เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เดินเที่ยวไปด้วยกันthefirstofmine
เยือนถิ่นโบสถ์เก่าย่านสามเสน






  • ไหน ๆ ก็เปิดเรื่องเดินเที่ยวแล้ว ก็อยากจะเอาเรื่องราวโบสถ์คริสต์เก่าในถิ่นคุ้นเคยของเรามาแนะนำคนอื่นบ้าง เผื่อมีใครสนใจมาเดินเที่ยว เดินชมแถวนี้


    มาเริ่มกันที่วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ (Saint Francis Xavier Church) กันก่อนดีกว่า (เพราะเป็นวัดแรกที่เจอเมื่อเดินเข้าซอยมา)


    ภาพแผนที่จาก prawacha สามารถใช้ได้ทั้ง 2 วัด



    วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์

    94 ซอยสามเสน 11 ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร  10300
    โทร. 02 243 0060
    ตารางมิสซา
    • วันจันทร์-วันเสาร์    เวลา 06.30 น., 19.00 น.
    • วันอาทิตย์                เวลา 06.00 น., 08.30 น., 10.00น., 17.00 น.




    การเดินทางก็ไม่ยาก นั่งรถเมล์สาย 3, 9 ,16, 18, 28, 30, 32, 33, 49, 56, 64, 65, 108, 110, 505, 515 บอกลงวชิระ แล้วเดินเข้าซอยมา (ไม่ว่าจะซอยไหน เดินตรงเข้ามาก็จะเจอกับวัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์)

    นั่งเรือ ลงท่าเรือซังฮี้ แล้วข้ามสะพานกลับมา

    หากขับรถมา ปากซอยทางเข้าจะเจอโรงเรียนเซนต์คาเบรียล แล้วให้เลี้ยวเข้าซอยสามเสน 13 ตรงมาจะเจอกับวัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ (หากมาในวันธรรมดา เวลาบ่ายจนถึงค่ำ ๆ เป็นต้นไป รับรองว่ารถติดในซอยหนักมาก)





    วันนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ สร้างขึ้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้คริสตังญวนจำนวนหนึ่งที่มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารหนีภัยสงครามมาในประเทศไทย พระองค์จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินสวนแปลงใหญ่บริเวณใกล้เคียงกับวัดส้มเกลี้ยง (ทางตอนเหนือของวัดคอนเซ็ปชัญ)  ทรงให้สร้างโรงเรียน พระราชทานให้อาศัย พร้อมกับพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคอีกจำนวนมาก และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างวัดขึ้นมาอีกด้วย



    วัดหลังแรกสร้างด้วยไม้ไผ่ในปี 1834 ใช้ชื่อว่า วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ โดยวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเสร็จเป็นลำดับที่ 7 ของมิสซังคาทอลิกสยาม วัดไม้ไผ่อยู่ได้เพียง 3 ปีก็ถูกพายุพัด พังเสียหาย 





    วัดหลังต่อมาจึงสร้างเป็นวัดไม้ และพระสังฆราชกูรเวอชี ประมุขของมิสซังสยามได้นำพระรูปแม่พระ และรูปนักบุญฟรังซีสเซเวียร์จากมะนิลามาตั้งในวัดหลังที่สองด้วย 



    วัดหลังที่สาม ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 10 ปีด้วยกัน แล้วเสร็จแล้วทำพิธีเสกวัดในวันฉลองนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ ในปี 1867 โดยวัดหลังที่สามนี้ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอโกธิค ผนังก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ (ไม่ใช้เหล็กและเสาเข็ม) บนเพดานมีดานทั้งหมด 237 ดวง ภายในประดับกระจกสีเป็นเรื่องราวในไบเบิ้ล ทั้งพันธสัญญาเก่าและพันธสัญญาใหม่ (ด้านบน) มีภาษาญวนจื๋อโนม (ภาษาญวนจื๋อโนม เป็นภาษาที่ชาวเวียดนามได้พัฒนาตัวอักษรจีนเพื่อใช้ในการเขียนภาษาเวียดนาม) ทำเป็นป้ายเหนือพระแท่นทั้งหมด 8 แผ่นด้วยกัน





