เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง WayV - Turn Back Time
  • โอ้ มาย ก้อด


    ในที่สุด!! เพลงที่ตั้งตารอคอยมานานแสนนานก็ถูกปล่อยออกมา หลังจากที่ได้เห็นภาพทีเซอร์และได้ฟังดนตรีเพลง TIME & THE VISION : Time to Awaken โดย Kun หนึ่งในสมาชิกไป ซึ่งก็เป็นเพลงที่เหมือนเป็น Introduction เพื่อนำไปสู่เพลงใหม่ (อ่านได้ที่ https://minimore.com/b/K5qdG/5) ทำให้ผู้เขียนยิ่งมีความคาดหวังต่อเพลงนี้สูงมาก และก็ต้องบอกเลยว่าไม่ผิดหวังจริง ๆ เพราะเป็นเพลงที่เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจที่จะขอนำมาพูดถึงให้กับทุกคนได้อ่านกัน




    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)


    Composed by Adrian McKinnon, Jeremy "Tay" Jasper & Moonshine
    Arranged by Moonshine & Yoo Young Jin
    Lyric by Yen Yun Nong

    Eb Minor - 135 BPM



    • สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับเพลงป๊อปสมัยนี้คือ *Ostinato หลักประจำเพลงที่สามารถเข้าใจได้ง่ายและติดหูในทันทีที่ฟังครั้งแรก เพลงนี้เองก็เช่นกัน ตั้งแต่เริ่มต้นช่วง Intro มาเชื่อว่าคนฟังสามารถจดจำทำนองนี้ได้อย่างง่ายดาย เรียกได้ว่าเป็นทำนองที่หลอนหู สร้าง earworm กันเลยทีเดียวแหละ และนอกจากนี้ยังบ่งบอกคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนได้อีกด้วยเช่นกัน หากได้อ่านจากบทความที่เขียนถึงเพลงของคุน จะมีการอธิบายถึงเครื่องดนตรีที่มีชื่อว่า Celesta แม้เพลงนี้จะใช้เสียงคนละแบบแต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่ใกล้เคียง เช่น ความคมของเสียงที่ไม่มากเกินไป การสะท้อน reverb ของเสียงที่สร้างให้เกิดความรู้สึกพิศวง น่าสงสัย (แอบแนะนำให้ย้อนไปอ่านนะ)

    *Ostinato - แนวทำนอง หรือ เบส ที่ถูกบรรเลงซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ในยุค Baroque ออสตินาโตที่เรียกว่า Figured Bass ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญมากของเพลง

    • เป็น Intro ที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจนมาก นอกจากเสียง Ostinato ที่เป็นเสียงหลักแล้ว ยังมีเสียงโน้ตเคลื่อนขึ้นลงสไลด์ไปมาซ่อนอยู่ด้วยในช่วงแรก เป็นการใช้ตัวโน้ตเดียวกันกับตัวทำนองหลักที่โดดเด่นกว่า แต่เสียงต่ำลงมาและมีการ muted ไว้ให้เสียงฟังดูอู้อี้ ถ้าหากใส่หูฟังจะสามารถได้ยินอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีเสียงนาฬิกาเดินติ๊กต่อกเป็นจังหวะถี่ ๆ ทำให้คนฟังรู้สึกตื่นเต้น

    • ชอบมากที่เพลงนี้มีการหลอกหูคนฟังตั้งแต่เริ่มต้นเลย เพียงแค่ไม่กี่วินาทีแรกของ Intro มีการใส่เสียงเอฟเฟคที่ค่อย ๆ ดังขึ้นเพื่อส่งไปยังห้องที่ 5 ทำให้เราคาดหวังว่านาทีที่ 0:29 จะเข้าไปสู่ท่อนต่อไปซึ่งก็คือท่อน Verse แล้ว แต่ไม่! เราโดนหลอก! เพราะ Intro ยังคงดำเนินต่อไป ฟังแล้วก็นึกถึงหน้าตัวตลกจมูกแดง ๆ ในคณะละครสัตว์หรือโจ๊กเกอร์ที่กำลังทำหน้าแลบลิ้นปลิ้นตาใส่คนฟังอย่างสะใจ พวกคุณถูกผมหลอกแล้วนะ

    • ช่วงครึ่งหลังของ Intro มีการเพิ่มเสียงและเอฟเฟคอื่น ๆ เข้ามาก่อนที่จะเร่งความดังและความหนาของดนตรีขึ้นเพื่อนำผู้ฟังเข้าสู่เรื่องราวหลักของเพลง ตอนท้ายก่อนจะเข้าสู่ Verse น่าแปลกมากที่เสียงดนตรีถูกใส่เอฟเฟคให้เสียงเพี้ยนต่ำลง คล้ายกับเทปยืด หรืออาจจะมองได้ว่าเป็นการหมุนกลับย้อนเวลาก็ได้ เจ๋งมากเลย


    มีจุดนึงที่น่าสังเกตมากของเพลงนี้ คือการที่เพลงอยู่ในคีย์หรือบันไดเสียงเดียวกันกับเพลง TIME & THE VISION : Time to Awaken ของคุน หนึ่งในสมาชิกวง WayV ซึ่งก็คือ Eb Minor นอกจากนี้ลักษณะการเดินโน้ตของแนว Ostinato เองก็มีความคล้ายคลึงกัน รวมไปถึงการใช้เสียงนาฬิกาเป็นตัวกำหนดจังหวะหลักของเพลง สองเพลงนี้มันช่างต่อกันได้อย่างลงตัวพอดิบพอดีจริง ๆ 


