เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ปรัชญาไปเรื่อยtam.cozycorner
CLIMATE JUSTICE ความยุติธรรม กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
  • เมื่อโลกร้อนส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อมนุษยชาติ ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมจึงเป็นประเด็นระดับโลกที่พลเมืองโลกควรให้ความสำคัญ
    Global Environmental Justice

    Pixabay/pixels.com

    เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบของพฤติกรรมมนุษย์ในอดีตจนปัจจุบันได้ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ เพิ่มอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์และเพิ่มระดับมลพิษ ก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นจำนวนมากนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายชั้นบรรยากาศของโลก หรือแม้แต่การเพิ่มจำนวนประชากรของมนุษย์ ล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในระดับโลก มีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกมากมายที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่ประเด็นหนึ่งที่ครอบคลุมการถกเถียงและอยู่ในขอบเขตของปัญหาทางปรัชญา คือปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) 

    บทความนี้จะมุ่งเน้นไปที่ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกเป็นหลัก เมื่อมองถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในโลกของเราแล้ว เราจะเห็นตัวเราในฐานะพลเมืองโลก (Global Citizen) ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะไม่ว่าคุณจะมีส่วนร่วมหรือไม่มีส่วนร่วมในการปล่อยมลพิษให้กับโลก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทุกคนมีส่วนมากน้อยก็ว่ากันไป แต่ท้ายที่สุดแล้วคุณจะได้รับผลกระทบจากมันแน่นอน ไม่ว่าจะคุณจะเป็นประชากรในรัฐใดก็ตาม

    ในทางวิทยาศาสตร์ ประเด็นที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของมนุษย์มีจริง และเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ไม่ได้เป็นที่ถกเถียงกันอีกต่อไปแล้ว และยังเป็นที่ทราบกันดีว่ามนุษย์พยายามพัฒนาในทุก ๆ ด้าน เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาความยากจนทั่วโลก การพัฒนาดังกล่าวต้องใช้พลังงานอย่างมาก และแหล่งพลังงานที่ถูกที่สุดที่มีอยู่ไม่น่าจะเป็นพลังงานสะอาด สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความพยายามในการจัดการปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

    การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มคนยากจนทั่วโลกเป็นอันดับแรก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศควรได้รับการบรรเทาอย่างเร่งด่วน ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพพูมิอากาศโลก เช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทะเลทรายที่ขยายตัว พายุที่รุนแรงขึ้น และแหล่งอาหารที่น้อยลง สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อาศัยของคนที่จนกว่าก่อนใคร และคนจนเหล่านั้นก็ยังขาดทรัพยากรที่จะปรับตัวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย การลดภาวะโลกร้อนจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ เช่นเดียวกัน สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งจำเป็นต้องมีใช้พลังงานมากขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดภาวะที่เรียกได้ว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ระหว่างการพัฒนาให้เจริญซึ่งจำเป็นจะต้องปล่อยมลพิษมากขึ้น กับการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งต้องลดการปล่อยมลพิษลง


    Pixabay/Pixels.com

    ด้วยเหตุผลที่ได้พูดถึงข้างต้น เพื่อความยุติธรรมต่อคนจนในโลก ผู้ที่มั่งคั่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่เอื้อต่อการพัฒนาในประเทศที่ยากจน และเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาโดยการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศของต่าง ๆ ไม่เพียงแค่เพื่อความยุติธรรมระดับประชาคมโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแบ่งปันภาระภายในประเทศอย่างยุติธรรมด้วย

    เมื่อเราพิจารณาถึงผลกระทบใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คำถามสำคัญ คือ ใครคือผู้ที่ต้องชดเชยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางลบซึ่งไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดปัญหา และไม่มีทรัพยากรในการจัดการกับผลกระทบจากการปล่อยมลพิษซึ่งมีความเร่งด่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ 

    ผู้เขียนได้รวบรวมหลักการที่สำคัญในในการพิจารณาถึงการแบ่งปันภาระปัญหามลพิษ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงปรัชญา ประกอบไปด้วย 3 หลักการ ดังต่อไปนี้…


