เพลง “นามิคาเระ” หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ “Even tears withered” เป็นเพลงของวงซึยุ (Tuyu) วงดนตรีญี่ปุ่นแนวเจป็อปซึ่งออกอัลบั้มครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เพลงนามิคาเระเป็นหนึ่งใน 11 เพลงจากอัลบั้มชุด ยัปปาริอาเมะวะฟุรุนดะเนะ หรือ It’s Raining After All เป็นอัลบั้มแรกและยังเป็นอัลบั้มเดียวของวงในขณะนี้
แม้วงซึยุจะเป็นวงดนตรีที่เพิ่งแจ้งเกิดในวงการได้ไม่นาน แต่ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็มองว่าวงซึยุเป็นกลุ่มดนตรีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้จะยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแต่เพลงของวงซึยุก็สามารถจับใจผู้ฟังได้หลายชาติหลายภาษา นอกเหนือจากดนตรีที่ไพเราะ (สำหรับข้าพเจ้าผู้ชื่นชอบเพลงแนวป๊อปและร็อค) เนื้อเพลงที่สะเทือนอารมณ์และ MV (music video) ที่สวยงามซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการชนะใจผู้ฟังแล้ว วงซึยุยังได้เผยแพร่ผลงานผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายและเป็นสากลอาทิ ยูทูบ สปอติฟาย แอมะซอนมิวสิค ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ผลงานด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมคือการผลิตแผ่น CD ขาย ซึ่งในช่องทางยูทูบนั้น ขณะนี้หลาย ๆ เพลงในอัลบั้มแรกได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศไม่น้อยกว่าสิบภาษา เช่น ภาษาสเปน ภาษาเกาหลี ภาษาไทย
เพลงของวงซึยุได้แสดงให้เห็นว่าดนตรีนั้นสามารถเป็นสื่อเชื่อมโยงมนุษย์ได้อย่างไร้พรมแดนไม่มีการแบ่งเชื้อชาติหรือวรรณะ ข้าพเจ้ามองว่าวงซึยุนั้นนอกจากจะมีผลงานคุณภาพดีแล้ว ยังเลือกใช้วิธีเจาะตลาดได้ทันสมัยสมกับเป็นวงดนตรีรุ่นใหม่ด้วย
จากผลงานที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแต่เพลงในอัลบั้มชุด It’s Raining After All เท่านั้น จะเห็นได้ว่าเพลงใหม่ของวงซึยุซึ่งปล่อยออกมาหลายเพลงแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศรวมอัลบั้ม ล้วนเกี่ยวข้องกับ "ความเศร้า" โดยเน้นไปที่ความทุกข์ใจของคนในช่วงวัยรุ่น (หากในอนาคตมีการกล่าวถึงช่วงวัยอื่นด้วยก็คงน่าสนใจไม่น้อย) อาจจะฟังดูน่าหดหู่ แต่นั่นก็คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของเพลงวงซึยุที่สามารถช่วยบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวอันเกิดจากการรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ โดยที่เพลงสามารถอยู่เคียงข้างผู้ฟังได้ นอกจากนี้เนื้อหาในช่วงท้ายของเพลงบางเพลงยังนำไปสู่สถานการณ์ที่ดีกว่าเดิมและเปี่ยมไปด้วยความหวัง กล่าวคือเพลงสามารถช่วยให้กำลังใจผู้ฟังได้
จริงอยู่ที่มีเพลงของวงดนตรีหรือศิลปินญี่ปุ่นคนอื่น ๆ ที่กล่าวถึงความทุกข์ของวัยรุ่นอยู่ไม่น้อย แต่ข้าพเจ้ามองว่าเพลงของวงซึยุนั้นแตกต่างออกไป เพราะสามารถนำเสนอประเด็นได้หลากหลายและมีมิติกว่า
