เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
“ตายตะแคง” : คนไร้บ้าน...คนชายขอบที่สังคมกำจัดให้ลงท่อ
  •          

                “ตายตะแคง  เป็นเรื่องสั้นจากหนังสือเรื่อง วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย  เขียนโดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ผู้เขียนเดียวกับหนังสือเรื่อง สิงโตนอกคอก ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ.2560  หนังสือเรื่อง วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย รวบรวมเรื่องสั้นไว้ทั้งหมด 9 เรื่อง แต่ละเรื่องมีจุดร่วมกันคือเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครที่เจ็บปวดจากความทรงจำที่ผ่านมาในชีวิตซึ่งอัดอั้นไปด้วยความรู้สึกที่ถูกกดทับจากสังคม เรื่องสั้นแต่ละเรื่องหลอมรวมกันเกิดเป็นเอกภาพจนทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับสภาพสังคมปัจจุบันนอกตัวบทว่า ในชีวิตจริงนั้นมีคนที่เจ็บปวดจากสภาพสังคมเช่นเดียวกับตัวละครในงานเขียนของจิดานันท์หรือไม่ ?


    ที่มาภาพจาก https://readery.co/9786167831145-3

        

    ตายตะแคง เป็นเรื่องสั้นลำดับที่ 9  เล่าเรื่องราวของ ฉันหญิงสาวคนหนึ่งที่ตีแมลงสาบตัวหนึ่งที่มารุกล้ำตู้หนังสือของเธอจนมันตายโดยที่แมลงสาบตัวนั้นยังไม่ทันได้ทำให้ข้าวของของเธอเสียหายแต่อย่างใด วินาทีที่เธอเห็นว่าแมลงสาบตัวนั้นแน่นิ่งไปแล้วทำให้เธอเกิดความรู้สึกยินดีที่พบว่าศัตรูที่เธออาฆาตได้สิ้นลมหายใจไปแล้ว แต่เธอกลับเกิดความรู้สึกผิดและรังเกียจตนเองขึ้นมาทันทีหลังจากที่ได้มองดูศพที่นอนตะแคงของแมลงสาบตัวนั้น เพราะท่านอนตายตะแคงนั้นทำให้เธอนึกถึงคนจรจัดคนหนึ่งที่มานอนอยู่ตรงพื้นที่ว่างตรงทางเท้าหน้าบ้านเก่าของเธอเมื่อสี่ห้าปีก่อน

                เรื่องราวในเรื่องสั้นเริ่มต้นจากการที่ ฉัน” พยายามที่จะกำจัดแมลงสาบที่เธอเห็นว่ามาอยู่ในตู้หนังสือที่เธอหวงแหน เนื่องจากเธอมีอคติต่อเผ่าพันธุ์ของมันว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบสร้างความเดือดร้อนด้วยการทิ้งคราบฉี่หรือคราบมูลของมันไว้บนสิ่งของต่างๆ  ถึงแม้ว่าจะไม่มีหนังสือของเธอเล่มใดเลยที่เลอะคราบฉี่หรือคราบมูล อีกทั้งในห้องของเธอก็ยังไม่มีกองมูลของแมลงสาบแม้แต่น้อย แต่เธอก็ตั้งใจตีมันด้วยรองเท้าของเธอเองซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายครั้งจนแน่ใจว่ามันตายแล้วจึงหยุด ศพของมันบี้แบนและนอนตายด้วยท่าตะแคงงอขาทุกข้าง  ภาพศพของมันที่นอนตายตะแคงนั้นเองทำให้ภาพความทรงจำเก่าๆ ย้อนกลับเข้ามาในมโนสำนึกของเธอ เหตุการณ์ปัจจุบันขณะในเรื่องถูกหยุดไว้เพียงเท่านั้น ก่อนที่ผู้เขียนจะพาเราย้อนกลับไปสู่เรื่องราวในอดีตผ่านความทรงจำที่แล่นเข้ามาในสมองของเธอ

