เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง Ten - Paint Me Naked
  • ว้าวววววววววว

    Station เพลงโซโล่เพลงใหม่ของเตนล์ที่ไม่ได้ถูกปล่อยมานานหลายปี ต้องขอบอกเลยว่าเกินคาดมาก หากเมื่อเราเปรียบเทียบกับเพลงอื่น ๆ ที่เคยถูกปล่อยออกมา และไม่น่าเชื่อว่าจะมีจุดที่น่าสนใจ รายละเอียดยิบย่อยมากมายไปหมดที่ถูกซ่อนอยู่ในเพลงนี้ ที่เมื่อนำมาผสมรวมกันแล้วทำให้เพลงออกมาครบสมบูรณ์แบบ แต่งแต้มไปด้วยหลากสีสัน ผู้เขียนจะพยายามดึงองค์ประกอบที่สร้างความน่าสนใจให้กับเพลงออกมาเขียนอธิบายให้ได้มากที่สุด




    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)


    Composed by (이아일) Aisle & SQUAR
    Lyric by Sami Khan & Adrian McKinnon

    E Major - 82 BPM


    • เริ่มเพลงมานำเสนอความเป็น E Major อย่างชัดเจน เชื่อว่าอาจมีหลายคนที่รู้สึกว่าตอนต้นมีแค่เสียงกีตาร์ที่เหมือนกับถูกอุดเสียงอยู่เพียงเครื่องเดียว แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย มันเต็มไปด้วยเสียงอีกมากมายที่ผสมผสานไปกับทำนองหลัก มีทั้งเสียงเบสที่เล่นย้ำโน้ตตัว E กับ A ทั้งในจังหวะหลักสลับไปจังหวะคร่อม ไหนจะมีเสียงบีตจังหวะย่อยเบา ๆ ที่ถ้าหากใส่หูฟังจะได้ยินเลยว่าเสียงนี้สลับออกทางหูซ้าย-ขวาไปตลอด และนอกจากนั้นก็ยังมีเสียงดีดโน้ตในช่วงเสียงสูงที่คล้ายกับเสียง harmonic ของกีตาร์ ในนาทีที่ 0:01, 0:04 และ 0:07

    • การเริ่มมาด้วยเสียงที่เบาอุดอู้ราวกับถูกอุดหูไว้แล้วค่อย ๆ ดังชัดขึ้นเหมือนกับที่เราค่อย ๆ ดึงที่อุดหูออกถือเป็นเอฟเฟคที่ถูกใช้ในหลากหลายเพลงและสร้างอิมแพคได้ดีมาก การเสริมเอฟเฟคเร่งเสียงเข้ามาก่อนที่จะดรอปดนตรีแบบตัดฉับ ไม่มีแม้แต่เสียงค้าง ถือเป็นการเบรคอารมณ์คนฟังก่อนเข้าสู่ท่อนต่อไปอย่างสมบูรณ์แบบ น่าสนใจมากว่าแค่ไม่กี่วินาทีแรกของเพลงกลับเต็มไปด้วยองค์ประกอบมากมายไปหมดที่ทำให้เราถูกดึงดูดและถูกเพลงนี้ดึงเข้าไปสู่โลกแห่งสีสันของมันได้ทันที

    • เข้าสู่ verse แรกซึ่งทำนองหลักคือการนำโน้ต E G# A ที่ถูกนำเสนอในตอนต้นเพลงมาใช้ และต้องบอกเลยว่าไม่ว่าจะเครื่องดนตรีอะไร องค์ประกอบจุดไหน เสียง synthesizer ในช่วงเสียงกลางที่เล่นย้ำ ๆ ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาโดยใช้โน้ตแค่เพียงสี่ตัว (เพิ่ม F# มา) น่าสนใจมาก เพราะเมื่อเราฟังเรารู้สึกว่ามันหนักแน่น มันเต็มไปด้วยเสียงมากมาย ไม่มีช่องว่างหรือขาดหายเลย แต่กลับใช้ตัวโน้ตแค่เพียงน้อยนิดเท่านั้น กว่าจะเริ่มมีโน้ตอื่นก็ปาเข้าไปนาทีที่ 0:22 แล้ว (ตัว B ที่เสียงเบามาก)

