ภาพจาก NETFLIX
ในแง่ของโลกวงการเพลงมีคำเรียกสิ่งสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า
Third Album Syndrome ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ในอัลบั้มลำดับที่สามศิลปินออกผลงาน พวกเขามักจะเลือกทำคอนเสปท์ที่แปลกหรือแหวกแนวออกจากขนบเดิมที่ตนเองทำ เพื่อที่จะออกจาก comfort zone ของตนเอง และเพื่อกระตุกบางสิ่งให้กระเพื่อมในกระแสผู้ชมของตนเอง หากผู้ชมชอบผลที่ออกมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันหากผู้ชมไม่ชอบเสีย ก็ถือว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่อย่างน้อยศิลปินผู้สร้างงานทั้งหลายก็ได้ลองก้าวออกจากสิ่งเดิม ๆ และนำความน่าตื่นเต้นมาสู่วงการศิลปะ
สำหรับ Midnight Mass ของผู้สร้าง Mike Flanagan การปล่อยผลงานชิ้นนี้มาในลำดับที่สาม มาพร้อมกับนักแสดงที่ปรากฎในซีรี่ส์สองเรื่องก่อนหน้าทั้ง The Haunting of Hill House (2019) และ The Haunting of Bly Manor ผลงานชิ้นล่าสุดนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ฟลาเนแกนตัดสินใจใช้ผลักตนเองออกมาจากงานแนว adaptation จากผลงานหนังสือที่เคยลองทำมาในซีรี่ส์ก่อนหน้านี้ แต่กลิ่นของความน่ากลัวที่ผ่านมาจากทั้ง Hill House และ Bly Manor ก็ยังคงมีอยู่เป็นเอกลักษณ์ของฟลาเนแกน
เอกลักษณ์ของฟลาเนแกนสำหรับผู้เขียนคือความสยองที่วนเวียนอยู่ระหว่างมนุษย์มีเลือดม่ีเนื้อที่เชื่อมต่อกับความน่าหดหู่และน่ากลัวของผีในเรื่อง จะกล่าวให้เข้าใจง่ายมากขึ้นก็คงพูดได้ว่าเรื่องของคนก็น่ากลัวไม่แพ้กับผีสาง ปมในใจของตัวละครที่ผูกพันกับสถานที่ บ้าน ความหลัง ครอบครัว คนรัก และเหตุการณ์ฝังใจ ความทุกข์ทรมาณเจ็บปวดทั้งหลายที่ตัวละครจะต้องพบเจอในแต่ละตอนมักบาดลึกไปในหัวใจของผู้ชมที่รู้สึกเข้าถึงและสัมผัสได้กับความเจ็บปวดนั้นเช่นเดียวกับตัวละครในเรื่อง มหัศจรรย์ที่ฟลาเนแกนยังคงรักษาสิ่งนี้เอาไว้ใน Midnight Mass เช่นเดียวกัน แต่ความน่าสนใจและการเล่าเรื่อง ปม ประเด็นที่ถูกชู ก็ย่อมแตกต่างออกไป ซึ่งผู้เขียนจะถึงประเด็นสิ่งที่ได้รับจาก Midnight Mass ตามแต่ละย่อหน้าด้านล่างที่จะกล่าวดังต่อไปนี้
VIDEO
** เนื้อหาหลังจากนี้จะสปอยล์เนื้อหาสำคัญภายในเรื่อง Midnight Mass**
เกาะคร็อคเก็ตต์ (The Crockett Island) เกาะคร็อคเก็ตต์แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นสถานที่หลักในการดำเนินเรื่อง หากเคยสัมผัสผลงานก่อนหน้านี้ของฟลาเนแกนมาก็อาจจะนึกเทียบได้ถึง บ้านฮิลล์และคฤหาสน์บลาย แตกต่างที่ครั้งนี้ไม่ใช่บ้านแต่เป็นเกาะหนึ่งเกาะที่มีประชากรไม่ถึงสองร้อยคน ม่ีความหลากหลายทางเชื้อชาติภายในจำนวนประชากร แต่มีพื้นที่ให้ความเชื่อเพียงความเชื่อเดียว คือ ความศรัทธาแห่งพระเจ้า ศาสนจักรได้เข้ามาตั้งรกรากในเกาะแห่งนี้มานานหลายปี โดยมีโบสถ์เซนต์แพททริคและบาทหลวงที่มีชื่อว่า มงซินญอร์พรูอิิตต์ เป็นศูนย์รวมใจของคนในเกาะ