    • เข้าสู่ท่อน Verse แรกที่น่าประหลาดใจมาก ทุกเสียงที่ถูกนำเสนอในช่วงก่อนหน้านี้หายไปหมดเลย แต่สิ่งที่โดดเด่นออกมาสุด ๆ กลับกลายเป็นเสียงเบสที่ *Glissando ขึ้นลง ที่หากเมื่อเทียบกับเพลงอื่นในจักรวาล NCT ช่วงที่ผ่านมาแล้ว (มีเบสแบบนี้ทุกเพลง) เพลงนี้เป็นเพลงที่เบสสไลด์ในช่วงเสียงที่กว้างและโดดเด่นที่สุด สามารถได้ยินได้อย่างชัดเจนมาก และเมื่อเทียบกับเพลงอื่น ๆ ที่น่าจะมีการใช้เสียงนี้เพื่อสื่อถึงเสียงการเร่งเครื่องยนต์อล้วนั้น ในเพลงนี้ ในมุมมองของผู้เขียนคิดว่าน่าจะสื่อถึงการยืดหดหมุนเปลี่ยนของเวลา ตามชื่อเพลงที่เป็นการหมุนย้อนกลับเวลา รวมไปถึงสามารถทำให้เห็นภาพห้วงมิติที่บิดเบี้ยวไปมาเลยด้วย
    *Glissando - เทคนิครูดสายเพื่อให้เกิดเสียงสไลด์ขึ้นลง
    ตัวอย่างเสียงเบส Glissando เพลง Ridin' ของ NCT Dream นาทีที่ 0:14


    ตัวอย่างเสียงเบส Glissando เพลง Punch ของ NCT 127 นาทีที่ 0:27 หรือ 0:35


    • นอกจากเสียงเบสที่โดดเด่นแล้ว เสียงจังหวะหรือ Percussion ต่าง ๆ เองก็มีความหนักแน่นมาก โดยเฉพาะเสียงเบสดรัม เมื่อเทียบกับช่วง Intro ที่มีเพียงแค่เสียงนาฬิกาเดินเท่านั้น เรียกได้ว่ามันส์และแตกต่างอย่างชัดเจน อาจฟังดูแล้วเหมือนกับตลอดช่วงนี้ไม่มีทำนองหรือเสียงประสานเลย แต่ที่จริงนั้นมีเสียงเมโลดี้เบา ๆ ที่เล่นอยู่ในสเกล Raga (บันไดเสียงอินเดีย) ซ่อนอยู่ด้วย เสียงนี้เริ่มมาตั้งแต่นาทีที่ 0:29 แล้ว แต่เนื่องจากเสียงมันเบามากเลยอาจจะทำให้ผู้ฟังบางท่านไม่สามารถได้ยินได้ หลังจากนั้นแนวทำนองนี้จะค่อย ๆ *Crescendo เพิ่มไปอย่างช้า ๆ กว่าที่จะมาเริ่มได้ยินจริงก็น่าจะประมาณนาทีที่ 0:42 หรือใน Verse ถัดไปที่ 0:50 แล้ว

    *Crescendo - เสียงดังขึ้น


    • Verse ถัดมา นาทีที่ 0:50 เสียง Percussion และเบสถูกลดความสำคัญลง ไม่ได้มีความโดดเด่นเท่าเดิมแต่ก็ยังคงไม่ไปไหน เบสยังคงคาแรคเตอร์เดิม Glissando สไลด์ไปมา แม้จะมีเสียงประสาน Harmony จากเครื่องดนตรีอื่น ๆ แต่รากฐานที่เคลื่อนที่ตลอดเวลาก็สร้างความรู้สึกที่ไม่มั่นคง น่าสงสัยให้กับคนฟังได้.. Bass drum ไม่ได้เล่นถี่และสำคัญมากแล้ว แต่กลับไปเน้นและชูเครื่องกระทบที่มีเสียงสูงมากกว่าแทน

    • แนวร้องยังคงเป็นการร้องแบบ Speaking-Singing กึ่งร้องถึ่งพูดอยู่ แต่จะร้องในจังหวะ *Syncopation ซะเป็นส่วนใหญ่ และถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีทำนองอะไรที่ชัดเจนแต่ก็ยังคงมีเสียงประสานเป็น Harmony ซ้อนอยู่เบา ๆ ตลอด ทำให้ไม่รู้สึกว่าท่อนนี้มันโล่งจนโหวงเกินไป

    *Syncopation - จังหวะขัด เป็นลักษณะจังหวะที่ถูกใช้มากในดนตรีแจ๊ส


    • นอกจากนี้ยังมีทำนองที่ไล่เป็นสเกลแขกจากตั้งแต่ Verse แรกอยู่ด้วย ในช่วงก่อนหน้าเสียงนี้จะถูกเล่นอยู่ในช่วงเสียงที่สูงและเสียงจะออกแหลม พอเข้าสู่ Verse ที่ 2 ก็ย้ายลงมาเล่นในช่วงเสียงที่ต่ำลง เนื่องจากจะได้ไม่รบกวนแนวร้องและดนตรีที่ไม่หนักมาก จนเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของท่อนนี้ที่ 0:57 ทำนองนี้ก็กลับขึ้นไปเป็นเสียงสูงอีกครั้งเพื่อสู้กับแนวร้องที่ก็ถูกสลับไปเป็นการแร็พที่ดุดัน

