใจ หาทางทำร้ายคุณ คุณมีทางป้องกันตัวอย่างไรหรือคะ”

    “ก็รีบหาทางลงจากรถค่ะ”

    “ถ้าเขาล็อกประตูรถล่ะคะ”

    “แกล้งบ้าค่ะ”

    “มีโอกาสที่คนร้ายจะยิ่งฉวยโอกาสเพราะเห็นว่าเป็นบุคคลสติไม่สมประกอบนะคะ คุณไม่ทราบหรือคะ”

    “งั้นหนูจะถีบคนขับให้ได้ค่ะ”

    “การต่อสู้อาจยิ่งยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้ความรุนแรงนะคะ”

    “มันก็อาจจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ทุกทางนั่นแหละค่ะ เราไม่รู้หรอก ใช่ไหมคะ”

    “ตัวแทนสถาบันมีหน้าที่แจ้งให้ผู้เรียนทราบค่ะ ไม่อย่างนั้นทางสถาบันจะถือว่ามีความผิด ปล่อยปละละเลย ไม่ให้ความรู้ด้านความปลอดภัยแก่ผู้เรียนในการทำกิจกรรมเพื่อการศึกษา”

    “งั้นถือว่าหนูรับทราบหมดแล้วค่ะ ขอหนูลงเรียนตัวนี้ได้หรือยังคะ หนูแค่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ทำเรื่องเพิ่มหน่วยกิตให้เองค่ะ”

    “ถ้าเดินตามลำพังตอนกลางคืน ป้องกันตัวอย่างไรบ้างคะ”

    “รีบเดินค่ะ ถ้ามีรถวิ่งมาใกล้ๆ ก็หลบให้ห่าง”

    “แต่ถ้ารถเร่งความเร็วจริง ทราบใช่ไหมคะว่าไม่มีทางหนีทัน”

    “ค่ะ”

    “คิดจะเดินกลับกับคนอื่นไหมคะ”

    “ถ้าหนูหาเพื่อนในคลาสได้ ก็คงเดินกลับด้วยกันค่ะ”

    “จะเลือกบุคคลที่เดินกลับด้วยอย่างไรคะ”

    “ก็คนที่พอคุยกันได้ค่ะ”

    “ถ้าไม่มีบุคคลที่ว่า จะเลิกเรียนวิชานี้ไหมคะ”

    “ไม่ค่ะ”

    “อย่างนั้นก็เสี่ยงอันตรายนะคะ แล้วถ้าอีกฝ่ายเสนอตัวขับรถไปส่งละคะ”

    “ก็ไปกับเขาค่ะ คงดีกว่าแท็กซี่ใช่ไหมคะ”

    “จริงหรือคะ ที่พูดแบบนี้เพราะไม่มีคนรู้จักของคุณจะลงวิชานี้เลยใช่ไหมคะ จะไว้ใจคนไม่รู้จักเลยหรือคะ”

    “ก็เรียนด้วยกันไป ต้องคุ้นกันบ้างนี่คะ”

    “ตัดสินที่สัปดาห์เท่าไรหรือคะว่าคุ้นเคยกันแล้ว และสามารถไว้วางใจได้”

    “หนูก็ไม่ทราบค่ะ คิดว่าจะรู้ได้เอง แล้วคนอื่นที่ลงวิชานี้ไม่ต้องกลัวกันเองบ้างเลยหรือคะ”

    “คุณพร้อมจะเป็นฝ่ายผิดไหมคะ”

    “คะ”

    “คุณพร้อมจะเป็นฝ่ายผิดไหมคะ”

    “หมายความว่าไงคะ

    “คุณพร้อมจะเป็นฝ่ายผิดไหมคะ ทางสถาบันแจ้งความเสี่ยงโดยพื้นฐานให้ผู้เรียนทราบหมดแล้ว ดังนั้นถ้ายืนกรานจะเรียน แล้วถ้าถูกปล้นจี้หรือทำมิดีมิร้ายระหว่างเดินกลับ ไม่ว่าจะด้วยการเดินเท้า แท็กซี่ หรือติดรถคนไม่คุ้นเคย จะถือว่าผู้เรียนเพิกเฉยต่อคำเตือนจากตัวแทนสถาบันได้หรือเปล่าคะ”

    “…”

    “…”

    “ฉันรับทราบความเสี่ยงไว้เฉยๆ ค่ะ”

    “จะยอมรับไหมคะ”

    “เอางี้นะคะ ฉันลงตัวนี้เทอมหน้าก็ได้ เทอมนี้ทั้งเทอมจะไปเรียนป้องกันตัวค่ะ แบบนั้นสถาบันถือว่าฉันยอมรับคำเตือน แล้วปรับตัวเพื่อความปลอดภัยได้หรือยังคะ”

    “มีความตั้งใจจะป้องกันตัวอย่างไรจากการเรียนป้องกันตัวหรือคะ”