    • แนวทำนองนี้น่าสนใจมาก ในขณะที่ดนตรีนั้นแสนจะวุ่นวาย สนุกสนาน แต่ไลน์ร้องกลับร้องออกมาอย่างสบาย ๆ เสียงสูงล่องลอย มีความ laid back เหมือนกับว่าภายนอกดูชิล ผ่อนคลาย แต่ข้างในใจกลับไม่ใช่ มันตื่นเต้น หัวใจอันเร่าร้อนเต้นรัวแรงตลอด

    • 0:23 ครึ่งหลังของ verse 1 จังหวะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จุดที่เห็นได้ชัดที่สุดคือทำนองร้องที่เนื้อเสียงที่ถูกนำเสนอออกมามีความคม ชัดเจน จับต้องได้มากขึ้น จังหวะร้องถี่ละเอียดมีความแอคทีฟกว่าเดิม มีการเพิ่ม background vocals ที่สร้างสีสันให้กับเพลง ต้องยอมรับเลยว่าเป็นการสร้างเสียงประสานที่ไพเราะมาก และ harmony นี้มันมาช่วยขับให้เนื้อร้องคำว่า stay in love นั้นถูกให้ความสำคัญและสวยงามยิ่งขึ้น หลังจากนั้นคำว่า crazy เสียงประสานก็กระโดดไปสูงขึ้นเพื่อเน้นย้ำในความหมายที่แตกต่างออกไปจากก่อนหน้า

    • อีกอย่างที่ทำให้ช่วงนี้แตกต่างจากก่อนหน้านั้นคือเสียง percussion จากที่เสียงมีความนุ่มทุ้ม เสียง snare ก็เหมือนกับถูกอุดไว้ ในช่วงนี้ก็กลายมาเป็นเสียงที่คมชัดใกล้เคียงกับกลองชุด acoustic มากขึ้น โดยเฉพาะเสียง snare กับฉาบ

    • พอฟังเพลงนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงเพลงอีกหลายเพลง เนื่องจากการใช้คอร์ดที่มาตรฐาน แนวทางเดินคอร์ด หรือ chord progrssion ของเพลงนี้มีความคล้ายคลึงกับเพลง second ของ Hyoyeon ที่เพิ่งจะปล่อยออกมาก่อนหน้า ทั้งสองเพลงมีเพียงคอร์ด I และ IV เน้นชูเสียงเบสตัว tonic หรือโน้ตตัวหลักของคอร์ดออกมา แต่แม้ว่าจะวนเวียนอยู่แค่ 2 คอร์ดแต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าน่าเบื่อเลยสักนิด มีอีกหลายสิ่งมากที่ทำให้เพลงนี้น่าติดตาม

    ตัวอย่าง เพลง HYO 효연 'Second (Feat. 비비 (BIBI))


    • Pre-chorus นาทีที่ 0:35 นอกจากการเลือกใช้คอร์ด E major จะไม่ค่อยช่วยสร้างความรู้สึกของท่อนก่อนท่อนฮุคแล้ว การเลือกใช้ทำนองเองก็ค่อนข้างแปลกเลย เนื่องจากทำนองนี้คือการยกโน้ต 3 ตัว E C# B มาจากท่อนก่อนหน้าตอนที่ร้องคำว่า stay in love และ crazy เป๊ะ ๆ แล้วก็เป็นการร้องอยู่แค่โน้ต 3 ตัวนี้ซ้ำ ๆ เหมือนกับต้องการจะตอกย้ำในความต้องการ แสดงออกถึงมั่นใจในความคิดของตัวเอง

    • แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง ดนตรีกลับไปมีลักษณะคล้ายกับช่วงอินโทร แม้ว่าเสียงที่ออกมาจะมีความนุ่มฟังสบาย ไม่ได้ถูกปรับให้แหลมเสียดแทงเท่า แต่ก็มีลักษณะการบรรเลงที่คล้ายกัน มีการเพิ่มโน้ตในแนวทำนองช่วงเสียงต่ำ พอประกอบกันกับเสียงเอฟเฟคลากของ synthesizer เบา ๆ และเสียงร้องประสานที่ทำหน้าที่แทนเครื่องดนตรีที่นำเสนอคอร์ดมันช่วยเติมเต็มในแบบที่ไพเราะน่าฟังได้มาก

    • ห้องสุดท้ายของ Pre-Chorus น่าสนใจมาก ฟังครั้งแรกผู้เขียนถึงกับร้องว้าวให้กับท่อนนี้เลย เสียงร้องที่ถูกปรับโดย autotune ให้มีความเป็น electronics มีการใส่ distortion เพิ่มให้เสียงแตก และไหนจะมีการบิด pitch หรือ intonation ของเสียงไปมาทำให้มันมีความเพี้ยนเล็กน้อยเพื่อเป็นการขยี้โน้ตที่ร้องซ้ำเดิม มันเป็นสิ่งที่คนฟังไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยว่าจะได้เจอ เสียงนี้ทำให้เพลงถูกเปลี่ยนไปแทบจะกลายเป็นเพลง metal ที่มีความหนักหน่วง แต่ในขณะเดียวกันดนตรีก็ถูกดรอปหายไปจนเงียบหมด เป็นการโชว์เสียงร้องอย่างเต็มที่ ถึงใจ ความแปลกใหม่ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงนี้ทำให้เราลืมสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเพื่อเตรียมตัวกระโจนเข้าไปหาการเติมเต็มรูปแบบใหม่


    ตัวอย่าง เพลง Taemin - Advice เป็นเพลงที่มีการใช้ autotune ผสมผสานไปกับเสียงปกติทำให้ทำนองน่าสนใจในหลายจุด



    • อีกจุดที่ทำให้ท่อนส่งนี้ประสบความสำเร็จมาก หากสังเกตตั้งแต่ต้นเพลงจนถึงก่อนหน้านี้ chord progression ของเพลงจะเป็น E-E-A-E มาโดยตลอด แต่ในรอบนี้ห้องสุดท้ายถูกตัดดนตรีออกไปจนหมด คอร์ดสุดท้ายที่เราได้ยินคือ A major ซึ่งมันทำให้หูของเรายังคงยึดอยู่กับคอร์ดนั้นซึ่งจะส่งต่อไปยังท่อนฮุค ช่วงท้ายมีเสียง synthesizer คล้ายกับเสียงในเกมส์ไล่ขึ้นไปหาตัว E สูง ก่อนที่จะ ตู้มมมม!



    • เข้าสู่ท่อน Chorus ที่เต็มไปด้วยความหนักแน่นจากเสียงของ Percussion เครื่องกระทบต่าง ๆ ที่กลับเข้ามาอีกครั้ง เสียงเบสกับกีตาร์เองก็เช่นกัน ในขณะที่เสียงร้องก็ไม่ยอมแพ้ มีการใช้ autotune ช่วยเพิ่ม energy และปรับให้เนื้อเสียงมีความเข้ากันกับดนตรีในท่อนนี้ และมีเสียงประสานที่ต่ำลงมาเล็กน้อยเบา ๆ คลอไปตลอด.. น่าแปลกที่ท่อนฮุคแม้จะดนตรีจะหนักขนาดไหนแต่กลับเต็มไปด้วยช่องว่าง จะสังเกตได้เลยว่าไม่มีเสียงเครื่องดนตรีชิ้นไหนที่ลากยาวเลย มีช่วงที่เสียงร้องโดดออกมาเดี่ยว ๆ อยู่ตลอด แปลก แต่ก็เป็นความรู้สึกที่ใหม่และไม่ซ้ำจำเจ