    • เข้าสู่ท่อน Pre-Chorus ที่บีตหนักต่าง ๆ ถูกตัดทิ้งออกไปหมด เหลือไว้เพียงเสียงดีดนิ้วและ Synthesizer ที่มีลักษณะการเดินโน้ตคล้ายคลึงกับ Ostinato ช่วงต้นเพลงแทน และมีการลากคอร์ดแบบให้ได้ยิน Harmony ชัด ๆ เป็นครั้งแรกของเพลงด้วย นอกจากนี้ยังมีการใส่เอฟเฟคเพิ่มเสียงสะท้อน Echo และ Reverb ค่อนข้างเยอะ ทำให้ดนตรีในท่อนนี้เบาบาง ฟังสบาย ล่องลอย บวกกับแนวร้องที่ร้องแบบสบาย ๆ ในช่วงเสียงที่ต่ำลงมา มีความ Lyrical มากขึ้น ไม่ได้กระแทกหรือมีจังหวะที่ถี่เร็วเท่าช่วงก่อนหน้า เป็นช่วงที่มีความสงบมาก

    • ช่วงครึ่งหลังของท่อน Pre-Chorus ตั้งแต่นาทีที่ 1:12 เสียงเบส Glissandro กลับมาอีกครั้ง ในรอบนี้จะมาแบบเป็นโน้ตแยกสั้น ๆ หลายครั้ง แตกต่างจากก่อนหน้าที่เป็นการลากและสไลด์เสียงยาวในช่วงเสียงที่กว้าง มันทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก เหมือนกับว่าเป็นบรรยากาศที่สงบแต่ก็เริ่มเห็นเมฆตั้งเค้ามาก่อนพายุจะเข้าอย่างงั้นเลย.. ตอนช่วงท้ายของท่อนนี้แน่นอนว่ามีการดรอปเสียงบีตทั้งหมด เพิ่มเอฟเฟคเสียงและแนวร้องที่ร้องไล่โน้ตสูงขึ้นช่วยกันส่งเข้าไปสู่ท่อนฮุคของเพลง ซึ่งเห้ย ทำไมแนวร้องร้องไล่บันไดเสียงในคีย์ Major ล่ะ!?





    • Chorus ท่อนฮุคหลักของเพลงที่เปลี่ยนจากความมืดมนไปสู่แสงสว่างแห่งชัยชนะในคีย์ Eb Major เป็นการเปลี่ยนคีย์ Major-Minor ที่ทำให้สีสันของเพลงแตกต่างออกไปทันที เน้นแนวร้องโดดเด่นออกมาเลย เป็นครั้งแรกที่ทำนองหลักของเพลงได้อยู่ในช่วงเสียงที่สูงจากที่ก่อนหน้าอยู่ ใน Range ต่ำ ๆ มาตลอด มีแนวประสานเสียง Background Vocals เข้ามาช่วยเพิ่มให้เกิดสีสันและความสวยงามมากขึ้น.. องค์ประกอบอื่น ๆ ในช่วงนี้เหมือนกับตอน Verse แรกเลย เพียงแต่แนวเบสไม่ได้มีการเล่น Glissando ทำให้เพลงมีความรู้สึกที่มั่นคงแข็งแรงมาก


    เคยพูดถึงไปครั้งนึงเมื่อตอนที่เขียนถึงเพลง TIME & THE VISION : Time to Awaken ว่าคีย์ Eb Major นั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งมาก ในทางดนตรีคลาสสิก Eb Major เป็นคีย์ที่มักจะถูกใช้เพื่อสื่อถึงความแข็งแกร่ง ความเป็นวีรบุรุษ ชัยชนะ คีตกวีที่มีชื่อเสียงหลายท่านเมื่อประพันธ์เพลงซึ่งเกี่ยวกับวีรบุรุษหรือผู้นำที่พวกเขาเคารพนับถือ ก็จะแต่งอยู่ในคีย์นี้ เช่น เบโธเฟน เคยแต่ง Symphony บทนึงเพื่อที่จะสรรเสริญนโปเลียนผู้ซึ่งนำชัยชนะจากสงครามมาสู่ประชาชน (แม้ว่าตอนหลังจะถูกหักหลัง นโปเลียนสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิ เบโธเฟนเลยเปลี่ยนชื่อเพลงจากชื่อนโปเลียนเป็นแด่วีรบุรุษแทน)

    ไม่แน่ใจว่าเพลงนี้ตั้งใจแต่งให้อยู่ในคีย์นี้หรือไม่ อาจเป็นเพียงความบังเอิญ แต่ก็เป็นความบังเอิญที่เจ๋งสุดยอดไปเลย ท่อนนี้ที่อาจสื่อถึงชัยชนะของพวกเขาในรูปแบบของการที่สามารถแหกคุกกันออกมาได้...