    1. The Polluter Pays Principle (PPP)

    ในกรณีของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลัก PPP อ้างว่า ผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย (ผู้ก่อมลพิษ หรือ Polluter) จะต้องหยุดสร้างมลพิษเป็นอันดับแรก และต่อมาจะต้องชดเชยผู้ที่ได้รับอันตรายจากมลพิษนั้น ๆ ดังนั้นตามหลักการ PPP ผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูงมีหน้าที่ต้องชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางลบ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นไม่ได้เป็นอันตรายทั้งหมด เมื่อมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มากในระยะเวลานานเท่านั้น จึงจะก่อให้เกิดอันตราย ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ชีวิตของมนุษย์ให้ปราศจากการปล่อยมลพิษเลยนั้นเป็นไปไม่ได้เลย มนุษย์ทุกคนต้องหายใจและต้องใช้พลังงานบางส่วนเพื่อให้ความร้อนและเพื่อการโภชนาการ ดังนั้นจึงควรจะถือว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นการปล่อยมิลพิษก็ต่อเมื่อเมื่อมีการปล่อยที่เกินปริมาณที่กำหนดเท่านั้น

    ปัญหาของหลักการ PPP คือ ความเชื่อมโยงเชิงสาเหตุระหว่างการปล่อยมลพิษและความเสียหายที่เกิดขึ้นในหลักการ PPP จำเป็นต้องมีการระบุความเสียหายที่เกิดขึ้นและเชื่อมโยงไปที่สาเหตุหลัก ซึ่งคือผู้ปล่อยมลพิษ ซึ่งตามศาสตร์ภูมิอากาศแล้วการระบุความเสียหายมีขอบเขตที่ไม่แน่นอน ทำให้การระบุความเสียหายและเชื่อมโยงไปสู่ผู้ปล่อยมลพิษเป็นไปได้ยาก การที่จะระบุอย่างชัดเจนว่าความเสียหายนี้เกิดจากใครก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน ข้อเท็จจริงคือผู้ปล่อยมลพิษจำนวนมากไม่ได้มีชีวิตอยู่ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้ควรจะปฏิบัติตามข้อตกลงสำหรับการกระทำของคนรุ่นก่อน ๆ หรือไม่ เช่นว่า เนื่องจากประเทศ X ได้ปล่อยออกมาในอดีต ประเทศ X ควรจ่ายค่าชดเชยในปัจจุบัน เป็นต้น

    การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผลของการกระทำจากทั้งแบบกลุ่มและปัจเจกบุคคล ในช่วง 250 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่ถือครองความรับผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษทั้งหมดนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ต้องให้พลเมืองในปัจจุบันของประเทศเหล่านี้จ่ายค่าชดเชย ไม่ใช่เพียงแค่มลพิษที่คนในปัจจุบันก่อ แต่ยังต้องจ่ายค่าชดเชยในสิ่งที่บรรพบุรุษของคนในประเทศนั้น ๆ ได้ก่อไว้ด้วย 


    Pixabay/Pixels.com

    …ในอีกทางหนึ่งที่จะตอบคำถามนี้ได้ ว่าใครควรมีความรับผิดชอบในการชดเชย คือแนวคิดในเรื่องผลประโยชน์ โดยที่ถือว่าบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน (และในอนาคต) ที่ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษ มีหน้าที่ต้องจ่ายอย่างน้อย ๆ ในบางส่วนที่เกิดขึ้นในการปล่อยมลพิษนั้น


    2. The Beneficiary Pays Principle (BPP)

    BPP หลักการที่สองที่มักถูกกล่าวถึง ผู้ที่เคยได้รับประโยชน์จากการปล่อยมลพิษ (ในอดีต) จะต้องเป็นผู้ชดเชย ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมมักจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการปล่อยมลพิษในระดับสูง จึงไม่ยุติธรรมหากผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมถูกคาดหวังให้จ่ายในสัดส่วนที่สูงขึ้นของต้นทุน นักวิจารณ์คัดค้านว่าการดูประวัติของผลประโยชน์เป็นหลัก เป็นการพิจารณาที่ไม่เพียงพอสำหรับความรับผิดชอบนี้ เพราะในหลายกรณี ไม่ว่าผู้คนจะได้รับประโยชน์หรือไม่นั้น ส่วนใหญ่การได้รับประโยชน์อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้คน ระบุได้ไม่ชัดเจนพอ

