เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง IRENE & SEULGI - Monster
  • สุด จะ ปัง 

    ยูนิตใหม่จากวง Red Velvet วง Girl Group จากตึกชมพู ที่ต้องยอมรับตรง ๆ เลยว่าเพลงที่ออกมานั้นเกินจากที่คาดไปมาก! ทั้งในแง่ของสไตล์ ดนตรี และการร้อง จนอยากจะขอนำรายละเอียดต่าง ๆ มาเขียนถึงและชื่นชมให้ได้อ่านกัน




    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)

    Composed by Yaakov "Yash" Gruzman, Delaney Jane, JENSON VAUGHAN and Yoo Youngjin
    Arranged by Yaakov "Yash" Gruzman and Yoo Youngjin
    Lyric by Kenzie

    E Minor - 117 BPM


    • เปิดเพลงมาด้วย Intro ที่มีการนำเสนอเสียงที่คล้ายกับเสียงร้องแต่ถูกใส่ Autotune เพื่อดัดแปลงให้เนื้อเสียงมีความเป็น Electronic วนเวียนสลับไปมาอยู่แค่โน้ตสองตัว พร้อมกับเสียงเครื่อง Keyboard ที่เป็นการใช้ Synthesizer กดเล่นเป็นตัวเขบ็ต 1 ชั้น (1 จังหวะมี 2 โน้ต) ย้ำ ๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ มีเพียงแค่สองเสียงนี้เท่านั้น ก็เรียกได้ว่าเป็นการเปิดเพลงมาแบบที่นำเสนอองค์ประกอบน้อย ๆ ให้ผู้ฟังเกิดความสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ รู้สึกติดตาม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็น Intro ที่สั้น กระชับ ทำให้ผู้ฟังเองยังไม่สามารถคาดเดาอะไรได้มากนัก

    • เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ Verse แรกของเพลงน่าจะมีใครหลายคนรู้สึกประหลาดใจ ผู้เขียนเองก็เช่นกัน ดนตรีที่ถูกนำเสนอแนะนำมาในช่วงก่อนหน้าหายไปทั้งหมด ยังกับไม่ใช่เพลงเดียวกัน ทุกเสียงถูกดรอปหายไป เหลือไว้เพียงเสียงเบสที่กลายเป็นองค์ประกอบหลักในการดำเนินเพลง โดยแนวเบสนั้นมีความเรียบง่ายมาก แค่ลากโน้ตหลักของคอร์ด 4 คอร์ดประจำเพลงไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้มีลูกเล่นอื่น แต่การที่แนวเบสเป็นแบบนี้ก็สร้างความรู้สึกที่วนเวียนไปมา เหมือนติดอยู่ในเขาวงกตที่หาทางออกไม่ได้ แม้ไปข้างหน้าแค่ไหนก็จะวนกลับมาที่เก่า

    • เสียงเบสนั้นถูกบรรเลงไปพร้อมกับ Percussion เครื่องกระทบจังหวะที่ก็เรียกได้ว่ามาในปริมาณที่น้อยมาก มา ๆ เว้น ๆ เหมือนกับจังหวะการก้าวเท้าช้า ๆ ในบ้านรกร้าง ที่เราสามารถพบเห็นกันได้ในหนังผี แล้วไหนจะเสียงเอฟเฟคที่คล้ายกับเสียงแมวร้อง หรือเสียงที่เหมือนกับเสียงเด็กทารกร้องตอน 0:17 (จากจินตนาการของผู้เขียน)

    • จะสังเกตได้ว่าหากส่วนที่หายไปคือเสียงประสานหรือ Harmony ในช่วงกลาง ไม่มีการเล่นคอร์ดหรือตัวโน้ตประสานอื่น ทำให้เพลงค่อนข้างโหวง เมื่อบวกกับเสียงร้องที่ใช้วิธีการร้องสบาย ๆ ไม่ได้ร้องออกมาเต็มเสียงมาก มันทำให้เสียงร้องกำลังล่องลอยอยู่ในบรรยากาศอันเงียบเหงา วังเวง เหมือนความรู้สึกที่เราไม่กล้าหายใจแรง ๆ ไม้กล้าส่งเสียงดังเพื่อที่จะตั้งใจฟังเสียงแปลกปลอมรอบข้างแทน ..แม้จะเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นมาสั้น ๆ แต่เสียงดนตรีก็สร้างบรรยากาศที่น่ากลัวเหมือนกับในหนังสยองขวัญได้อย่างชัดเจนเลย