    ตัวอย่างเพลง Symphony หมายเลข 3 "Eroica" ของ Beethoven ในคีย์ Eb Major




    • ตอนช่วงท้ายของฮุคดนตรีมีการเปลี่ยนคีย์ modulate กลับไปเป็น Minor อีกครั้งนึง สิ่งที่ชอบมากคือการส่งด้วยแนวเบสไล่เสียงลง นาทีที่ 1:32 มันโดดเด่นออกมาเป็นแนวที่สำคัญที่ใช้สำหรับส่งโดยเฉพาะ ซึ่งปกติจะไม่ค่อยมีเพลงไหนที่ยกให้เบสได้รับหน้าที่ที่สำคัญมากขนาดนี้เท่าไหร่ ยิ่งมาพร้อมกับการร้องว่า 5432 มันยิ่งรู้สึกเท่ห์ เป็นการนับตัวเลขถอยหลังไปพร้อมกับตัวโน้ตที่ก้าวถอยหลังกลับเข้าสู่ความรู้สึกเดิม ๆ เสียงในโทนต่ำและความเป็น Minor ที่มืดทะมึน


    Stop - Rewind - Turn - Back - Time


    • มาสู่ท่อนที่เชื่อว่าติดหูที่สุดสำหรับคนฟัง ท่อน Post-Chorus หลังจากฮุคที่เสียง Ostinato จากตอนต้นเพลงกลับมาแล้ว ความพิศวงงงงวยกลับมาอีกครั้งพร้อมกับเสียงเบส Glissando เหมือนกับว่าเรากำลังถูกพาข้ามย้อนเวลากลับไปสู่อดีตอีกครั้งนึง เนื่องจากการต่อสู้ครั้งที่ผ่านมา หรือการหลบหนีอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จ (จากจินตนาการของผู้เขียน)

    • เข้าสู่ Verse อีกครั้ง ในครั้งนี้แตกต่างจากรอบแรกแบบลิบลับเลย จากที่เป็นดนตรีหนัก ๆ เน้นเสียงเบสกับบีตกระแทกเสียงดังเป็นหลัก ในรอบนี้เหลือแค่เพียง Ostinato ที่น่ารัก ๆ แต่ก็หลอนหูในเวลาเดียวกันแทน (ฟังทีไรก็นึกถึงหน้าโจ๊กเกอร์กำลังยิ้มเยาะอยู่) ซึ่งทำนองนี้ถูกนำกลับมาใช้ตั้งแต่ใน Post-Chorus เหมือนเป็นเรื่องราวที่ลากต่อกันมา กลับมาสู่อดีตอันแสนมืดมนและน่าสงสัยอีกครั้งนึง แนวร้องมีการใช้โน้ตและจังหวะที่หลากหลายน่าสนใจมาก จนกระทั่งเข้าสู่นาทีที่ 1:55 ก็มีเสียงปรบมือที่กลับมาเป็น Percussion อีกครั้ง

    • ตอนช่วงท้ายของ Verse นี้มีการสอดแทรกเอฟเฟคเยอะเลย เป็น Synthesizer ที่ถูกดัดเสียงให้แปลกไปไม่เคยซ้ำเลย แถมแนวแร็พเองก็มีการแร็พเป็น Syncopation จังหวะขัด แถมยังดีเลย์เล็กน้อย (นาทีที่ 1:59) เหมือนแนวร้องไม่อยากจะไปต่อ แต่ในขณะที่จังหวะดนตรีที่ไปข้างหน้ามาก เหมือนต้องการที่จะเน้นย้ำเนื้อเพลง สร้างความรู้สึกที่หนักแน่น กระแทกกระทั้น ดึงฉุดอารมณ์คนฟัง ยังกับสองแนวนี้เล่นชักเย่อ ขืนกันแบบสุด ๆ

    • 2:01 Verse นี้แนวดนตรีมีความใกล้เคียงกับช่วง 0:50 ที่เป็นท่อน Parallel กันมาก แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปจะเป็นเสียง Percussion เสียงเล็กแหลมที่เคาะ ๆ อยู่ จากที่เคยอยู่ในช่วงเสียงที่ต่ำก็กลับกลายมาสูงแทน และแน่นอนว่าแนวทำนองเองก็เช่นกัน มีเสียงร้องคอรัสเป็น Harmony เพราะ ๆ ส่วนท่อนแร็พหลังจากนั้นก็มีเสียงตัวโน้ตแทรกขึ้นมา (นาทีที่ 2:10, 2:14) ที่ค่อนข้างแหลมและเสียดแทงหู


    • ในส่วนของ Pre-Chorus รอบนี้มีความน่าสนใจคือแนวเบส Glissandro ที่ฟังดูคล้ายเดิมแต่ที่จริงแล้วมีการเปลี่ยนสไลด์โน้ตไปสูงขึ้นกว่าในรอบก่อนหน้า ทำให้เกิดความรู้สึกที่ตื่นเต้นมากกว่าเล็กน้อย (โดยที่ผู้ฟังอาจไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นเพราะอะไร) และการเลือกใส่เอฟเฟคตอนนาทีที่ 2:27 ทั้งเสียงสแครชแผ่น เสียงโน้ตสไลด์ไปมา หลากหลายเสียงเหล่านี้ก่อให้เพลงเกิดความวุ่นวาย เหมือนเป็นจุดที่บ่งบอกว่ามีอะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้น ก่อนที่จะนำเข้าไปสู่ท่อนถัดไปซึ่งเป็นดั่งคำตอบของเรื่องราวนี้

