เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
มูฟวี่ 101StarLord4K
อะไรคือหนังภาคต่อ หนังภาคก่อน หนังภาคแยก รีเมค รีบูท เยอะแยะเต็มไปหมด
  • ความบ้าบอของวงการฮอลลีวูดคือหนังเรื่องไหนที่ผู้กำกับหรือสตูสนใจก็มักจะหยิบเอามาสร้างต่อเพื่อทำเงินทำกำไรเข้ากระเป๋าตัวเอง คนดูก็จะได้ดูหนังต่อเนื่องกันไป เหมือนเป็นกับดักอย่างหนึ่งของสตูที่จะทำให้คนดูอย่างเราต้องตามดูไปจนกว่าจะจบ ซึ่งอย่างง่ายที่สุดคือการสร้างภาคต่อ ที่มีเนื้อเรื่องต่อจากภาคก่อนหน้า อันนี้ใครๆ ก็เข้าใจได้ ซึ่งพอเวลาผ่านมาเรื่อยๆ มีการลองผิดลองถูกเรื่อยๆ ลูกเล่นการสร้างหนังมันก็มีมากขึ้น มากขึ้น จนตอนนี้เวลาได้ยินข่าวหนังต่างๆ เราก็จะเริ่มงงแล้วว่า มันคืออะไรนะ เดี๋ยวก่อน ใจเย็นๆ มันไม่ใช่ภาคต่อหรอ แล้วมันคืออะไร ภาคก่อน ภาคก่อนคืออะไร ต้นกำเนิดหรอ แล้วภาคต่อของภาคก่อน โอ้ย ใจเย็นๆ ชั้นเริ่มไม่ทันแล้ว เดี๋ยวนะ รีเมค อะไรคือรีเมค แล้วอันนี้ไม่ใช่รีเมค เป็นรีบูท เกี่ยวอะไรกับรองเท้าบูท หัวระเบิดตายใน 3 2 1 เรารู้ว่าทุกคนต้องเคยงงกับอะไรแบบนี้ วันนี้จึงจะมาอธิบายเรื่องราวพวกนี้ให้ฟังโดยใช้เส้นเวลา หรือ Timeline เข้ามาช่วยได้

    หนังภาคต่อ (Sequel)

    อันนี้เข้าใจง่ายที่สุด คือเรื่องราวจะเกิดขึ้น"หลังจาก"ภาคก่อนหน้า ทิ้งช่วงไว้เท่าไหร่ก็ตามแต่ เช่นต่อเนื่องทันที หรือผ่านไปราวๆ ปีนึง หรือ 7 ปี แต่ยังอยู่ในเส้นเวลาและจักรวาลเดียวกัน ดังไทม์ไลน์

    ตัวอย่างหนังภาคต่อ
    • Kingsman: The Golden Circle (2017) เป็นภาคต่อของ Kingsman: The Secret Service (2015)
    • John Wick Chapter Two (2017) เป็นภาคต่อของ John Wick (2014)

    ข้อดีของหนังภาคต่อคือ ง่ายต่อการดู เรียงลำดับ และเข้าใจ
    ข้อเสียคือ ถ้าทำภาคต่ออกมาก็ต้องหลีกเลี่ยงที่จะถูกเอาไปเปรียบกับหนังภาคก่อนไม่ได้

    หนังภาคก่อน (Prequel)

    คือเรื่องราวที่เกิดขึ้น"ก่อน"ภาคก่อนหน้า ก่อนหน้าเท่าไหร่ก็ได้ เช่นเกิดก่อนหน้าภาคก่อน 90 ปี ดังไทม์ไลน์ ฮอลลีวูดมักใช้หนังภาคก่อนในการเล่าเรื่องราวต้นกำเนิดของตัวละครต่างๆ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ของหนังภาคก่อนหน้า

    ตัวอย่างหนังภาคก่อน
    • Underworld 3: Rise of the Lycans เกิดก่อน Underworld 1 และ 2
    • Fantastic Beasts and Where to Find Them เกิดก่อน Harry Potter
    • The Hobbit เกิดก่อน The Lord of the Rings
    • Prometheus (2011) เกิดก่อน Alien (1979)

    ข้อดีของหนังภาคก่อนคือ สามารถต่อยอดเรื่องราวไปได้ไกลมากขึ้น ทำเงินให้สตูเพิ่มขึ้น
    ข้อเสียคือ หากดูหนังเรียงตามไทม์ไลน์ในเรื่องจะรู้สึกไม่ต่อเนื่องเพราะสไตล์การทำหนังเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