วงดนตรีหรือศิลปินคนอื่น ๆ ที่แต่งเพลงเกี่ยวกับความทุกข์ของวัยรุ่นมักวนเวียนอยู่กับเรื่องของการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม การไม่มีเพื่อน ความเกลียดชังต่อระบบการศึกษา โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตายและการไม่สมหวังในความรัก ซึ่งความทุกข์ของเพลงวงซึยุนั้นมีมุมมองที่หลากหลายมากกว่านั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการกล่าวถึงความรู้สึกล้มเหลวของวัยรุ่นในหลายรูปแบบ แต่ละเพลงจะมีตัวละครประจำเพลงที่แตกต่างกันออกไป ทั้งด้านบุคลิก ความสนใจ การปฏิบัติที่ได้รับจากสังคมและปัญหาที่รบกวนจิตใจ
ดังเช่นเพลง "นามิคาเระ" ที่บอกเล่าถึงความทุกข์ใจของเด็กสาวคนหนึ่งที่ในวัยเด็กเคยได้รับคำชื่นชมจนทำให้เธอหลงนึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น แต่เมื่อเติบโตขึ้น กลับกลายเป็นว่าเธอรู้สึกว่าคนที่เธอมองว่าด้อยกว่ามาตลอดนั้นได้ประสบความสำเร็จแซงหน้าเธอไปเสียแล้ว เธอจึงมองว่าตัวเองล้มเหลว ทั้งยังไร้อนาคตเพราะไร้ความฝัน
ความมั่นใจที่พังทลายลงเพราะการมีคู่เปรียบเทียบ
เพลง "นามิคาเระ" อาจนำมาตีความได้ในหลายรูปแบบตามแต่ทัศนคติของผู้ฟัง ซึ่งข้าพเจ้าจะขอนำเสนอในแบบหนึ่งตามความเข้าใจของข้าพเจ้า เนื้อร้องและ MV ของเพลงนามิคาเระบอกเล่าถึงเรื่องราวของเด็กสาวคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตของตัวเอง ตัวเธอในตอนนี้ไร้ซึ่งความฝันและต้องการที่จะหาความฝันของตัวเองให้พบ เพราะเชื่อว่าความฝันจะช่วยให้เธอสามารถหลุดพ้นจากวังวนแห่งความว่างเปล่าได้ เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นตั้งแต่ที่เธอยังเป็นเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ เธอเคยมีความฝันมากมายเนื่องจากเป็นเด็กที่เก่งรอบด้าน เธอจึงมีเส้นทางในอนาคตที่สามารถเลือกเดินได้หลากหลายเส้นทาง ทั้งยังได้รับคำชื่นชม จนคิดว่าตัวเองมีความสามารถเหนือใคร ๆ นำไปสู่ความชะล่าใจในที่สุด
จนกระทั่งวันหนึ่งคนที่เธอเคยมองว่าด้อยกว่ามาตลอดกลับประสบความสำเร็จ เพราะคนคนนั้นมีทั้งความฝัน ความทะเยอทะยาน และความกล้าที่จะไล่ตามความฝันนั้น เธอดูจะไม่ชอบใจและอิจฉาในความหลงใหลที่อีกฝ่ายมีต่อสิ่งที่รัก รู้สึกว่าอีกฝ่ายกำลังดูถูกตนโดยการแสดงทัศนคติที่บ้าดีเดือดแบบคนทะเยอทะยาน อีกทั้งยังไม่ชอบใจที่อีกฝ่ายมีความสุข ในขณะที่ตัวเองกำลังทุกข์ทรมานกับชีวิตที่ว่างเปล่า เธอคงเจ็บปวดที่ชีวิตของตัวเองไม่ได้ดีอย่างที่เธอคาดหวังหรือคิดว่าควรจะเป็น คล้ายกับการยืนอยู่บนยอดหอคอยสูงเมื่อหอคอยพังทลายลง คนที่ยืนอยู่บนหอคอยก็จะได้รับบาดเจ็บเพราะตกลงมากระแทกพื้น ยิ่งหอคอยแห่งความคาดหวังสูงมากเท่าไรเวลาตกลงมาก็จะยิ่งเจ็บมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเธอไม่ใช่เพียงคนเดียวที่เจ็บปวดเด็กอีกคนที่มีความฝันและความทะเยอทะยานก็เคยเจ็บปวดมาไม่น้อย