    • 0:26 เข้าสู่ท่อน Pre-Chorus ที่ถือว่ามาค่อนข้างเร็วเลยเมื่อเทียบกับเพลงส่วนใหญ่ เนื่องจากเพลงนี้มีช่วง Intro ที่สั้น ไหนจะมี Verse แค่เพียงรอบเดียวอีก แต่ที่ไหนได้ Pre-Chorus เองก็สั้นเช่นกัน โดยทั่วไปแล้วแต่ละท่อนของเพลงจะมีความยาวประมาณ 8 ห้องดนตรี ตัวอย่างเช่นใน Verse 1 ที่มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 16 วินาทีคือ 0:10-0:26 แต่ Pre-Chorus กลับยาวเพียงแค่ครึ่งเดียวคือ 4 ห้อง ตั้งแต่ 0:26-0:34 เท่านั้นเอง

    • ยังคงเป็นท่อนที่คงคอนเซปต์ความหลอนด้วยดนตรีที่เดี๋ยวเล่น เดี๋ยวหยุด เมื่อเทียบกับเพลงโดยทั่วไปที่มักจะใช้ความเงียบไปกับการสร้างเอฟเฟค การดรอปเสียงต่าง ๆ ลงเพื่อเปลี่ยนท่อนเพลงไม่กี่ครั้งเท่านั้น แต่เพลงนี้กลับใช้แทบจะตลอดเวลาเลยตั้งแต่เริ่มมา

    • ในที่สุดเสียงประสานในช่วงกลางก็กลับมา เป็นเสียงลากคอร์ดของ Synthesizer ที่ถูกปรับแต่งให้คล้ายกลับเสียงของออร์แกนในโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นการลากคอร์ดที่เหมือนจะธรรมดา แต่กลับมีการซ่อนลูกเล่นเอาไว้เล็ก ๆ ด้วย จะสังเกตได้ว่าทุกคอร์ดจะเริ่มจากเสียงเบา ๆ ก่อนที่จะ *Crescendo ไล่ขึ้นไป แต่ตอนท้ายหางเสียงตัวโน้ตจะถูกตวัดให้เสียงเพี้ยนต่ำลง คล้ายกับเสียงเทปยืดหน่อย ๆ เหมือนเป็นการฉุดยื้อยุดกัน ความรู้สึกที่อยากจะหนีไปจากตรงนี้แต่ก็ถูกมือที่มองไม่เห็นดึงให้กลับเข้ามาสู่วังวนเดิมตลอดเวลา

    *Crescendo - เสียงดังขึ้น

    • เป็น Pre-Chorus ที่มีองค์ประกอบน้อยมาก ไม่ได้แตกต่างไม่จากช่วงก่อนหน้าเลยที่มีเพียงเสียงไม่กี่อย่าง แต่กลับไม่ได้รู้สึกว่าเพลงขาดตกบกพร่องอะไร.. เสียง Percussion ที่แม้จะเหลือเพียงแค่เสียงดีดนิ้ว, เบสที่หายไป, เสียงเอฟเฟคต่าง ๆ ที่แทรกขึ้นมาถูกปรับให้แตกต่างไปจากช่วงก่อนหน้า และแน่นอนว่าแนวร้องที่มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้นเพื่อเข้ามาเสริมให้ท่อนนี้มีความสมบูรณ์แบบ นำเสนอความรู้สึกที่หวาดกลัวในจิตใจก้นเบื้องลึก ก่อนที่จะมีเสียงเอฟเฟคที่เหมือนเสียงลมไล่ขึ้นในช่วงท้ายและเสียงเบส *Glissandro ลงเพื่อส่งเข้าไปสู่ท่อนหลักของเพลง