    หนังภาคต่อของภาคก่อน (Sequel of Prequel)

    เริ่มซับซ้อนไปอีกขั้น ด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้น"หลังจาก"ภาคก่อนหน้าที่เกิดขึ้น"ก่อนหน้า"ของภาคก่อนหน้าอีกที ส่วนใหญ่เกิดจากกระแสตอบรับของภาคก่อนหน้าดี ทำให้สตูตัดสินใจสร้างภาคต่อ หากไม่เข้าใจให้ดูไทม์ไลน์

    ตัวอย่างหนังภาคต่อของภาคก่อน
    • The Hobbit: The Desolation of Smaug เป็นภาคต่อของ The Hobbit: An Unexpected Journey ที่เป็นภาคก่อนของ The Lord of the the Rings: The Fellowship of the Ring
    • Fantastic Beasts 2 ภาคต่อของ Fantastic Beasts and Where to Find Them ที่เกิดก่อนหนังชุด Harry Potter ทั้ง 8 ภาค
    • Alien: Covenant (2017) เกิดขึ้นหลังจาก Prometheus (2011) ที่เกิดก่อน Alien (1979)

    ข้อดีของหนังภาคต่อของภาคก่อนคือ สามารถต่อยอดเรื่องราวไปได้ไกลมากขึ้น ทำเงินให้สตูเพิ่มขึ้น
    ข้อเสียคือ ผู้ชมที่ไม่ทำการบ้านมาก่อนจะงงแล้วต้องเข้าไปตั้งกระทู้เป็นสิบๆ ในพันทิป ว่าต้องดูภาคไหนมาก่อนถึงจะดูรู้เรื่อง

    หนังภาคแยก (Spin-offs)

    คือการที่สตูอยากทำเงินเพิ่มจากตัวละครที่ไม่ใช่ตัวเอกจากภาคก่อนๆ แต่เห็นว่าน่าสนใจ เลยเอามาขยายเรื่องราวต่อไปเป็นหนังเดี่ยวของตัวเอง มักจะใช้กับพวกหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่เป็นทีม โดยที่หนังภาคแยกมักจะอยู่ในไทม์ไลน์เดียวกันกับหนังภาคหลักที่กำลังดำเนินเรื่องอยู่ แต่เกิดขึ้นช่วงไหนก็ได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับภาคหลักอยู่แล้ว ดังไทม์ไลน์

    ตัวอย่างหนังภาคแยก
    • Deadpool (2016) แยกมาจากแฟรนไชส์ X-Men
    • The Wolverine (2013) แยกมาจากแฟรนไชส์ X-Men
    • Scorpion King (2002) แยกมาจากแฟรนไชส์ Mummy
    • Elektra (2005) แยกมาจาก Daredevil (2003)

    ข้อดีของหนังภาคแยกคือ ตอบสนองแฟนหนังที่อยากเห็นตัวละครที่ตัวเองชอบที่ไม่ค่อยมีบทบาทในภาคหลักมากนักให้ได้มามีหนังใหญ่เต็มตัว
    ข้อเสียคือ ถ้าทำออกมาไม่ดี จะโดนมองข้ามง่ายที่สุด

    หนังรีเมค (Remakes)

    คือการเสี่ยงดวงของสตูในการยกเครื่องหนังใหม่เพื่อทำเงินอีกรอบ หรือจะแป๊กกลับบ้านไป หรือเป็นการแสดงแสนยานุภาพของเทคนิคการถ่ายทำและการตีความที่ทันสมัยมากขึ้นจากหนังเวอร์ชั่นดั้งเดิมเมื่อหลายสิบปีมาก่อน มักจะใช้การรีเมคกับหนังภาคเดียวที่ไม่มีภาคต่อ หรือมีภาคต่อแต่ภาคต่อไม่ดัง โดยการใช้เส้นเรื่องเดียวกันกับภาคดั้งเดิม รวมไปถึงเค้าโครง ตัวละคร และบทต่างๆ ที่อิงจาหนังต้นฉบับมามากที่สุด ฉะนั้นถ้าเทียบบนไทม์ไลน์แล้ว มันก็แทบจะอยู่จุดเดิมของมันนั่นแหละ