    หลายคนมองว่า PPP ในข้อ 1 ควรเสริมด้วยหลักการผู้รับผลประโยชน์เป็นผู้จ่าย (BPP) จึงจะเหมาะสม กล่าวได้ว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ควรเป็นคนจ่ายเพราะพวกเขาได้รับประโยชน์จากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีการตั้งคำถามมากมายในแนวทางนี้ หลักการนี้อาจจัดการกับการปล่อยมลพิษที่ครอบคลุมเฉพาะกรณีที่ PPP ในข้อ 1 ไม่สามารถรับมือได้ คือการปล่อยมลพิษของคนรุ่นก่อน ๆ และคนรุ่นก่อนได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงหันมาโฟกัสที่กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์แทน แต่คำถามที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ การได้รับประโยชน์เพียงพอที่จะทำให้คน ๆ นั้นต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ตัวอย่างเช่น บางคนอาจได้รับประโยชน์จากการปล่อยมลพิษแถมยังยากจนมากด้วย ดังนั้น BPP มีข้อจำกัดในทำนองเดียวกันกับ PPP 

    กรณีนี้จึงแสดงให้เห็นว่า เมื่อเราจะตอบคำถามว่าใครควรเป็นคนจ่าย เราไม่ควรตัดข้อพิจารณาพื้นฐานออกไป เช่น สิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตบางอย่าง คือ มาตรฐานค่าครองชีพขั้นต่ำนั่นเอง เพราะคนบางกลุ่มแม้จะไม่ได้สร้างมลพิษและยังได้รับผลประโยชน์ด้วย แต่ว่าพวกเขาอาจไม่มีกำลังที่จะชดเชยการปล่อยมลพิษ


    3. The Ability to Pay Principle (APP)

    หลักการที่สาม ผู้ที่มีความสามารถในการช่วยลดปัญหามลพิษควรเป็นคนจ่าย โดยไม่สนใจว่าผู้ที่มีความสามารถจ่ายนั้นจะเป็นผู้ก่อมลพิษหรือไม่ บางคนอาจโต้แย้งว่าภาระใด ๆ ที่เกิดขึ้นควรกระจายไปตามความสามารถในการจ่ายของผู้กระทำ หลักการ APP ได้รับการตีความอย่างกว้างขวางว่า ยิ่งผู้จ่ายมีความสามารถในการจ่ายมากขึ้นเท่าใด สัดส่วนที่พวกเขาควรจะจ่ายก็ต้องมากขึ้นเท่านั้น สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์หลักการข้อนี้ประการหนึ่ง วิจารณ์ว่าไม่ควรแยกคำถามที่ว่าใครควรเป็นผู้จ่าย กับคำถามที่ว่า ใครเป็นต้นเหตุของปัญหาออกจากกันโดยสิ้นเชิง รวมไปถึงคำถามที่ว่าใครได้ประโยชน์จากการก่อปัญหามลพิษด้วย เพราะหากแยกคำถามเหล่านี้ออกจากจากกันโดยสิ้นเชิง เท่ากับว่าผู้ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาจริง ๆ ไม่ได้มีความรับผิดชอบใดใดเลย

    หลักการ APP อาศัยคำอธิบายภาพรวมของความยุติธรรมแบบกระจาย (Global Distributive Justice) เช่นในแนวคิดของ John Rawls ผู้ที่มีความมั่งคั่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในเชิงบวก พูดง่าย ๆ ก็คือ คนรวยควรจะชดเชยให้คนจนเพราะคนรวยมีความสามารถในการจ่ายและความสามารถในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองได้มากกว่า ฉะนั้น บรรดาผู้ที่คิดว่าเจตจำนงของโลกที่เท่าเทียมกันสำคัญกับความยุติธรรมในระดับประชาคมโลก ก็จะยอมรับข้อเสนอที่ว่า ค่าใช้จ่ายควรตกเป็นภาระของผู้ที่ได้เปรียบมากที่สุดเป็นหลัก ไม่ใช่ตกเป็นภาระของคนยากจนมากที่สุด


    บทสรุป

    แม้ว่าเราทุกคนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในการสร้างปัญหาที่เกิดจากการปล่อยมลพิษ ประเทศอุตสาหกรรมนั้นมีส่วนร่วมในทางประวัติศาสตร์ในระดับที่สูงกว่าประเทศที่ยังคงพัฒนาอยู่มาก แนวทางที่เราพิจารณาเพื่อที่จะนำมาใช้จัดการกับปัญหาที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ประกอบไปด้วย 3 หลักการ

