โรคซึมเศร้า เป็นเรื่องที่ผู้คนต่างพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในสังคม หลังจากที่ศิลปินดังอย่าง UR Boy TJ ออกมาประกาศว่าตนเป็นโรคซึมเศร้า รวมไปถึงการเผยแพร่งานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า สารเคมีในสมองของผู้ป่วยซึมเศร้านั้นมีความแตกต่างจากคนปกติทั่วไป ดังนั้นโรคซึมเศร้าจึงเป็นเรื่องของกายภาพ
แม้แต่เราที่เรียนและทำงานกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็ยังยกประเด็นต่างๆนี้ขึ้นมาถกเถียงกับเพื่อนอยู่หลายต่อหลายครั้ง รวมไปถึงพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติม จึงทำให้นึกถึงหนังสือเล่มนี้ว่าเคยมีความพยายามที่จะอ่านอยู่เมื่อ 2 ปีก่อน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้อ่าน สุดท้ายก็ได้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นและตั้งใจอ่านจนจบ แล้วพบว่าหนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจอยู่หลายๆประเด็นเลยทีเดียว
โดยคุณโยฮัน ผู้เขียนนั้นได้แบ่งเรื่องราวของหนังสือออกเป็น 3 ภาคด้วยกัน อันประกอบไปด้วย
1. รอยร้าวในเรื่องเก่า : เป็นภาคที่อธิบายถึงความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ที่ผู้คนเคยเชื่อว่า อาการของโรคซึมเศร้านั้นเป็นผลโดยตรงจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลจึงจำเป็นต้องรักษาด้วยยา
" ยาต้านซึมเศร้าจึงกลายเป็นของวิเศษ "
ผนวกกับกลยุทธ์และการตลาดของบริษัทยาที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่เป็นล้านๆ จึงทำให้ไม่มีใครตั้งคำถามกับความวิเศษของยาเหล่านี้ แต่อย่างไรตาม จากประสบการณ์ในการเป็นโรคซึมเศร้าและ
รับประทานยาอย่างต่อเนื่องของคุณโยฮัน ผู้เขียนเอง เขาพบว่ายาไม่สามารถช่วยให้หายจากอาการ
ซึมเศร้าได้อย่างถาวร รวมไปถึงเขาต้องรับผลข้างเคียงอื่นๆที่เกิดขึ้นจากการรับประทานยา
เขาจึงได้หาข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้คนที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าจนพบว่า
" ยาเป็นเพียงทางเลือกนึง หรือเป็นตัวเลือกเสริมในการรักษาโรคซึมเศร้า "
หาใช่เป็นตัวสำคัญหรือเป็นยาวิเศษไม่ จากนั้นเขาจึงเริ่มออกเดินทางเพื่อตามหาคำตอบว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร และสามารถรักษาดูแลได้อย่างไร???
