เพลงใหม่ล่าสุดที่ถูกสร้างสรรค์และผลิตขึ้นมาโดย คุน และ หยางหยาง จากวง WayV เองทั้งหมด แม้จะเป็นเพลงสั้น ๆ ความยาวแค่ประมาณ 1 นาทีแต่ก็มีหลายสิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่าน่ายกมาพูดถึง
(อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)
Performance by YANGYANG
Lyrics by YANGYANG
Composed by YANGYANG/KUN
Arranged by KUN
Recorded and Mixed by KUN
C# Minor - 140BPM
- หากใครมีโอกาสได้อ่าน 2 บทความก่อนหน้าก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่เพลงส่วนใหญ่จะเริ่มต้นมาด้วย Intro เหมือนเป็นการกล่าวนำก่อนเริ่มต้นเข้าสู่เนื้อหาหลัก และในแต่ละเพลงจะมีสิ่งที่เรียกว่า *Ostinato ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่สุดของเพลง เสียงดนตรีที่ดำเนินตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนกับเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกายของคนเราตลอดเวลา เพลงนี้เองก็เช่นกันที่มีการใช้เสียง Synthesizer ซึ่งถูกสังเคราะห์ขึ้นมาผ่านโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในทำนองที่ถูกใช้นำเสนอกิมมิคหลักของเพลงนี้
*Ostinato - แนวทำนอง หรือ เบส ที่ถูกบรรเลงซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ
ในยุค Baroque ออสตินาโตที่เรียกว่า Figured Bass ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญมากของเพลง
- Ostinato ประจำเพลงนี้จะเป็นการยกโน้ตจากคอร์ดสำคัญของเพลงมาใช้เป็นหลักคือ C#m และ G#m เริ่มจากช่วงเสียงไม่สูงมาก ก่อนที่จะกระโดดสูงขึ้นไป 1 Octave หรือที่ความห่าง 1 ช่วงเสียงในรอบแรก พอรอบที่สองของ Intro ก็เริ่มมีเสียง Percussion จังหวะจากกลองและบีตต่าง ๆ เข้ามาด้วย มีเสียงคล้ายเสียงเปิดขวด น่ารักดี พอช่วงท้ายมีการแทรกเสียงเอฟเฟคที่มีการใส่ *Crescendo ไล่ขึ้น ก่อนที่ดนตรีทั้งหมดจะถูกดรอปหายไป มีเสียงกระดกลิ้นและเสียงเหมือนหยดน้ำให้จังหวะส่งเข้าสู่ท่อนแร็พ
*Crescendo - เสียงดังขึ้น
Ostinato ของเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นมาได้ดีมากในมุมมองของผู้เขียน เนื่องจากเป็นการใช้โน้ตแค่เพียง 4 ตัว C# D# E G# นำมาเล่นวนไปมาในช่วงเสียงสูงต่ำสลับกันไป แถมยังเป็นโน้ตที่อยู่ในคอร์ดหลักของเพลงอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นโน้ตนอกคอร์ดที่ถูกเพิ่มเสริมเข้ามา มันทำให้คนสามารถเข้าใจและติดหูได้ในทันทีที่ฟังภายในไม่กี่วินาทีแรก แล้วทำนองนี้เองก็จะอยู่กับเพลง ถูกพัฒนาต่อไปในรูปแบบอื่นเรื่อย ๆ ตลอด ถือว่าทำออกมาได้ simple ไม่ยุ่งยาก แต่ก็มีความ catchy.. น้อยแต่มากนั่นเอง