              เธอนึกย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสี่ถึงห้าปีก่อน ที่บ้านเก่าของเธอ ในคราที่ย่าของเธอกำลังป่วยและบ้านของเธอกำลังประกาศขาย  มีชายจรจัดคนหนึ่งมักมานอนขดตัวอยู่ตรงทางเท้าหน้าบ้านของเธอ พ่อและแม่ของเธอพยายามไล่ชายจรจัดคนนี้ให้ออกไปก่อนที่จะถึงวันนัดที่จะมีคนเข้ามาดูบ้าน  แต่ชายจรจัดก็มีท่าทีนิ่งเฉยเหมือนไม่ได้ยิน  ต่อมา ย่าของเธอก็อาการทรุดลงหนัก ต้องกลับมารักษาตัวที่บ้าน  ไม่นานย่าของเธอก็สิ้นใจลงอย่างสงบด้วยท่านอนตะแคงในห้องนอน    ชีวิตครอบครัวของเธอดำเนินต่อไป พ่อของเธอพยายามไล่ชายจรจัดคนนั้นไปให้ไกลเพราะกลัวว่าเขาจะทำให้บ้านราคาตก แต่กลับพบความจริงว่า ที่ชายคนนั้นนอนตะแคงทำท่าว่าไม่ได้ยิน ไม่ใยดีอะไร เป็นเพราะแท้จริงเขาได้ตายไปแล้ว พ่อของเธอรีบเรียกกู้ภัยมาจัดการกับศพชายจรจัดผู้นั้น ไม่มีร่องรอยใดหลงเหลืออยู่เพื่อเป็นหลักฐานเลยว่าเขาเคยมีชีวิตอยู่ที่นี่  ไม่มีแม้แต่การจัดงานศพหรือการแสดงความเสียใจจากใครทั้งสิ้น แตกต่างไปจากย่าของเธอที่มีคนจัดงานศพและเสียใจกับการจากไป เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมทุกคนถึงปฏิบัติกับชายจรจัดอย่างไม่สนใจใยดีว่าเขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ทำไมทุกคนถึงคิดว่าเขาจะทำให้หน้าบ้านสกปรก และพื้นที่ตรงนั้นก็เป็นทางเท้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะจริงๆ แล้ว เรามีสิทธิ์ไปไล่เขาหรือไหม เรื่องจบลงตรงที่ผู้เขียนพาให้  ฉัน” กลับมา ณ เวลาปัจจุบันของเรื่อง เธอเข้าใจแล้วว่าทำไมแมลงสาบตัวนั้นถึงทำให้เธอนึกย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีต เธอวิ่งไปที่ถังขยะ ประคองศพแมลงสาบด้วยสองมือเปล่า แล้วนำมันออกไปฝังไว้ที่สวน


    ที่มาภาพจาก https://unsplash.com/photos/yOzIE5VTEpo

              จิดานันท์เล่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ผ่านมุมมองของบุคคลที่หนึ่งคือ ฉัน”  เน้นการดำเนินเนื้อเรื่องผ่านความคิดของฉัน” ซึ่งเล่าเรื่องด้วยการบรรยายฉายภาพสิ่งที่ "ฉัน"​ มองเห็น ไปพร้อมๆ กับพรรณนาความรู้สึกนึกคิดของตนเองในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน  การเล่าเรื่องแบบบุคคลที่หนึ่งนี้เอง ทำให้ผู้อ่านสามารถรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอีกทั้งยังทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางอารมณ์ของตัวละครได้อย่างชัดเจน เราจะเห็นได้ว่า ฉันมีวิวัฒนาการทางอารมณ์อย่างมากกล่าวคือ ในตอนเริ่มเรื่องเธอเป็นคนที่สังหารแมลงสาบที่บุกรุกพื้นที่บริเวณตู้หนังสือที่เธอหวงแหนอย่างไม่ปรานีและยินดีด้วยซ้ำที่เห็นมันตาย แต่แล้วความรู้สึกผิดก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในใจของเธอ เมื่อเธอย้อนนึกถึงสาเหตุว่าทำไมเธอถึงรู้สึกผิดจนแจ่มแจ้งแล้ว ความรู้สึกภายในก็ท่วมท้นล้นออกมาเป็นน้ำตาที่เอ่ออยู่ริมขอบตา ผู้อ่านรับรู้ได้ว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในจิตใจ เมื่อเธอนำศพของแมลงสาบตัวนั้นไปฝัง แทนที่จะทิ้งศพของมันไว้ที่ถังขยะเฉย ๆ