    หลังจากได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในปี 2013 - 2014 ก็ได้มีการนำกระจกมาติดหน้าต่าง เป็นรูปประวัตินักบุญฟรังซีสเซเวียร์ กระจกสีภาพ The Last Supper ภาพนักบุญเปโตรและเปาโล ภาพนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ นักบุญโยนออฟอาร์ค ฯลฯ และติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในวัดอีกด้วย





    พระรูปพระเยซูเจ้ารักษาคนตาบอด หรือ พระโต เป็นพระรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ไถ่มา เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ในปี 1897 เนื่องจากพระองค์ได้ทรงเข้าเยี่ยมโรงงานช่างหล่อช่างปั้นช่างเขียน ณ เมืองฟลอแรนซ์ อิตาลี ทอดพระเนตรพระรูปนี้ ก็ทรงพอพระทัย  และโปรดให้ประดิษฐาน ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเมื่อสร้างพระราชวังดุสิตเสร็จ จึงโปรดให้นำมาไว้ ณ พระที่นั่งอัมพร ประดิษฐานไว้ในหอหนึ่ง พระราชทานนามว่า “หอเยซู” 





    ต่อมาได้มอบพระรูปนี้ให้แก่วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์โดยผ่านทางเทศบาลนครกรุงเทพฯ โดยมีนายประสาน ศรจิตติและคริสตชนพี่น้องของวัด จำนวนหนึ่งเป็นผู้ประสานงาน ประวัตินี้ได้จาก จางวางเอก พระยาประเสริฐศุภกิจ หัวหน้ามหาดเล็กผู้ตามเสด็จประพาสในครั้งนั้น พระรูปนี้รับการเสกที่วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ เมื่อปี 1949   


    ข้อความที่ฐานพระรูปมีเขียนไว้ว่า "Fides tua te salvum fecit" ซึ่งแปลว่า ความเชื่อช่วยให้เจ้ารอด





    ฉลองพระรูปพระเยซูเจ้ารักษาคนตาบอดหรือฉลองพระโต ในวันเสาร์ก่อนเริ่มเทศกาลมหาพรต (ในปี 2017 ฉลองพระโตวันที่ 25 กุมภาพันธ์)

    ฉลองวัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี (เป็นฉลองภายในและมีฉลองใหญ่ในวันอาทิตย์หลังวันที่ 3 ธันวาคม)








    ถัดเข้ามาด้านใน ก็จะเจอกับวัดคอนเซ็ปชัญ (The Immaculate Conception Church) วัดอยู่ริมน้ำ


    วัดคอนเซ็ปชัญ

    167 ซอยมิตตคาม ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร  10300
    โทร. 02 243 2617, 02 243 0064   
    โทรสาร. 02 668 7775
    ตารางมิสซา
    • วันจันทร์-วันศุกร์    เวลา 19.00 น.
    • วันเสาร์                   เวลา 17.30 น. (นพวารและมิสซา)
    • วันอาทิตย์               เวลา 06.00 น., 08.30 น., 17.00 น.




    การเดินทางก็ไม่ยากแต่เลี้ยวจะเยอะอยู่ แนะนำให้ถามทางชาวบ้าน (ชาวบ้านใจดี ดีไม่ดีพาเดินไปส่งด้วยเลย)





    วัดคอนเซ็ปชัญ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตัวโบสถ์หันหน้าไปทางตะวันตกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา



    วัดคอนเซ็ปชัญหลังปัจจุบัน นับเป็นหลังที่ 2 แล้ว โดยหลังปัจจุบันนั้น สร้างมาตั้งแต่ปี 1937 โดยใช้รูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสยามและสถาปัตยกรรมตะวันตก หรือที่เรียกกันว่าอาคารแบบวิลันดา เป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมคาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีการใช้งานในปัจจุบัน