ความรู้สึกแรกที่ได้สัมผัสบรรยากาศของเกาะคร็อคเก็ตต์หลังจากไรลี่ย์ ฟลินน์ (Zach Gilfort) ตัวเอกของเรื่องเดินทางกลับมายังเกาะบ้านเกิดของตนหลังจากติดคุกข้อหาเมาแล้วขับมาร่วมสี่ปี สภาพแวดล้อมที่มีทะเลกว้างใหญ่ล้อมรอบและบรรยากาศในยามที่ไรลี่ย์มาถึงก็ทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ทันทีว่าทำไมไรลี่ย์ และคนอื่นที่อยู่ที่นี่ ถึงพยายามออกจากเกาะนี้ เพราะบรรยากาศที่ดูเหมือนจะเล็กและอบอุ่นแต่กลับหดหู่ ห่างไกลจากผู้คน การเดินทางไปยังแผ่นดินใหญ่ใช้วิธีการออกรอบเรือเฟอร์รี่สองลำเท่านั้น ความเหงาและเดียวดายภายในเกาะทำให้รู้สึกว่าไม่น่ามีสิ่งใดที่จะเจริญได้ภายในเมืองแห่งนี้ มีแต่จะรอให้กายและวิญญาณเฉาและโรยราไปตามกาลเวลาเท่านั้น แต่กระนั้นแล้วผู้คนก็ยังคงใช้ชีวิตเหมือนปกติแม้ว่าเกาะนี้กำลังจะตายลงก็ตาม
ภาพไรลี่ย์ ฟลินน์จาก NETFLIX / IMDB ความรู้สึกผิด (The Guilt) สิ่งหนึ่งที่เราพบจากซีรี่ส์สยองขวัญของฟลาเนแกนที่ผ่านมา คือ ปมของตัวละครที่มักผูกตนเองอยู่บนความรู้สึกผิด (guilt) อันเป็นความรู้สึกที่เป็นตัวเปลี่ยนผ่านและนำพาตัวละครจากเริ่มตนไปสู่การแก้ไขและจุดจบ ความรู้สึกผิดของไรลี่ย์ ฟลินน์ที่มีต่อการจากไปของทาร่า เบ็ตต์ เด็กสาวที่ถูกรถของเขาชนขณะที่เมาแล้วขับ ความรู้สึกผิดของไรย์ลี่ย์ที่มีต่อทาร่าถูกหลอกหลอนตั้งแต่วันแรกที่เขาติดคุก จนกลับมายังที่เกาะคร็อคเก็ตต์ ทุกครั้งที่เขาจะตะแคงตัวนอน ไรลี่ย์จะเห็นร่างของทาร่าที่เน่าเฟะและเละจากการเป็นศพตายที่พื้นถนน เป็นภาพติดตาและความหลอนอันเกิดจากความรู้สึกผิด
ความรู้สึกผิดของไรลี่ย์ถูกพัฒนาไปสู่ความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งในช่วงเวลาใช้ชีวิตและการนอนหลับฝัน ความรู้สึกผิดพัฒนามาเป็นอาการซึมเศร้าและวนเวียนอยู่ในความโดดเดี่ยว ความตาย ไรลี่ย์รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนได้เช่นเดิม ถึงแม้ว่าก่อนหน้าเขาจะดูเป็นคนทะเยอทะยานที่จะไปอยู่เมืองใหญ่ แต่เหมือนกลับว่าความรู้สึกผิดนี้มันกลับทำให้ไรลี่ย์เปลี่ยนไปกลายเป็นคนเก็บตัว ไม่สุงสิง ไรลี่ย์มีความรู้สึกที่อยากจะแก้ไขให้ทุกอย่างให้ดีขึ้นแต่เขาก็รู้ตัวว่ามันคงสายไป
