บทความนี้เขียนเมื่อ ตุลาคม 2562 ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา มีคนกลุ่มใหญ่พยายามเรียกร้องในสิ่งที่หลายคนไม่เคยต้องออกไปดิ้นรนค้นหาริมถนนใจกลางกรุงเทพมหานครท่ามกลางแดดร้อน ฝุ่นควันจากยานพาหนะและห่าฝน พวกเขาคือ “สมัชชาคนจน” ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 ได้ปักหลักชุมนุมอยู่ที่หน้าสำนักงานกรรมการอาชีวศึกษา ริมคลองผดุงกรุงเกษมใกล้ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม และตัดสินใจพับเสื่อกลับบ้านไปเมื่อสิ้นวันปิยมหาราช สมัชชาคนจนเป็นการรวมตัวของผู้คนหลายจังหวัด มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือหลายด้าน ทั้งปัญหาพื้นที่สาธารณะทับที่อยู่อาศัย ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน การขาดแคลนที่ดินทำกิน และข้อเรียกร้องที่สื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกก็ไม่มีใครนำเสนออย่างละเอียดนักคือ ปัญหาสิทธิแรงงานของอาชีพ “แรงงาน” ที่หลายคนมองข้าม จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในบรรดาผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนจนก็ยังมีการลำดับความสำคัญในหมู่คนจนที่ไม่เท่ากันอยู่ดี
“ชาวบ้านกลุ่มอื่นกลับไปเขายังมีที่ดินให้ทำไร่ไถนา ยังเลี้ยงชีพต่อได้ แต่พวกเราเป็นแรงงานมีแค่กำลัง ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ถ้าแรงงานกลับไปโดยไม่มีความคืบหน้าจากรัฐบาล ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง แล้วจะทำอย่างไรต่อ?” บุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจนด้านแรงงานกล่าวเช่นนั้น เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพแรงงานผู้มากับปัญหาหลายประการของแรงงานไทย ซึ่งหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่เขาต้องการคือ ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่มีคีย์เวิร์ดสำคัญคือ “การปิดงาน” ของนายจ้างและ “การนัดหยุดงาน” ของลูกจ้าง
หนึ่งในกรณีเกิดขึ้นจริงที่ลูกจ้างโรงงานกว่าหนึ่งพันคนในจ.ชลบุรีต้องพบเจอ เริ่มต้นจากมาตรา 13 ของพ.ร.บ.ดังกล่าวที่ระบุว่า ถ้ามี “ข้อเรียกร้อง” หรือเรียกง่ายๆ ว่าถ้าลูกจ้างมีเรื่องผิดใจ มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกับนายจ้าง แล้วลูกจ้างจะนัดหยุดงานประท้วงได้นั้น ต้องแจ้งนายจ้างที่เป็นคู่กรณีให้รับทราบก่อนเริ่มหยุดงานภายใน 24 ชั่วโมง ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ที่เกิด ได้แก่ เรื่องให้ค่าจ้างไม่เป็นธรรม กำหนดเวลาทำงานเกินพอดี ความปลอดภัยขณะปฏิบัติงานต่ำ เป็นต้น แต่บางครั้งก็มีกรณีที่ลูกจ้างไม่ยอมแจ้งล่วงหน้าเพราะกลัวว่านายจ้างจะไหวตัวทัน หรือกลัวว่าการแจ้งก่อนจะทำให้นายจ้างมีกลวิธีหรือหาข้อกฎหมายมาทำให้ลูกจ้างนัดหยุดงานไม่ได้ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจาให้เสร็จภายใน 3 วันนับตั้งแต่รับข้อเรียกร้อง แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ถือว่าเกิด “ข้อพิพาทแรงงาน” ขึ้นในสถานประกอบการแล้ว