- Verse แรกของเพลงนี้ Ostinato ถูกดรอปหายไป เหลือไว้เพียงเสียงเบสที่เริ่มมาด้วยตัว C#1 ซึ่งเสียงต่ำมาก ๆ แล้วยังที่ถูกปรับแต่งใส่ Distortion หรือเสียงแตกเข้าไปเล็กน้อย หากใส่หูฟังเปิดเสียงดัง ๆ อาจจะมีแสบหูกันได้เล็กน้อย ส่วนเสียง Percussion ทั้ง Bass drum และ Snare drum เองก็ดังทะลุทะลวงและแข็งแรงหนักแน่นตามสไตล์เพลง Hip Hop ซึ่งเน้นเสียงแร็พและเนื้อหาของเพลงเป็นหลัก ทำให้สามารถได้ยินแนวร้องได้อย่างชัดเจนโดยที่ไม่มีเสียงดนตรีมารบกวนมากเกินไป
ต้องยอมรับเลยว่าช่วงต้นของเพลงนี้มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับเพลง Sit Down ของ NCT 127 ค่อนข้างมาก ตั้งแต่ Ostinato ที่มีรูปแบบการนำเสนอโน้ตหลักเพียงแค่ 3-4 ตัว, การเริ่มต้น Intro เพลงด้วยเสียง Ostinato เบา ๆ ก่อนที่ท่อน Verse จะเป็นเสียงเบสหนักแน่น, Percussion ที่เน้น Bass และ Snare เป็นหลัก รวมไปถึงสไตล์การแร็พที่ใช้จังหวะแบบเดียวกันตั้งแต่ประโยคแรก การแร็พที่เริ่มมาด้วยจังหวะ 3 พยางค์ (3 โน้ตใน 1 จังหวะ) หรือจังหวะหยุดต่าง ๆ เองก็ใกล้เคียงกันมาก
ก็เรียกได้ว่าเป็นสไตล์ Hip Hop แบบจักรวาล NCT อย่างแท้จริง
- ในช่วง Verse แรกนี้ *ห้องที่ 2 (0:24) และ 6 (0:31) จะมีการดรอปดนตรีเป็นเวลาสั้น ๆ แล้วแทรกด้วยเสียงเอฟเฟคที่เหมือนเสียงบีบตุ๊กตาของเล่น ในขณะที่ห้องที่ 4 (0:27) และ 8 (0:34) จะมีการใส่จังหวะบีตที่ละเอียด ลงเสียงกลองทุก ๆ จังหวะเข้าไปเพิ่ม.. โดยทั่วไป เอฟเฟคการดรอปดนตรีให้เกิดความเงียบมักจะถูกใช้ในช่วงห้องที่ 4 หรือ 8 ซึ่งเป็นจุดที่รูปประโยคของดนตรีจบพอดี การใส่ความเงียบนี้เป็นเหมือนการเบรคเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ ในขณะเดียวกันก็เหมือนการเล่นกับอารมณ์คนฟังให้งงกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในเพลงนี้พอนำไปใส่ในห้องที่ 2 และ 6 แทนมันก็เลยแปลกใหม่และน่าสนใจดีมาก
*ห้อง, ห้องดนตรี - เป็นการแบ่งเพลงออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ ใน 1 เพลงจะมีหลายห้อง แต่ละห้องจะมีจำนวนจังหวะแต่งต่างกันไปตามกำหนด ประโยคของเพลงส่วนใหญ่จะมีความยาวอยู่ที่ 4 หรือ 8 ห้องเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะในเพลงป๊อป
- ไม่แปลกใจเลยที่ตลอดช่วงที่ผ่านมาจะมีการใช้จังหวะ Triplets ค่อนข้างเยอะมาก จังหวะ 3 พยางค์เป็นจังหวะยอดฮิตที่มักใช้กันในท่อนแร็พ โดยทั่วไปทำนองแนวร้องมักจะร้องในจังหวะที่ช้ากว่านั้น คือ 1-2 คำต่อ 1 จังหวะ แต่ในท่อนแร็พที่มักจะเน้นโชว์ความเร็วในการร้องจะมีการใช้จังหวะนี้เพื่อเพิ่มคำไป 1 คำ กลายเป็น 3 คำต่อ 1 จังหวะ แทน