ข้าพเจ้าคิดว่าคนที่มีความฝันและทะเยอทะยานจนตัวละครประจำเพลงนามิคาเระอิจฉานั้นคือเด็กสาวในเพลง “คุราเบราเร็กโกะ” หรือ “Compared Child” เพราะในเนื้อร้องของเพลง "นามิคาเระ" ได้พูดถึงเพลงดังกล่าวไว้ด้วย ความทุกข์ของเด็กสาวในเพลง "คุราเบราเร็กโกะ" คือการถูกเปรียบเทียบ เธอบอกว่าเธอรู้ตัวว่าไม่ว่าเธอจะทำอะไรก็สู้เด็กอีกคนไม่ได้และไม่มีทางที่จะเอาชนะเด็กคนนั้นได้เลย การเปรียบเทียบทำให้เธอเจ็บปวดจนอยากจะให้คนอื่นปล่อยเธอไว้พียงลำพัง ไม่ต้องมายุ่งมาทำให้เธอเสียใจอีก นอกจากนี้ คนอื่นยังดูถูกความฝันของเธอด้วย จนเธอเกือบที่จะล้มเลิกความฝันของตัวเอง คนรอบข้างทำให้เธอเกลียดชังในสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่เมื่อเธอสามารถยอมรับในความชอบและตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้แล้ว เธอก็สามารถยืนหยัดและสามารถก้าวต่อไปสู่อนาคตที่วาดฝันไว้ได้
ฉากที่เด็กสาวในเพลง "นามิคาเระ" ฟังเพลง "คุราเบะราเร็กโกะ" ซึ่งเป็นเพลงของเด็กอีกคนก็มีเนื้อร้องประมาณว่า “ฟังเพลงคุราเบะราเร็กโกะไปก็ไร้ความหมาย” ข้าพเจ้าคาดว่าหมายถึงการที่เธอรับฟังเมื่ออีกฝ่ายพูดถึงความฝันและสิ่งที่หลงใหล แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้เธอค้นพบความฝันของตัวเอง สิ่งที่เธอได้จากการรับฟังเด็กอีกคนจึงมีแต่ความพ่ายแพ้และมองว่าการไล่ตามความฝันของอีกฝ่ายช่างเป็นภาพที่เจิดจ้าเสียเหลือเกิน
อย่างไรก็ตาม เด็กสาวในเพลง "คุราเบราเร็กโกะ" ก็มองว่าภาพที่เด็กอีกคน (ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าหมายถึงเด็กสาวในเพลง "นามิคาเระ") ได้ยกธงขึ้นมาแล้วนั้น เจิดจ้าเกินไป ธงนั้นอาจจะสื่อถึงการทำกิจกรรมบางอย่างในรั้วโรงเรียนซึ่งก็เป็นไปได้หลายอย่าง หรืออาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จเหมือนเวลาที่คนเราปักธงเมื่อพิชิตดวงจันทร์ก็เป็นได้ เพลงทั้งสองเพลงแสดงให้เห็นว่าทั้งสองคนต่างก็มีช่วงเวลาที่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าอีกฝ่าย คือมองว่าสถานการณ์ของตัวเองนั้นช่างมืดมนไร้ความหวัง ขณะที่อีกฝ่ายดูโดดเด่นและเฉิดฉาย หากการมีคู่เปรียบเทียบทำให้ทั้งคู่เป็นทุกข์ แล้วอะไรคือที่มาของการเปรียบเทียบ แน่นอนว่าในทั้งสองเพลงมีเบาะแสถึงที่มาที่ไปของเรื่องราวทั้งหมด
ต้นตอที่แท้จริงของปัญหา
จริงอยู่ที่หลาย ๆ ครั้งคนเราจะนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเมื่อตนรู้สึกขาดความมั่นใจ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีปัจจัยอย่างอื่นที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ นอกเหนือไปจากความไม่มั่นใจที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ปัจจัยนั้นก็คือผู้ปกครอง รวมถึงผู้ใหญ่รอบข้างที่คอยสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ ในการมอบความรักแก่เด็ก