    *Glissando - เทคนิครูดสายเพื่อให้เกิดเสียงสไลด์ขึ้นลง


    I'm a Little Monster



    • เข้าสู่ Chorus แรกของเพลงอย่างรวดเร็ว ในที่สุดเสียงเครื่อง Keyboard (ขอเรียกเป็นเสียงเปียโนเพื่อความสะดวก) ที่กดย้ำ ๆ จากเมื่อต้นเพลงก็กลับมาอีกครั้ง รวมไปถึงแนวเบสจากช่วง Verse แรก นอกจากนี้ยังมีเสียง Percussion เข้ามาเต็มที่และเอฟเฟคลูกเล่นที่สอดแทรกเป็นเสียงเล็กเสียงน้อยอยู่อีกมากมาย หรือแม้แต่เสียงเบส Glissandro เองก็ถูกแทรกขึ้นมาสั้น ๆ เช่นกัน.. เสียงร้องที่หนักแน่น สอดแทรกด้วยเสียงประสานเบา ๆ เป็นท่อนที่เหมือนกับการตื่นขึ้นของสัตว์ร้ายที่ถูกทำให้หลับไหลมาเป็นเวลานานตลอดช่วงก่อนหน้านี้

    • ดนตรีถูกดรอปตามที่เคยได้กล่าวถึงไป การใช้ความเงียบเพื่อเปลี่ยนช่วงท่อนของเพลง ก่อนที่จะเข้าสู่ Post-Chorus (หรือจะเรียกเป็น Instru ก็ได้) ที่ 0:51 เสียงแนวเบสลากที่เป็นเหมือนกับตัวแทนของปีศาจร้ายจากขุมนรกอันแสนมืดมนยังคงอยู่ และในที่สุดเสียงร้องจากช่วงต้นเพลงก็กลับมาอีกครั้ง เจ้าปีศาจตัวน้อยที่คล้ายกับเป็นการผสมผสานของเสียงแมว เสียงเด็กร้อง เสียงไซเรน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่เรามักจะพบได้ในภาพยนตร์สยองขวัญทั้งสิ้น

    • อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือเสียงเปียโนที่หากเมื่อเทียบกับช่วงต้นเพลงแล้วนั้น ก็ไม่ได้ถึงกับเหมือน 100% โดยในช่วง Intro เสียงเปียโนจะถูกเล่นอยู่ในช่วงเสียงที่สูง เนื้อเสียงที่ถูกนำเสนอออกมาจากมีความแห้ง และมีการกระแทกหัวเสียงที่ค่อนข้างรุนแรง แต่เมื่อเข้าสู่ท่อนฮุคนั้นเปียโนจะลงมาเล่นในช่วงเสียงที่ต่ำลง 1 Octave (ห่างกัน 1 ช่วงเสียง) และไม่ได้มีความ Crispy เท่ากับเมื่อต้นเพลง และจะมาได้ยินอย่างชัดเจนในช่วง Post-Chorus ที่เสียงเปียโนจะมีการใส่ Reverb เพิ่มเข้าไปให้เกิดเป็นเสียงสะท้อนก้อง และไม่กระแทกกระทั้นมากนัก นอกจากนี้ยังไม่ได้เป็นการกดเล่นย้ำตลอดเวลาแล้ว แต่มีช่วงจังหวะที่เล่นสลับกับหยุดเป็นพัก ๆ อย่างไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ คาดเดาไม่ได้เลย ซึ่งสร้างความรู้สึกที่ไม่มั่นคง ความวิตกกังวลให้กับคนฟังโดยไม่รู้ตัว





    • Verse 2 มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมากตั้งแต่การที่เสียงเบสนั้นหายไป จากดนตรีหนักแน่น ปีศาจและความมืดมิดที่ถูกปกคลุมหายไป กลับกลายเป็นหมอกควันจาง ๆ ที่เหมือนจะปลอดภัยขึ้นแต่ก็ยังเต็มไปด้วยความกังวลใจซึ่งเกิดจากเสียงเปียโนที่ถูกเล่นย้ำซ้ำ ๆ ตลอดเวลา ความรู้สึกที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่มั่นใจ หวาดระแวง ต้องคอยลอบสังเกตไปมาตลอดว่าจะมีตัวอะไรโผล่ออกมารึเปล่า

    • จะสังเกตได้ว่าการร้องในท่อนนี้เองก็เปลี่ยนไปจากช่วงครึ่งแรกของเพลงที่ร้องสบาย ๆ มีความ airy เหมือนยังไม่มีความมั่นใจนัก แต่ท่อนนี้กลับหนักแน่น เต็มเสียง แข็งแรง แม้ดนตรีจะเบาบางแต่เสียงร้องกลับยืนยันในตัวตน เหมือนกับปีศาจที่เคยหลับใหลนั้นได้ถูกปลุกขึ้นมาแล้ว และจะไม่ยอมไปไหนอีก

