ภาพจำของญี่ปุ่นแต่ละปี แต่ละยุคสมัยมีความเฉพาะตัวต่างกัน ของปีนี้อาจเป็น ‘โอลิมปิกโตเกียว 2020’ ที่โดนเลื่อนออกไปปีหน้าเพราะติดโควิด แต่ถ้ากระโดดย้อนกลับไปช่วงปี 1980 ภาพที่หลายคนอาจมองเห็นญี่ปุ่นผ่านการ์ตูนที่เริ่มเข้าสู่เมนสตรีม แฝงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นเข้ามาอย่างแนบเนียน ทะลุไปยังพื้นหลังคือเศรษฐกิจอันเฟื่องฟูในสมัยนั้น
เป็นหนึ่งในท่อนของเพลง Fantasy (1982) ที่ นากาฮาระ เมย์โกะ เปรียบเปรยชีวิตรักกับแท่งปริซึมกำเนิดสีรุ้งว่ามันช่างเป็นความรู้สึกที่แฟนตาซีเหลือเกิน ซึ่งเพลงจังหวะฟังก์ชวนโยก แต่งแต้มด้วยสีสันจากทรัมเป็ตนี้ นอกจากกล่าวถึงความรักแล้ว ยังพูดถึงตัวตนที่ต่างไปจากอดีต ความเพ้อฝัน การเต้นรำ แสงนีออน เฟชั่นเสื้อมันเลื่อม และเมืองริมอ่าว (Bay City) ภาพที่ปรากฏในเนื้อเพลงพอจะบอกเราได้คร่าวๆ ว่าชีวิตคนเมืองของญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 1980 มีหน้าตาเป็นแบบไหน
ไม่ผิดแผกไปจากเพลงแนวซิตี้ป๊อปอื่นๆ ที่อัลกอริทึมมหัศจรรย์ของยูทูปแนะนำให้ชาวโลกได้ฟังช่วงปี 2016 เป็นต้นมา หลายคนคงเคยฟังเพลงซิตี้ป๊อปของทาเคอุจิ มาริยะ, ยามาชิตะ ทัตสึโระ, โอฮาชิ จุนโกะ, คิคุจิ โทโมโกะ และศิลปินชาวญี่ปุ่นอีกมายมายที่เดินทางข้ามเวลาจาก 40 ปีก่อนมาถึงพวกเราให้ได้สนุกและจินตนาการไปกับ “ภาพความฟุ้งเฟ้อในวิถีคนเมือง” ของญี่ปุ่นที่ยากจะหวนกลับไปเป็นแบบนั้นได้อีก
แม้ว่าฟังโดยผิวเผินแล้ว ดนตรีของซิตี้ป๊อปจะไม่ค่อยแปลกแยกจากเทรนด์เพลงป๊อปอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับของสหรัฐฯ ผู้ทรงอิทธิพลในญี่ปุ่นเท่าไรนัก ซิตี้ป๊อปหยิบยืมเอกลักษณ์ดนตรีต่างๆ อย่างดิสโก้ ฟังก์ บูกี้ อิเลคโทร อาร์แอนด์บี แจ๊ส ฯลฯ มีการทำให้เพลงมีท่อนน่าจดจำด้วยลูกเล่นจากเสียงซินธิไธเซอร์และเบสไลน์สวยงาม แต่ด้วยจุดร่วมของเนื้อเพลงซึ่งมักจะมีชอยส์ให้พูดถึงคล้ายๆ กันอย่างน้อยหนึ่งข้อคือ
1) เมืองใหญ่
2) ขับรถเที่ยว
3) เต้น
4) กลางคืน ท้องฟ้า ดวงดาว
5) ไฟนีออน ไฟดิสโก้
6) ความรัก (ทั้งสมหวังหรืออกหักจากลา)
7) นึกถึงอดีต
8) ถูกทุกข้อ
ถ้าคุณเคยขับรถบนถนนที่ไหนสักแห่งตอนกลางคืน ไฟทางตกพาดผ่านแก้มไปเป็นจังหวะ เพ้อถึงใครสักคน นึกถึงอดีตอันติดตรึงใจ หรือ Nostalgia for places where I’ve never been / Someone I’ve never met เข้าทำนองประโยคฝรั่งที่หลายคนมักเกิดอาการฟุ้งๆ หลังตีสอง นั่นแหละ คุณก็เป็นตัวเอกในเพลงซิตี้ป๊อปได้เหมือนกัน
ด้วยองค์ประกอบของเนื้อเพลงเหล่านั้น ทำให้มีเพลงมากมายถ่ายทอดภาพความเป็นเมือง (Urban) ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ของญี่ปุ่นได้อย่างแจ่มชัด จนเกิดชื่อเรียกเพลงป๊อปที่แยกออกไปเพื่อที่จะจัดสรรว่าบทเพลงเหล่านี้นี่แหละ ที่ช่วยบันทึกชีวิตอันสนุกเจิดจ้าของพวกเขาใต้ชายคาอาคารสูงของเมืองหลวง สะท้อนความเป็นไปของโตเกียวและนครใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อนว่าผู้คนมีชีวิตอยู่กันอย่างไร เหตุใดถึงได้ให้กำเนิดแนวเพลงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา (ทั้งสุขและเศร้า) แบบนี้ได้ เป็นสื่อบันเทิงที่เกี่ยวพันแนบแน่นไปกับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจยุคฟองสบู่ของคนญี่ปุ่น และเป็นบทบันทึกอันไพเราะที่แม้แต่เพลงจากเมืองใหญ่ไหนๆ ในโลกก็ไม่ได้ใช้คำว่าซิตี้ป๊อปร่วมกันกับพวกเขา