    ตลอดการอ่าน  ภาพในมโนทัศน์ที่เกิดขึ้นระหว่างอ่านคล้ายคลึงกับภาพที่เราเห็นเมื่อดูภาพยนตร์ ผู้อ่านรับรู้ เห็นเหตุการณ์ทุกอย่างผ่านมุมมองของ ฉัน”  ได้ซึมซับความรู้สึกนึกคิดของเธอ ได้รับรู้การกระทำของบุคคลรอบตัวเธอ  ขณะเดียวกัน วิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้กลับทำให้รู้สึกอึดอัดเมื่ออ่าน อาจเป็นเพราะ ฉันในเรื่องนั้นเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในเรื่องเล่าย้อนอดีต เมื่อเรารู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของเธอจึงยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัดกับการที่เธอไม่ลงมือทำอะไรเลย  ถึงแม้ว่าเธอสามารถที่จะทำอะไรบางอย่างได้ หากเธอมีความกล้ามากเพียงพอ ยกตัวอย่างจากตัวบทหน้า 72 ความว่า

    ฉันคิดว่าเขาไม่สบายฉันกลับเข้าบ้าน คิดว่าจะเอาแอสไพรินให้เขา คิดว่าช่วย ๆ กันไปเหมือนให้เงินขอทานน่ะแหละ ระหว่างที่หายา พ่อหันมาถามว่าทำอะไรพอฉันบอกว่าหายาให้คนจรจัด พ่อก็ว่า เอาให้มันทำไมเดี๋ยวมันก็ไม่ไปไหนหรอก แต่เขาป่วยนะคะ ฉันบอก พ่อมองหน้าฉันแล้วบอกว่า ไปดูย่าแกไป ฉันเลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ และเอาน้ำไปให้ย่าในห้องแทน”

    จากตัวบทข้างต้น จะเห็นได้ว่าเธอมีเมตตาต่อชายจรจัดคนนั้นก็จริง แต่เธอมีความกล้าไม่มากพอที่จะขัดขืนคำสั่งของพ่อ ถ้าหากเธอมีความกล้ามากพอ เธออาจจะไม่ต้องจำนน ยอมเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์อีกต่อไป แต่เธอจะสามารถไปตรวจดูได้ว่าชายจรจัดผู้นั้นยังสบายดีหรือเปล่า เธอจะสามารถเอายาไปให้เขาได้ถึงแม้ว่าพ่อของเธอจะห้าม แต่แล้วเธอก็ไม่ได้ทำมัน นอกจากกังขาต่อสิ่งที่ทุกคนปฏิบัติต่อชายจรจัดผู้นั้น นอกเหนือไปจากนั้นเธอยังลืมตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วทำไมตัวเธอถึงไม่ลงมือช่วยเขาบ้าง หรือการที่เธอมองเห็นแต่ไม่ได้ช่วยเหลือเขาเท่ากับเธอสนับสนุนและยอมรับความไร้เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์หรือเปล่า ?

    นอกจากความกล้าของเธอที่ไม่เพียงพอแล้ว ความเมตตาที่เธอมีต่อชายไร้บ้านผู้นั้นก็อาจจะไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน จริงอยู่ว่าเธอเป็นคนที่มีเมตตาและเห็นใจเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่เธอมีความคิดที่จะเอายาไปมอบให้แก่ชายไร้บ้านหรือ การตั้งคำถามต่อคนรอบตัวและสังคมว่าทำไมถึงปฏิบัติต่อชายไร้บ้านเยี่ยงนั้น แต่ความคิดของเธอที่ว่า คิดว่าช่วย ๆ กันไปเหมือนให้เงินขอทานน่ะแหละ อาจจะไม่ได้ช่วยดึงให้กลุ่มคนไร้บ้านในสังคมเรามีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริงๆ นอกจากจะเป็นการกระทำที่ทำไปเพื่อให้เรามั่นใจว่าเขาจะรอดตายในวันนี้ แต่การกระทำนี้ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าในวันหน้า วันถัด ๆ ไป หรือในอนาคต เขาจะมีชีวิตรอดต่อไปได้ อีกสิ่งที่เราต้องมองให้ไกลกว่าความคิดที่ว่า ช่วย ๆ กันไป เหมือนให้เงินขอทาน ก็คือการตั้งคำถามว่า สังคมเราต้องทำอย่างไรให้กลุ่มคนกลุ่มนี้มีชีวิตรอดปลอดภัยโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่างหาก