    • 1:03 แนวเสียงประสานที่เพิ่มขึ้นมาสร้างสีสันที่น่าสนใจและน่าประทับใจให้กับเพลงนี้มาก คล้ายกับการร้องคอรัสในโบสถ์ การเปล่งเสียงบทสวดที่ราวกับกรีดร้องของความเมตตาจากพระเจ้า ลักษณะการเลือกใช้ตัวโน้ต การจัดเรียงการเดินโน้ตเองก็มีความคล้ายคลึงกับดนตรีในช่วงยุคบาโรค (Baroque) เช่น ในดนตรีของนักประพันธ์อย่าง Bach ที่แต่งขึ้นเพื่อใช้สำหรับสรรเสริญพระเจ้าโดยเฉพาะ มันช่วยสร้างความขลังให้กับบทเพลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ดนตรี Electronic เสียง Synthesizer ที่เป็นลักษณะจังหวะ Dubstep เข้ามาผสมผสานทำให้เกิดดนตรีที่เฉพาะตัวของเพลงเลย

    • ครึ่งหลังของ Verse 2 ก็เป็นอะไรที่ต้องยอมรับว่าไปสุดอีกเช่นกัน แนวร้องที่มีการใส่เสียงลักษณะคำราม สร้างเสียงแตก Distortion ลงไป แล้วยังมีการกระแทกเสียง เน้นการออกคำที่คมชัดคล้ายกับการแร็พ มีความรุนแรงมากขึ้น บ่งบอกได้ถึงอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ความโกรธแค้น ความต้องการเอาชนะ เหมือนกับปีศาจตนนี้ที่ตื่นจากการหลับใหล เมื่อตื่นขึ้นมาก็ค่อย ๆ แสดงความโกรธเกลียดชังที่ถูกซ่อนอยู่ภายในจิตใจออกมาจนถึงขีดสุด



    แต่ในขณะเดียวกันก็จะสังเกตได้ว่า เพลงนี้มันไม่ใช่แค่เพียงการนำเสนอปีศาจในมุมมองที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย หดหู่เท่านั้น แต่ยังซ่อนเอาไว้ด้วยความสุขสม ความพึงพอใจ สังเกตได้จากการเลือกใช้คอร์ดของเพลงที่เน้นไปทาง Minor ซึ่งแสดงออกถึงความดาร์ค ความเศร้าหม่นหมอง สีดำทะมึนเป็นหลัก แต่นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการซ่อนคอร์ดที่เป็น Major ซึ่งสื่อถึงความสุข สดใส มีสีสัน แสงสว่างเอาไว้ 1 คอร์ดคอยสลับไปมาตลอดทั้งเพลง มันทำให้นึกถึงภาพเจ้าปีศาจที่คอยแสยะยิ้มอย่างสะใจ ความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น รอยยิ้มอันแสนโรคจิตที่มีให้กับโลกอันแสนวิปริตโสมม



    • เสียงเปียโนยังคงอยู่แต่กลับขึ้นไปเล่นในช่วง Octave สูงอีกครั้งนึง เสียงเบสกลับมาอีกครั้งนึง แม้จะไม่ได้ลากโน้ตโดดเด่นออกมาเท่าก่อนหน้านี้ แต่ก็มีการเน้นหัวเสียงตอนเริ่มที่กระแทกกระทั้นเหมือนกับเสียงของกลองใหญ่ และอีกหนึ่งเสียงที่เพิ่มเข้ามาคือเสียงเครื่องสายลากโน้ตสูง โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่าเสียงเครื่องสายนี้เข้ามาทำให้เพลงเกิดความสวยงามขึ้น แต่แน่นอนว่าก็เติมเต็มให้ท่อนนี้มีความสมบูรณ์ หนักแน่นดุดัน เต็มไปด้วยอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ไหนจะยังมีเสียง Percussion และเอฟเฟคต่าง ๆ เช่น เสียงไขลานนาฬิกาที่เพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ต่างไปกับจิตใจของคนเราในยามที่ไม่สงบสุข ความสับสนในจิตใจ ด้านร้ายที่ต่อสู้กับด้านดีอยู่เสมอ แล้วอะไรคือคำตอบที่ถูกต้องกันแน่?






