"ดินแดนคนตาบอด" (The Country of the Blind) เป็นเรื่องสั้นแนวดิสโทเปีย ประพันธ์โดย นักเขียนชาวอังกฤษเลื่องชื่ออย่าง “เอช จี เวลส์” (H. G. Wells) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่ง นิยายวิทยาศาสตร์ และได้ฝากผลงานวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงไว้จำนวนหนึ่ง เช่น เดอะไทม์แมชชีน (The Time Machine) มนุษย์ล่องหน (The Invisible Man) และสงครามระหว่างโลก (The war of the world) เป็นต้น เรื่องสั้น “ดินแดนคนตาบอด” ฉบับภาษาไทย แปลโดย “มโนราห์” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สมติ ข้าพเจ้าเคยอ่านฉบับแปลไทยแล้วครั้งหนึ่ง แต่สาเหตุที่ข้าพเจ้าต้องหยิบเรื่องสั้นเล่มเล็กนี้มาอ่านอีกครั้งหนึ่ง และคิดจะเขียนบทวิจารณ์นั้น เป็นเพราะข้าพเจ้าอยู่ท่ามกลางบรรยากาศ ทางการเมืองที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ หันกลับไปอ่านวรรณกรรมแนวดิสโทเปียสะท้อนสังคมการเมืองเรื่องเผด็จการอย่าง หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ข้าพเจ้าจึงอ่าน “ดินแดนคนตาบอด” ด้วยเห็นว่าอยู่ในแนวเรื่องเดียวกัน และจำได้อย่างเลือนลางว่ามีเนื้อหาสะท้อนสังคมเหมือนกัน
"ดินแดนคนตาบอด" มีเนื้อเรื่องอยู่สองฉบับ เพราะเกิดจากการเขียนต่อเติมในภายหลังโดย ผู้ประพันธ์เอง โครงเรื่องหลักของทั้งสองฉบับมีความคล้ายคลึงกัน เพียงแต่เหมือนเป็นการแก้สำนวน ในฉบับใหม่ให้มีความลื่นไหลมากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงระหว่างฉบับเก่าและใหม่คือ “ตอนจบ” การจะทำความเข้าใจประเด็นที่ข้าพเจ้าจะวิจารณ์ต่อไปนั้น จำเป็นจะต้องทราบถึงเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้น จึงขออนุญาตกล่าวเชิญชวนให้ผู้ที่ไม่เคยอ่านวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมเรื่องนี้ให้ไปลองอ่านกันก่อน แต่ถ้าหากผู้ใดต้องการทราบเพียงเรื่องอย่างย่อตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว ข้าพเจ้าขออธิบายดังต่อไปนี้
เรื่องเริ่มต้นจากชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่า "นูเนซ" ซึ่งออกเดินทางไปปีนเขาร่วมกับคณะและได้พลัดตกลงไปในหุบเขาสูงชัน เขาพบว่าตนเองได้มาหยุดอยู่เบื้องหน้าหมู่บ้านลักษณะแปลกตาที่มีผู้อาศัยเป็นกลุ่มคนตาบอดทั้งหมด ในความคิดตอนแรก นูเนซต้องการที่จะยึดครองหมู่บ้านคนตาบอด เพราะทะนงใจในความสามารถเรื่องการมองเห็นของตัวเอง แต่เมื่ออาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ต่อไป นูเนซพบว่าความสามารถในการมองเห็นของเขาไม่ได้เป็นประโยชน์อันใดเลย หากแต่ยังเป็นภาระเสียมากกว่า ระหว่างอยู่ที่หมู่บ้าน นูเนซพยายามเล่าถึงสิ่งที่เขาเห็นจากโลกภายนอกให้คนในหมู่บ้านฟัง ชาวบ้านตาบอดไม่เข้าใจความหมายของการมองเห็นจึงคิดว่าเขาเป็นคนสติไม่ดี นูเนซเคยคิดหนี ออกไปจากหมู่บ้านครั้งหนึ่ง แต่ก็ต้องซมซานกลับมาเพราะความหิวโหย และตอนที่กลับมานั้นเอง นูเนซยอมทิ้งเรื่องโลกภายนอก และใช้ชีวิตเป็นข้ารับใช้อยู่ในหมู่บ้านคนตาบอดแห่งนั้น จนได้พบรักกับหญิงสาวตาบอดคนหนึ่งชื่อว่า "เมดินาซาโรต" แต่คนในหมู่บ้านมีท่าทีไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่า นูเนซเป็นคนไม่สมประกอบ พ่อของหญิงสาวจึงจัดประชุมและได้ข้อสรุปว่า หากจะอนุญาตให้นูเนซแต่งงานกับลูกสาวได้ จำเป็นจะต้องรักษานูเนซด้วยการควักนัยน์ตาออกเสียก่อน จึงจะกลับมาเป็นคนปรกติได้ ตอนแรกนูเนซไม่ยอม แต่เพราะความรักจึงต้องยอมรับคำในที่สุด