ในเพลง "นามิคาเระ" และเพลง "คุราเบราเร็กโกะ" ได้มีการกล่าวถึงผู้ใหญ่และคนรอบข้างที่มีอิทธิพลต่อตัวละครประจำเพลงเอาไว้ ในเพลงนามิคาเระมีเนื้อร้องที่บอกว่า ในวัยเด็กตัวละครประจำเพลงนั้นได้รับคำชมและของขวัญมากมาย อีกทั้งผู้ใหญ่ยังคาดในตัวเธอไว้สูง แต่เมื่อโตขึ้นเธอก็สังเกตว่าเธอได้รับของขวัญและคำชมน้อยลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องปกติที่เธอจะไม่ได้รับอะไรเลย ฟังดูแล้วเหมือนผู้ใหญ่จะตั้งเงื่อนไขกับเธอว่า หากทำตัวดีและสามารถประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ เธอก็จะได้รับรางวัลซึ่งก็คือความรักและข้าวของต่าง ๆ แต่เมื่อเธอไม่ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นแล้ว เธอก็ไม่ได้รับอะไรจากผู้ใหญ่อีกต่อไป
ข้าพเจ้าเชื่อว่าวัยเด็กนั้นเป็นวัยที่คนเราโหยหาความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่เป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อความรักความอบอุ่นนั้นต้องแลกมาด้วยการทำบางสิ่งบางอย่างที่พ่อแม่ต้องการมันก็เป็นไปได้สูงที่จะทำให้เด็กที่ได้รับความรักอย่างมีเงื่อนไขรู้สึกขาดและโหยหาความรัก นำไปสู่การพยายามไขว่คว้าหาความรักความอบอุ่นเพื่อเติมเต็มช่องว่างในจิตใจ
ตัวละครประจำเพลง "นามิคาเระ" นั้นกระหายคำชมจากผู้ใหญ่เป็นอย่างมากซึ่งมีระบุไว้ในเนื้อเพลง เธอพยายามเป็นเด็กดี ตั้งใจทำกิจกรรมที่โรงเรียนและไม่เคยปล่อยให้ผลการเรียนตกต่ำ เธอพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับคำชมจากผู้ใหญ่ แต่สุดท้ายเธอก็สิ้นหวังเมื่อพบว่าความพยายามที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นสูญเปล่า ต่อให้พยายามเข้าหาผู้ใหญ่ด้วยการทำตัวเป็นเด็กดี คอยรักษาผลการเรียน แต่เธอก็ไม่ได้รับคำชมอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากเธอกลายเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่เก่งแบบกลาง ๆ ไม่ได้ดีเลิศในทุกด้านหรือมีความสามารถที่โดดเด่นด้านใดเป็นพิเศษ
ส่วนตัวละครประจำเพลง "คุราเบราเร็กโกะ" ก็ได้รับความรักอย่างมีเงื่อนไข และพยายามไขว้คว้าหาความรักเช่นกัน ต่างกันที่เธอไม่สามารถทำตามเงื่อนไขใด ๆ ได้มาตั้งแต่แรก เธอจึงไม่ได้รับความรักมาโดยตลอด สิ่งที่เธอได้รับจากผู้ใหญ่จึงมีเพียงแรงกดดันและบาดแผลทางจิตใจเท่านั้น
"....ต่อให้พยายามเข้าหาผู้ใหญ่ด้วยการทำตัวเป็นเด็กดี คอยรักษาผลการเรียน แต่เธอก็ไม่ได้รับคำชมอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากเธอกลายเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่เก่งแบบกลาง ๆ ไม่ได้ดีเลิศในทุกด้านหรือมีความสามารถที่โดดเด่นด้านใดเป็นพิเศษ..."