    • นาทีที่ 0:50 หากใส่หูฟังและเปิดเสียงดังพออาจจะได้ยินเสียงที่คล้ายกับเสียง notification แจ้งเตือนโทรศัพท์ดังจากหูซ้ายไปหูขวาซ่อนอยู่ด้วย น่ารักมาก

    • 0:58 ครึ่งหลังของท่อนคอรัสนี้เสียงร้องกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง มีการใช้ baclground vocals สร้างเสียงประสานที่หนา โอมอุ้มทำนองหลัก ส่วนดนตรีเองก็มีการปรับเนื้อเสียง ทั้งเบส และกีตาร์ต่างก็นุ่มลง แต่เบสถูกชูให้โดดเด่นออกมามากขึ้นในอีกมุมมองนึง มีการลากเสียงยาวและดังขึ้นเพื่อที่จะมาเติมเต็มให้เพลงนี้สมบูรณ์ตั้งแต่ช่วงเสียงสูงยันเสียงต่ำ ไม่มีช่องว่างแบบก่อนหน้านี้อีกต่อไป
     
    • ทำนองที่วนอยู่ในช่วงเสียงกลางกลับกระโดดขึ้นไปช่วงเสียงที่สูงขึ้น เสียงประสานหายไป เป็นการบ่งบอกว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงท้ายของท่อนฮุคแล้ว ส่งต่ออารมณ์ไปให้สุดกับเสียงร้องที่ตวัดขึ้นไป เรียกได้ว่าอารมณ์คนฟังกำลังพลุ่งพล่านถึงขีดสุดแล้ว




    • โอ้ มาย ก้อด ท่อน verse 2 หลังจาก chorus เป็นท่อนที่ผู้เขียนถึงกับหยุดหายใจไปเลย ดนตรีสนุกสนานจัดเต็มตลอดท่อนฮุคที่ผ่านมามันพาอารมณ์ความตื่นเต้นของเราไปถึงจุดที่สูงเสียดฟ้า แต่แล้วเราก็ถูกเหวี่ยงลงจะหน้าผา เมื่อเสียงเครื่องดนตรีหายเงียบไปทั้งหมด ไม่พอ แนวทำนองร้องยังกระโดดลงมาอยู่ในช่วงเสียงต่ำ แม้จะเป็นโน้ตตัวเดียวกันกับทำนองปกติแต่เสียงกลับต่ำลงไป 1 ช่วงเสียง (Octave) เต็ม ๆ เลย ดนตรีมันพาเราลงดิ่งมาสู่จุดที่ลึกที่สุดของหุบเหว ไม่น่าเชื่อว่าแค่ช่วงสั้น ๆ เพียง 1 ห้องเพลงแต่คนฟังถูกเพลงนี้จับได้อยู่หมัด แต่เดี๋ยวก่อนนนนน หลังจากนั้นเพลงพาเรา sprint ตัวกลับขึ้นมาสู่ยอดบนสุดของหุบเขาราวกับการ rewind กลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

    • นี่คือการใช้สุดยอดองค์ประกอบสองอย่างในทางดนตรีนั่นคือความเงียบ และการกระโดดข้ามช่วงเสียงกว้าง ๆ ที่ต้องบอกเลยว่าทั้งสองอย่างนี้ถูกใช้อยู่ไม่น้อยในดนตรี k-pop เพื่อสร้างอารมณ์ที่แตกต่างในช่วงของการเปลี่ยนผ่านท่อน ยอมรับว่ายังไม่เคยเจอเพลงแบบที่ใช้ทั้งสองอย่างนี้ไปพร้อมกันอย่างชัดเจน แต่ก็เคยมีการใช้ความเงียบผสมกับเสียงแร็พและเสียงกระซิบมาบ้างในบางเพลงของตึกชมพู


    ตัวอย่าง เพลง NCT 127 - Kick it นาทีที่ 1:33 ช่วงเปลี่ยนผ่านจากท่อน chorus ไป verse ใช้ความเงียบ+แร็พ