    ประวัติวัดคอนเซ็ปชัญ

    สร้างมาตั้งแต่ปี 1675 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยท่านสังฆราชลาโน มิชชันนารีจากฝรั่งเศส และพระราชทานที่ดินให้ในปี 1674 โปรดให้ชาวกุย 4 - 5 ครอบครัว ดูแลรักษาอยู่ และถือเป็นกลุ่มคริสตชนแรกของวัดคอนเซ็ปชัญ

    โดยวัดหลังแรกสร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ เนื่องจากมีคริสตชนน้อย ต่อมาจึงได้สร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลขึ้นอีก 2 แห่ง (ใช้ชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า immaculée conception = แม่พระปฏิสนธินิรมล) มีมิชชันนารีหมุนเวียนผลัดกันมาดูแลตลอด จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง




    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็มีชาวคาทอลิกเชื้อสายโปรตุเกสในเขมรและชาวเขมรเข้ารีตจำนวน 500 คน มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์จึงให้มาอยู่กับชุมชนโบสถ์คอนเซ็ปชัญ (จะเรียกอีกชื่อได้ว่าวัดเขมร คนแถบนี้จะเรียกวัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ ว่าวัดญวน ไม่ก็วัดนอก ส่วนวัดคอนเซ็ปชัญ จะเรียกว่าวัดใน ไม่ก็วัดเขมร)




    วัดคอนเซ็ปชัญหลังเดิม (ปัจจุบันยังคงอยู่ ตั้งอยู่ด้านหลังของวัด) มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคามุงกระเบื้องมีหน้าจั่วแบบไทยเรียบง่าย ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดคอนเซ็ปชัญ


    วัดคอนเซ็ปชัญหลังปัจจุบัน สร้างโดยบาทหลวงปาลเลอกัวขณะที่ท่านยังไม่ดำรงตำแหน่งสังฆราช ในปี 1837 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 และหลังจากนั้น 1 ปี ท่านปาลเลอกัวก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช และกระทำ พิธีอภิเษกกันในโบสถ์ที่ท่านสร้างใหม่นี้เอง


    ลักษณะของวัดคอนเซ็ปชัญ มีโครงสร้างต่าง ๆ ของโบสถ์จึงเป็นแบบผสมผสานศิลปะไทยและตะวันตกเข้าด้วยกัน (หรือที่เรียกกันว่าแบบวิลันดา) 




    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสร้างหอระฆังก่ออิฐขึ้น โดยบาทหลวงแปโรซ์แต่พังทลายลงในเวลาไม่นาน จึงมีการจัดจ้างให้โจอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi ผู้ออกแบบวัดนิเวศธรรมประวัติ และวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา) สถาปนิกชาวออสเตรียผู้เคยออกแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกจำนวนมากในกรุงเทพ ให้ออกแบบหอระฆังใหม่ในปี 1883 ในรูปแบบฟื้นฟูศิลปะโรมันเนสก์ที่กำลังเป็นที่นิยมมากในยุโรป




    ถือได้ว่าวัดคอนเซ็ปชัญ เป็นวัดคาทอลิกแห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และยังใช้งานจนถึงปัจจุบัน


    รูปสลักพระรูปพระแม่เจ้าพระนางมหามารีอา พระรูปสลักนี้มีขนาดสูงประมาณ 100 เมตร แกะสลักด้วยฝีมือประณีตบรรจง และลงรักปิดทองสวยงามมาก รูปสลักแม่พระนี้ชาวคาทอลิกเชื้อสายโปรตุเกสในเขมรและชาวเขมรเข้ารีตที่อพยพมาในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นได้อัญเชิญเข้ามาด้วย และเมื่อสงครามในเขมรสิ้นสุดลง ก็อยากจะกลับบ้านเมืองของตน พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้ชาวเขมรที่ต้องการกลับ กลับคืนสู่ภูมิลำเนาของตนได้ตามความประสงค์ และในการกลับคืนบ้านเกิดเมืองนอนของชาวเขมรเหล่านั้น ก็ได้อัญเชิญพระรูปสลักพระแม่เจ้าลงเรือเพื่อนำกลับไปเมืองเขมรด้วย