เมื่อใกล้เวลาเข้ารับการรักษา นูเนซเดินหนีออกจากหมู่บ้านคนตาบอดไป เรื่องสั้นฉบับดั้งเดิมจบเรื่องเพียงเท่านี้ ขณะที่ฉบับใหม่ ผู้ประพันธ์เพิ่มเนื้อเรื่องต่อไปว่า หลังจากนูเนซเดินออกจากหมู่บ้าน ปีนขึ้นไปบนเทือกเขาแล้ว เขาพบรอยแตกที่เสี่ยงต่อการถล่มลงมาทับหมู่บ้านคนตาบอด เขาวิ่งเข้าไปเตือนคนในหมู่บ้าน แต่นอกจากจะไม่มีใครเชื่อแล้ว เขายังถูกทำร้าย และโดนไล่ออกมาจากหมู่บ้าน นูเนซสามารถช่วยเมดินาซาโรต หญิงคนรักของเขาได้ทัน ก่อนที่ภูเขาจะถล่มลงมากลบหมู่บ้านคนตาบอดให้หายไปตลอดกาล เรื่องจบลงที่นูเนซและภรรยาได้ออกมาใช้ชีวิตครอบครัวในโลกภายนอกอย่างมีความสุข
ความน่าสนใจของเรื่องสั้นนี้อยู่ที่ลักษณะที่เปิดกว้างแก่การตีความ กล่าวคือเราสามารถตีความ เชื่อมโยงความหมายที่แฝงอยู่ได้หลายแนวทาง ผ่านเครื่องมือหลากชนิดของผู้วิจารณ์แต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้เคยเขียนบทความเผยแพร่ในนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับที่ 577 วันที่ 13 สิงหาคม 2559[1] เปรียบเทียบเรื่องราวใน "ดินแดนคนตาบอด" กับ “เมืองสมมติ” ที่มีประชาชนมืดบอด ไม่รู้จักคำว่า “ประชาธิปไตย” ต้องการเพียงความสงบจึงสนับสนุนลัทธิเผด็จการ “นูเนซยุคใหม่” ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นคนเสียสติ ต้องโดนปรับทัศนคติและติดคุกในที่สุด หรือคุณกฤตพล วิภาวีกุล ก็ได้เขียนบทวิเคราะห์ไว้ท้ายหนังสือเล่มนี้ โดยชี้ว่า เนื้อหาของเรื่องนี้เป็นการให้ภาพยุคล่าอาณานิคมที่คนผิวขาวออกล่าอาณานิคม และจับคนผิวดำในต่างแดนมาทำเป็นทาส จากการตีความทั้งสอง เป็นที่แน่นอนว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้แฝงไว้ซึ่งนัยยะทางการเมืองบางประการ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าเห็น เมื่อได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้อีกครั้งไม่ใช่ประเด็นด้านการเมืองการปกครองอย่างที่ตนได้คาดหวังไว้ ในการอ่านรอบที่สองนี้ ข้าพเจ้ากลับพบว่า “เสียงของคนชายขอบ” เป็นประเด็นสำคัญที่เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้นำเสนอไว้
เมดินาซาโรต คนรักของนูเนซเองก็เป็นคนชายขอบเช่นเดียวกัน เราจะเห็นจากบทบรรยาย รูปร่างหน้าตาของเธอภายในเรื่องว่า “ในโลกของคนตาบอด เมดินาซาโรตไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชมนักเนื่องจากหล่อนมีโครงหน้าชัดเจน ขาดความเรียบราบมันเงาอันเป็นความงามของสตรีในอุดมคติของชายตาบอด” เราจะพบว่า เพราะความที่คนรักของนูเนซมีความงามที่ต่างไปจาก “อุดมคติของชายตาบอด” ทำให้เธอ “ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชมนัก” ถือเป็นการตีตราผ่านเรือนร่างอย่างหนึ่ง ขณะที่นูเนซถูกตีตราเพราะความเป็นอื่น ความไม่เหมือนใคร เมดินาซาโรตก็ถูกตีตราด้วยคุณค่าความงามในอุดมคติของคนในสังคม ทั้งสองคนจึงมีความเป็น “ชายขอบ” ด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งสองถึงรักกันได้ นอกจากนี้บทบรรยายยังเขียนต่อไปอีกว่า “ขนตาหล่อนยาวงอนงาม ซึ่งถือกันว่าเป็นความอัปลักษณ์ร้ายแรง และเสียงพูดของหล่อนก็เบา” อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ จากการบรรยายก่อนหน้านี้จะสังเกตว่า เป็นการบรรยายลักษณะหน้าตาทั้งสิ้น แต่พอมาในบทบรรยายที่สอง กลับมีคำบรรยายประการหนึ่งที่โดดเด่นออกมาอย่างเห็นได้ชัดคือ “เสียงพูดของหล่อนก็เบา” ข้าพเจ้าคิดว่า ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ว่า “เสียง” ของคนชายขอบนั้น “เบา” ยิ่ง เมื่อต้องอยู่ในสังคม ที่ไม่เข้าใจซึ่งความแตกต่างเช่นนี้ การเล่นเรื่องเสียงเบานี้ ไม่ใช่การแฝงไว้เพียงผิวเผินเท่านั้น หากแต่ยังสัมพันธ์กับเรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อด้วย