โลกแห่งความเป็นจริงที่สะท้อนผ่านบทเพลง
ข้าพเจ้ามองว่าทั้งสองเพลงสามารถสะท้อนความเจ็บปวดของเด็กอันเกิดจากวิธีการเลี้ยงดูแบบเอเชียออกมาได้อย่างชัดเจนและลุ่มลึกในเวลาเดียวกัน จริงอยู่ ที่แต่ละครอบครัวต่างก็มีการวิธีการเลี้ยงลูกหลานที่ต่างกันไป แต่ลักษณะการเลี้ยงลูกแบบเอเชียนั้นแตกต่างจากการเลี้ยงลูกแบบตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด จนมีคำนิยามวิธีการเลี้ยงดูที่เข้มงวดแบบชาวเอเชียว่า “tiger parenting” คำนิยามดังกล่าวมีที่มาจากหนังสือเรื่อง “Battle Hymn of the Tiger Mother” เขียนโดยเอมี่ ชัว หญิงชาวอเมริกันเชื้อสายจีนผู้เป็นทั้งศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย นักเขียน และแม่คน
การเลี้ยงลูกแบบ “tiger parenting” เป็นการเลี้ยงดูที่พ่อแม่มีอำนาจเด็ดขาด ลูกต้องเชื่อฟังและทำตามคำสั่งของพ่อแม่อย่างเคร่งครัด พ่อแม่ประเภทนี้เคร่งเครียดเรื่องผลคะแนนของลูกเป็นอย่างมาก และจะกวดขันให้เด็กตั้งใจเรียนทำคะแนนให้ได้สูง ๆ เข้าไว้ ในสายตาของข้าพเจ้า พ่อแม่ประเภทนี้ไม่ได้คำนึงถึงความสุขที่แท้จริงของเด็ก เลยกลายเป็นว่า คนที่มีความสุขกับสิ่งที่พ่อแม่นิยามว่าคือความสำเร็จก็คือตัวพ่อแม่เอง ส่วนทางญี่ปุ่นก็มีการเรียกแม่ที่กวดขันลูกอย่างเอาเป็นเอาตายและเข้มงวดเรื่องผลคะแนนของลูกว่าเคียวอิคุมาม่า (Kyōiku mama) ทว่าเป็นคำดูถูก
แม้ว่าสิ่งที่พ่อแม่ของเด็กสาวในเพลง "นามิคาเระ" และเด็กสาวในเพลง "คุราเบราเร็กโกะ" ดูจะไม่ได้เลี้ยงลูกแบบ “tiger parenting” เสียทีเดียว แต่ก็ดูคล้ายกันตรงที่เป็นพ่อแม่ที่บงการชีวิตลูก แต่เป็นการบงการที่มีลูกล่อลูกชนมากกว่า คือนำความรักและของขวัญเป็นเหยื่อล่อให้เด็กทำตามหรือเป็นในแบบที่ตนต้องการ ลักษณะร่วมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ชาวเอเชียนั้นมีค่านิยมในการเป็นเจ้าของและมีสิทธิ์บงการชีวิตลูกไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง ในสังคมไทยก็คงไม่ต่างกัน
สถานการณ์ของทั้งสองเพลงทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเด็กไทยสองประเภท เด็กสาวในเพลง "นามิคาเระ" ดูคล้ายเด็กที่เรียนสายวิทย์ตามใจพ่อแม่ คือเรียนไปก่อนทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรืออยากทำอะไรกันแน่ ส่วนเด็กสาวในเพลง "คุราเบราโกะ" ก็ดูคล้ายเด็กสายวิทย์หัวใจศิลป์ คือเป็นเด็กที่เรียนสายวิทย์ตามคำสั่งของพ่อแม่ แม้ในใจจะรู้ว่าจริง ๆ แล้วตัวเองชอบเรียนอะไร แต่เรื่องที่ตนสนใจกลับกลายเป็นเรื่องไร้สาระในสายตาของพ่อแม่และคนรอบข้าง
ที่มาภาพ: https://pixabay.com/th/
นอกจากวิธีการเลี้ยงดูแล้ว ข้าพเจ้ายังคิดว่าค่านิยมในการแข่งขันจัดอันดับที่เข้มข้นของชาวญี่ปุ่นเองก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กสาวในทั้งสองเพลงเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ซึ่งข้าพเจ้าก็มองว่าวิธีการดังกล่าวเป็น "การรักอย่างมีเงื่อนไข" เช่นกัน เพราะผู้ชนะจะได้รางวัลและคำชม ส่วนผู้แพ้จะไม่ได้อะไรเลย ทั้งยังมีโอกาสที่ผู้แพ้จะโดนดูถูกด้วย