ตัวอย่างแร็พ 3 พยางค์ ท่อนแร็พของชานยอล นาทีที่ 1:13
- 0:34 ตอนจบท่อน Verse แรก มีการร้องประสานเสียงเข้ามาไล่โน้ตลง ทำให้เกิด Harmony หรือเสียงประสานเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้ามาสู่เนื้อหาเพลงจริง ก่อนที่จะเข้าสู่ท่อนถัดไป
- ท่อนถัดมาที่หากให้วิเคราะห์จากสไตล์แล้วน่าจะเป็น Pre-Chorus ซึ่งแน่นอนว่า Ostinato ประจำเพลงนั้นกลับมาอีกครั้งนึง โดยที่ในรอบนี้ถูกปรับแต่งให้เสียงซอฟต์ลง มีความนุ่มและเบลอเมื่อเทียบกับช่วงต้นเพลงที่เสียงจะคมชัดมากกว่า การปรับแต่งนี้ทำให้เรายังสามารถได้ยินการแร็พที่ชัดเจนโดยที่เสียงดนตรีที่เพิ่มเข้ามาไม่ได้ไปรบกวนหรือบดบังแนวที่ควรโดดเด่นกว่า ผู้เขียนฟัง Ostinato ในท่อนนี้แล้วทำให้นึกไปถึงเพลง 7 Rings ของ Ariana Grande ที่ก็มีการใช้ sound ในแบบใกล้เคียงกัน เอฟเฟคของมันจะสร้างให้เรารู้สึกว่ามีความพิศวงซ่อนอยู่
- ท่อนนี้มีการดรอปดนตรีหนัก ๆ จากช่วงก่อนหน้าไปทั้งหมด เหลือไว้เพียงอารมณ์ความรู้สึกที่น่าสงสัยจากเสียง Ostinato และเบส แม้แต่ในแนวแร็พเองก็จะสังเกตได้ว่าจะไม่มีการกระแทกเสียงมากเท่ากับใน Verse แถมมีท่อนที่เป็นเสียงกระซิบ ซึ่งนั่นยิ่งสร้างความลึกลับ mysterious ให้กลับเพลงมากขึ้นไปอีก
- ขอแนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านใส่หูฟังในขณะที่ฟังเนื่องจากว่าในท่อน Pre-Chorus มีการทำเพลงที่น่าสนใจมาก ๆ แม้เสียง Percussion ที่หนักและกระแทกหูจะหายไป แต่จังหวะบีตของท่อนนี้กลับยังอยู่โดยการใช้เสียงเบสเป็นตัวหลัก จากที่เคยเป็นโน้ตลากธรรมดา ในท่อนนี้เบสเปลี่ยนเป็นเสียงแยกเป็นตัว ๆ เดินโน้ตสั้น ๆ มีบางช่วงที่หางเสียง Glissandro สไลด์เสียง นอกจากนี้ยังมีเสียงคล้าย Bass drum ตุบ ๆ ที่อาจจะฟังยากหน่อยเนื่องจากมันผสมปนเปไปกับเสียงเบส แต่เราจะสามารถสัมผัสได้เมื่อใส่หูฟังว่าเสียงต่าง ๆ เหล่านี้มันดังสลับซ้ายขวาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสำหรับผู้เขียนนี่เป็นจุดที่น่าสนใจและดึงดูดให้มีอารมณ์ตื่นเต้นได้อย่างมาก
- 0:40 แนว Ostinato มีการเปลี่ยนโน้ตเป็นไล่ลงแทน แตกต่างจากเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง Intro ที่แนวนี้ได้ถูกแนะนำให้ผู้ฟังได้รู้จักก่อนหน้านี้ การไล่กลับลงมาทำให้เราเหมือนได้กลับลงมาเตรียมพร้อมอีกครั้งนึงก่อนที่จะไล่กลับสูงขึ้นและไปเน้นย้ำที่โน้ตตัวบนสุด D# แทน