2. ตัดขาดความสัมพันธ์ : สาเหตุเก้าประการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล
ภาคนี้เป็นเรื่องของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ซึ่งอาการของโรคซึมเศร้านั้นคือ ผู้ป่วยจะไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่มีแรงไม่มีพลังกำลังในการที่จะใช้ชีวิต หรือมีความรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ ไม่มีความหวังในชีวิต รู้สึกตื่นกลัวและไม่กล้าไม่อยากออกไปพบเจอผู้คน โดยสาเหตุทั้ง 9 ประการ ได้แก่
- การตัดขาดจากงานที่มีความหมาย
- การตัดขาดจากผู้อื่น
- การตัดขาดจากค่านิยมที่มีความหมาย
- การตัดขาดจากเรื่องสะเทือนใจในวัยเด็ก
- การตัดขาดจากสถานะและการได้รับเกียรติ
- การตัดขาดจากธรรมชาติ
- การตัดขาดจากอนาคตที่สดใสหรือมั่นคง
- บทบาทที่แท้จริงของยีนและการเปลี่ยนแปลงในสมอง
โดยอาจจะกล่าวสรุปได้ว่า สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล มีสาเหตุหลักๆ 3 ประการ คือ สาเหตุทางชีววิทยา ทางจิตวิทยา และทางสังคม โดยทุกสาเหตุนั้นเป็นสาเหตุที่แท้จริงและมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งสาเหตุทางจิตวิทยาและทางสังคมนั้นถูกละเลยมานาน ทั้งๆที่สาเหตุทางชีววิทยาเอง
ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ หากปราศจากอีกสองสาเหตุ
3. เชื่อมต่อความสัมพันธ์อีกครั้ง หรือ ยาต้านซึมเศร้าอีกประเภทหนึ่ง
ในส่วนนี้คุณโยฮันได้เสนอแนวคิดและยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่เขาเองได้ไปสัมผัสและไปสัมภาษณ์ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกในการสร้างความเชื่อมโยง หรือสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นอีกครั้ง อย่างเช่น โครงการคอททิในย่านเยอรมันตะวันตก จากเพื่อนบ้านที่เคยไม่สนใจกันกลับออกมาประท้วงการขึ้นค่าเช่าบ้านและสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงร่วมกัน โดยมีจุดเริ่มต้นเล็กๆจากป้ายที่ติดหน้าต่างของหญิงชรา
ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือ การจ่ายยาทางสังคมของศูนย์ Bromley-by-Bow Center ที่ยื่นใบสั่งยา
การทำงานเพื่อสังคมให้ผู้ป่วยออกไปทำงานอาสาต่างๆ หรือ การสร้างระบบบริหารงาน แบบที่ทำให้การทำงานมีอิสระและมีอำนาจในการเป็นนายของตนเอง ของสหกรณ์ขายจักรยาน Baltimore Bicycle Works พนักงานทุกคนที่นี่ได้ทำงานที่มีความหมายภายใต้ระบบที่มีความเป็นประชาธิปไตย หรือ
การฝึกจิตใจของตนเองให้รู้สึกเป็นสุขจากการนั่งสมาธิ และการฝึกมีใจยินดีกับผู้อื่น ลดการเปรียบเทียบหรือกดทับตัวเอง ลดการดูถูกตนเอง ซึ่งทักษะหรือสภาวะที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ผู้ป่วยได้กลับมาเชื่อมโยงกับตนเองและคนอื่น รวมไปถึงได้ตระหนักถึงคุณค่าและค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ไล่ตามความสุขจอมปลอม หรือ การยอมรับความเจ็บปวดในวัยเด็ก การได้แบ่งปันและเล่าให้ผู้อื่นฟังจะทำให้เรามีพื้นที่ให้กับตัวเองได้มากขึ้น และทำให้เราได้ยินและได้มีมุมมองที่เหมาะสมกับเรื่องราวนั้นๆ โดยไม่โทษตัวเองและได้ทำความเข้าใจ ได้โอบกอดตนเองอย่างแท้จริง
ในแง่ของการเขียน เราถือว่าเขียนได้อย่างน่าติดตาม เข้าใจง่าย ร้อยเรียงและถ่ายทอดเรื่องราวได้สนุก
พร้อมทั้งมีแหล่งข้อมูลและเป็นแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เรียกว่าเป็นหนังสือที่ทั้งอ่านสนุกและได้ความรู้เล่มนึงเลยทีเดียว
สิ่งที่ได้ในฐานะของผู้อ่านที่เป็นคนทำงานกับเรื่องสุขภาพจิต คือเราได้เข้าใจโรคซึมเศร้าผ่านการเก็บข้อมูลและรวบรวมองค์ความรู้ผ่านคนๆนึง ที่มีวิธีการในการศึกษาแบบนักวารสารศาสตร์ เหมือนเราได้อ่านตำราหรืองานวิชาการที่มีความสนุกและบันเทิงมากกว่าที่เป็น Research Paper เพียวๆ
มันเลยสนุกกว่าการอ่านครั้งไหนๆ
...