    “หมายถึงอะไรคะ ก็เรียนป้องกันตัวไงคะ จะได้เตะต่อยเป็น”

    “แล้วมีขีดเส้นการป้องกันตัวไว้ขนาดไหนหรือคะ”

    “ไม่เข้าใจค่ะ ก็หมายถึงใครมาทำร้ายก็จะอัดมันไงคะ”

    “ตัวแทนสถาบันต้องเตือนความเป็นไปได้ของการทำเกินกว่าเหตุ เพื่อให้ผู้เรียนระมัดระวังด้านนั้นด้วยค่ะ”

    “เกินกว่าเหตุยังไงคะ ฉันคงไม่ทำร้ายใครจนตายหรอกค่ะ เอาแค่ให้เอาตัวรอดได้”

    “ถ้าอีกฝ่ายเสียชีวิต คุณก็รอดไม่ใช่หรือคะ”

    “ไม่ทราบค่ะ ถ้ามันเกิดขึ้น ทุกอย่างคงจะเร็วมาก ฉันคงจะคิดแค่เรื่องทำให้ตัวเองปลอดภัย”

    “สามารถปลอดภัยได้ด้วยการไม่เรียนวิชาที่เลิกดึกเกินไปค่ะ”

    “ถ้าอย่างนั้น เรียนวิชาตอนกลางวันก็โดนทำร้ายได้เหมือนกันนี่คะ ไหนจะถ้าเดินๆ อยู่แล้วสะดุดขั้นบันได หรือโดนอะไรตกใส่หัว สถาบันก็ไม่ได้ห้ามคนมาเรียนที่สถาบันนี่คะ ทั้งที่มีความเสี่ยงนั้นเหมือนกัน”

    “เพราะเรื่องแบบนั้น คุณจะไม่อยู่ในข่าวนี่คะ”

    “คะ หมายความว่าไงคะ”

    “สมมติผู้เรียนมาเข้าเรียนช่วงระหว่างวัน แล้วถูกทำอนาจารกลางห้องเรียนที่มีคนอื่นอยู่ด้วย หรือถูกทำร้ายในโรงอาหาร ผู้ที่ตกเป็นข่าวจะเป็นผู้ก่อการค่ะ ข่าวจะไม่ให้ความสนใจผู้เรียน ทางสถาบันจะให้ความสำคัญการยับยั้งเหตุนี้ โดยย้ำกฎต่อต้านการก่อเหตุความรุนแรงแทนค่ะ”

    “แล้วสถาบันจะย้ายวิชานี้มาเปิดตอนกลางวันไหมคะ”

    “ทำอย่างนั้นไม่ได้ค่ะ เพราะว่าเป็นตารางที่กำหนดไว้แล้ว และมีผู้เรียนคนอื่นด้วย”

    “งั้นฉันก็จะลงเรียนเหมือนคนอื่นค่ะ”

    “จึงต้องอธิบายให้เข้าใจถึงความเสี่ยงทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเมื่อวิชาเรียนเป็นวิชาที่ทำให้ผู้เรียนต้องเดินทางยามวิกาลค่ะ รวมถึงขอถามความสมัครใจเอาไว้ คุณพร้อมจะเป็นฝ่ายผิดไหมคะ”

    “ผิดถ้าฉันโดนทำร้ายเหรอคะ”

    “เพราะถือว่าผู้เรียนสมัครใจรับความเสี่ยงเพิ่ม ซึ่งเมื่อมีผู้ถูกทำร้าย สังคมจะมีบาดแผล ผู้เรียนเป็นผู้เรียนสถาบัน เท่ากับว่าสถาบันจะถูกตราว่ามีส่วนในการสร้างบาดแผลให้แก่สังคมเพิ่ม ทางเราจึงต้องการให้ผู้เรียนตรองให้ดี”

    “ถ้าฉันถูกทำร้าย ฉันจะฆ่าคนที่ทำร้ายฉันค่ะ”

    “แจ้งเจตนาแบบนั้นไม่ได้นะคะ ไม่อย่างนั้นทางสถาบันจะต้องอบรมเพิ่มเรื่องนโยบายและกฎหมายต่อต้านเหตุความรุนแรงค่ะ”

    “ทำไมคะ”

    “เพราะการคร่าชีวิตผู้อื่นเป็นความผิดคะ คุณจะยอมเป็นฝ่ายผิดหรือคะ”

    “ถ้าฉันถูกทำร้าย ฉันก็ผิดนี่คะ ถ้าอย่างนั้นฉันควรเอาให้คุ้มรึเปล่า”