หาก “เครื่องปรับอากาศ-รถยนต์-โทรทัศน์สี” เป็นสมบัติที่ต้องมีในบ้านของคนญี่ปุ่นยุค 1960 ฉะนั้น “รัก-รถ-เมือง” ก็คือตัวเอกที่มีในแทบจะทุกเพลงของซิตี้ป๊อปเช่นกัน เพราะหลังจากที่โตเกียวถูกสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดย่อยยับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลก็มีการฟื้นฟูเมืองเรื่อยมาจนถึงต้นทศวรรษที่ 1950 หากช่วงปี 1980 คือยุคซากุระบานสะพรั่งให้เราได้เชยชมผ่านซิตี้ป๊อป ก่อนจะร่วงโรยไปเมื่อประสบวิกฤตการณ์ฟองสบู่ในปี 1991 แล้ว ย้อนกลับไปที่ช่วงทศวรรษที่ 1950-1970 จึงเป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ปัจจัยที่เริ่มเตรียมดินให้อุดมสมบูรณ์เริ่มตั้งแต่การเข้ามาจัดระเบียบประเทศใหม่ของสหรัฐฯ หลังสงครามโลก ปี 1946 กองบัญชาการสูงสุดฝ่ายพันธมิตร (The Supreme Commander for the Allied Powers - SCAP) ช่วยร่างรัฐธรรมนูญโชวะที่เปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นจากประเทศจักรวรรดิและบูชาองค์จักรพรรดิสู่การเป็นประชาธิปไตย ที่สำคัญคือในรัฐธรรมนูญบทที่ 2 ว่าด้วยการการละเว้นซึ่งสงคราม ญี่ปุ่นถูกสั่งห้ามไม่ให้มีกองทัพบก เรือ และอากาศ รวมถึงการประกาศตัวว่าจะไม่เข้าร่วมสงครามใดๆ ด้วย แม้บทบัญญัติข้อนี้จะมาจากผลพวงของสงครามโลก แต่หลังจากนั้น ในบรรยากาศของสงครามเย็น สองขั้วอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยที่ฟาดฟันกันอย่างดุเดือด ญี่ปุ่นกลับไม่ต้องเตรียมกำลังเพื่อร่วมรบพุ่งอีก แต่สามารถทุ่มงบประมาณไปกับการฟื้นฟูประเทศได้อย่างเต็มที่ เปลี่ยนเป้าหมายจากการประกาศแสนยานุภาพทางการทหารไปเป็นผู้นำแห่งโลกเศรษฐกิจทุนนิยมแทน
อาจบอกได้ว่าสงครามเย็นบนคาบสมุทรเกาหลีคือปุ๋ยเร่งโตของแดนซากุระก็ย่อมได้ เมื่อสหรัฐฯ สนับสนุนฝ่ายใต้ จีนและโซเวียตหนุนฝ่ายเหนือ จากที่ห้ามญี่ปุ่นเข้าร่วมสงคราม นายกรัฐมนตรี ชิเงรุ โยชิดะ กลับลงนามสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในปี 1952 อนุญาตให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในญี่ปุ่นได้ สหรัฐฯ จึงตั้งฐานทัพใหญ่ที่เกาะโอกินาว่า แลกกับจะช่วยคุ้มครองอธิปไตยหากถูกรุกราน จนกว่ากองกำลังป้องกันตนเอง (Self Defense Force) ของญี่ปุ่นจะเข้มแข็ง
การที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในฐานะฐานการผลิตและส่งออกสินค้าแก่กองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลี อุตสาหกรรมเครื่องอุปโภคบริโภคของญี่ปุ่นจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการนำเข้าเทคโนโลยีและพัฒนาอุตสากรรมหนัก เช่น ยานพาหนะสงคราม อุตสาหกรรมโลหะ ถลุงเหล็ก กลั่นน้ำมัน เคมี ที่ญี่ปุ่นเคยมีในลักษณะกลุ่มไซบัตสึ (Zaibutsu) ที่โอบอุ้มเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ยุคเมจิถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