    • ท่อนฮุคที่เหมือนกับรอบแรกเลย แต่ผู้เขียนเมื่อฟังมาถึงรอบนี้กลับค้นพบอีกเสียงนึงที่เพิ่งจะได้ยิน นั่นคือเสียงเปียโน!! ที่จริงแล้วเสียงนี้เองก็อยู่ในท่อนฮุคก่อนหน้าด้วย หากแต่มันเบามากเมื่อเทียบกับเสียงเครื่องดนตรีที่เหลือ และยังเล่นเป็นโน้ตในช่วงเสียงที่สูง กดเป็นคอร์ดถี่ ๆ ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เป็นทำนองที่โดดเด่นหรือมีความสำคัญต่อเพลงมาก ทำให้ไม่สามารถได้ยินได้หากไม่ใส่หูฟังแล้วตั้งใจฟังจริง ๆ.. จุดที่จะได้ยินเสียงเปียโนชัดที่สุดน่าจะเป็นนาทีที่ 2:39 ที่มีการเล่นคอร์ด Dissonance หรือคอร์ดที่มีโน้ตกัดกัน เหมือนกับว่าในความสว่างสดใสนี้จริง ๆ มันไม่ได้เป็นทางเดินที่ราบเรียบอย่างที่คิดนะ แต่ว่ามีอันตรายบางอย่างซ่อนอยู่ด้วย

    • ท่อน Instru หรือที่คุ้นเคยติดปากกันว่า Dance Break ต้องบอกเลยว่าน่าสนใจมากสำหรับวง WayV ที่ท่อนนี้มักจะต้องมีการใช้เสียงกีตาร์ไฟฟ้าเป็นเครื่องดนตรีโซโล่หลัก มีการโชว์ Riff และแนวการเล่นที่เหมือนกับเพลงสไตล์ Rock/Metal เป็นท่อนที่เท่ห์มากจริง ๆ... และอีกจุดที่น่าพูดถึงคือการที่ท่อน Instru มาก่อนท่อน Bridge ในทุกเพลงไตเติ้ลหลักของวง ทั้ง Take Off และ Moonwalk เองก็เป็นแบบนี้หมด... ซึ่งแตกต่างจากเพลง K-pop ส่วนใหญ่ แม้แต่เพลงในจักรวาล NCT หรือเพลงจากค่าย SM วงอื่นที่มักจะเข้าสู่ท่อน Bridge ก่อนเพื่อดรอปเปลี่ยนอารมณ์คนฟังแล้วจึงค่อยเร่งดนตรีและ Volume เพื่อส่งไปสู่ท่อน Dance Break


    ตัวอย่างเพลง Take Off ของ WayV นาทีที่ 2:35 ท่อน Dance Break มีการใช้เสียงกีตาร์ไฟฟ้า
    นาทีที่ 2:54 ท่อน Instru มาก่อน Bridge


    ตัวอย่างเพลง Moonwalk ของ WayV นาทีที่ 2:42 ท่อน Dance Break มีการใช้เสียงกีตาร์ไฟฟ้า
    นาทีที่ 2:58 ท่อน Instru มาก่อน Bridge


    ตัวอย่างเพลง Kick It ของ NCT 127 นาทีที่ 2:32 ท่อน Bridge มาก่อนท่อน Instru


    ตัวอย่างเพลง Candy ของ Baekhyun นาทีที่ 2:23 ท่อน Bridge มาก่อนท่อน Instru

    (ตัวอย่างหลายอันจะได้เห็นภาพว่า WayV มีสไตล์ของตัวเองที่ชัดเจนจริง ๆ)



    • 2:59 เข้าสู่ท่อน Bridge ท่อนที่มักมีความแตกต่างทางดนตรีมากที่สุดในเพลง เพลงนี้เองก็เช่นกัน อยู่ดี ๆ แนวดนตรีก็เปลี่ยนไปจนกลายเป็นเพลงแนวบัลลาดผสม R&B คนละเรื่องกับดนตรีตลอดทั้งเพลงที่ผ่านมาเลย มีเสียง Synthesizer ที่ถูกปรับให้ฟังสบายและก้องกดลากคอร์ดเพราะ ๆ, บีตหลักก็เหลือแค่เสียงดีดนิ้ว (ที่มีในแทบทุกเพลงของจักรวาล NCT) และเสียงเบสที่ยังคงถูกชูขึ้นมาให้โดดเด่นแม้จะเปลี่ยนแนวทางการเล่นไปอย่างสิ้นเชิง.. ยังไม่นับแนวร้อง ทำนองหลักที่โชว์ช่ววงเสียงกว้างมาก ๆ ไล่เสียงเป็นสเกลลงไปโน้ตต่ำ Gb3 และไต่ขึ้นไปสูงถึง Eb5 ในช่วงไม่กี่วินาที ดนตรีที่บางยิ่งทำให้สามารถโชว์เสียงร้องท่อนนี้ออกมาได้อย่างไม่มีอะไรมาขวางกั้นเลย สุดยอด

    • เสียงเบสสไลด์ตอนท้ายของ Bridge เหมือนเป็นการบิดห้วงเวลาย้อนกลับอีกครั้ง เข้าสู่ท่อนฮุค การต่อสู้เพื่อเอาชนะ การหลบหนีจากคุกนี้เป็นครั้งสุดท้าย..