ไรลี่ย์รู้ว่าตนคงไม่มีวันแก้ไขให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือดีขึ้นได้ เขาไม่สามารถทำให้ทาร่ากลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น เขาไม่อาจเรียกชีวิตเก่าของตนเองกลับมาได้ และเขาก็คงจะไม่อาจทำให้พ่อของเขารู้สึกภูมิใจในตัวเขาได้อีกแล้ว แต่สุดท้ายความรู้สึกผิดของไรลี่ย์ก็ได้พบกับปลายทางของมัน ไรลี่ย์ได้พบกับคำตอบจากความสงสัยเรื่องความฝันที่เขาโดดเดี่ยวในเรือหนึ่งลำและความอ้างว้าง ในฝันเขาไม่เคยได้อยู่จนถึงเมื่อตะวันขึ้น ในวาระสุดท้ายของไรลี่ย์เขานั่งอยู่บนเรือกับคนที่เขารักและจากไปทันทีที่ตะวันขึ้นขอบฟ้า ผู้เขียนคิดว่านี่คือคำตอบที่ไรลี่ย์ตามหามาตลอดคือ การให้อภัย ภาพของทาร่าที่ยอมให้อภัยเขาเพื่อนำพาไปสู่ความตายคือสิ่งที่ไรลี่ย์เฝ้าฝันเมื่อตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า การคืนชีพ (Resurrection) ของไรลี่ย์ไม่ใช่การฟื้นขึ้นมาเพื่อมีชีวิตอันเป็นอมตะ แต่คือการได้ปลดพันธนาการจากความรู้สึกผิดในใจของตัวเองอย่างถาวร
ภาพจาก EIKE SCHROTER/NETFLIX
อีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่มีปมเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึีกผิดที่เห็นได้ชัดคือความสัมพันธ์ของลีซ่า (Annarah Cymone) และโจ คอลลี่ (Robert Longstreet) อันเกิดมาจากเหตุการณ์ที่โจ ขี้เมาประจำเกาะคร็อคเก็ตต์ได้ออกไปล่าสัตว์และเผลอใช้ปืนล่าสัตว์ยิงพลาดไปถูกลีซ่าทำให้เธอเดินไม่ได้ เมื่อปาฏิหาริย์แห่งโบสถ์เซนต์แพทริคทำให้ลีซ่ากลับมาเดินได้อีกครั้ง สิ่งหนึ่งที่เธอทำคือนำพาความกล้าหาญของตนเองไปที่บ้านของโจ และให้อภัยเขา ผู้เขียนมองว่ามันคือการปลดพันธนาการความรู้สึกผิดและความโกรธให้กับทั้งลีซ่าและโจ ถึงแม้เธอจะบอกว่าเธอยังคงโกรธเขาอยู่ก็ตาม เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับลีซ่าก็ทำให้ชีวิตของโจเปลี่ยนไปไม่น้อย เขาหมดหวังกับชีวิต โทษตัวเอง ดื่มเหล้าเพราะความรู้สึกผิดที่มีต่อลีซ่า เมื่อลีซ่ายอมให้อภัยเขา การให้อภัยครั้งนี้มันจึงสำคัญมากสำหรับโจ คอลลี่ ถึงแม้ว่าในวาระสุดท้ายเขาจะไม่มีโอกาสได้รักตัวเองและเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นตามที่ใจหวัง แต่ลีซ่าก็ได้ฟื้นคืนชีพให้แก่โจจากความตายทั้งเป็นไปก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับผู้เขียนมองว่าฉากและสิ่งที่ฟลาเนแกนใส่มาในเรื่องของความรู้สึกผิด เขาก็ยังคงทำได้ดีไม่เปลี่ยนแปลง