    “ผู้เรียนจะไม่ต้องเป็นฝ่ายผิดก็ได้ค่ะ ถ้าผู้เรียนดำเนินกิจกรรมการศึกษาอย่างระมัดระวัง ทางเราแค่อยากให้เข้าใจว่า เมื่อเกิดเหตุร้ายใดๆ ขึ้น โดยเฉพาะจากสถานการณ์ที่ทางสถาบันแจ้งเตือนไว้แล้ว ว่าเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง สถาบันจำเป็นต้องขอให้ผู้เรียนรับผิดชอบร่วมกับสถาบัน เพราะผู้เรียนเข้าใจไหมคะ ว่าสถาบันไม่สามารถเอื้ออำนวยความสะดวกให้มากกว่านั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสถาบันสอนให้ผู้ขัดขืน ก็จะถือว่าสถาบันส่งเสริมให้ผู้เรียนยั่วยุ แต่ถ้าสถาบันส่งเสริมว่าอย่าขัดขืน ก็จะกลายเป็นสถาบันส่งเสริมหรือเกลี้ยกล่อม ชักจูงให้ผู้เรียนยอมรับความเสี่ยง แต่เรื่องนี้ผู้เรียนต้องยอมรับด้วยความเข้าใจและเต็มใจของตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดที่สถาบันต้องการให้ผู้เรียนเข้าใจในตัวเอง ว่าผู้เรียนสามารถยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ผิดได้ไหม เพื่อการดำเนินกิจกรรมขั้นต่อไปค่ะ”

    “ยอมรับต่อใครคะ”

    “สาธารณะค่ะ”

    “ค่ะ ถ้าอย่างนั้น ถ้าฉันตกในสถานการณ์เสี่ยง ฉันมีความตั้งใจจะฆ่าอีกฝ่ายค่ะ”

    “อย่างที่เรียนให้ทราบค่ะ ถ้าคุณแสดงจำนงแบบนั้น ทางสถาบันก็จะต้องแจ้งเรื่องนโยบายและกฎหมายต่อต้านการกระทำดังกล่าว”

    “ก็แจ้งมาเลยค่ะ ช่วยคุยกับฉันในฐานะผู้ที่อาจก่อเหตุแทนทีค่ะ”

    “งั้นขั้นแรกเลย ผู้เรียนพร้อมจะยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ผิดไหมคะ”

    “พร้อมค่ะ”

    “…”

    “มีอะไรหรือคะ”

    “…แล้วทำไมถึงไม่ยอมรับเป็นผู้ผิดกรณีที่เกิดเหตุร้ายกับคุณล่ะคะ”

    “ก็แบบนั้นหมายความว่าฉันผิดที่อยากเรียนวิชานี้ไม่ใช่เหรอคะ”

    “…”

    “…”

    “…”

    “…”

    “ประชดหรือคะ”

    “เปล่าค่ะ”

    “นี่เป็นสถาบันการศึกษานะคะ”

    “ก็นั่นน่ะสิคะ แสดงว่าสถาบันผิดหรือเปล่าที่เปิดวิชาเรียนตอนกลางคืนแต่แรก”

    “ทางสถาบันจัดตารางเวลาได้เท่านี้ค่ะ”

    “ถ้าฉันต้องผิดที่อยากเรียนวิชานี้ สถาบันช่วยรับผิดที่ทำให้ฉันอยากเรียนวิชานี้ด้วยค่ะ”

    “สถาบันไม่สามารถระบุได้หรอกค่ะว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณอยากเรียนวิชานี้อยู่ตรงไหน”

    “ฉันก็ระบุไม่ได้ค่ะ”

    “คุณ…”

    “คะ”

    “ในเรื่องการรับผิดชอบร่วมกัน…”

    “ค่ะ ฉันผิดที่อยากเรียนวิชานี้ เพราะสถาบันมีวิชานี้และสถาบันทำให้ฉันอยากเรียนค่ะ”

    “ไม่ได้ค่ะ”

    “อะไรไม่ได้คะ”

    “ให้ผู้เรียนมีความผิดที่อยากเรียนวิชาของสถาบัน ร่วมกับสถาบันผิดที่มีวิชาดังกล่าวไม่ได้ค่ะ”

    “นั่นแปลว่าอะไรคะ”

    “…”

    “แปลว่าอะไรคะ”

    “…”

    “ช่วยเรียบเรียงใหม่ทีค่ะ”

    “ผู้เรียนไม่มีความผิดที่อยากเรียนวิชาของสถาบันค่ะ”

    “เริ่มจากตรงนั้นก็ดีค่ะ ช่วยเซ็นเอกสารเพิ่มหน่วยกิตให้ด้วยทีนะคะ”

    “ค่ะ”

    “ค่ะ”

    “…”

    “…”

    “ทำไมถึงอยากเรียนวิชานี้หรือคะ”

    “อ๋อ”

    “…”

    “ก็แค่อยากน่ะค่ะ เท่านั้นไม่พอหรือคะ”


    “…”


    “คะ”

    ?


    “พอค่ะ”

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in