    • เข้าสู่ Chorus สุดท้าย มีการเพิ่มเสียง Synthesizer ลากโน้ตตัวสูง คล้ายกับเสียงของกลุ่มเครื่องสายไวโอลินอะไรแบบนั้นเลย เรียกได้ว่าตอนนี้ดนตรีแน่นครบทุกช่วงเสียง จัดเต็มสุด ๆ พอนาทีที่ 3:25 ซึ่งจะได้ยินเสียงเบสที่ไล่ลงเหมือนกับจะเข้าสู่ท่อน Post-Chorus กลับไปเป็นคีย์ Minor อีกครั้ง แต่ไม่เลย คุณ โดน หลอก !! ดนตรีที่ดรอปเงียบไป เสียงเบสสไลด์กลับลง และเสียงร้องตะโกน Ticking away เป็นการประกาศก้องว่ายังไม่ยอมหรอกนะ เวลายังเดินอยู่ เราจะไม่หยุด เราต้องได้ไปต่อ ขอซ้ำท่อนฮุคก่อนอีกหนึ่งรอบ

    • มีเสียงร้อง Adlib และการลากโน้ตสูงแทรกในช่วงฮุคท้ายค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่เพิ่งเริ่มเข้า 3:12, 3:25 น่าเสียดาย 3:31 ที่ไลน์ร้องไม่ได้ถูกเร่งความดังเพิ่มให้โดดเด่นออกมา เนื่องจากเป็นโน้ตที่เหมือนกับแนวทำนองหลักซะเยอะ เลยทำให้ได้ยินไม่ชัดเจน กลืนไปกับแนวร้องหลัก.. จะสังเกตได้ว่า Adlib เป็นการร้องที่เหมือนกับการตะโกนกู่ร้องซะส่วนใหญ่ การประกาศชัยชนะ ไม่ยอมแพ้ซึ่งเข้ากับเนื้อหาของเพลง จนกระทั่งท่อน 3:35 ที่มีเสียง adlib ในช่วงเสียงที่ต่ำลงมาแทรก ทำให้เพลงมันเกิดความไพเราะและอบอุ่นขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย



    • จบท่อนฮุคสุดท้ายเข้าสู่ท่อน Outro ที่เสียงกีตาร์ไฟฟ้าขาร็อคกลับมาอีกครั้งนึง ซึ่งถูกบรรเลงไปพร้อมกันกับเสียง Ostinato ที่ถูกนำเสนอมาตั้งแต่ช่วงต้นเพลง และยังมีเสียงเบส Glissando อีก ก็เรียกได้ว่าองค์ประกอบหลักทั้งหลายได้มารวมกันอยู่ตรงนี้ เป็นเหมือนท่อนสุดท้าย เข้าสู่บทสรุปของการเดินทางครั้งนี้

    • นาทีที่ 3:46 มีการดรอปดนตรีเหลือไว้แค่เบส Glissnado กับเพิ่มเสียงเอฟเฟคแทรกมา เหมือนเป็นการใช้เสียงต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อทำให้เราจินตนาการเห็นถึงการ Stop แล้วก็ Rewind เพื่อที่จะ Turn Back Time อย่างงั้นเลย จะสังเกตได้ว่ามีการใช้ลูกเล่นดรอปเสียงดนตรีให้เงียบลงแล้วใช้เสียงเบสสไลด์แทรกเด่นขึ้นมาแบบนี้ตลอดทั้งเพลง ก็เรียกได้ว่ามีการใช้ดนตรีและลูกเล่นเอฟเฟคต่าง ๆ เพื่อนำเสนอและเล่าเรื่องราวได้อย่างเห็นจริง ๆ





    - จบเพลง -



    โครงสร้างของเพลง Turn Back Time

    INTRO                          0:21-0:35

    VERSE 1                       0:36-0:50

    VERSE 2                       0:50-1:04

    PRE-CHORUS              1:04-1:18

    CHORUS                      1:18-1:32

    POST-CHORUS            1:33-1:46

    VERSE 3                       1:47-2:01

    VERSE 4                       2:01-2:15

    PRE-CHORUS              2:15-2:29

    CHORUS                      2:30-2:43

    INSTRU                        2:44-2:58

    BRIDGE                        2:58-3:12

    CHORUS                      3:12-3:40

    OUTRO                        3:41-3:58





    บทสรุป

    คุ้มค่ากับการรอคอยมาก ต้องขอยอมรับตรง ๆ เลยว่าเป็นการคัมแบ็คที่ผู้เขียนคาดหวังไว้เยอะ ทั้งจากภาพทีเซอร์ รวมไปถึงเพลง TIME & THE VISION : Time to Awaken ที่ถูกปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ ลุ้นมากว่าสองเพลงนี้มันจะมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร? จะต่อกันมั้ย? แล้วก็ต้องบอกว่าไม่ผิดหวังเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเพลงทั้งสองมีเรื่องราวสตอรี่ที่ต่อเนื่องกันอย่างชัดเจน ตั้งแต่องค์ประกอบต่าง ๆ ทางดนตรีที่คล้ายกัน การนำเสนอเรื่องเวลา เล่าเรื่องราวถึงเพลงไตเติ้ลก่อนหน้าตั้งแต่ Take Off ลากต่อมายัง Moonwalk ก่อนที่จะมาจบในคีย์ Eb Minor ซึ่งตรงกันกับเพลง Turn Back Time ต่อกันได้พอดิบพอดี จะเรียกว่าเพลงของเฉียนคุนเป็นเหมือนเพลง Prelude ของอัลบั้มนี้เลยก็ว่าได้