เมื่อเกิดข้อพิพาท ฝ่ายที่ยื่นข้อเรียกร้องต้องแจ้ง “พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน” เป็นหนังสือให้มาช่วยเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายให้เรียบร้อยภายใน 5 วันนับตั้งแต่ยื่นหนังสือ แต่ถ้าเกินจากนั้น จะเรียกว่าเกิด “ข้อพิพาทที่ไม่สามารถตกลงกันได้” ซึ่งตามกฎหมายแล้วนายจ้างสามารถ “งดจ้าง” คือการไม่ให้ทำงาน และไม่จ่ายเงินค่าจ้างแก่ “พนักงานที่มีข้อพิพาทกับตน” จนกว่าจะหาข้อตกลงได้ จึงจะให้กลับเข้ามาทำงานใหม่
ปัญหาของกรณีที่ชลบุรีคือ นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้กับ “สมาชิกสหภาพแรงงาน” ภายในสถานประกอบการที่ยื่นเรื่องขอประท้วง แต่กลับจ่ายให้กับลูกจ้างทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพฯ หรือไม่ได้ร่วมประท้วง ดังนั้นลูกจ้างจึงลาออกจากสหภาพแรงงาน เพราะการปิดงานดังกล่าวมักกินเวลามากกว่า 5 วันและข้อตกลงมักไม่เป็นที่พอใจของลูกจ้าง ระยะเวลาการนัดหยุดงานและปิดงานจึงยาวนานมาก ลูกจ้างทนสภาพที่ไม่ได้ค่าจ้างไม่ไหวจึงขอลาออกจากสหภาพฯ ทำให้ตัวสหภาพฯ อ่อนแอลง อำนาจการต่อรองจึงน้อยลงและเทไปยังฝ่ายนายจ้างมากกว่า
เพราะไม่มีนายทุนที่ไหนอยากให้มีสหภาพแรงงาน แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้เรียกร้องในสิทธิที่ลูกจ้างทุกคนควรจะได้ แต่ในสายตาคนนอกรวมถึงนายจ้างเองกลับมองว่า “ขอมากไป”
ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการหยุดงานของลูกจ้าง ตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 35 วรรค 3 นายจ้างสามารถจ้างบุคคลอื่นมาทำงานแทนชั่วคราวได้ โดยลูกจ้างห้ามขัดขวางบุคคลเหล่านั้นเข้าทำงาน และห้ามไม่ให้ขัดขวางนายจ้างที่จะจ่ายเงินตามอัตราที่จ่ายให้ลูกจ้าง ปัญหาจึงซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม เพราะส่วนมากนายจ้างก็ไปติดต่อ “บริษัทตัวกลาง” ให้รับเหมาแรงงาน (Subcontract) มาทำงานแทนลูกจ้างเดิมที่หยุดงาน ในอัตราเดียวกับที่จ่ายลูกจ้างรายวัน ทำให้ลูกจ้างกลุ่มใหม่นี้ไม่ได้สิทธิสวัสดิการเหมือนที่ลูกจ้างประจำจะได้ แล้วถ้านายจ้างประวิงเวลาเจรจาไปเรื่อยๆ โดยจบข้อพิพาทไม่ได้ ลูกจ้างประจำก็ต้องหยุดงานต่อไปโดยไม่ได้เงินเดือน ขณะที่ลูกจ้างเหมารายวันก็ไม่ได้บรรจุเข้าเป็นแรงงานในระบบเสียที ส่วนนายจ้างก็ลอยตัว ลดต้นทุนค่าจ้างพนักงานได้ เพราะจ่ายบริษัท Subcontract ในอัตราลูกจ้างรายวัน ไม่ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อหรือให้สวัสดิการที่ดีอะไร
“เดี๋ยวนี้ตกงานแค่เดือนเดียวก็ไม่มีอะไรกินแล้ว นี่ผมสู้มา 6 ปียังแทบไม่ไหว แล้วคนอื่นที่ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา มีครอบครัวต้องดูแลจะเอาอะไรมาสู้ในชั้นศาล กระบวนการยุติธรรมมันเข้าถึงยาก ยิ่งกินเวลาไปเรื่อยๆ จนอายุเราเพิ่มขึ้นก็หางานยากกว่าเดิม ถ้าอายุเกิน 30 ปีโรงงานไหนก็ไม่รับแล้ว เป็นได้แค่ยามเท่านั้นแหละ” อัศวุฒิ สินทวี เปิดเผยว่าเขาเป็นอดีตเลขาธิการสหภาพแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไปตั้งแต่ปี 2556 