    ตัวอย่าง เพลง EXO - Obsession นาทีที่ 1:12 ช่วงเปลี่ยนผ่านจากท่อน chorus ไป verse ใช้ความเงียบ+แร็พ

    ตัวอย่าง เพลง Taemin - Criminal นาทีที่ 3:01 ช่วงเปลี่ยนผ่านจากท่อน bridge ไป chorus ใช้ความเงียบ+เสียงกระซิบ

    ตัวอย่างเพลง NCT 127 - Punch นาทีที่ 0:48 ช่วงเปลี่ยนผ่านในระหว่าง verse ใช้ความเงียบ+เสียงกระซิบ

    ตัวอย่าง เพลง NCT Dream - Ridin'  นาทีที่ 0:31 การกระโดดเสียงจากต่ำขึ้นไปสูง 1 octave

    ตัวอย่าง เพลง D.O. - Si Fueras Mía นาทีที่ 3:19 การกระโดดเสียงจากทำนองเสียงสูงตลอดทั้งเพลงลงไปต่ำเพื่อสร้างความแตกต่าง



    • กลับเข้าสู่ดนตรีแบบปกติที่คล้ายกับช่วง verse แรก แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนเลยคือแนวร้อง จากไวบ์ชิล ๆ ร้องสบาย ๆ ตอนนี้กลายเป็นหนักแน่นและอยู่ในช่วงเสียงที่สูงจึ้นมา ออกจะคล้ายกับในท่อน chorus มากกว่าท่อน verse ก่อนที่ในครึ่งหลังของ verse นี้ทำนองจะกระโดดสูงขึ้นไปอีก 4-5 เสียง การเปลี่ยนไปใช้โน้ตที่เป็นโน้ตรองของคอร์ดสร้างสีสันที่แตกต่างได้อย่างงดงาม หลังจากนั้นเพลงก็ค่อย ๆ ไต่ระดับไล่สเกลกลับลงเพื่อพาเราเข้าสู่การผ่อนคลายอีกครั้งนึง

    • 1:33 pre-chorus รอบนี้ก็แปลกไปจากเดิมอีกแล้ว ถึงจะยังคงวนเวียนอยู่กับการใช้โน้ต 3-4 ตัวเดิมมาตลอดทั้งเพลงแต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้สัมผัสกับจังหวะทำนองแบบใหม่ที่เรียบง่าย ไม่ได้มีการแบ่งกรุ๊ปคำร้องแบบที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันทำให้เพลงไม่น่าเบื่อเลย ต่อให้หลังจากนั้นพอเข้าท่อนฮุคดนตรีจะยังคงเหมือนเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรแต่เราก็ถูกท่อนก่อนหน้าพาออกไปยังอีกทิศทางนึงล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

    • แต่ครึ่งหลังของท่อนฮุคในรอบนี้มีการเพิ่มเสียงตีคอร์ดของกีตาร์ไฟฟ้าเข้ามา นอกเหนือไปจากการเล่นโน๊ตเดี่ยว ๆ ซึ่งนั่นเสริมให้ความสนุก ความมันส์ยังคงอยู่และมากไปกว่าเดิมแม้แนวร้องจะนุ่มนวลแค่ไหนก็ตาม




    • โอ้โห หลังจากที่ทั้งเพลงวนเวียนอยู่กับแค่ 2 คอร์ด E Major และ A Major มาอย่างยาวนาน ในที่สุดท่อน Bridge ก็พาเราเดินออกนอกเส้นทางไปสู่โลกใหม่ที่แตกต่าง เล่นเอาหงายเงิบตั้งแต่คอร์ดแรก มาคอร์ดสมงสมองสับสนยิ่งขมวดคิ้วหนัก มีการใช้คอร์ด Minor ซึ่งสร้างสีสันที่ต่างจากความสดใสตลอดเพลง ไหนจะต่อด้วยคอร์ดที่เป็น diminished มีเสียงกัดก่อให้เกิด tension ความตึงเครียด พอเสร็จดนตรีวนกลับมาคอร์ดหลักที่เราคุ้นเคยได้เพียงแป๊บเดียวก็หลุดกลับเข้าเสียงประสานที่แปร่งหูอีกครั้งแต่มุ่งหน้าไปในทิศทางที่สดใสและชินหูมากขึ้น เรียกได้ว่าจัดวาง chord progression ให้เราวิ่งวนอยู่ในเขาวงกตอันน่าพิศวงนั่นเอง