    ในมุมมองของผู้เขียน เพลง Turn Back Time เป็นเพลงที่มีการใช้ดนตรีในการสื่อสารได้ดีมาก องค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ในเพลง ถูกเลือกมาโดยผ่านการคิดวิเคราะห์แล้ว เหมือนกับการเลือกถ้อยคำมาเรียงร้อยต่อกันเป็นประโยค เพื่อสร้างเรื่องราวที่เล่าถึงเหตุการณ์ในเพลงนี้ ทั้งการหยุด-ย้อนเวลา ภาพการบิดเบี้ยวของห้วงมิติต่าง ๆ  ความน่าสงสัยใคร่รู้ พิศวง ความน่ารักแบบโรคจิตนิด ๆ ความดาร์คและทะมึนมืดมนเหมือนกับอยู่ในคุก ความสิ้นหวังท้อแท้ รวมไปถึงความสว่างสดใสที่เปรียบเหมือนการได้รับชัยชนะ ประสบความสำเร็จ ความสุข.. เสียงดนตรีทุกเสียง เอฟเฟคทุกอันมันมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนของมันเอง และส่งเสริมกันได้อย่างดีเยี่ยมโดยที่ไม่ได้ไปรบกวนแนวร้องเลย

    อีกสิ่งนึงที่ประทับใจมากก็คือการยึดแบบแผนเดิม หลายคน (รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย) มองว่าการทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ จำเจเป็นอะไรที่น่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ แต่ผู้เขียนมองว่าเพลงของ WayV แม้จะมีการเรียง Structure ในช่วงท่อน Instru และ Bridge เหมือนเดิมตลอด แต่มันเป็นเอกลักษณ์ที่ไมได้ไปซ้ำแบบคนอื่น มันคือการสร้างกิมมิคให้กับเพลงของวง รวมไปถึงการใช้เสียงกีตาร์ไฟฟ้าโซโล่ มันเป็นสิ่งที่ทำให้คนเมื่อได้ฟังก็ร้องอ๋อ นี่สินะ มีท่อนแบบนี้ก็คือเพลงของ WayV นั่นเอง

    แล้วที่จริงก็ยังมีการใส่สิ่งอื่นที่สร้างสรรค์และแปลกใหม่ลงไปอีกมากมาย โครงสร้างการแบ่งท่อนในเพลงก็ไม่เคยเหมือนเดิมเลยในแต่ละเพลงที่ผ่านมา และที่เด่นชัดอีกจุดของเพลงนี้โดยเฉพาะ คือตอนเริ่มต้นที่ดังหนักแน่นมาทันที ต่างจากเพลงทั่วไปที่มักจะค่อย ๆ เริ่มจากน้อยก่อน แล้วค่อยเพิ่มองค์ประกอบหรือ volume เสียงขึ้นเพื่อนำไปสู่จุดที่พีคที่สุด แต่เพลง Turn Back Time กลับไม่ทำตาม คนฟังไม่สามารถเดาได้เลยว่าท่อนถัดไปจะออกมาเป็นอย่างไร อะไรที่คาดไว้ก็กลับผิดคาดหมด หลอกหูอย่างไม่หยุดหย่อนตลอดทั้งเพลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ามันมากเกินจนไม่มี Direction

    เพลงของ WayV จึงสมบูรณ์แบบทั้งในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ การนำเสนอสิ่งใหม่
    และความ unique มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน




    • อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Turn Back Time อีกรอบด้วยนะ!


    กราบทีม CG สุดยอดมาก

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
peachapeacha01 (@peachapeacha01)
คุณมุกคะ ฮื่อออ มันเหมือนเรียนหนังสือรู้เรื่อง เหมือนบรรลุธรรม ขอบคุณมากๆนะคะ เราอ่านแล้วน้ำตาซึมเลย //อ่านมาจนถึงตรงท่อน Chorus สุดท้ายที่บอกว่า "ดนตรีที่ดรอปเงียบไป เสียงเบสสไลด์กลับลง และเสียงร้องตะโกน Ticking away เป็นการประกาศก้องว่ายังไม่ยอมหรอกนะ เวลายังเดินอยู่ เราจะไม่หยุด เราต้องได้ไปต่อ ขอซ้ำท่อนฮุคก่อนอีกหนึ่งรอบ" เหมือนชีวิตที่ต้องต่อสู้เพื่อตัวเองตลอดเวลา เหนื่อยบ้าง แต่ก็ต้องลุกขึ้นสู้เหมือนเดิม อุแง้ ใจหวิวไปเลยยย ขอบคุณอีกครั้งนะคะ
ryeomook (@ryeomook)
@peachapeacha01 ขนาดนั้นเลย แง ดีใจ ที่จริงก็ต้องขอบคุณเช่นกันนะคะ เพราะมุกเขียนแล้วคิดแต่ในมุมมองของสิ่งที่เพลงต้องการจะสื่อ แต่พออ่านคอมเมนท์คุณแล้วมันทำให้เอาเนื้อเพลงและดนตรีมาเปรียบกับชีวิตจริงของตัวเองด้วย ว่าต่อให้เหนื่อยท้อแค่ไหนเวลาก็ไม่เคยหยุดรอ ทุกคนยังต้องดิ้นรนต่อสู้กันต่อไป ><
adnavius_261 (@adnavius_261)
เขียนละเอียดมากเลยค่ะ ขอบคุณสำหรับคอนเทนต์ดี ๆ นะคะ แงงง ขนาดว่าฟังแบบเก็บรายละเอียดแล้ว พอมาอ่านถึงได้รู้ว่าฟังพลาดไปหลายจุดมาก //รบกวนถามเรื่องverse2 กับ verse4 หน่อยค่ะ ที่เขียนว่าดนตรีคล้ายกัน คือตรงไหนหรอคะ ส่วนตัวฟังแล้วจับไม่ค่อยได้นอกจากว่าเป็น4ห้องแรกร้อง 4ห้องหลังแร๊ป กับมีเสียงสเกลแขก นอกนั้นรู้สึกว่ามันต่างกันมากเลย;-;
ryeomook (@ryeomook)
@adnavius_261 ยินดีมากเลยค่ะ เพลงมันมีรายละเอียดเยอะมากเลย นี่ขนาดว่าเขียนไม่ครบ มีข้าม ๆ ไปบ้างนะคะ T_T

