เรามีเวลาประมาณ 1 เดือนก่อนที่จะต้องอัพเดตความคืบหน้าของงานโดยรวมว่า 30 เปอร์เซนแรกนั้นมีอะไร หรือมีกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง
เราลองศึกษาว่างานแนวนี้ๆ (เพลงกล่อมเด็กที่มีภาพประกอบด้วย) ในสื่อออนไลน์มีลักษณะยังไงบ้าง พบว่าแม้ว่าจะมีการนำมาทำใหม่ แต่ก็ยังคงความเป็นไทยอยู่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีไทย ลักษณะการร้องที่ร้องเอื้อนหรือเห่กล่อม เราพยายามหาเพลงกล่อมเด็กที่ไม่ค่อยติดหู และไม่ซ้ำกับสื่อที่มีอยู่แล้ว หลังจากการค้นข้อมูลก็ตัดสินใจเลือกมาทั้งหมดจำนวน 6 เพลง ได้แก่เพลง เมโย บุญประเสริฐ นกกระจิบ นกคลิ้งโคลง จันทร์เจ้าขา และเพลงเจ้าเนื้อละมุนเอย
ครูแจ๊พ(ครูที่ปรึกษา) ได้มีการนัดพูดคุย เพื่อดูภาพรวมของการทำงาน จึงให้พวกเราไปทำสไลด์ภาพรวมของงาน ซึ่งควรจะมี Storyboard, Mood and tone, ระยะเวลาในการทำงาน เป็นต้น
ซึ่งนี่เป็นสไลด์บางส่วนของเรา ขออนุญาตแปะแค่ Mood and tone เพราะสตอรี่บอร์ดค่อนข้างลวก และน่าจะเข้าใจอยู่คนเดียว เพราะเป็นพวกเขียนงานจบในหัว แหะๆ
ในการนัดพูดคุยกับครูที่ปรึกษาครั้งถัดไป เราได้วาดภาพประกอบไปแล้วบางส่วน และลองทำดนตรีพร้อมกับใส่เสียงร้องลงไป ครูแจ๊พก็ได้ให้คำแนะนำมา ว่าเราไม่จำเป็นต้องร้องเพลงคนเดียวทั้งหมด จะให้เพื่อนช่วยร้อง หรือเป็นการประสานเสียงก็ได้ ความลำบากของเราในตอนนั้นคือการทำดนตรีและการร้อง เพราะเราแทบจะไม่มีความรู้ในการทำดนตรีเลย ตอนนั้นรู้จักแค่แอพ Garageband แถมไม่ค่อยเข้าใจวิธีการใช้แอพด้วย เลยไปศึกษาเองจากอาจารย์ยู (ยูทูป) ก็พอจะเข้าใจการใช้งานของแอพ และพอจะทำดนตรีเองได้แล้ว
อุปสรรคถัดไปคือการร้องเพลง เนื่องจากเรายังจับจังหวะของดนตรียังไม่ถูก (ตรงนี้คิดว่าน่าจะเพราะดนตรียังไม่มีจังหวะเริ่มเพลงอย่างชัดเจน) ทำให้เพลงที่ออกมายังแปลกๆ ตรงนี้ตัดสินใจว่าจะยังไม่ใส่เสียงร้อง ใส่แค่ดนตรีและซาวด์เอฟเฟคอื่นๆไปก่อน
หลังจากที่ผ่านไปซักพักก็ถึงเวลาที่จะต้องนำเสนอความก้าวหน้า 30% แล้ว เนื่องจากมีคุณครูบางท่านติดธุระ จึงต้องแบ่งการนำเสนอเป็น 2 วัน (วันที่ 7 และ 14 มีนาคม) โดยเราได้นำเสนอในวันที่ 14
เราฟังการนำเสนอของเพื่อนๆในครึ่งแรก ก็ได้เห็นแนวคิดและกระบวนการทำของเพื่อนๆ ในเอก มีหลายๆส่วนที่เราฟังแล้วคิดว่าน่าจะทำไปปรับใช้กับงานของตัวเองได้
ภายในวันนั้นก็มีการประกาศว่าจะยกเลิกการทำรายงาน และเปลี่ยนเป็นเขียนบล็อกแทน (เย้) คล้ายกับตอนฝึกงาน นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมบล็อกบันทึกการทำธีสิสนี้ถึงได้เกิดขึ้น และภายในวันเดียวกันเราก็ได้คำแนะนำจากเพื่อนเกี่ยวกับโปรแกรมที่ใช้ตัดต่อวิดีโอ ซึ่งพอลองใช้แล้วก็พบว่าวิดีโอมีความลื่นไหลขึ้นมาก ตอนแรกเราทำงานใน Procreat อย่างเดียวเลย พอลองใช้ Capcut แล้วงานโอเคขึ้นมากๆ
วันที่ 14 เป็นที่เราจะต้องขึ้นเขียงแล้ว เป็นวันที่เราจะต้องนำเสนอการทำงาน 30 เปอร์เซนแรก
เราก็ได้นำตัวอย่างงานไปนำเสนอให้คุณครูและเพื่อนๆดู และแล้วก็มาถึงช่วงเวลาที่คุณครูทั้ง 5 ท่านจะให้คำแนะนำ คุณครูขอให้เปิดวิดีโอที่มีเสียงร้องประกอบด้วย เราตอบติดตลกไปว่ายังไม่อยากทำร้ายเพื่อนๆในห้องด้วยเสียงร้องของเรา (ฮา)
อย่างแรกเลย ถ้ามีภาพประกอบ สำหรับวัย 0-3 ปี (เราวางแพลนไว้ว่าเป็นกล่อมเด็กสำหรับเด็ก 0-3ปี) แต่เด็กวัยนี้ยังไม่ควรที่จะดูจอ แต่ถ้าเป็นเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อยอย่าง 3-6 ปี พอจะอนุโลมให้ดูจอได้บ้าง (อ้างอิงจากต่างประเทศ) แต่พอเป็นเด็กวัยนี้ พวกเขาจะยังฟังเพลงกล่อมเด็กอยู่หรือเปล่า ดังนั้นแล้วกลุ่มเป้าหมายจริงๆ คือใครกันแน่ เด็กเล็ก ผู้ปกครอง หรือคุณครูอนุบาลที่อาจจะเปิดเพลงเหล่านี้ให้เด็กฟัง
เพราะฉะนั้นถ้าจะทำสื่อสำหรับเด็กวัย 0-3 ปี ควรทำเป็น media ที่มีแต่เสียงร้องไปเลย เป็นคำแนะนำที่ค่อนยากสำหรับเรามาก เนื่องจากเราเสียดายงานวาดบางส่วนที่ทำไปเกือบครึ่งแล้ว แต่ถ้าจะเน้นทำไปที่เพลงอย่างเดียวโดยเฉพาะ เราก็กลัวว่าจะทำออกมาได้ไม่ดี เพราเราน่าจะมีความสามารถไม่ถึงขั้นนั้น
และอีกข้อคือ ภาพประกอบ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครใดก็ตาม ไม่ควรหัวขาด มองไม่เห็นหน้า หรือเห็นแต่คอ เป็นเรื่องที่พวกเราเรียนมาแล้ว แต่ก็เป็นจุดเล็กๆ ที่เราพลาดไป หลังจากได้คำแนะนำมา เราก็ไปปรับใช้ในการทำงานต่อไป
ในตอนนี้ก็จะมีประมาณนี้ค่ะ ไว้เจอกันใหม่ในตอนหน้าค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in