(( ในส่วนท้ายๆ นี้จะไม่เกี่ยวกับการรีวิว แต่จะเป็นการแบ่งปันวิธีการที่ได้จากหนังสือเล่มนี้รวมกับประสบการณ์การทำงานในฐานะนักจิตวิทยา เพื่อทำให้เห็นภาพการรักษาหรือป้องกันสภาวะซึมเศร้าที่ชัดเจนขึ้น โดยหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านหรือ ผู้ที่ผ่านเข้ามานะคะ))
การอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ยืนยันความเชื่อเดิมที่เราได้รับการสั่งสอนมาว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางใจ เป็นโรคทางสัมคม ที่ไม่ใช่แค่เรื่องความผิดปกติของร่างกาย แต่เป็นสังคมที่ทำให้เรามีความคิดความเชื่อหรือพฤติกรรมที่ผิดแผกจนเกิดเป็นความซึมเศร้า และเมื่อมีความเชื่อความคิดซึมเศร้านั้นบ่อยๆ
สมองรวมไปถึงสารเคมีมันก็จะปรับเปลี่ยนไปตามความคิดความเชื่อของเราจนทำให้เกิดความผิดปกติ
" โรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่เรื่องของโชคร้ายหรือความซวยของร่างกาย "
แต่มันมีสาเหตุและเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ รวมไปถึงมีิวิธีป้องกันหรือวิธีรักษาอื่นๆควบคู่ไปกับการกินยา
โดยในมุมของเราที่เป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาเองก็มองเห็นว่า สิ่งที่ทำได้..อาจเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวก่อน หรือ สิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพอจะทำได้ เช่น
การกลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติ อาจจะเป็นการไปเดินเล่นสวนสาธารณะต่างๆ เริ่มปลูกต้นไม้เล็กๆในบ้านหรือในห้องทำงาน พาตัวเองออกไปสัมผัสธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การกลับมาเชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีตของตนเอง ลองเล่าเรื่องที่เป็นความเจ็บปวดบางอย่างของคุณให้คนที่สนิทและไว้ใจรับฟัง หรือถ้าคุณรู้สึกไม่กล้า รู้สึกไม่ปลอดภัยกับคนใกล้ตัวเพียงพอ
คุณอาจนำเรื่องราวไปเล่าให้นักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีการรับฟังอย่างไม่ตัดสินฟังแทน
บางครั้งความรู้สึกที่มันแน่นอก หรือ ความรู้สึกที่มันกดทับตัวคุณอยู่ในเวลานี้ มันอาจจะเบาบางลงไปได้บ้าง การเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดมันไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ความน่ายินดี แต่การได้กลับไปมองมันอีกครั้ง คุณอาจจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่คุณมองข้ามมันมาตลอดก็เป็นได้ หรืออย่างน้อยความเจ็บปวดนั้นก็ได้รับการรับฟังและแบ่งปันกับคนที่คุณไว้ใจและเชื่อใจ
มันนำพาความสุขมาให้เรารึเปล่า? มันเป็นความสุขที่แท้จริงของเราใช่ไหม? หรือมันเป็นเพียงสิ่งที่เราคิดว่าถ้าเรามีมัน เราจะมีความสุขตามที่คนอื่นบอก...
ไม่จำเป็นต้องเลิกไขว่คว้าหรือล้มเลิกความตั้งใจที่มี แต่อยากให้ตั้งคำถามและแน่ใจกับสิ่งที่ต้องการจริงๆ
โดยเริ่มจากคนที่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเราได้ ไม่ตัดสิน และเป็นแรงสนับสนุนในทางที่ดี
แต่หากลองคิดในอีกมุมหนึ่ง เงิน และสุขภาพกาย/สุขภาพใจ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ถ้าคุณยังไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง..ก็ไม่เป็นไร ลองเริ่มกับสิ่งที่คุณทำได้ก่อนและค่อยๆเพิ่มขึ้นให้ถึงจุดที่คุณรู้สึกโอเค :))
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in