    เรื่องเล่าของแม่พระ
              ขณะที่อัญเชิญพระรูปสลักพระแม่เจ้าไปนั้นได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น คือ เรือที่อัญเชิญพระรูปพระแม่เจ้าไปนั้น เมื่อแจวออกไปไม่ไกลนัก เรือก็หยุดอยู่นิ่งกับที่ คนแจวพยายามแจวเท่าไรเรือก็ไม่ยอมเดินหน้า แม้จะเพิ่มคนแจวเข้าไปอีกเรือก็มิได้แล่นต่อไป เป็นเหตุให้เกิดความพิศวงมาก มีชาวเขมรบางคนสงสัยว่า เป็นเพราะอำนาจปาฏิหาริย์ของพระรูปพระแม่เจ้า ที่มีพระประสงค์จะประทับอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญก็อาจเป็นได้ จึงได้ทดลองแจวเรือกลับมาทางวัดคอนเซ็ปชัญ คราวนี้เรือก็ยอมแล่นกลับโดยง่ายดาย แต่ครั้นทดลองแจวเรือกลับไปทางเก่าอีก เรือก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน ได้กระทำอยู่เช่นนี้หลายครั้งหลายหน ก็คงเป็นอยู่ในลักษณะเดิม ชาวเขมรที่จะกลับเมืองเขมรก็แน่ใจว่า พระแม่เจ้ามีพระประสงค์จะให้พระรูปสลักนี้ประทับอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ จึงได้อัญเชิญพระรูปกลับมาประดิษฐานไว้ ณ วัดคอนเซ็ปชัญ แล้วพวกเขาก็เดินทางกลับเมืองเขมรโดยสวัสดิภาพ และพระรูปสลักรูปพระแม่เจ้าพระนางมหามารีอาก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญตราบเท่าทุกวันนี้






             พระรูปสลักพระแม่เจ้าองค์นี้ เดิมเข้าใจกันว่าชาวเขมรเป็นผู้แกะสลัก แต่ประมาณเดือนตุลาคม 1974 มีนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องไม้ประจำสำนักงานเอฟ.เอ.โอ ที่กรุงเทพฯ ชื่อ โยแซฟ เทอร์แบงก์ (J.Turbang) ได้มาชมพระรูปแม่พระ เมื่อได้ตรวจดูแล้วได้บอกว่า พระรูปสลักองค์นี้มาจากประเทศอินโดนีเซีย โดยสันนิษฐานจากเนื้อไม้ที่นำมาแกะสลัก เนื่องจากไม้ชนิดนี้มีอยู่ในอินโดนีเซียเท่านั้น ฝีมือแกะสลัก ก็ปรากฏว่าชาวอินโดนีเซียมีฝีมือในการแกะสลักที่ดีเยี่ยมอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ จึงคิดว่ารูปพระแม่เจ้าองค์นี้ไปจากอินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น




    ในประเทศไทย วัดคาทอลิกมีเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงมีพิธีถอดพระ และหนึ่งในนั้นคือวัดคอนเซ็ปชัญ หากใครสนใจอยากที่จะมาชมพิธีถอดพระ ก็อยากจะเชิญชวนให้มาชมกันได้ โดยพิธีถอดพระนั้นจะมีขึ้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ของทุกปี (ซึ่งปี 2017 จะตรงกับวันที่ 14 เมษายน 2017)

    คราวนี้มีผ้าแถบหลังรูปนักบุญด้วย ปกติจะไม่มี แต่เนื่องจากวันที่เข้าไปถ่ายรูปนั้นตรงกับวันฉลองแม่พระที่ได้รับมาจากโปรตุเกส