ความเชื่อ (The Belief) ความเชื่อหลักที่ปรากฎภายในเกาะคร็อคเกตต์ถูกเผยแผ่มาจากศาสนจักร มีการตั้งโบสถ์ขึ้นมาให้เป็นสถานที่สำคัญและเป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งเกาะ ภายในซีรี่ส์ Midnight Mass พยายามเล่าเรื่องความเชื่อของผู้คนภายในเกาะคร็อคเก็ตต์ผ่านความเป็นนิยมของโบสถ์เซนต์แพททริค ในช่วงเริ่มแรกผู้คนภายในโบสถ์ค่อนข้างบางตา มีเพียงเบฟ คีน (Samantha Sloyan) ผู้ดูแลโบสถ์และบาทหลวงมงซินญอร์เท่านั้นที่เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ทุ่มเทถวายชีวิตให้กับความเป็นไปของโบสถ์เซนต์แพทริค เมื่อการมาถึงของบาทหลวงพอล (มงซินญอร์พรูอิตต์) และเทวทูตเข้ามาเยือนเกาะคร็อคเก็ตต์พร้อมอภินิหารและ 'ปาฏิหาริย์' ที่ปรากฎต่อคนในเกาะ สิ่งเหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนให้ความศรัทธาของคนในเกาะต่อโบสถ์เซนต์แพทริคมีเพิ่มมากขึ้น และไม่อาจกลับไปเป็นเช่นเดิมได้อีกตลอดกาล
ส่วนตัวผู้เขียนมองเห็นถึงความเชื่อที่เพิ่มขึ้นนั้นผูกกับกลอุบายการสร้าง 'ปาฏิหาริย์' หรืออ้างความวิเศษให้แก่ตัวแทนของพระเจ้าในตัวของบาทหลวงพอล ที่สร้างความตะลึงให้แก่คนในโบสถ์จากการช่วยให้ลีซ่ากลับมาเดินได้ รวมไปถึงปาฏิหาริย์หลายอย่างที่เกิดขึ้นภายในเกาะ มิลเดร็ดผู้เป็นแม่ของหมอกันนิ่ง (Annabeth Gish) จากที่ล้มป่วยก็กลับมาดีขึ้นและ 'สาว' ขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ แม่ของไรลี่ย์ที่แทบไม่ต้องพึ่งแว่นตาอีกต่อไปแล้ว และเด็กในท้องของเอริน กรีน (Kate Siegel) ที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย จะเห็นได้ว่าความวิเศษเหล่านี้หาคำอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นปาฏิหาริย์ของโบสถ์เซนต์แพทริคเท่านั้นที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นพรจากพระเจ้ามาช่วยเหลือผู้คนในเกาะคร็อคเก็ตต์ จะเห็นได้ว่าปาฏิหาริย์เหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยากของคนคนนั้น เอรินไม่ได้อยากเสียลูกไปแม้ว่าเธอจะไม่ได้ตั้งใจจะท้อง มิลเดร็ดไม่ได้ต้องการที่จะลุกขึ้นมาเป็นหญิงสาว แต่เป็นสิ่งที่เทวทูตนั้นเห็นว่าเป็น 'ร่างที่ดีที่สุด' ของผู้คนเหล่านั้น เพื่อที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับผลหันมาศรัทธาตนอย่างไม่มีเงื่อนไข และกัดกินผู้คนจากความหลงผิดเหล่านั้นนำไปสู่ความตายอย่างอนาถในที่สุด
ภาพของ Hassan จาก Eike Schröter / Netflix สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องของความเชื่อของผู้คนภายในเกาะคร็อคเก็ตต์ นอกจากความศรัทธาที่เพิ่มขึ้นพัฒนามาจากปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของบาทหลวงพอลและเทวทูต ก็คือการกีดกันศาสนาอื่นให้ออกจากความเชื่อในเรื่องของพระเจ้าของตนเอง ตัวละครของนายอำเภอฮาสซาน (Rahul Kohli) และลูกชายคนเดียว อาลี ฮาสซาน (Rahul Abburi) ที่ย้ายมาจากแผ่นดินใหญ่มายังเกาะคร็อคเก็ตต์ จากความเจ็บปวดที่เสียภรรยาและความบอบช้ำจากการทำงานเป็นตำรวจและถูกกีดกันทางเชื้อชาติ พวกเขามาที่นี่สถานที่เกาะเล็ก ๆ มีผู้คนไม่มากเพื่อหวังว่าตนจะสร้างประโยชน์สมความตั้งใจในที่ห่างไกลอำนาจกดขี่จากผู้คนในแผ่นดินใหญ่ โดยฮาสซานและลูกชายเป็นเพียงสองคนในเกาะคร็อคเก็ตต์ที่นับถือศาสนาอิสลามท่ามกลางความเชื่อที่ทวีคูณความเข้มข้นมากขึ้นทุกวันของโบสถ์เซนต์แพทริค เวลาผ่านไปก็ทำให้ฮาสซานรู้ว่าคนที่นี่โดยเฉพาะเบฟ คีน ไม่ค่อยพอใจในเรื่องของความเชื่อในศาสนาอิสลามของเขานัก
ฉากที่แสดงให้เห็นถึงการกีดกันทางศาสนาของผู้คนในเกาะคร็อคเก็ตต์ ภายในฉากวันประชุมผู้ปกครองก็เป็นส่วนสำคัญที่น่าสนใจในการสะท้อนมุมมองของฝ่ายศาสนาคริสต์สุดโต่งอย่างเบฟ คีนที่ต้องการนำเสนอหลักสูตรที่ทำให้เยาวชนได้เข้าถึงไบเบิลในชีวิตประจำวัน ไม่ยอมฟังหรือยอมรับความเห็นที่แตกต่างของนายอำเภอฮาสซานในฐานะมุสลิม และเอรินในฐานะผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่พยายามเสนอแง่มุมการอยู่ร่วมกันโดยเคารพความแตกต่างทางความเชื่อของศาสนาอื่น นอกจากนี้การกีดกันให้เป็น 'ผู้อื่น' ของผู้นับถือศาสนาคริสต์ในเกาะคร็อคเก็ตต์ยังส่งผลไปยังความสัมพันธ์ของฮาสซานและอาลี ลูกชายของเขาที่ไขว่หาการยอมรับจากผู้คนในเกาะ แม้สุดท้ายแล้วฮาสซานจะไม่สามารถห้ามให้ลูกหันไปนับถือพระเจ้าในความเชื่ออื่นไม่ได้ทันเวลา แต่ในวาระสุดท้ายของเขาทั้งสองคนก็ได้มีโอกาสสักการะความเชื่อของตนในฐานะมุสลิมด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ของตนเอง การยึดถือในเรื่องของเคารพความแตกต่างทางศาสนารวมถึงความศรัทธาในพระเจ้าในรูปแบบของตนเองจึงเป็นแก่นหลักแก่นหนึ่งของ Midnight Mass ที่ไม่อาจมองข้ามได้
คนดี (The Goods) ใครคือคนดีในเรื่องนี้ ? คงตอบยาก เพราะไม่มีใครในเรื่อง Midnight Mass ที่ไม่เคยทำบาปมาก่อน อาจจะมีก็เพียงแต่ลูกในท้องของเอรินที่ไม่มีโอกาสได้ลืมตาดูโลก แต่ถ้าหากเปลี่ยนคำถามว่า 'ใครอ้างตนเป็นคนดีในเรื่องนี้ ?' คงตอบได้ไม่ยากว่าการกระทำของเบฟ คีนและคนอื่น ๆ ที่ศรัทธาในโบสถ์เซนต์แพทริค ที่พยายามกีดกันให้ผู้ที่ไม่ศรัทธาอภินิหารของพระเจ้าเป็น 'คนอื่น' นั้นย่อมเรียกได้ว่าเป็นการกระทำอ้างตนเป็นคนดีเพื่อรักษาความเชื่อและศรัทธาของตนเองโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น
ความเป็นคนอื่นที่ชัดเจนในตัวละครของ Midnight Mass คือ ความเชื่อของไรลี่ย์ที่มีต่อพระเจ้า การเขาไม่นับถือศาสนาใดใด พร้อมทั้งมีการตั้งคำถามว่าพระเจ้าอยู่ไหนในเวลาที่พวกเขาต้องเผชิญเรื่องเจ็บปวด คำถามสำคัญนี้คิือสิ่งที่ไรลี่ย์ถามต่อบาทหลวงพอลในวันที่เขาได้มีโอกาสนั่งคุยกับอีกฝ่ายตัวต่อตัว แต่คำตอบของบาทหลวงที่ตอบว่า 