    • และใช่เลย ดนตรีตอนนี้เหลือแค่เพียงเสียง synthesizer คล้ายกับเสียงเปียโนแต่เสียงนุ่มทุ้มที่กดลงคอร์ดละครั้ง เสียงที่ลากถูกปรับบิดคล้ายกับใส่ vibrato ให้เสียงตีขยับไปมา มีเสียง background vocal ที่ถูกปรับแต่งให้ได้ยินมาจากที่ไกล ๆ หรือแม้แต่ทำนองร้องเองก็มีการใส่ echo ใส่ reverb เพิ่มเพื่อสร้างมิติของเสียงที่แตกต่างออกไป

    • 2:20 เสียงเบสกลับมาบรรเลงร่วมกับ synthesizer โดยที่ปรับเปลี่ยน articulation การออกเสียงไปจากก่อนหน้าอย่างกับหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยเป็นเสียงลากฟังสบาย ตอนนี้กลับกลายมาเป็นเล่น staccato หรือเสียงสั้น ๆ มีการกระแทกเสียงเล็กน้อย แต่ก็ยังคงสอดแทรกด้วยกีตาร์ที่ยังคงเล่นล้อทำนองด้วยเสียงสะท้อนก้องอยู่อย่างในนาทีที่ 2:23 และ 2:26

    • แนวเบสเริ่มต้นด้วยโน้ตตัว E แล้วกลายเป็นตัว A# ซึ่งขั้นคู่นี้คือ tritone ซึ่งเป็นขั้นคู่ที่ในอดีตเคยเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นความห่างเสียงของปีศาจ หากฟังแล้วก็จะรูสึกได้ว่ามันมีความพิศวงน่ากลัวซ่อนอยู่ ถือว่าเป็นขั้นคู่ที่ไม่ได้ถูกใช้งานเยอะมากนักในเพลงป๊อปแต่ในปัจจุบันก็ถูกนำมาเสริมเติมแต่งให้เพลงมีสีสันแปลก ๆ ให้หูของคนฟังได้รับประสบการณ์ใหม่ รวมไปถึงเข้ากันกับบางคอนเซปต์เพลงด้วยเช่นกัน

    ตัวอย่าง เพลง SuperM - Tiger Inside เสียงเบสที่เป็น ostinato และทำนองในหลายจุดของเพลงนี้คือการใช้ขั้นคู่ tritone นำเสนอความน่ากลัวลึกลับและของเสือที่เป็นสัตว์ดุร้าย


    • ถึงดนตรีจะสั้นทำให้เพลงมีช่องว่างค่อนข้างเยอะแต่ทำนองร้องตลอดช่วงนี้ถูกประคองไปด้วยเสียงร้องประสาน ในตอนท้ายดนตรีถูกดรอปเหลือเพียงการลากคอร์ด B major เป็นครั้งแรกของเพลงนี้เลยที่การเปลี่ยนผ่านท่อนถูก lead มาด้วยคอร์ด V (B Major) ซึ่งเป็นคอร์ดที่ใช้กันเป็นมาตรฐานและทำให้การส่งต่อไปยังท่อนฮุคสมบูรณ์แบบที่สุด (หลังจากที่ถ้าไม่เป็นคอร์ด I ก็จะใช้ IV บ้างเล็กน้อยมาตลอดทั้งเพลง) ทำนองมีการไล่เสียงสูงขึ้น ประกอบกับการแทรกเข้ามาของไลน์สูงที่ตอกย้ำความรู้สึกนึกคิดอย่างชัดเจน ความมั่นใจในตัวเองที่ไม่ต้องไปใส่ใจว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเรา

    • หากเป็นหลายเพลงทั่วไปก็จะเข้าสู่ท่อนฮุคที่จัดเต็มอย่างไม่ต้องสงสัย เสียงโน้ตแอดลิบที่ไต่ไปถึงตัว B ก็จะหายไปหรือกระโดดไปร้องโน้ตอื่นเพื่อประสานเสียงกับดนตรีและทำนองหลัก หากแต่ไม่ใช่กับเพลงนี้ ผู้เขียนขอบอกเลยว่าประทับใจมากเพราะมันช่างเหนือความคาดหมายที่ท่อนฮุคสุดท้ายนี้ดรอปดนตรีเงียบไปเลยเกือบทั้งสองห้อง คือปกติจะเจอแบบที่ต้นห้องที่สองก็ยังมีการลงคอร์ดบ้างแต่เพลงนี้กลับเงียบสนิทยาว ๆ เลย ซึ่งเห้ย มันถือว่าเป็นอะไรที่เจ๋งมาก


    ตัวอย่าง เพลง Joy - Hello นาทีที่ 3:18 chorus สุดท้ายเสียงดนตรีเงียบไป แต่ก็จะยังได้ยินการลงคอร์ดทุกต้นห้อง



    • แต่ที่พีคคือการที่เสียงแอดลิบยังคงดำเนินไปต่อจากตัว B ไป B# (C) ที่สร้าง tension ขั้นสุดยอด และไปจบที่ C# เพื่อให้ลงกับคอร์ด A Major พอดี บิ๊วแล้วบิ๊วอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้สึกว่าหัวใจถูกบีบรัดอย่างรุนแรงเลย ลักษณะการบิ๊วสไตล์นี้จะเจอได้บ่อยในดนตรีประกอบอนิเมะญี่ปุ่นที่เน้นดนตรีหนัก ๆ การาร้างอารมณ์ฮึกเหิมมากกว่าในเพลงฝั่ง k-pop และส่วนมากที่เจอก็จะเป็นการบิ๊วอารมณ์ในช่วงท้ายของท่อนมากกว่าช่วงต้นท่อนอย่างในเพลงนี้ พอบวกกันกับที่ดนตรีเงียบสนิทแล้วมันเลยเหมือนกับว่าเราถูกแขวนให้ลอยค้างเติ่ง ถูกเสียงร้องฉุดพาให้ขึ้นสูงไปข้างบนเรื่อย ๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่าจุดสิ้นสุดจะอยู่ตรงไหน

    • กลอง snare เบสค่อย ๆ นำดนตรีทั้งหมดกลับเข้ามาโดยที่ในรอบนี้มันหนักแน่นและจัดเต็มกว่าครั้งไหน ๆ มีอะไรก็ใส่เข้ามาใช้ให้หมด เสียงร้องเองก็มีหลากหลายแนวมาก เรียกได้ว่ามีช่วงที่ได้ยินถึง 3 เสียงหลักร้องสวนกันไปมาแถมยังขึ้นไปสูงถึงตัว G#5 เลยด้วย จัดไปให้สุดทุกองค์ประกอบราวกับว่าคนร้องต้องการจะบอกว่านี่คือชีวิตของฉัน ฉันจะใช้มันอย่างสุดเหวี่ยง ไม่มีอะไรจะสามารถมาหยุดฉันได้อีกต่อไปแล้ว