    ตัวอย่างหนังรีเมค
    • King Kong (2003) รีเมคจาก King Kong (1939)
    • Ben-Hur (2016) รีเมคจาก Ben-Hur (1953)
    • Planet of the Apes (2001) รีเมคจาก Planet of the Apes (1969)

    ข้อดีของหนังรีเมคคือ ได้เติมเต็มหนังที่เทคนิคต่างๆ สมัยก่อนทำไม่ได้ ได้เล่าเรื่องในส่วนที่อยากเล่า
    ข้อเสียคือ ถ้าทำออกมาก็ต้องหลีกเลี่ยงที่จะถูกเอาไปเปรียบกับหนังต้นฉบับไม่ได้สุด

    หนังไลฟ์แอคชั่น (Live-actions)

    คำนี้กำลังมาแรง มักได้ยินควบคู่กับคำว่ารีเมค คือการสร้างหนังคนแสดงโดยอิงและดัดแปลงเค้าโครง ตัวละคร เนื้อเรื่อง มาจากการ์ตูน เกมคอมพิวเตอร์ หนังสือภาพ หรือหนังสือนิยาย แต่มักนิยมใช้เรียกหนังคนแสดงที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนมากกว่า เพราะมันเห็นภาพว่ามีชีวิตขึ้นมาจริงๆ มากกว่า ซึ่งการดัดแปลงนี้อาจจะอิงเค้าโครงเดิมมาทั้งหมด หรือดัดแปลงไปจนแตกต่างจากบทดั้งเดิมก็มี

    ตัวอย่างหนังไลฟ์แอคชั่น
    • Ghost in the Shell (2017) ดัดแปลงจากการ์ตูน Ghost in the Shell (1995)
    • Death Note (2006) ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูน Death Note
    • Assassin's Creed (2016) ดัดแปลงจากเกมชุด Assassin's Creed

    ข้อดีของหนังไลฟ์แอคชั่นคือ เพิ่มฐานคนดูที่ไม่เคยดูหรือไม่เคยรู้จักการ์ตูน/เกมมาก่อน ให้เข้าไปเป็นแฟนคลับของการ์ตูน/เกมเรื่องนั้น
    ข้อเสียคือ มักทำออกมาห่วยทุกเรื่อง และมักถูกแฟนการ์ตูน/เกมเอาไปเปรียบเทียบกับผลงานต้นฉบับ

    หนังรีบูท (Reboots)

    กำลังเป็นกระแสในฮอลลีวูดและสตูใหญ่ๆ ทั้งหลายในความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะทำเงินจากหนังเก่าที่เค้าโครงน่าสนใจ แต่ทำเงินไม่ได้อีกครั้ง หรือไม่ก็พยายามสร้างหนังให้ได้เพราะสัญญาบอกว่าถ้าไม่สร้างภายใน 5 ปีจะยึดสิทธิ์ในการสร้างหนังคืน แต่ทีมงานและนักแสดงจากหนังภาคก่อนไม่กลับมาแล้ว โดยที่หนังรีบูทจะใช้ทีมงานใหม่ นักแสดงใหม่ เค้าโครงเรื่องและตัวละครที่อ้างอิงเพียงบางส่วนมาจากเวอร์ชั่นดั้งเดิม เริ่มเส้นเรื่องใหม่และเนื้อเรื่องใหม่ที่จะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับหนังเวอร์ชั่นเก่า แบบไม่เลย ลืมเวอร์ชั่นเก่าไปได้เลย และการสร้างภาคต่อที่จะตามมาก็จะอิงจากไทม์ไลน์ใหม่นี้เช่นกัน ดังไทม์ไลน์

    ตัวอย่างหนังรีบูท
    • Rise of the Planet of the Apes (2011) รีบูทแฟรนไชส์ Planet of the Apes (1968)
    • Fantastic Four (2015) รีบูทแฟรนไชส์ Fantastic Four (2005)
    • The Amazing Spider-Man (2012) รีบูทแฟรนไชส์ Spider-Man (2002)

    ข้อดีของหนังรีบูทคือ รักษาสิทธิ์ในการสร้างหนังของบางสตู และได้เล่าเรื่องใหม่ในจุดที่อยากเล่า
    ข้อเสียคือ สตูต้องทิ้งหนังชุดเก่าไปเพราะจะได้โฟกัสให้ผู้ชมติดตามในไทม์ไลน์หนังที่รีบูทแล้ว และผู้ชมที่ไม่ได้ทำการบ้านจะยังคงคิดว่ามันคือภาคต่อของภาคก่อนหน้า แล้วก็งงอีกว่าทำไมเล่าเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนภาคแรก เลยต้องเสียเวลาเข้าไปตั้งกระทู้พันทิปอีก