'มันเป็นแผนของพระเจ้า' ไม่ใช่คำตอบที่ไรลี่ย์พอใจเสียเท่าไหร่เพราะมันไม่ได้ตอบคำถามในใจของเขาว่าเหตุใดพระเจ้าจึงเลือกปฏิบัติในขณะที่ผู้คนทุกข์ร้อนเหมือนกันหมด เหตุใดจึงเลือกเฉพาะผู้ที่ศรัทธาในตัวท่าน เหตุใดจึงเป็นเขาที่มีชีวิตอยู่ไม่ใช่ทาร่า เบ็ตต์ที่เสียไปเพราะความประมาทของเขา การที่พระเจ้าไม่มีคำตอบให้สิ่งเหล่านี้ทำให้ไรลี่ย์ไม่อาจแสดงความศรัทธาที่จริงใจต่อหน้าพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ได้ และยอมให้ตนถูกผลักให้เป็นคนอื่น แม้คนรอบตัวจะพยายามดึงให้เขากลับเข้าหาพระเจ้าทั้งแม่ บาทหลวงพอล และเอรินคนรักที่ก็ศรัทธาในพระเจ้าเช่นกัน แต่สุดท้ายแล้วไรลี่ย์ยังคงยืนหยัดในความคิดตัวเอง ยอมรับความเป็น 'อื่น' จากคนรอบตัว ไรลี่ย์จึงเป็นตัวแทนของคนที่ตั้งคำถามต่อความศรัทธาและพร้อมที่จะรักษาจุดยืนของตนเองอย่างไม่ไหวติงจนวาระสุดท้าย
ภาพเบฟ คีน จาก NETFLIX ในเรื่องของความเป็น "คนดี" ของตัวละครของเบฟ คีน ที่เชื่อมั่นในพระเจ้าเสมอมา แม้เบฟ คีนจะทุ่มเทและถวายความจงรักภักดีเป็นสาวกของศาสนาเสียจนดูเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่การกระทำของเบฟ คีนที่เอาผลประโยชน์จากบริษัทน้ำมันมาสร้างโรงละครเพื่อฟอกเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ดูเหมือนจะไม่ใช่การกระทำของผู้บริสุทธิ์ (the innocent) เท่าไหร่ สำหรับผู้เขียนมองว่าตัวละครคีนนั้นมีส่วนผสมของความน่ารังเกียจและความน่าสงสารผสมกันไป ความสงสารนั้นเกิดขึ้นจากการที่เรามักจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัย (insecure) ทุกครั้งที่มีอะไรมาบั่นทอนความศรัทธาของเธอที่มีต่อพระเจ้า ราวกับว่าศาสนาและโบสถ์เซนต์แพทริคเป็นสิ่งเดียวที่เธอมีโอกาสได้ยึดมั่นถือมั่นจากการเติบโตภายในเกาะเล็ก ๆ ห่างไกลแผ่นดินใหญ่นี้และไม่มีอะไรที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าศรัทธาที่เธอมีให้ต่อพระเจ้า สิ่งใดหรือผู้ใดที่เข้ามาทำให้เธอรู้สึกว่าเธอและความศรัทธาต่อพระเจ้าของเธอไม่ปลอดภัย ก็ย่อมที่จะได้รับความเกลียดชังจากเบฟ คีน ที่แท้จริงไม่ได้มีความรักให้ต่อใคร แม้แต่พระเจ้าเอง เพราะเธอรักเพียงตนเองและศรัทธาซึ่งเป็นอีโก้และแกนหลักเดียวที่ทำให้เธอเป็นเธอได้ทุกวันนี้ การโจมตีความเชื่อต่อพระเจ้าจึงเท่ากับเป็นการโจมตีความเป็นเบฟ คีนทั้งชีวิต และนั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงมีแค่เธอและผู้ที่มีศรัทธาเดียวกับเธอจึงจะเป็น "คนดี" ได้