Verse 2 กับ 4 ตัวดนตรีเกือบเหมือนเดิมเลยค่ะ พวกจังหวะบีต Percussion ต่าง ๆ คือของเดิมยกมาเลย แล้วมีแค่เสียงเคาะสูง ๆ เพิ่มมาเอง แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกแตกต่างมากเลยคือแนวร้องค่ะ เพราะทั้งสองรอบมันไม่เหมือนกันเลยจริง ๆ

ท่อน Verse 2 แนวร้องของเฮนเดอรี่จะเป็นโน้ตเรียบ ๆ แค่ 2 ตัววนกลับไปมา ไม่ได้หลากหลายมาก ร้องเป็นจังหวะ Syncopation แล้วท่อนวินวินก็มีเสียงคนตะโกนเป็น background แทรก

แต่พอ Verse 4 ไลน์ของเซียวจวิ้นจะมีความ lyrical กว่า มีเมโลดี้ที่ไล่ไปมามากกว่า 2 ตัว แล้วยังมีแนวประสานเป็นคอร์ดที่มีเสียง harmony มากกว่าของเฮนเดอรี่กับวินวิน

ส่วนท่อนแร็พของหยางหยางรอบแรกกับรอบที่สองก็มีจังหวะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงค่ะ
adnavius_261 (@adnavius_261)
@ryeomook ไปลองฟังอีกรอบมาแล้วค่ะ ดนตรีเหมือนกันจริงด้วย ขอบคุณสำหรับคำอธิบายนะคะ;-;
ryeomook (@ryeomook)
@adnavius_261 ยินดีมากเลยค่า ถามได้เสมอนะคะ :))
bioiiaim (@bioiiaim)
จริงที่สุดเลยค่ะพี่มุก กีตาร์ไฟฟ้าโซโล่คือที่สุดของเอกลักษณ์ แบบ นี่แหละเพลง WayV //พี่มุกชอบ Bad alive มั้ยคะ คือหนูหลอนหูมากเลย
ryeomook (@ryeomook)
@bioiiaim ชอบนะ bad alive เป็นการ challenge ที่เจ๋งมาก เป็นเพลงที่แปลก มีองค์ประกอบหลากหลาย โครงสร้างก็โดนบิดไปมา แนวทำนองคาดเดาไม่ได้ มีโน้ตแปลก ๆ เยอะ คือหลอกหูยิ่งกว่าเพลงนี้เยอะมาก
Phatcha Rtl (@fb1022012471822)
เพลงนี้ให้ความรู้สึกที่เท่ห์จริงๆค่ะ เราฟัง WayV ไม่บ่อยนักแต่ยอมรับว่าแต่ละเพลงที่ออกมามันมีเอกลักษณ์เป็น WayV เอง และเพลงล่าสุดนี้ก็ยิ่งย้ำความคิดนี้ของเราเข้าไปอีก ..
และเราชอบท่อน 5432 มาก รู้สึกว่าจังหวะมันสอดรับกับ จังหวะของท่อน Stop (stop) rewind, turn back time (yea got that) Stop (stop) rewind, turn back time มันโคตรเท่ห์จริงๆค่ะ ((O>w<O))
ปล. ท่อนอินโทรที่เป็น Ostinato ให้ความรู้สึกฉงนสงสัย และใช่ค่ะ มันวนอยู่ในหัวตลอดเวลาเลย ถถถ
ryeomook (@ryeomook)
@fb1022012471822 เราชอบความมีเอกลักษณ์ของเค้าเหมือนกันค่ะ แต่มันไม่ได้รู้สึกว่าซ้ำจำเจของเดิมเลย ยังมีอะไรใหม่ ๆ ที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ มันดีมากเลย นับถือคนแต่ง
eieiamm (@eieiamm)
แงง ปริ่มมากกับไตเติ้ลนี้ ;-; ถ้าไม่ดูเป็นการรบกวนก็อยากชวนคุณเลือก b side มาทำด้วยยยย เพลงในบั้มดีมากๆเลยค่ะ ฮืออออ???
ryeomook (@ryeomook)
@eieiamm เดี๋ยวขอไปตั้งใจลองฟังดูอีกรอบก่อนนะคะ ตอนนี้ยังไม่มีแพลนเลยว่าจะเขียนเพลงอะไรต่อค่ะ แหะๆ