    หลักการแรก ผู้ที่ผู้ก่อมลพิษมากควรจ่ายมากขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน (PPP) อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์โต้แย้งว่าหลักการนี้ไม่เป็นธรรม เพราะผู้ที่จ่ายต้องมีความรับผิดชอบบางอย่างแม้ว่าผู้ที่ต้องจ่ายไม่รู้ว่ากำลังก่อให้เกิดอันตรายอะไร ในภายหลัง เนื่องจากผู้ที่ก่อมลพิษไม่ได้ทราบว่าก๊าซเรือนกระจกอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก่อนปี 1990 ดังนั้นในมุมมองนี้ ความรับผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษก่อนปี 1990 หลักการการ PPP จึงใช้ไม่ได้ แม้ว่าจะใช้เพื่อปันส่วนค่าใช้จ่ายหลังปี 1990 

    หลักการที่สอง หลักการ BPP ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมมักจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการปล่อยมลพิษจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรมหากพวกเขาคาดว่าจะจ่ายในสัดส่วนที่สูงขึ้น และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อาจไม่มีกำลังที่จะจ่ายก็เป็นได้ เหล่านักวิจารณ์คัดค้านว่าประวัติของการได้รับประโยชน์เป็นการพิจารณาที่ไม่เพียงพอสำหรับความรับผิดชอบ 

    ตามด้วยหลักการประการที่สาม APP อาศัยคำอธิบายบนฐานของความยุติธรรมระดับประชาคมโลกแบบกระจาย ซึ่งผู้ที่ได้เปรียบมากควรจ่ายมาก และประชากรโลกล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศร่วมกัน แต่ผู้ที่เสียเปรียบที่สุดหรือคนที่ยากจนที่สุดจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก 

    สำหรับปัญหาความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่มีความมั่งคั่งมากกว่ายังมีความสามารถในการสร้างมลพิษเชิงลบที่มากกว่าอีกด้วย แต่คนที่จะได้รับผลกระทบก่อนกลับเป็นกลุ่มที่เสียเปรียบที่สุดทั้งในระดับสังคมเล็ก ๆ ไปจนถึงสังคมโลก 

    ต่อจากนี้ ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากพวกเรายังไม่ตระหนักถึงปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นและยังเพิกเฉยกับปัญหานี้ ถึงเวลานั้นการรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยคงไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ เพราะการที่สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติถูกทำลาย เท่ากับว่า เราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของธรรมชาติถูกทำลายไปด้วย ฉะนั้น เราจึงควรที่จะต่อต้านการสร้างมลพิษเชิงลบที่ไม่จำเป็น เพื่อที่จะช่วยกันเยียวยาความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโลกของเรา เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และสัตว์โลก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะมีส่วนร่วมหรือไม่มีส่วนร่วมในการสร้างมลพิษเชิงลบ ท้ายที่สุดแล้ว เราในฐานะประชากรโลกก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงนี้ไปได้อย่างแน่นอน



    Reference 
    Brock, Gillian. (2015). Global Justice. The Stanford Encyclopedia of Philosophy (Winter 2021 Edition).
    Edward N. Zalta (ed.). from https://plato.stanford.edu/archives/win2021/entries/justice-global/
    Baatz, Christian. Responsibility for the past? Some thoughts on compensating those
    vulnerable to climate change in developing countries. from
    http://www.tandfonline.com/eprint/vpDVKU2NSpiVm4aVVvPw/full
    Caney, Simon. (2020). Climate Justice. The Stanford Encyclopedia of Philosophy (Winter 2021
    Edition). Edward N. Zalta (ed.). from https://plato.stanford.edu/archives/win2021/entries/justice-climate/
    Heyward, Clare. (2021). Is the beneficiary pays principle essential in climate justice?. from https://doi.org/10.18261/issn.1504-2901-2021-02-03-07
    Howard, Michael. (2009). Environmental Justice: Sharing the Burdens of Climate Change.                                                Philosophy the Edge 2009: Ethics in Today's Policy Choices. University of Maine

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in