    ถึงแม้ว่าในเรื่องสั้นเรื่องนี้จะไม่ได้บอกผู้อ่านอย่างชัดเจนถึงวิธีที่เราจะสามารถแก้ปัญหาคนไร้บ้านที่มีอยู่ในสังคมของเราก็ตาม แต่เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนอีกหนึ่งแรงกระตุ้นมโนสำนึกของผู้อ่านทุกคนให้ตระหนักและตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่ปกติที่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติในสังคมของเราได้อย่างดี

    ผู้เขียนสร้างภาพเปรียบระหว่าง "แมลงสาบ" กับ "ชายจรจัดไร้บ้าน"  เพื่อให้เราเห็นถึงความคล้ายคลึงของสองสิ่งนี้ว่า ทั้งคู่เป็นสิ่งที่สังคมรังเกียจและต้องการกำจัดให้พ้นไปถึงแม้ว่าทั้งคู่จะยังไม่ได้ทำอะไรให้เราเดือดร้อนหรือเสียหายแม้แต่น้อย จากในตัวบทเราจะเห็นได้ว่า คนในครอบครัวของฉัน มองว่า ชายไร้บ้านจะทำให้หน้าบ้านของเขาสกปรก ทั้งที่จริง ๆ แล้วชายไร้บ้านคนนี้ยังไม่ได้ทำอะไรสกปรกเลย ไม่ต่างจากการที่ ฉัน” มองว่าแมลงสาบจะทำให้หนังสือของเธอสกปรก ทั้งๆ ที่จริงแล้วแมลงสาบตัวนั้นยังไม่ทันทำอะไรสกปรก แต่ทั้งแมลงสาบและชายไร้บ้านกลับถูกตัดสินไปก่อนแล้ว เพียงเพราะ "เป็น" ชายไร้บ้าน เพราะ "เป็น" แมลงสาบ

     ภาวะที่คนไร้บ้านโดนตราหน้าว่าเป็นคนที่จะทำให้ใคร ๆ เดือดร้อนในทุก ๆ ที่เขาอยู่ กลายเป็นสิ่งที่คนจรจัดเองไม่สามารถหลีกเลี่ยง การที่คนในสังคมปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เท่าเทียมเพียงเพราะเป็นคนไร้บ้าน กลับกลายเป็นสิ่งที่เป็นปกติในสังคมของเรา  มีผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่มองไม่เห็นว่าคนไร้บ้านก็เป็น มนุษย์” คนหนึ่งเหมือนกันกับทุกคน เช่นเดียวกับตัวละครพ่อแม่ของ ฉันที่มองว่าการที่ชายไร้บ้านมานอนหน้าบ้านไม่ต่างจากการมีขยะมองกองหน้าบ้าน ส่งผลให้บ้านของเขาสกปรก อีกทั้งยังกังวลว่าการตายของชายไร้บ้านจะทำให้ราคาบ้านของพวกเขาตก ทั้งที่ ย่า” คนในครอบครัวของพวกเขาก็ตายเหมือนกัน ยิ่งกว่านั้นย่ายังตายในบ้านด้วยซ้ำ แต่กลับไม่เห็นมีใครเป็นเดือดเป็นร้อนกังวลว่าบ้านจะราคาตกเลย ตัวบทนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมของเรามีชนชั้น แบ่งและจัดวางคุณค่าความเป็นมนุษย์ไว้ในระดับที่แตกต่างกัน  นอกจากนี้ในสังคมเรา ยังมีอีกหลายคนที่เป็นเหมือนกับ ฉัน” ในเรื่อง  "ฉัน" ที่มองเห็นทุกปัญหาแต่กลับไร้อำนาจหรือไม่มีความกล้ามากเพียงพอที่จะช่วยเหลือหรือส่งเสียงให้เกิดแก้ไขปัญหาต่อไป