แล้วเรื่องที่ผู้เขียนต้องการสื่อในความคิดของข้าพเจ้าคืออะไรกัน? เมื่อเราทราบแล้วว่าผู้เขียนต้องการสร้างให้ตัวละครนูเนซและเมดินาซาโรตเป็นตัวละครชายขอบ เราจำเป็นต้องพิจารณาต่อไปว่า ตัวละครทั้งสองมีความสำคัญอย่างไรต่อเนื้อเรื่อง หากเราพิจารณาจากตัวบทดั้งเดิมอาจจะไม่เห็นภาพได้ชัดนัก แต่เมื่อพิจารณาจากตัวบทฉบับแก้ไขใหม่แล้วจะเห็นได้ทันทีว่า ผู้เขียนต้องการมอบหน้าที่ให้คนชายขอบอย่างนูเนซเป็น “ผู้รู้เห็นความจริง” เรื่องภูเขาที่กำลังจะถล่ม เขาพยายามเข้าไปบอกแก่คนในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านกลับไม่มีใครฟังเสียงของเขาเลย เพราะเชื่อในสิ่งที่ตีตรานูเนซในฐานะคนชายขอบมาตั้งแต่ต้นคือเป็นคนสติไม่ดี มีเพียงคนเดียวที่ยอมฟังเสียงของเขาและตามเขาออกมาด้วย คนนั้นคือเมดินาซาโรต ข้าพเจ้าไม่คิดว่าเหตุที่ทั้งคู่รอดชีวิตมาได้นั้น เป็นเพราะทั้งคู่คือตัวเอกแต่อย่างใด หากแต่ข้าพเจ้าคิดว่าทั้งคู่เป็นตัวแทนของคนชายขอบที่เชื่อใจซึ่งกันและกัน จึงทำให้สามารถรอดพ้นจากวิกฤตมาได้ ต่างจากเหล่าคนในหมู่บ้านที่ไม่ยอมรับฟังเสียงของคนชายขอบ พวกเขาถึงได้รับผลแห่งการกระทำนั้น โดยต้องจมหายไปในกองภูเขาที่ถล่มลงมาตลอดกาล
เรื่องสั้น “ดินแดนคนตาบอด” ของเอช จี เวลส์ เป็นเรื่องราวที่ฉายภาพของคนชายขอบที่ต้องดิ้นรน ต่อสู้ ท่ามกลางสังคมที่ไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลาย แม้เมื่อคนชายขอบลุกขึ้นสู้ ลุกขึ้นต่อต้านอย่างสุดกำลังแล้วนั้น เขากลับต้องเป็นผู้พ่ายแพ้ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม เขากลับต้องถูกกลายกลืนให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ตามอย่างที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเรียกว่า “ปรกติ” ไปในที่สุด ทั้งยังฉายภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า “ความเป็นอื่น” หรือความเป็น “คนนอก” ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้เราสามารถกลายเป็นคนชายขอบได้ แม้แต่คนในเอง “ความแปลกแยก” หรือ “ความแตกต่าง” จากพวกเดียวกัน หรือในกรณีนี้ “ค่านิยม” ของพวกเดียวกัน ก็สามารถทำให้เรากลายเป็นคนชายขอบได้เช่นเดียวกัน เอช จี เวลส์ ได้ชวนให้ผู้อ่านฉุกคิด และตระหนักว่า เราทุกคนเองก็สามารถเป็นคนชายขอบได้ทุกขณะ เราก็ไม่ต่างจากคนชายขอบ และคนชายขอบก็ไม่ได้ต่างไปจากเรา เราในฐานะสมาชิกของสังคมใหญ่ จำเป็นจะต้องปฏิบัติต่อคนชายขอบให้เหมือนกับที่เราปฏิบัติกับคนทั่วไป ปฏิบัติต่อเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และเมื่อเขาเรียกร้องสิ่งใด เราควรจะต้องรับฟัง และพิจารณาต่อไป อย่าได้เป็นอย่าง “ดินแดนของคนมืดบอด” ที่นอกจากดวงตาที่มืดบอดมองไม่เห็นความจริงแล้ว ยังหูหนวกไม่ยอมฟังเสียงของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอีก.
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
ผู้เขียน: กิตติธัช รักษาคำ นิสิตเอกภาษาไทย (โทภาษาอังกฤษ) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา “วรรรกรรมวิจารณ์” ปีการศึกษา 2563 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
[1] https://prachatai.com/journal/2016/08/67419
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in