- จากดนตรีเบา ๆ ซอฟต์ ๆ พอยิ่งเวลาผ่านไปดนตรีกลับค่อย ๆ Crescendo ดังขึ้น เสียงจากที่เหมือนถูก mute อุดไว้ให้เสียงอู้อี้เบา ๆ ก็กลับชัดเจนมากขึ้น มีการเพิ่มเอฟเฟคและเสียงดนตรี แถมแนวแร็พเองก็มีการร้องที่ถี่และกระแทกหัวเสียงที่คมชัดมากขึ้น ก่อนที่จะเน้นย้ำในห้องสุดท้าย ลงเสียงกระแทกทุกจังหวะทั้ง 4 จังหวะเพื่อนำไปสู่ท่อนฮุคที่มันส์ที่สุดของเพลง
- เข้าสู่ท่อน Chorus แนวเบสแม้ว่าจะเล่นในจังหวะแบบเดียวกับช่วง Pre-Chorus แต่กลับมีการเพิ่มเสียงลากเข้าไปด้วยทำให้เกิดการเติมเต็มเสียงของเพลงให้หนักแน่น มีฐานรองที่มั่นคง รวมไปถึงการไล่โน้ตสั้น ๆ ในจังหวะที่ถี่เร็วแทรกเข้ามาเป็นระยะ เป็นลูกเล่นที่ทำให้เพลงเกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
- ท่อนฮุคเพลงนี้ดุเดือดเลือดพล่านมาก จากที่แร็พ Triplets 3 คำต่อ 1 จังหวะว่าเร็วแล้ว ท่อนนี้ซัดไป 4 คำต่อ 1 จังหวะเลย! เทียบเท่ากับจังหวะที่เสียงคล้ายกับเสียงเคาะบริเวณขอบของ Snare drum ซึ่งตีถี่ ๆ เป็น background อยู่ตลอด ซึ่งตัวจังหวะจากเครื่องนี้นี่แหละที่เป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างอารมณ์ความรู้สึกกระตือรือร้น ความตื่นเต้นที่เหมือนกับเสียงหัวใจที่เต้นถี่เร็วให้กับผู้ฟัง ไหนจะความหลากหลายทางการร้องอีก ลูกเล่นมากมาย แร็พในจังหวะที่เร็วสลับกับหยุดหายใจ หลังจากนั้นกลับกลายมาเป็นเสียงต่ำในจังหวะสบาย ๆ แทน.. โห สนุกจริง ๆ นะท่อนนี้
ตัวอย่างเสียง Rim Shot หรือการตีบริเวณขอบของ Snare Drum
- จุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ Ostinato ของเพลงนี้ที่ถูกนำมาดัดแปลงได้น่าสนใจมาก ตั้งแต่ 0:48-0:55 แนวทำนองนี้จะตัดโน้ตตัวล่างหรือตัว G# ออก (จาก C# G# E G# D# กลายเป็น C# E D# ) ทำให้เหมือนกับทำนอง Ostinato นี้ถูกทำให้ช้าลง แต่อันที่จริงแล้วมันเกิดจากการตัดโน้ตที่อยู่ระหว่างกลางที่เป็นเสียงต่ำออกไปหมด
- พอมาถึงช่วงตั้งแต่ 0:55 เป็นต้นมา โน้ตเดิมทั้งหมดกลับมาอีกครั้งแต่ในรอบนี้มีการเบิ้ลโน้ตทุกตัวเพิ่มเข้าไป (จากการไล่ C# G# E G# D# กลายเป็น C# C# G# G# E E G# G# D# D#) เสียงจึงมีความถี่มากขึ้น ในขณะที่มีการแทรกโน้ตเสียงสูงมาด้วยตลอดเวลา ซึ่งเป็นการนำโน้ตจากใน Ostinato มาเล่นในจังหวะที่ช้าลงนั่นเอง เป็นการนำมาเรียบเรียงใหม่ได้ดีมาก
