ลุงบอกว่า “หมอบอกว่ามันลามเร็วกว่าที่คิด ที่เคยบอกว่า 3 เดือน อาจจะไม่ถึง อาจจะเป็นเร็วๆ นี้”
เราอึ้งไปอีกนิด อันที่จริงก็พอจะทำใจ แต่คำว่าเร็วๆ นี้ก็ฟังดูโหดร้ายไม่หยอก
“ยายคุยไม่ได้ รู้ตัวน้อยมาก ก็เลยจะรีบเอากลับบ้าน อย่างน้อยจะได้เห็นบ้านก่อนจะไม่รู้ตัว” เราพิมพ์ไปบอกเพื่อนแบบนั้นหลังจากอยู่กับยายที่โรงพยาบาลแล้วสักพัก แม่ออกไปคุยกับพี่พยาบาล กลับมาบอกว่า น้อง(พยาบาล)จะร้องไห้ เขาบอกว่า ให้คุณยายได้กลับบ้านวันสองวันก็ยังดี แล้วก็กลับมาที่นี่ จะเตรียมห้อง เตรียมเตียงไว้ให้ ไม่ต้องเป็นห่วง ตอนพากลับมาไม่ต้องทำเรื่องอะไรเลย เข้ามาพักที่นี่ได้เลย “ให้คุณยายมาหลับที่นี่ หนูรู้ว่าคุณยายรักที่นี่”
สักพักก็มีพี่พยาบาลที่ดูเหมือนจะเป็นหัวหน้าเข้ามาดู และคุยกับเรา เป็นครั้งแรกที่มีพยาบาลมาคุยด้วยในทำนองนี้
เริ่มเข้าใจ “ทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ที่ลุงเคยพูดไว้ก็วันนี้
พี่พยาบาลบอกว่าที่ยายไม่ค่อยรู้ตัวเป็นเพราะฤทธิ์ของมอร์ฟีนที่ให้ด้วย เพราะยายเจ็บ จึงต้องให้เพื่อบรรเทา แล้วพอให้ก็จะไม่รู้ตัวแบบนี้ แปลว่าถ้ายาหมดฤทธิ์แล้วยายเริ่มรู้ตัวเมื่อไหร่ ยายก็จะเจ็บ ถ้าไม่ให้ยา ยายอาจจะมีสติมากขึ้น สื่อสารกันได้มากขึ้น … แต่เจ็บ น้าบอกว่าก่อนที่เราจะมาถึงโรงพยาบาล ยายร้องโอดโอยอยู่ตลอด
พี่พยาบาลพยายามคุยกับยายนิดหน่อย จับแขนจับขา พลางพูดกับเราและแม่ไปด้วย และเขาบอกว่าภาพรวมก็ดีมากเลยนะ ดูโอเคมาก
นั่นทำให้เราใจชื้นนิดหน่อย แต่อันที่จริงเราก็น้ำตารื้นมาตลอดบทสนทนา
อย่างที่บอก เพิ่งเข้าใจว่าทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเขาจะดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติยังไง คงจะเป็นแบบนี้ คงจะเป็นการสร้างบทสนทนาให้เราเข้าใจอะไรๆ มากขึ้นในแบบนี้
ยายจะกลับบ้านในวันถัดมา คือวันพุธ แต่เรากับแม่ต้องกลับเข้าเมืองมาทำงาน รวมทั้งเรามีธุระในวันพฤหัสบดี เพราะฉะนั้นเราจะพากันกลับบ้านในเย็นวันพฤหัสฯ และทำงานที่บ้านในวันศุกร์ แล้วค่อยกลับเข้าเมืองไปทำงานอีกทีสัปดาห์หน้า
และเย็นวันพฤหัสฯ เราก็กลับบ้าน เราเปิดประตูห้องยาย แต่ไม่ได้เอ่ยคำว่า “จ๊ะเอ๋ สวัสดีค่า” ด้วยเสียงสดใสอย่างที่ทำมาตลอดหลายปี
ยายหลับอยู่บนเตียงไฟฟ้าเตียงเดิม เราเดินเข้าไปเงียบๆ พร้อมลุง พร้อมแม่ แล้วลุงก็ปลุกยายให้ตื่นขึ้น ให้รู้ว่าเรามา