คำพูดสำคัญในฉากหนึ่งที่ผู้เขียนจำใจความของมันได้ขึ้นใจ เป็นคำพูดที่สะท้อนถึงความศรัทธาที่แตกต่างระหว่างแอนนี่ ฟลินน์ (Kristen Lehman) และเบฟ คีน ที่ต่างก็ถูกนำเสนอให้เป็นผู้ศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้าทั้งคู่ แต่ในฉากการตายของแอนนี่ มารดาของไรลี่ย์ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้า เธอได้ทิ้งท้ายข้อความบางอย่างให้กับเบฟ คีน ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นการตอกหน้าที่เจ็บแสบที่สุดสำหรับคนอย่างคีน โดยการที่เธอบอกคีนว่า เธอไม่ใช่คนพิเศษและพระเจ้าไม่ได้รักเธอมากที่สุด แม้ว่าเธอจะทุ่มเทให้ท่านมากกว่าคนอื่น แต่พระเจ้ารักคนทุกคน แม้แต่ไรลี่ย์ที่แม้แต่จะไม่ศรัทธาในท่าน ท่านก็ยังรักเขามากเท่าที่กับรักเธอ คำพูดของแอนนี่แม้เป็นคำกล่าวที่ดูไม่มีพิษภัยแต่กลับทำร้ายจิตใจคนน่ารังเกียจอย่างเบฟ คีนได้อย่างสาสม เป็นการเอาคืนการกระทำที่ถือดีและหยิ่งยโสของอีกฝ่ายได้อย่างตรงจุด การที่เตือนสติคนที่คิดว่าตัวเองเป็น "คนดี" ว่าเขาไม่ใช่ "คนดี" หรือวิเศษวิโสไปกว่าคนอื่น คือการด่าทอคนจำพวกนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบหาที่ติไม่ได้
สรุป หลังจากที่ได้รับชม Midnight Mass ทั้งหมดเจ็ดตอนผู้เขียนรู้สึกว่าไมเคิล ฟลาเนแกนผู้สร้างนั้นได้ใส่แง่มุมข้อคิดมากมายซุกซ่อนเอาไว้ในเรื่องนี้ในระดับที่ถ้าให้ต้องมาสกัดกันทุกประเด็นอาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควร สิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอนี้เป็นเพียงจุดไม่กี่จุดที่โดดเด่นออกมาภายในเรื่อง ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้พูดถึง เช่น ประเด็นในเรื่องของความตาย และการฟื้นคืนชีพ ที่ถูกนำมาเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งในซีรี่ส์เรื่องนี้ การชวนตั้งคำถามถึงความตายจากมุมมองของคนในศาสนากับคนนอกศาสนาที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นที่ทำออกมาได้ดีและสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ค่อนข้างลึกซึ้ง
กระนั้นแล้วผู้เขียนยังมองว่าการออกจาก comfort zone ครั้งนี้ของฟลาเนแกนก็ยังมีจุดที่อาจจะต้องไปพัฒนาเพิ่มอยู่บ้าง อย่างการเขียนบทให้คนดูแล้วรู้สึกว่าตัวละครพูดแล้วดูธรรมชาติมากขึ้น การพัฒนาของคาแรคเตอร์ตัวละครที่มีจุดที่ไม่สละสลวยอยู่บ้าง อย่างเช่น ตัวละครมงซินญอร์พรูอิตต์ที่มีพัฒนาการที่น่าฉงนในตอนท้าย แต่อย่างไรก็แล้วแต่ผู้เขียนก็มองว่าฟลาเนแกนทำได้ดีในครั้งนี้ แม้ผู้เขียนอาจจะไม่ได้ชื่นชอบมากกว่าสองเรื่องก่อนหน้านี้ แต่ก็ถือว่าเป็นผลงานที่น่าติดตามต่อ และฟลาเนแกนก็ยังคงเป็นผู้สร้างที่ผู้เขียนมองว่ามีความสามารถมากมายและน่าติดตามอย่างมากในซีรี่ส์เรื่องต่อ ๆ ไปในอนาคตข้างหน้า
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in