    • Pre-Chorus ยังคงสั้นเพียงแค่ 4 ห้องเช่นเดิมเท่านั้นก่อนที่จะเข้าสู่ท่อนฮุค เป็นอีกจุดนึงที่ทำให้คนฟังยังไม่ทันจะจับต้นชนปลายได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น จะหนีก็ไม่สามารถหนีได้ทัน รู้ตัวอีกทีก็ถูกฉุดกระชากให้ตกลงไปสู่ขุมนรกของปีศาจร้ายในท่อนฮุคแล้ว

    • ท่อนฮุคในรอบนี้ยังคงองค์ประกอบต่าง ๆ ไว้เหมือนเดิม แต่จะไปแตกต่างในช่วงท่อน Post-Chorus หลังจากนั้น มีการเพิ่มเสียงโน้ตลากที่มีการ Vibrato หรือสั่นเสียงอย่างช้า ๆ แทรกขึ้นมาค่อนข้างเด่นชัด เป็นเสียงที่คล้ายกับเสียงไซเรนซึ่งคล้ายกับเสียงของเครื่องดนตรีที่มีชื่อว่า Theremin รวมไปถึงจังหวะ Dubstep ที่แทรกขึ้นมาก่อนที่จะมีการซ้ำท่อน Post-Chorus นี้อีกรอบนึง จากก่อนหน้านี้ที่มีเพียง 4 ห้อง (0:51-0:59) กลายเป็น 8 ห้องแทน (1:41-1:57) และช่วงท้ายที่ยังคงใช้ลักษณะเดิมเพื่อเปลี่ยนเข้าสู่ท่อนถัดไปอีกเช่นกัน


    ตัวอย่างเสียง Theremin เครื่องดนตรีที่ไม่ต้องใช้การสัมผัส เสาจากทั้งซ้ายและขวาจะปล่อยความถี่ไฟฟ้าออกมา มือซ้ายใช้ควบคุมความดังเบา ส่วนมือขวาควบคุมระดับเสียงสูงต่ำของตัวโน้ต นวัตกรรมทางดนตรีชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลผลิตของการทดลองเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับระยะห่างด้วยคลื่นเสียงที่สนับสนุนโดยรัฐบาลโซเวียต




    • ท่อน Bridge เป็นอีกท่อนที่นำเสนอความแตกต่างทางดนตรีอย่างชัดเจน แต่ยังคงอยู่บนพื้นฐานหลักของเพลงซึ่งก็คือ 4 คอร์ดเดิม เหมือนกับมนุษย์ที่มีทั้งด้านดีด้านร้าย ในแต่ละวัน จิตใจของคนเราที่เปลี่ยนไปมาตลอดเวลา ท่อนนี้เหมือนเป็นอีกครั้งที่ปีศาจร้ายหายไป แต่ไม่ได้หายไปเลยนะ เพียงแค่ซ่อนตัวอยู่ รอเวลาที่จะกลับมาผงาดโชว์อิทธิฤทธิ์อีกครั้ง สังเกตได้จากดนตรีที่สงบลงมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

    • เสียงต่ำในช่วงนี้ถูกเอาออกไปทั้งหมด เสียงเบสอันหนักแน่นหายไป เหลือไว้เพียงการลงคอร์ดโดย Synthesizer ทุก ๆ ต้นห้องแทน เสียงดีดนิ้วกลายเป็นเครื่องกระทบจังหวะหลัก และเสียงคล้ายกับเครื่องสายลากโน้ตเสียงสูงที่ค่อย ๆ Glissando ขึ้นไปอย่างช้า ๆ ทำให้มีช่วงจังหวะที่เสียงเหมือนจะเพี้ยนไปเป็นเวลาค่อนข้างนาน จึงทำให้เกิดเป็น Dissonance หรือเสียงกัดกัน ซึ่งจะก่อให้เกิด Tension ความเครียด รวมไปถึงความพิศวงน่าสงสัย ในรอบที่สองเองก็มีการ Glissando เช่นกัน แต่เป็นการไล่เสียงต่ำลง