แม้ว่า SCAP จะออกกฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Anti Monopoly Law) ในปี 1947 เพื่อยกเลิกกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อย่างไซบัตสึ เช่น มิตซูบิชิ มิตซุย มัตสึโมโต ยาสุดะ เป็นต้น แต่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้ปรับกลยุทธ์กลายเป็นเคย์เรสึ (Keiretsu) เพื่อกระจายทุนไปยังบริษัทลูกหรือเปิดบริษัทใหม่เพื่อคงสภาพ “เครือข่ายทางธุรกิจ” ไว้เช่นเดิม โดยความสัมพันธ์ในเคย์เรสึโยงใยซับซ้อนมาก มีการถือหุ้นข้ามบริษัท การแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์และทุนการผลิตแก่กัน ให้กู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ
กลุ่มเคย์เรสึครอบคลุมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของประเทศ เช่น ธนาคาร ประกันภัย รถยนต์ โลหะ การค้าระหว่างประเทศ การขนส่งทางเรือ ซึ่งกลุ่มเคย์เรสึมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม เพราะมีบริษัทสมาชิกมากและหลากหลายประเภท และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านทางกระทรวงระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (The Ministry of International Trade and Industry - MITI) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1949 ผู้ให้คำปรึกษากับบริษัทญี่ปุ่นที่จะไปลงทุนหรือส่งออกสินค้ายังต่างประเทศ
MITI เป็นอีกปุ๋ยเร่งโตของเศรษฐกิจที่สามารถป้องกันการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติในญี่ปุ่น ควบคุมการแข่งขันกันเอง ให้คำแนะนำเรื่องการผลิตและหาตลาดใหม่ๆ แก่ภาคเอกชน การย้ายฐานการผลิต สนับสนุนด้านการกู้ยืมทุนดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐ หรือกระทั่งหาวิธีเจรจาหลีกเลี่ยงกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่ออกโดย SCAP ด้วย
จากการร่วมมือของรัฐและกลุ่มธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดเหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จนได้ประกาศความสำเร็จแก่ชาวโลกผ่านการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1964 ที่โตเกียว และเปิดเส้นทางรถไฟชินคันเซ็นได้เป็นครั้งแรกในมหกรรมกีฬานี้ เจ้ารถไฟหัวกระสุนวิ่งพุ่งจากเมืองหลวงทิศตะวันตกสู่ปลายทางเมืองใหญ่อย่างโอซาก้า จากนั้นโอซาก้าได้งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยี หรืองาน Expo '70 เผยแพร่ภาพความทันสมัยล้ำยุคออกสู่สายตานานาชาติ
How 1980s Japan Became History's Wildest Party | Earthquake Bird | Netflix