    • 2:43 ครึ่งหลังของท่อนฮุคในรอบนี้บ่งบอกเลยว่าเรากำลังจะเข้าสู่ตอนจบของเพลงแล้วจริง ๆ เนื่องจากมีการใช้คอร์ดที่แตกต่างไปจากท่อนฮุคอื่นที่ปกติจะใช้เพียงแค่ E และ A แต่รอบนี้กลับมีคอร์ดอื่นเพิ่มขึ้นมาซึ่งไปคล้ายกันกับในท่อน Bridge โดย progression ของคอร์ดมีการไต่ไล่กลับลงไปต่ำเรื่อย ๆ เป็นสเต็ป (สลับสวนทางกันกับแนวแอดลิบที่ไต่สูงขึ้นบิ๊วเข้าท่อน) เพื่อเตรียมตัวเราให้พร้อม สร้างอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ความตื่นเต้นแบบที่ฉุดไม่อยู่ แต่ก็ซ่อนด้วยเสียงแอดลิบในช่วงเสียงกลาง-ต่ำที่แสนสงบเพื่อต้องการจะบอกว่าทุกอย่างอยู่ในกำมือของฉัน ฉันสามารถควบคุมมันได้หมดแล้วนะ จบอย่างสมบูรณ์แบบด้วยชัยชนะ ความสำเร็จจากน้ำมือของเราเอง




      - จบเพลง -




      โครงสร้างของเพลง Paint Me Naked

      INTRO                          0:00-0:11

      VERSE 1                       0:12-0:35

      PRE-CHORUS              0:35-0:46

      CHORUS                      0:47-1:10

      VERSE 2                       1:10-1:33

      PRE-CHORUS              1:33-1:45

      CHORUS                      1:45-2:08

      BRIDGE                       2:08-2:31

      CHORUS                      2:31-2:55



      บทสรุป


      สุดยอดไปเลย ต้องบอกก่อนว่าตัวผู้เขียนนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนถึงเพลงนี้ในตอนแรก แม้จะไม่ได้มีอยู่ในแพลนแต่หลังจากได้ฟังเพลงแค่เพียงรอบเดียวก็ค้นพบว่านี่คือเพชรน้ำดีที่ไม่ควรมองข้าม จนอยากจะนั่งแกะแยก element ต่าง ๆ ที่เรียงร้อยกันจนออกมาเป็น Paint Me Naked ที่สีสันฉูดฉาดครบทุกเฉด

      จุดที่แปลกใจคือ เพลงนี้ถือว่าค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับเพลงป๊อปส่วนใหญ่ที่มักจะยาวตั้งแต่ 3 นาทีขึ้นไป หากแต่กลับรวมรวบหลากหลายองค์ประกอบไว้ในเพลง ใส่ใจในรายละเอียด แทบจะทุกการเปลี่ยนผ่านของท่อนจะมีอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปเสมอ ทำให้การฟังเพลงนี้ที่แม้ว่าช่วงเวลาส่วนใหญ่ของเพลงจะมีเพียงแค่ 2 คอร์ดกับการเล่นโน้ตวนไปมาอยู่เพียงไม่กี่ตัวนั้นไม่น่าเบื่อเลย การใช้เทคนิคอย่าง autotune ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก มันช่วยสร้างสีสันให้กับเพลง

      และที่ต้องยกให้จริง ๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นท่อน Bridge ที่มีการนำเสนอคอร์ดแปลกใหม่ที่ไพเราะมาก จนกระทั่งท่อนฮุคสุดท้ายที่พาเราไปไกลกว่าที่คาดมาก จากที่น่าจะได้ขึ้นสวรรค์กลายเป็นพาเราท่องออกไปสู่อวกาศอันไกลโพ้น ดนตรีหนักแค่ไหนเยอะเท่าไหร่ก็ถูกจัดเรียงมาได้อย่างดี ฟังแล้วสะอาด ทุกอย่างผสมรวมกันออกเป็นเพลงที่สมบูรณ์แบบในตัวมันเองในช่วงเวลาสั้น ๆ เหมือนหนังสือเล่มบางที่มีเรื่องราวครบทุกมุมมอง ต้องขอปรบมือให้กับคนแต่งและศิลปินที่สร้างผลงานดี ๆ ออกมาให้เราได้เสพกัน



    อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Paint Me Naked อีกรอบด้วยนะ!



    อ่านบทความวิเคราะห์ดนตรีเพลงอื่น ๆ Click
    อ่านบทความความรู้เรื่องดนตรีในวงการ K-pop Click
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in