    ปัญหาที่คนไร้บ้านต้องพบเจอในสังคมของเราไม่ใช่เพียงการถูกรังเกียจ ถูกตะโกนใส่ หรือถูกขับไสไล่ส่งจากคนแปลกหน้าเท่านั้น  คนไร้บ้านบางคนยังต้องเคราะห์ร้าย เผชิญชะตากรรมไม่ต่างจาก แมลงสาบ ที่ ฉัน” ได้กำจัดในต้นเรื่อง ในสังคมเรา มีคนจำนวนไม่มากที่จะรับรู้ถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเหล่านี้ จากบทความเรื่อง "คนไร้บ้าน" เหยื่อความรุนแรงที่ไร้ทางต่อสู้  โดย คุณอินทรชัยพาณิชกุล ที่ลงเว็ปไซต์โพสต์ทูเดย์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ปี พ.ศ.2557 ได้เขียนอธิบายความโชคร้ายที่คนไร้บ้านต้องเจอจากคนในสังคมไว้หลากหลายตัวอย่างเช่น ถูกวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งจุดไฟเผาร่างกายขณะที่กำลังนอนหลับริมฟุตบาทจนได้รับบาดเจ็บ ถูกรุมกระทืบจากคนแปลกหน้า ถูกรีดไถเงิน หรือ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือถูกคนเอาไม้ฟาดท้ายทอยจนเสียชีวิตที่ริมถนน เป็นต้นถึงแม้ว่ากลุ่มคนไร้บ้านจะเผชิญเหตุการณ์เหล่านี้อยู่เป็นประจำ ทั้งตอนที่รู้ตัวตอนที่ไม่รู้ตัว ตอนที่ไม่มีพยานรู้เห็น หรือตอนที่มีพยานรู้เห็นก็ตาม แต่เกือบทุกครั้งที่พวกเขาไม่เคยได้รับความเป็นธรรมหรือความเห็นใจ  ในกรณีที่มีคนไร้บ้านเสียชีวิตไม่ว่าจะด้วยจากสาเหตุใดก็ตามเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยก็จะเก็บศพของพวกเขาไปแล้วก็สิ้นสุดเพียงเท่านั้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก เสมือนกับว่าเขาไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง ไม่มีการชันสูตรศพไม่มีการเสาะหาสาเหตุ หลักฐานที่แสดงว่าเขาเคยมีชีวิตอยู่ ณ ตรงนั้นอันตรธานไป เหมือนกำจัดซากแมลงตัวหนึ่งให้หายไป เช่นเดียวกับตัวละครชายจรจัดในเรื่อง "ตายตะแคง" 


    ที่มาภาพจาก https://unsplash.com/photos/8UG90AYPDW4


    ข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นถึงจำนวนคนไร้บ้านในประเทศไทยในขณะนี้ว่า มีจำนวนราว 2,719 ราย และอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30  สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19  ที่ทำให้เกิดภาวะไร้งานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ทั้งที่ คนไร้บ้านมีจำนวนมากถึงหลักพันและมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกันกลับไม่ค่อยรับรู้ถึงการมีตัวตนของพวกเขามากนัก อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาเราหวาดกลัว รังเกียจ และมีอคติต่อกลุ่มคนไร้บ้านไปก่อนเช่นเดียวกับครอบครัวของ ฉัน” ในเรื่อง หรือเป็นเพราะทางภาครัฐและภาคเอกชนพยายามปกปิดเรื่องราวของพวกเขาให้หายไปไม่ต่างจากการกำจัดแมลงสาบให้หายลงไปในท่อระบายน้ำ เราถึงไม่เคยตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมที่พวกเขาได้รับมาตลอด ทั้งที่พวกเขาก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่งในประเทศ  ภาครัฐควรมีนโยบายที่ช่วยส่งเสริมให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สนับสนุนให้พวกเขาได้มีอาชีพทำมาหากินอย่างสุจริต และมีที่อยู่อาศัยร่วมกัน โดยทำนโยบายให้รูปธรรมผ่านการปฏิบัติจริง ร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนไร้บ้านใหม่  ให้โอกาสที่จะได้ทำมาหากินอย่างเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปในสังคม ไม่เมินเฉยเมื่อเกิดความรุนแรงแต่ลงมือช่วยเหลือพวกเขา  และที่สำคัญคือต้องมองว่าพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งไม่ใช่ แมลงสาบ” ที่น่ารังเกียจ ไม่น่าเข้าใกล้ และไร้ค่า ไม่ว่าชีวิตนั้นจะเป็นของแมลงสาบ หรือของคน แต่ก็ควรเท่าเทียมกันในฐานที่มีชีวิต ไม่ใช่โทษฐานที่มีชีวิต