เมื่อสองเมืองใหญ่ได้รับเลือกให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ดังนั้นทั้งผังเมือง สถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์เมือง สาธารณูปโภค และระบบขนส่งสาธารณะจึงพัฒนาตามไปอย่างไม่หยุดยั้ง หลังยุคเติบโตสู่ช่วงบานสะพรั่ง ในปี 1966-1975 ญี่ปุ่นก้าวขึ้นแท่นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลกรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น
ทว่าแม้การขนส่งทางรางมีรากฐานมาแล้วนับร้อยปีตั้งแต่ยุคเมจิ มีชินคันเซ็นมาก่อนหน้าเกือบ 20 ปี และมหานครโตเกียวในปี 1980 จะมีรถไฟฟ้าครอบคลุมทั้ง 23 เขตพิเศษชั้นในและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งรองรับแรงงานที่เข้ามาทำงานในย่านธุรกิจต่างๆ โดยประชากรประมาณแปดล้านคน หรือราวๆ 70% ของคนโตเกียวทั้งหมดนั้นอยู่ในวัยทำงานอายุ 15-64 ปี ดังที่เราเคยเห็นผ่านตาจากข่าวมาบ้างว่า ชั่วโมงเร่งด่วนเป็นช่วงที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนต้องอัดตัวเองเข้าไปในตู้รถไฟให้ทันเวลาเข้างาน แต่กระนั้น กลับสังเกตว่าน้อยมากที่เพลงซิตี้ป๊อปจะพูดถึงการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่เป็นกระดูกสันหลังของคนเมือง แต่วาดภาพฝันถึงการขับรถเที่ยวไปกับคนรู้ใจเสียมากกว่า
ช่วงปี 1980 ที่ซิตี้ป๊อบกำลังเฟื่องฟู ประชากรกลางวัน (Daytime Population) ของโตเกียวซึ่งเดินทางออกไปทำงานนอกบ้านในชั่วโมงทำการนั้น มีกว่า 14 ล้านคน นับรวมแรงงานจากจังหวัดปริมณฑลติดกันอย่างคานากาวะ ไซตามะ และชิบะด้วย มวลชนมหาศาลเหล่านี้เดินทางเวียนวนในจังหวัดและเข้าออกเมืองหลวงด้วยระบบขนส่งสาธารณะและรถยนต์ส่วนตัว โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลในโตเกียวมีถึง 1,806,602 คัน คานากาวะ 1,150,132 คัน ไซตามะ 964,635 คัน และชิบะ 800,312 คัน บ่งบอกถึงความหนาแน่นของประชากรคนและจำนวนรถยนต์ที่มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
จนไม่แปลกใจว่าทำไมในเพลงซิตี้ป๊อปถึงมีแต่กิจกรรมขับรถ ขับรถ และขับรถ ในเมื่อรถยนต์เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเจริญ ความร่ำรวย เป็นส่วนตัว อาจบอกได้ว่าแม้ระบบขนส่งทางรางจะเป็นความภาคภูมิใจมวลรวม แต่ถ้ามีรถยนต์ในครอบครองนั้นเป็นความภูมิใจต่อหัวก็ได้
ลองคิดดูว่ามันจะเท่กว่าสักแค่ไหนในภาพถ้าเราได้ขับรถไปตามถนนลาดยางสีเข้ม แสงแดดตกกระทบหลังคามันเงา ยืดแขนขาหนึ่งกุมพวงมาลัย อีกข้างดันกรอบแว่นกันแดด เปิดแอร์เย็นฉ่ำ ปรายตามองกลุ่มคนที่กำลังวิ่งหน้าตั้งลงสถานีรถไฟใต้ดินอย่างสบายอารมณ์ ในยุคที่รถยนต์ส่วนตัวในประเทศขายดิบขายดี รถสัญชาติอื่นเร่เข้ามาทำตลาด หรือกระทั่งฮอนด้าที่ก้าวไปอีกขั้น โดยกระโดดไปลงสนามแข่ง Formula One ในต่างประเทศจนคว้าชัยชนะมาหลายครั้ง รถยนต์จึงเป็นความภาคภูมิใจของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และเป็นภาพตัวแทน “ความจ๊าบ” ที่ขาดไม่ได้ในสื่อบันเทิงทั้งหลาย
Dedication to all precious City Pop songs
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in