    • การไล่เสียงสองรอบนี้มีความแตกต่างกันที่คนอาจไม่ทันได้สังเกต แต่มีผลต่ออารมณ์ของผู้ฟังมาก ในรอบแรกนั้นเป็นการไล่เสียงเริ่มจากตัว B ไปยังตัว C โดยที่โน้ตตัว C นั้นไปสิ้นสุดพอดีกับการลงคอร์ด C Major ในเพลง (2:03) นั่นทำให้ตอนจบของการ Glissando ครั้งนี้สมบูรณ์ลงตัวพอดีสำหรับผู้ฟัง แต่ในรอบที่สองนั้นเป็นการไล่จากโน้ตตัว E ลงมายังตัว D# ซึ่งแม้ว่าทั้งสองรอบจะมีช่วงเสียงความห่างที่ครึ่งเสียงเหมือนกัน แต่ในรอบที่สองนั้นโน้ตตัว D# ดันมาจบพอดีที่คอร์ด C Major (2:10) กลายเป็นโน้ตนอกคอร์ด อยู่ผิดที่ผิดทาง นั่นยิ่งสร้างให้เกิดเสียงกัดที่ไปขยี้กับของก่อนหน้าและเพิ่มความตึงเครียดให้มากขึ้นไปอีกเท่าตัว

    • ก่อนที่ Bridge จะมาปิดท้ายด้วยการดรอปเสียงดนตรีออกหมด เสียงร้องลากโน้ตอย่างมั่นคง แต่ก็สอดแทรกขึ้นมาด้วยเอฟเฟคที่มีทั้งไล่ขึ้น ไล่ลง ฉวัดเฉวียน เหมือนกับตัวเราที่ยังคงอยู่ ร่างกายที่แม้จะแข็งแรงมั่นคง แต่จิตใจด้านมืด ปีศาจร้ายในตัวเองก็ยังไม่ไปไหน พร้อมที่จะกลับมาสร้างความปั่นป่วนและครอบงำตัวเรา.. แถมท่อนนี้ยังถูกถูกลากให้ยาวกว่าปกติไปอีก 1 ห้องเพื่อขยี้ ตอกย้ำเป็นครั้งสุดท้ายว่านี่แหละจุดยืนของปีศาจอย่างฉัน!







    • Chorus สุดท้ายที่ถูกสอดแทรกขึ้นมาด้วยเสียงร้องแอดลิบ ทำให้เพลงนี้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนโน้ตที่ร้องในนาทีที่ 2:29 เองก็เหมือนเป็นการส่งครั้งสุดท้าย การปิดจบที่เหมือนจะสวยงาม แต่เปล่าเลย เสียง Electronic เอฟเฟค Dubstep ที่แทรกขึ้นมาเหมือนเป็นตัวเบรกที่บอกว่า ไม่! เธอเข้าใจผิดแล้ว เธอไม่ได้ชนะใจตัวเองได้หรอก แต่เธอกำลังถูกปีศาจร้ายอย่างฉันครอบงำอย่างสมบูรณ์แบบต่างหากล่ะ

    • Post-Chorus สุดท้ายมีการเพิ่มเสียงที่เหมือนเสียงขลุ่ย Recorder เข้ามา ที่ถ้าหากตั้งใจฟังก็จะรู้สึกได้ถึงความแสลงหูเนื่องจากเสียงที่มีการปรับให้เพี้ยนเล็กน้อย ไม่ได้ตรง In Tune พอดี จนเกิดการกัดกันของเสียง Dissonance อีกครั้ง ไหนจะมีการ Glissandro ลงในช่วงท้ายอีก.. ถึงแม้ดนตรีอื่นจะหนักหน่วง แต่เสียง Recorder ก็ช่วยทำให้ผู้ฟังนึกถึงบรรยากาศอันวังเวง เหงาหงอยได้ด้วยเช่นกัน

    • 2:45 ตอนได้ฟังครั้งแรก ผู้เขียนถึงกับช็อคอ้าปากค้างที่เพลงนำเสนอความเป็น EDM ดนตรีที่มีความสมัยใหม่และหนักแน่นเข้ามาสอดแทรกในบทเพลงสยองขวัญนี้ แต่ก็น่าแปลกใจที่ทันไม่ได้ทำลายมู้ดและเรื่องราวที่ถูกสร้างมาตลอดเพลงเลย

    • Outro ท้ายเพลง เสียงเปียโนกลับมาอีกครั้งในรูปแบบที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจนมากเมื่อเทียบกับ Intro หัวเสียงนั้นทั้งเบลอและก้องกังวาน เหมือนกับภาพเบลอ ๆ ไม่ชัดเจน หรืออาจะสื่อถึงร่างกายอ่อนแอลง หมดแรงเรี่ยวแรงจะสู้ต่อ นอกจากนี้ยังมีการใช้เสียงลากคอร์ดจากออร์แกนแบบในท่อน Pre-Chorus.. เสียงร้องตากช่วง Intro สอดแทรกขึ้นมาแค่เพียงสั้น ๆ รวมไปถึงเสียงหัวเราะเบา ๆ ..ตอนจบ "I'm a little Monster" สุดท้ายมีเสียงร้องใน Octave ต่ำร้องพร้อมไปด้วย เหมือนกับเป็นเสียงของเจ้าปีศาจตัวร้ายที่กำลังประกาศถึงชัยชนะอันแสนหอมหวานที่มีเหนือจิตใจของมนุษย์ มันช่างง่ายดายและน่าสะใจจริง ๆ