    หนังรีบูทกึ่งภาคต่อ

    เป็นหนังที่ทำให้คนดูสับสนที่สุดเพราะจะวางตัวเป็นภาคต่อก็ได้ จะวางตัวเป็นรีบูทก็ได้ หนังแนวนี้เกิดขึ้นมาเพราะความที่สตูเกิดเสียดายว่าถ้าจะต้องรีบูทแล้วกลายเป็นว่าคนดูจะทิ้งภาคเก่าๆ ไปเลย เลยตัดสินใจใช้ลูกเล่นนี้เพื่อตรึงคนดูให้ตามเรื่องราวไปสู่ไทม์ไลน์ใหม่ แต่ก็ยังสามารถอ้างอิงไทม์ไลน์เก่าได้ถ้ามีเวลาไปตามดู ซึ่งหนังประเภทนี้มักใช้ลูกเล่นการย้อนเวลากลับไปแก่ไขเรื่องราวความขัดแย้งในอดีต ส่งผลให้อนาคตเปลี่ยน ไทม์ไลน์เปลี่ยน ดังไทม์ไลน์

    ตัวอย่างหนังรีบูทกึ่งภาคต่อ
    • X-Men: Days of Future Past (2014) เป็นทั้งภาคต่อของ X-Men: The Last Stand (2006) และภาคต่อของหนังรีบูทอย่าง X-Men: First Class (2011) และรีบูทจักรวาล X-Men ใหม่เพื่อปูทางให้ภาคต่ออย่าง X-Men: Apocalypse (2016)
    • Terminator Genisys (2015) เป็นภาคต่อของ Terminator Salvation (2009) ที่สุดท้ายก็ย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงเหตุการ์ณของภาค 1 สร้างไทม์ไลน์ใหม่

    ข้อดีของหนังรีบูทกึ่งภาคต่อคือ สตูได้รีบูทหนังตัวเองโดยที่ไม่ต้องทิ้งหนังภาคเก่าไป นั่นคือเริ่มต้นไทม์ไลน์ใหม่ แต่ยังอ้างอิงไทม์ไลน์เก่าได้ ตัวละครที่เคยตายก็กลับมาไม่ตาย หนังเก่าก็ยังขายได้ เพราะเอามาอิงได้ นิดเดียวก็ยังดี
    ข้อเสียคือ เข้าใจยาก ผู้ชมงงกว่าเดิม ตั้งกระทู้พันทิปร้อยกระทู้ตั้งแต่วันแรกที่หนังเข้าฉาย

    ทั้งหมดที่กล่าวไปคือลูกเล่นของฮอลลีวูดที่จะทำหนังเพื่อมากินเงินเราโดยการสร้างเส้นเวลาขึ้นมาเองแบบงงๆ นึกอยากจะแก้ตรงไหน เริ่มไหมตรงไหน ก็ทำตามใจ จึงเป็นหน้าที่ของคนดูอย่างเราที่จะต้องตามให้ทันเพื่อที่จะได้ดูหนังพวกนี้รู้เรื่อง ไม่ต้องเกาหัวแล้วแบกก้นไปตั้งกระทู้ถามผู้คนถึงพันทิปเป็นร้อยกระทู้ว่าถ้าไม่ดูภาคก่อนมาจะดูภาคนี้รู้เรื่องไหม

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
ขอบคุณสำหรับความรู้นะครับ แต่มีคำถามเพิ่มเติม ปรกติจะเห็นหนังไตรภาค คือมี 3 ภาคจบ แต่ถ้ามีตอนที่ี 4 หรือ 5 เราจะเรียกว่าอะไรครับ สงสัย ^_^
StarLord4K (@SamKMFB)
@fb4689180804071 ถ้าเนื้อหายังมีความต่อเนื่องจากภาคเดิม ตัวละครเดิม เซ็ตติ้งเดิม ก็เรียกภาคต่อได้ล่ะครับ
Theerarat (@starr8110)
ทำให้มีความรู้ขึ้นครับ ขอบคุณครับ
Mr.PT (@Mr.PT)
บทความดีมากเลย ขอบคุณมากครับ