- ตอนจบส่งมาด้วยเสียง Percussion อย่างเต็มที่ก่อนจะ Outro ส่งท้ายด้วย Ostinato คล้ายกับตอนเริ่มเพลง เริ่มแบบไหนจบแบบนั้น เหมือนการเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ และสุดท้ายก็วนกลับมายังจุดเริ่มต้นอีกครั้งนึง โดยในรอบนี้จะได้ยินว่าทำนองจริง ๆ แล้วมีการเล่นเป็นลักษณะโน้ตคู่ 2 ตัวประสานพร้อมกันมาตลอด แต่เสียงประสานตัวล่างนั้นไม่ได้โดดเด่นมากเกินทำนองหลัก จนกระทั่งมาถึงนาทีที่ 1:05 ซึ่งเป็นจุดที่สามารถได้ยินเสียงโน้ตตัวเดียวเพียว ๆ ได้อย่างชัดเจน ยกเว้นโน้ตตัวสุดท้ายที่มีการใส่โน้ตประสานตัวล่างเพิ่ม เป็นการจบเพลงที่เหมือนไม่จบ ความรู้สึกที่เหมือนกับยังคงเต็มไปด้วยคำถาม เนื่องจากเสียงที่ค่อย ๆ ไล่สูงขึ้นกับคอร์ดสุดท้ายที่ถูกปล่อยให้ค้างคา สร้างความฉงนสงสัยให้กับผู้ฟังเป็นอย่างมาก
- จบเพลง -
โครงสร้างของเพลง Leonidas
INTRO 0:07-0:21
VERSE 0:21-0:34
PRE-CHORUS 0:35-0:48
CHORUS 0:48-1:02
OUTRO 1:02-1:09
บทสรุป
แม้เพลง Leonidas ซึ่งแต่งโดย คุนและหยางหยาง จะไม่ยาวเต็มที่เท่ากับเพลงป๊อปทั่วไป แต่ภายในเวลาแค่ประมาณ 1 นาทีกว่า ๆ ผู้แต่งกลับสามารถนำเสนอหลายสิ่งออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ Ostinato ที่ถูกสร้างสรรค์มาอย่างดีและนำไปเรียบเรียงใช้ได้อย่างเหมาะสม สร้างสีสันฉูดฉาดให้กับบทเพลงได้ตลอด มีการใช้จังหวะ บีตต่าง ๆ และลูกเล่นสอดแทรกอีกมากมาย
ดนตรีมีการจัดแบ่งท่อนที่นำเสนอความแตกต่างกันออกไปได้ดี มีช่วงที่หนักแน่น ท่อนที่เบาเปลี่ยนอารมณ์คนฟัง แล้วก็กลับมามันส์หัวโยกอีกครั้ง นอกจากนี้การร้องแร็พเองก็มีจังหวะและวิธีการออกเสียงคำที่หลากหลายมาก ไม่ใช่แค่การโชว์ร้องเร็ว ๆ เพียงอย่างเดียว เรียกได้ว่าครบทุกรูปแบบจริง ๆ
โดยรวมแล้วเพลงนี้สามารถสื่ออารมณ์ได้ชัดเจนมาก แต่ละท่อนมีความรู้สึกที่แตกต่างกันหมดเลย ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าเพลงมันซ้ำจำเจหรือย่ำอยู่กับที่ แต่กลับน่าค้นหาอยู่ตลอดเวลาว่ามันจะเป็นยังไงต่อ น่าเสียดายที่เพลงสั้นเพียงแค่นี้ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกตั้งตารอที่จะได้ฟังช่วงต่อหลังจากนี้ว่าจะมีลูกเล่นอะไรมานำเสนอให้กับคนฟังอีก เชื่อว่ามันจะต้องดีมากแน่นอน
อย่าลืมเข้าไปติดตาม Soundcloud ของ KUN กันด้วยนะ
มี Leonidas เวอร์ชัน Instrumental ให้ได้ฟังด้วย
Loading...
KUN - TIME & THE VISION / Time to Awaken
ตอนนี้เราสบายใจขึ้นเยอะแล้วค่ะ กว่าจะผ่านมาได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็ไม่อยากจะเลิกทำสิ่งที่ตั้งใจไว้เลยมาหาช่องทางการเขียนบล็อกที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำแต่แรกแทน ขอบคุณมากนะคะที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ แล้วก็ขอบคุณที่ที่อยู่ด้วยกันมาเสมอ ดีใจที่ชอบสิ่งที่เราเขียนค่ะ