    - จบเพลง -



    โครงสร้างของเพลง Monster

    INTRO                          0:01-0:09

    VERSE 1                       0:10-0:26

    PRE-CHORUS              0:26-0:34

    CHORUS                      0:34-0:51

    POST-CHORUS            0:51-0:59

    VERSE 2                       0:59-1:15

    PRE-CHORUS              1:16-1:24

    CHORUS                      1:24-1:40

    POST-CHORUS            1:41-1:57

    BRIDGE                        1:57-2:16

    CHORUS                      2:16-2:32

    POST-CHORUS            2:32-2:49

    OUTRO                         2:49-2:57



    บทสรุป



    ไม่อยากจะเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่าเพลงนี้จะสามารถรวมความเป็นดนตรีป๊อป, Electronic, การใช้จังหวะ Dubstep และนำเสนอความสยองขวัญไปด้วยพร้อม ๆ กัน ทุกอย่างมันผสมผสานกันได้อย่างลงตัวจนไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้เลย ต้องขอยกย่องผู้แต่งที่สามารถยกองค์ประกอบที่แตกต่างกันเหล่านี้มาใช้ในการชูให้เพลงมีความน่าสนใจ ไม่ซ้ำแบบใคร แล้วยังเล่าเรื่องราวออกมาได้อย่างเห็นภาพชัดเจนอีก 

    แม้ว่าเพลงนี้จะมีเพียงแค่ 4 คอร์ดตลอดทั้งเพลงตั้งแต่ต้นจนจบ คือ Em-Am-C-Bm แต่กลับไม่น่าเบื่อเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ อย่างที่ได้กล่าวไปว่าเพลงมีการใช้ลูกเล่นที่หลากหลาย การเลือกนำเสนอดนตรีโดยเครื่องดนตรีที่แตกต่างกันออกไป หรือต่อให้เป็นเครื่องเดิมก็จะมีการปรับแต่งเสียงเพื่อสร้าง Articulation หรือความคมชัดที่ไม่เหมือนเดิม แม้แต่ในแนวร้องเองก็เช่นกัน ผู้เขียนมองว่าการทำให้เพลงน่าติดตามได้ขนาดนี้นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องขอชื่นชมผู้แต่งอีกครั้ง

    นอกจากนี้การใช้คอร์ด 4 คอร์ดวนในลักษณะเดิมตลอดไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือสอดแทรกด้วยคอร์ดอื่นเลยมันยังสร้างให้เกิดความรู้สึก Trapped เหมือนผู้ฟังถูกจับขังอยู่ในวังวน ในเขาวงกตที่ไม่มีทางออก หันไปทางไหนก็เจอแต่ทางตัน ไม่ว่าจะก้าวไปทางใดก็จะเวียนกลับมาที่เดิม เหมือนกับจิตใจของคนที่ไม่ว่าจะยังไงก็ไม่สามารถสลัดเจ้าปีศาจร้ายด้านมืดออกไปได้เลย

    โดยส่วนตัวของผู้เขียนนั้นแอบรู้สึกเสียดายที่เพลงนี้ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับเพลง K-pop เพลงอื่น ๆ สมัยนี้ หากนับแค่ตัวเพลง ความยาวของเพลงนี้ไม่ถึง 3 นาทีเต็มด้วยซ้ำไป จะสังเกตได้จากการลดจำนวน Verse, ท่อน Pre-Chorus ที่ถูกตัดให้สั้นลง, การหายไปของท่อน Dance Break แม้ว่าจะถูกทดแทนด้วยท่อน Post-Chorus หลายรอบแต่ก็ยังไม่เพียงพอ แต่เมื่อฟังโดยรวมแล้วก็ถือว่าเพลงนี้นั้นลงตัว ไม่ได้รู้สึกว่าขาดตกบกพร่องอะไร เป็นแค่ความอยากส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นที่อยากจะฟัง อยากจะได้รับรู้เรื่องราวของเพลงที่ดีแบบนี้ให้มากกว่านี้หากมีโอกาส