ในโลกอินเทอร์เน็ต ได้มีชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งนำบางช่วงบางตอนของรายการทีวีญี่ปุ่นรายการหนึ่งมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นตอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครูใหญ่จากฟินแลนด์ที่มาศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น หลังจากที่เขาเห็นเด็กนักเรียนญี่ปุ่นแข่งวิ่งมาราธอนในงานกีฬาสีที่เด็ก ๆ วิ่งแข่งกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เขาก็ถามกับครูชาวญี่ปุ่นว่ามีการจัดอันดับหรือไม่ ครูใหญ่ฝั่งญี่ปุ่นก็ตอบว่ามีการเตรียมรางวัลไว้แล้วว่าจะมีกี่อันดับที่ได้รางวัล แต่ครูใหญ่ชาวฟินแลนด์ไม่เห็นด้วยกับการจัดอันดับ เขาให้ความเห็นและตั้งคำถามทำนองว่า ทั้ง ๆ ที่การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่พอต้องแข่งขัน เด็กบางคนที่ไม่เก่งกีฬาจะถูกตราหน้าว่าเป็นที่โหล่ พอเป็นแบบนั้นแล้วจะไม่ทำให้พวกเขาไม่อยากออกกำลังกายไปเลยหรือ
สมาชิกวงซึยุซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นก็คงจะพบข้อเสียของการแข่งขันจัดอันดับอันเข้มข้นในสังคมญี่ปุ่นเช่นเดียวกับครูใหญ่ชาวฟินแลนด์จึงได้แต่งเพลง "นามิคาเระ" และ "คุราเบราเร็กโกะ" ขึ้นมา
การกวดขันเด็กและให้เด็ก ๆ มาแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายคงจะเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมเอเชีย ในสังคมไทยเองก็มีการส่งลูกหลานไปเรียนพิเศษกันอย่างหนักหน่วงจนเด็กบางคนไม่มีเวลาได้พักหรือเล่นสนุกตามประสาเด็ก และยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำของสถานศึกษา ทำให้เด็กไทยต้องแย่งกันสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาลัยชั้นนำด้วย ซึ่งหากเข้าเรียนโรงเรียนหรือมหาลัยเหล่านั้นได้คนในครอบครัวก็อาจจะนำความสำเร็จของลูกหลานไปอวดให้ใครต่อใครฟัง
เพลง "นามิคาเระ" และเพลง "คุราเบราเร็กโกะ" ต่างก็เป็นกระบอกเสียงให้กับเหล่าคนที่เจ็บปวดจากระบบที่คัดเอาผู้ชนะไว้แล้วทอดทิ้งผู้แพ้ ซึ่งผู้ที่ถูกตีตราว่าเป็นผู้แพ้ในระบบนั้นจะถูกเหยียบย่ำซ้ำเติม ขณะเดียวกันระบบดังกล่าวก็ไม่ได้สอนให้ผู้ชนะรับมือกับความพ่ายแพ้ด้วย สิ่งที่ผู้ชนะมักทำก็คือกวดขันตัวเองให้ชนะต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะไม่กลายเป็นผู้แพ้ในสักวันหนึ่ง ทั้งนี้ เพลง "คุราเบราเร็กโกะ" ได้แสดงให้เห็นว่าคนที่หลุดจากวังวนแห่งการเปรียบเทียบไปได้จะพบกับความสุขในท้ายที่สุด และยังแสดงให้เห็นอีกว่าต่างคนต่างก็มีแนวทางเป็นของตัวเอง จะให้มาแข่งกันโดยเกณฑ์เดียวกันเส้นชัยเดียวกันก็คงวัดผลอะไรไม่ได้
เด็กแต่ละคนต่างก็มีลักษณะและความสามารถที่ต่างกันออกไปคน ๆ หนึ่งไม่จำเป็นต้องเก่งไปหมดทุกด้าน คนที่ได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จก็ใช่ว่าจะเก่งไปเสียทุกอย่าง ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ย่อมต้องการมอบสิ่งที่ตนคิดว่าดีที่สุดให้กับลูก ทว่าสิ่งที่พวกเขาคิดว่าดี อาจไม่มีความหมายหรือคุณค่าอะไรในสายตาของลูกหลานเลยก็ได้
ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ควรทำจึงไม่ใช่การยัดเยียดสิ่งต่าง ๆ ที่ตนคิดว่าดีให้กับเด็ก แต่คือการช่วยให้เขาค้นพบตัวเองและสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่รัก ไม่มีทางที่พ่อแม่จะอยู่ค้ำฟ้าคอยชี้นำหรือช่วยเหลือลูกไปได้ตลอด สักวันเด็กก็ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่และพวกเขาควรมีสิทธิ์กำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง เพราะคนเราต่างก็เป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง ทั้งยังไม่มีสิทธิ์ไปเป็นเจ้าของชีวิตของคนอื่นด้วย.
"เพลง "นามิคาเระ" และเพลง "คุราเบราเร็กโกะ" ต่างก็เป็นกระบอกเสียงให้กับเหล่าคนที่เจ็บปวดจากระบบที่คัดเอาผู้ชนะไว้แล้วทอดทิ้งผู้แพ้ ซึ่งผู้ที่ถูกตีตราว่าเป็นผู้แพ้ในระบบนั้นจะถูกเหยียบย่ำซ้ำเติม ขณะเดียวกันระบบดังกล่าวก็ไม่ได้สอนให้ผู้ชนะรับมือกับความพ่ายแพ้ด้วย สิ่งที่ผู้ชนะมักทำก็คือกวดขันตัวเองให้ชนะต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะไม่กลายเป็นผู้แพ้ในสักวันหนึ่ง ทั้งนี้ เพลง "คุราเบราเร็กโกะ" ได้แสดงให้เห็นว่าคนที่หลุดจากวังวนแห่งการเปรียบเทียบไปได้จะพบกับความสุขในท้ายที่สุด และยังแสดงให้เห็นอีกว่าต่างคนต่างก็มีแนวทางเป็นของตัวเอง จะให้มาแข่งกันโดยเกณฑ์เดียวกันเส้นชัยเดียวกันก็คงวัดผลอะไรไม่ได้"
บรรณานุกรม
Su Yeong Kim. 2013. “What is “tiger” parenting? How doesit affect children?” [Online]. Available:https://www.apadivisions.org/division-7/publications/newsletters/developmental/2013/07/tiger-parentingRetrieved December 12, 2020
ツユ. 2020. “Compared Child MV.” [Video file].Available: https://www.youtube.com/watch?v=olWvy0PiLfA Retrieved December 7,2020
ツユ. 2020. “Even tears withered MV.” [Videofile]. Available: https://www.youtube.com/watch?v=5xfNTyy-Xhk RetrievedDecember 7, 2020
ツユ. 2020. “1stフルアルバム『やっぱり雨は降るんだね』Trailer.” [Video file].Available: https://www.youtube.com/watch?v=i7CZNAIX28k&pbjreload=101 Retrieved December 7, 2020
ゆたかちゃんねる lyutaka channel. 2020.“日本の小学校の運動会を見たフィンランドの校長の反応が真っ当すぎる” [Video file]. Available: https://www.youtube.com/watch?v=khYmSUu1I78Retrieved December 11,2020
แหล่งอ้างอิงภาพปก https://www.pexels.com/photo/black-and-white-nature-person-women-5802575/
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม)พ.ศ. 2558
ผู้เขียน: ณิชาภัทร จันทสิงห์ นิสิตเอกภาษาไทย โทภาษาญี่ปุ่น
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา “วรรณกรรมวิจารณ์” ปีการศึกษา 2563
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in