พวกเราพยายามเรียกยาย
“หนูมาแล้ว แม่เห็นหนูมั้ย” ยายลืมตา แต่เหมือนเดิม เหมือนที่โรงพยาบาล คือยายยังโฟกัสไม่ได้มาก ตาลอยๆ เหมือนบังคับให้มองมาทางเราไม่ได้ แต่ก็กลอกตาซ้ายขวา มองไปทางแม่ที ทางเราที ตามเสียงเรียกได้ดีอยู่ ตอบว่า “เห็น” ตามคำถามที่เราถาม
ยายพยายามออกเสียงเรียกชื่อเรา และออกมาเป็นชื่อเรา อาจจะเป็นโชคดีที่ชื่อเราออกเสียงง่ายด้วยล่ะมั้ง เราพยายามคุยกัน ลุงชวนยายคุยกับเราด้วย แต่เราดูรู้ว่ายายเหนื่อยมาก ไม่มีแรงจะพูดออกมา เรานึกถึงโพสต์ของพี่ที่คณะอีกครั้ง ที่เคยบอกเล่าอาการคุณพ่อ และเราไม่อยากให้ยายเหนื่อย เราเลยพยายามดำเนินบทสนทนาเป็นประโยคบอกเล่า ให้ยายไม่ต้องตอบรับอะไรมาก
เราออกมาจากห้องยายเร็วกว่าที่อยากจะอยู่ จริงๆ อยากอยู่ให้นานกว่านั้น อยากคุยกับยายให้มากกว่านั้น แต่แม่ก็ชวนออกมา เพราะแม่คิดว่ายายคงอยากคุย คงอยากพูดกับเรา และยายคงพูดไม่ไหว นั่นน่าจะทำให้ยายเสียใจที่เราไม่ได้คุยกัน เลยรีบออกมาดีกว่า
โมเมนต์ตอนที่เราพยายามคุยกับยายแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 5 นาทีตอนนั้น เป็นช่วงที่เศร้าที่สุดในชีวิต
ตั้งแต่วันที่เรารู้ว่ายายป่วยหนักเมื่ออาทิตย์ก่อน จนก่อนยายจะออกจากโรงพยาบาล เรายังไม่ได้เศร้าขนาดนั้นเลย แต่วันนี้มันเศร้าจริงๆ
เป็นวันที่รู้สึกว่ามันจริงที่สุดแล้ว
ที่เคยคิดว่าจะรู้สึกว่ามันจริงขึ้นเมื่อไหร่ วันนี้มันจริงที่สุด
ยายดูเป็นผู้ป่วยแล้วจริงๆ
ยายดูเจ็บปวด ยายไม่มีแรง ยายคุยหยอกล้อ เล่นกับเราไม่ได้
ดูละครก็คงไม่ไหวแล้ว ทั้งๆ ที่ยายยังดูละครเรื่องโปรดไม่จบเลย
เราออกมานั่งคุยกับแม่และลุงที่โต๊ะกินข้าว พวกเรานั่งคุยกันแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน
ลุงอธิบายเรื่องการให้ยา ยาจะออกฤทธิ์กี่ชั่วโมง เมื่อไหร่ยายจะเริ่มทนไม่ไหว ลุงจะทำยังไงต่อไป และบอกว่าเราเข้าไปนอนกับยายแทนลุงได้ ลุงจะนอนข้างนอก แล้วเข้าไปดูเป็นระยะอยู่แล้ว
เราไม่ได้บอกใครว่าเรารู้สึกเหมือนใจสลายตอนอยู่ในห้องกับยายเมื่อกี้ ไม่ได้พูดออกไปว่าเราเสียใจที่เวลาเราจุ๊บยาย แต่ยายไม่มีแรงจุ๊บเราคืนแล้ว ไม่ได้บอกว่าใจจะขาดที่ได้รู้ว่าการจ๊ะเอ๋ตอนเปิดประตูเข้าห้องยายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเกือบเดือนที่ผ่านมานั้นมันเป็นครั้งสุดท้าย
แต่แม่พูดทุกอย่างที่แม่คิด พูดว่าแม่คิดแทนยายไปแล้วว่ายายอยากคุย แต่คุยไม่ไหว เลยเลิกชวนคุยดีกว่า เพราะเดี๋ยวยายเศร้าที่คุยไม่ได้ แม่พูดต่อว่า แต่แม่ก็อาจจะคิดไปเองเนอะ ยายอาจจะไม่ได้อยากคุยก็ได้ แล้วแม่ก็พูดว่า ยายแค่อยากรู้ว่าเรากินอิ่มนอนหลับนั่นแหละ ชีวิตเขาไม่ได้ห่วงอะไรไปมากกว่านั้น ที่ผ่านมา ตอนที่เขาคุยกับเรา เขาก็ถามอะไรซ้ำๆ อยู่แค่ เรากินข้าวหรือยัง อาบน้ำหรือยัง ไปทำงานหรือเปล่า เปิดเทอมเมื่อไหร่ แล้วก็จะวนมาที่กินข้าวหรือยัง มีเรื่องแค่นี้ที่เขาอยากรู้ เพราะฉะนั้นให้คอยบอกยาย ว่าเรากินข้าวแล้ว เราอาบน้ำแล้ว เรานอนหลับสนิท แค่นี้เขาก็จะสบายใจ
ก่อนจะออกมาจากห้องยาย เราบอกยายว่า หนูจะขึ้นไปอาบน้ำ แล้วเดี๋ยวจะลงมานอนด้วย เหมือนที่เราพูดเป็นประจำทุกสัปดาห์
เราขึ้นไปบนชั้นสองของบ้านเพื่อจะอาบน้ำแล้วลงมานอนกับยายตามที่บอกยายไว้ ตลอดเวลาตั้งแต่ก้าวขึ้นบันไดจนไปถึงข้างบน เราเรียบเรียงคำพูดอยากไลน์ไปเล่าให้เพื่อนฟังทั้งหมดที่เรารู้สึก เราไม่กล้าพูดออกไปให้แม่กับลุงฟัง เพราะเขาก็ต้องดูแลความรู้สึกตัวเองอย่างสาหัสพอกัน
“วันนี้แย่กว่าทุกวันที่ผ่านมาเลย รู้แล้วว่าช่วงที่เขาแย่ลงมันเป็นยังไง มันชัดเจนมากๆ ว่าบ้านจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ฉันจะไม่ได้คุยเล่น จ๊ะเอ๋กับยายเหมือนเดิมแล้วนะ
ไม่เคยคิดว่าจะต้องเห็นเขาในเวอร์ชันนี้เลย พอเห็นแบบนี้แล้วมันเศร้าสุดๆ แบบเศร้ามากๆ ทำใจไม่ได้เลย
ที่เคยพูดว่าใส่เครื่องทำออกซิเจนให้เขาอยู่ตลอดไปไม่ได้เหรอ เข้าใจแล้วว่ามันไม่ได้
ถ้าพูดตรงๆ เลยนะ ไม่อยากให้เขาอยู่ในเวอร์ชันนี้เลย แบบที่จะแย่ลงไปอีกทุกวันด้วย
แบบว่า ยอมให้เขาไปเลยยังทำใจง่ายกว่า”
นั่นคือทั้งหมดที่เราคิดจะบอกเพื่อน
แต่ไม่ได้ส่งไปสักข้อความ
เพราะดึกแล้ว เพราะรู้ว่าเพื่อนมีธุระวันนี้ เพราะไม่อยากกวน และเพราะความรู้สึกในวันนี้มันดราม่าจริงยิ่งกว่าวันที่ผ่านมาอีกไม่รู้เท่าไหร่
เราจึงทำได้เพียงกลืนถ้อยคำเหล่านั้นลงไป แล้วปล่อยให้ไหลออกมาพร้อมน้ำตาเงียบๆ คนเดียว
เพียงหวังว่าตื่นเช้าขึ้นมาก็จะรู้สึกดราม่าน้อยลง เพราะตอนกลางคืนสมองอาจจะหลั่งฮอร์โมนที่มีผลต่ออารมณ์เยอะเป็นพิเศษ
แล้วเช้ามาก็ตั้งใจว่าจะเล่าความรู้สึกของคืนนี้ให้เพื่อนฟัง แบบที่ล่วงด้วยเวลาและอารมณ์มาแล้วหน่อยหนึ่ง อย่างน้อยก็คงไม่เศร้าเท่าตอนที่กำลังรู้สึกจริงๆ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in