    ดนตรีไม่มีขอบเขต ไม่มีการแบ่งแยก ความแตกต่างที่รวมกันเป็นหนึ่ง
    เพลง Monster คือตัวอย่างของความสำเร็จและการก้าวกระโดดข้ามไปอีกขั้นหนึ่งของวงการเพลง K-pop



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
mykmeken11 (@mykmeken11)
มันดีมากเลยค่ะ นี่ไม่มีความรู้เรื่องเพลงเลย แต่ชอบเพลงนี้ด้วยความล้ำคงามแปลกใหม่ที่ไม่ค่อยเห็นในเพลง K-POP เสียงแตกๆที่เอามาใส่มันคือแปลกและดีมากจริงๆ อ่านเพลินมาก ทำให้รักเพลงนี้และชื่นชมโปรดิวเซอร์เพลงนี้มากจริงๆ จับจุดคอนเสป เพลง คาแรคเตอร์ ของยูนิตนี้ได้ดีจริงๆ ขอบคุณที่มาวิเคราะห์นะคะ สุดท้ายนี้ แอบอยากมห้วิเคราะห์ All Night - SNSD ค่ะ ชอบเพลงนี้มาก รู้สึกจะเป็นดนตรีแนว pop - disco ด้วย ฝากพิจารณาด้วยนะคะ หลงรักเพลงนี้มากจริงๆ
ryeomook (@ryeomook)
@mykmeken11 ดีใจที่ชอบนะคะ เราเองก็เพลินกับการฟังเพลงนี้แล้วก็เขียนออกมามาก ในส่วนของเพลง all night อาจจะไม่ได้เอามาเขียนเป็นบทความแต่ถ้ามีโอกาสก็จะนำมาพูดถึงในทวิตเตอร์หรือคลับเฮ้าส์นะคะ
bioiiaim (@bioiiaim)
สุดปังจริงครั่บ ดนตรีทำให้รู้สึกถึงการเย้ายวนดึงดูดของปีศาจมากๆเลย แล้วก็มีส่วนที่ทำให้รู้สึกถึงความน่ากลัวแบบ real monster ด้วย ชอบมากๆ ;-; //เรื่องเพลงสั้น อินโทรสั้น เห็นเคยมีคนวิเคราะห์ว่าเป็นการปรับตัวตามยุคแห่งการสตรีมมิ่ง กับความเร่งรีบของคน แบบว่าต้องฟังแล้วดึงคนอยู่หมัด ฟังแล้วโดน ฟังแล้วต้องฟังซ้ำ พี่มุกมีความเห็นว่ายังไงคะ
ryeomook (@ryeomook)
@bioiiaim นั่นเป็นเรื่องจริงเลยค่ะ พี่เคยเขียนไว้เองด้วยเช่นกันในแอคทวิตเก่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความแตกต่างของเพลงคลาสสิกที่มีความยาวไปจนถึงกว่าชั่วโมงในยุคก่อน กับเพลงป๊อปในยุคที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ สมาธิของคนที่ลดน้อยลง เพลงจึงต้องมีกิมมิคที่ชัดเจน คนฟังสามารถเข้าใจสารที่เพลงต้องการสื่อได้ภายในเวลาอันสั้น และสร้าง earworm ให้ติดหูได้ทันที
tortuewaii (@tortuewaii)
คิดไม่ถึงเลยว่าคุณมุกจะวิเคราะห์เพลงยูนิตอาซึลด้วย ขอบคุณมากเลยนะคะ ส่วนตัวเราชอบเพลงนี้มากกก แล้วก็อดคิดเหมือนกันไม่ได้ว่าเพลงมันสั้นจริงๆ อยากให้ยาวกว่านี้อีกสักนิดก็ยังดี ._.
ryeomook (@ryeomook)
@tortuewaii ปกติมุกติดตามเพลงของ Red Velvet อยู่แล้วค่ะ เป็นแนวหน้าด้านการสร้างสรรค์ดนตรีแบบไม่ซ้ำใคร น่าประทับใจมาก ㅠㅠ เสียดายจริงค่ะ แต่ก็ทำให้คนฟังกลับไปกดฟังซ้ำอีกรอบได้แทบจะโดยอัตโนมัติเลย 55555