    การมองเห็นปัญหาและตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นก้าวที่สำคัญของการเรียกร้องความเท่าเทียมให้แก่เพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมสังคมของเรา แต่กระนั้นการมองเห็นแต่ไม่ได้ลงมือช่วยเหลือหรือกระทำสิ่งใดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็เหมือนการซกขยะไว้ใต้พรม บางครั้งการช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่อย่างน้อยที่สุดก็ภายในจิตใจของเรา เรื่องสั้น "ตายตะแคง" สร้างความตระหนักรู้แก่เราว่า  การรับรู้ ได้เห็น ได้คิิด แต่วางเฉย ไม่ได้ลงมือช่วยเหลือหรือทำอะไรบางอย่างนั้น อาจจะทำให้คุณแตกสลายจากความทรงจำในอดีต ที่คุณเป็นได้เพียงผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมันอาจจะติดตามหลอกหลอนให้คุณต้องเจ็บปวดเหมือนกับ ฉันในเรื่องทั้งในขณะปัจจุบัน และอาจสืบเนื่องไปในอนาคต.


    ที่มาภาพจาก https://unsplash.com/photos/Skhc2Bm7J4s

            "เรื่องสั้น 'ตายตะแคง' สร้างความตระหนักรู้แก่เราว่า  การรับรู้ ได้เห็น ได้คิด แต่วางเฉย ไม่ได้ลงมือช่วยเหลือหรือทำอะไรบางอย่างนั้น อาจจะทำให้ คุณแตกสลายจากความทรงจำ ในอดีต ที่คุณเป็นได้เพียงผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมันอาจจะติดตามหลอกหลอนให้คุณต้องเจ็บปวดเหมือนกับ 'ฉัน' ในเรื่องทั้งในขณะปัจจุบัน และอาจสืบเนื่องไปในอนาคต. "




    แหล่งอ้างอิง

    ไทยโพสต์. (2563). เผยผลสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศพบ 2,719ราย เสนอรัฐสนับสนุนสร้างบ้านกลางให้คนตกงาน-ผู้ป่วยมีที่อยู่อาศัย. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2563 จาก https://www.thaipost.net/main/detail/55403

    บุณิกาจูจันทร์. (2564). ส่องมาตรการป้องกันภาวะไร้บ้านและที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงท่ามกลางวิกฤติโควิด(1). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์2564 จาก https://penguinhomeless.com/ส่องมาตรการการป้องกันภ/

    อินทรชัยพาณิชกุล. (2557). "คนไร้บ้าน"เหยื่อความรุนแรงที่ไร้ทางต่อสู้. สืบค้นเมื่อ16 ตุลาคม 2563จากhttps://www.posttoday.com/social/local/308697 


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์(ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558

    ผู้เขียน : สุพิชฌาย์ ชีวพิทักษ์ผล นิสิตเอกภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา "วรรณกรรมวิจารณ์" ปีการศึกษา 2563 

    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง

     

     

     

     

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Tanakrid Chanburi (@fb3907966482641)
รู้สึกว่าคมคายมากครับกับประโยคที่ว่า "ไม่ว่าชีวิตนั้นจะเป็นของแมลงสาบ หรือของคน แต่ก็ควรเท่าเทียมกันในฐานที่มีชีวิต ไม่ใช่โทษฐานที่มีชีวิต"