เพราะออกมาประท้วงหยุดงาน ซึ่งเรื่องนี้ คนนอกอาจมองว่า “ถ้าอยู่ไม่ไหว ก็ลาออกไปหางานใหม่สิ” แต่มันไม่ใช่ประเด็น ในเมื่อมันคือการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลายคนเจอสภาพที่นายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน แม้จะติดแหง็กเป็นพนักงานประจำอยู่ก็ต้องเซ็นใบลาออก ถึงแม้ในทางกฎหมายจะไม่เรียกว่าเป็นการบังคับขู่เข็ญ แต่การกดดันให้เจอสภาพแย่ๆ แล้วลาออกไปเอง เช่นนี้ไม่ใจร้ายกับลูกจ้างไปหน่อยหรือ
ยิ่งในยุคเศรษฐกิจถดถอยอย่างนี้ ค่าเงินบาทวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปีที่ระดับ 30.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กระทบการส่งออก ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจขนาดใหญ่ต่างๆ กระเทือนไปถึงลูกจ้างตัวเล็กตัวน้อยในโรงงานที่ถูกปลดแบบฟ้าผ่า โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีข่าวปลดพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกอยู่บ่อยๆ อย่างข่าวล่าสุดคือเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โรงงานผลิตผ้าใบยางรถยนต์ที่มาบตาพุด จ.ระยอง เลิกจ้างพนักงานกว่า 400 คนโดยพนักงานรู้ล่วงหน้าแค่เดือนเดียว ด้วยเหตุผล “สภาพเศรษฐกิจไม่น่าไว้วางใจ” แม้ว่าได้รับเงินเยียวยาก็ใช่ว่าออกไปแล้วจะหางานใหม่ได้ทันที หรือต่อให้มีโครงการ Early retirement ที่ว่าให้สมัครใจลาออกเองก่อนเกษียณ แต่ขนาดคนเก่ายังต้องลาออกก่อนกำหนด แล้วจะมีที่ให้คนใหม่เข้าไปแทนมากน้อยแค่ไหน? ยิ่งสมัยนี้มีลูกจ้างนอกระบบ ที่เราเรียกว่า อาชีพฟรีแลนซ์ พวกที่ได้ค่าจ้างตามจำนวนงาน จ้างเป็นครั้งๆ ไป มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงนายทุนใหญ่ๆ จะเริ่มหันมาจ้างฟรีแลนซ์หรือบริษัท Subcontract มากขึ้น แต่ประโยชน์ก็ตกไปอยู่ที่นายจ้างมากกว่าเพราะเขาก็ไม่ต้องจ่ายเหมือนลูกจ้างในระบบ และในอนาคตก็ไม่จำเป็นต้องรับลูกจ้างประจำเข้าไปในระบบอีก
“เป็นแรงงานเนี่ยเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ความปลอดภัยในการทำงานก็ฉบับหนึ่ง ค่าจ้าง ประกันสังคม สวัสดิการก็ฉบับหนึ่ง รวมแล้วเราต้องรู้กฎหมาย 8-9 ฉบับ แต่ถามว่าลูกจ้างธรรมดาที่ไม่ได้เรียนจบสูงมาเขาจะรู้เหรอ ถึงได้โดนเอาเปรียบอย่างนี้ไง แล้วคุณกำลังจะเป็นเด็กจบใหม่ รู้อะไรพวกนี้บ้างหรือเปล่า?” คุณบุญยืนถามอย่างนั้น ฉันจึงนึกถึงภาพเหล่าแม่บ้านในธรรมศาสตร์ที่ถูกเหมาแรงงานแบบ Subcontract มา เป็นลูกจ้างนอกระบบผู้ใช้ชีวิตร่วมกับนักศึกษาที่คาดหวังจะออกไปเป็นลูกจ้างในระบบ ได้ทำงานในบริษัทที่มั่นคง ทั้งที่ความเป็นจริงคือไม่มีอาชีพไหนที่มั่นคงอีกแล้วในสภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างนี้
ปัญหาสิทธิแรงงานที่สมัชชาคนจนออกมาเรียกร้อง จึงไม่ใช่เรื่องของ “คนจน” เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของ “แรงงานทุกคน” ที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายแรงงานที่ใช้ร่วมกันทุกสาขาอาชีพ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in