    วันฉลองแม่พระไถ่ทาส หรือแม่พระขนมจีน ฉลองทุกวันที่ 24 กันยายน ของทุกปี

    และฉลองวัดคอนเซ็ปชัญ ในวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี

    ในวันที่ 2 ธันวาคม 1974 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 300 ปี ของวัดคอนเซ็ปชัญอีกด้วย


    นาทีที่ 02.17 - 04.15


    และยังมีเรื่องที่น่าดีใจสำหรับชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญ เมื่อประเทศโปรตุเกส มอบแม่พระ ให้แก่โบสถ์คอนเซ็ปชัญ เป็นโบสถ์แรกในประเทศไทย โดยมีเจ้าฟ้าชายดูอาร์ท ปิโอ ดยุกแห่งบรากันซา (Dom Duarte Pio, Duke of Braganza) จากโปรตุเกส และคณะชาวโปรตุเกสร่วมเฉลิมฉลองในวันที่ 11 มิถุนายน 2017



    และเป็นการเสด็จเยือน ชุมชนคอนเซ็ปชัญ เป็นการส่วนพระองค์ด้วย


    น้าที่เรารู้จัก อาศัยอยู่ในชุมชนคอนเซ็ปชัญ เล่าให้ฟังว่า "เจ้าชาย ดูอาร์ท ปิโอ ทรงไม่ถือพระองค์ พระองค์ท่านทรงให้ความเป็นกันเองและเอ็นดูพวกเราลูกหลานชาวโปรตุเกส พระองค์ท่านน่ารัก ท่านทรงพระกรรแสง แล้วบอกว่า พระองค์ท่านรู้สึกอบอุ่นและตื้นตันใจ" 




    และโชคดีมาก วันที่เราเข้าไปถ่ายรูป ทางวัดคอนเซ็ปชัญเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ด้วย




    ภายในก็จะมีกาสุลา หรือบางคนเรียกกาซูลา (กาซูลา มาจากภาษาละติน ว่า casual แปลว่า “บ้านเล็กๆ”) เป็นเสื้อที่คุณพ่อสวมเวลาทำมิสซา ศาสนภัณฑ์ที่ใช้ในมิสซา เป็นต้น




    ด้านหน้าวัด (ใกล้แม่น้ำ) จะมีรูปปั้นแม่พระในถ้ำแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด 






    ก็คงจะพอเท่านี้ล่ะนะ ถ้าใครสนใจ หรืออยากรู้อะไรเพิ่มเติมนอกจากนี้ก็ถามเราได้นะ ไม่ว่าจะที่คอมเมนท์หรือในทวิตเตอร์ของเรา @First_17 



    ขออภัยสำหรับสกิลถ่ายรูปของเราด้วย วันที่ไปถ่ายที่วัดคอนเซ็ปชัญคือเพิ่งกลับมาถึงบ้านจากที่ออกไปบ้านพิพิธภัณฑ์มา อ่านได้ที่นี่ ส่วนเรื่องถ่ายเอียงนี่พยายามแก้อยู่มากๆ แต่ทำไม่ได้เลย ใครมีวิธีแนะนำ ก็แนะนำกันเข้ามาได้นะ //กราบงามๆ








    อ้างอิง และ ข้อมูลเพิ่มเติม
    วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์
    หนังสือ 180 ปี สมโภชวัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ สามเสน

    วัดนักบุญคอนเซ็ปชัญ


    รูปถ่าย
    วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ ถ่ายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2017 และ 24 มิถุนายน 2017
    วัดคอนเซ็ปชัญ ถ่ายเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2017 (ข้อมูลในเรื่องของ เจ้าฟ้าชายดูอาร์ท ปิโอ ดยุกแห่งบรากันซา นำมาจาก Facebook ของคุณน้าที่ได้รับอนุญาตแล้ว)




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in