เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ปรัชญาไปเรื่อยtam.cozycorner
พิธีชาญี่ปุ่น ปรัชญาแห่งการเคารพธรรมชาติ Wabi-Sabi Beauty in Imperfection
  • คอนเซ็ปต์ความงามในความไม่สมบูรณ์แบบในพิธีชาของญี่ปุ่น ชวนให้คิดเกี่ยวกับการมองความงามและใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติ

    Japan-guide.com

    หากเราย้อนไปในตอนศตวรรษที่ 15 ชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นมักแสดงความมั่งคั่งของตนด้วยการดื่มชาด้วยถ้วยชาจีนอันประณีตในคืนพระจันทร์เต็มดวง มีนักบวชศาสนาพุทธนิกายเซนชื่อว่า มุระตะ ชุโกะ ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการดื่มชาจากที่ดื่มเพื่อเฉลิมฉลองความร่ำรวย มาเป็นพิธีชาที่เรียบง่าย โดยใช้วัสดุธรรมชาติของญี่ปุ่นเองและคำนึงถึงถึงธรรมชาติเป็นหลัก แตกต่างไปจากศิลปะถ้วยชาของจีนที่มีลวดลายประณีตงดงามและมีความสมบูรณ์แบบ 

    เมื่อถึงศตวรรษที่ 16 นักบวชศาสนาพุทธนิกายเซนนามว่าเซ็นโนะ ริคิว อาจารย์ชาผู้ทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์ เป็นผู้ที่เปลี่ยนพิธีชาให้มีความละเอียดอ่อนงดงามมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการตกแต่งห้องชา มารยาทในการต้อนรับผู้มาเยือนห้องชา การปั้นถ้วยชา รวมไปถึงการดื่มชา ทุกองค์ประกอบของพี่พิธีชาล้วนแฝงไปด้วยปรัชญาชีวิตและการชมสุนทรียภาพ ความงามอันแสนธรรมดาที่เรียกว่า “วาบิ ซาบิ”

    หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า วาบิซาบิ หรือเคยอ่าหนังสือเกี่ยวกับวาบิซาบิมาก่อนแล้ว เรามาพูดถึงความหมายของคำ ๆ นี้กันก่อน ความจริงแล้วแล้วในแง่ปรัชญา วาบิซาบิ คือมุมมองสุนทรียภาพซึ่งมองเห็นความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ โดยความหมายของคำสองคำนี้ วาบิ หมายถึงสิ่งที่ธรรมดาทั่วไป ลักษณะที่ไม่สมมาตรหรือไม่สมบูรณ์แบบ ส่วนคำว่า ซาบิ หมายถึง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา


    ความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ (Beauty in Imperfection) 

    ความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ หมายถึง ความงามที่เป็นธรรมชาติ หรือคุณค่าความงามของสิ่งอันธรรมดาสามัญซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ ตามกาลเวลา ดังเช่นใบไม้ใบหนึ่ง ครั้นต้นไม้ผลิใบออกมาครั้งแรก ยังเต็มไปด้วยความสวยสดงดงาม วันเวลาผ่านล่วงเลยไป วันแล้ววันเล่า ใบไม้ใบนี้ต้องพบเจอกับแสงแดด ลมฝน หรือโดนแมลงกัดกิน ดำรงอยู่ผ่านฤดูกาลที่แตกต่าง ร่องรอยบนใบไม้ใบนี้มีขึ้นพร้อมกับเวลาที่เดินผ่านไปตามธรรมชาติแล้ว ไม่มีใบไม้ใบไหนที่จะสวยสดงดงามเหมือนเดิมดังวันแรกที่ผลิออกมา หากไม่โดนแมลงกัดกินไปเสียก่อน สักวันหนึ่งใบไม้ก็ต้องร่วงโรยอยู่ดี 

    เป็นเรื่องธรรมดาที่ใบไม้จะมีรู มีรอยกัดแทะ มีสีสันที่จางลง ในที่สุดก็เหี่ยวเฉา แห้งกรอบ ร่วงโรยและย่อยสลายไป ความงดงามของสรรพสิ่งอยู่ภายใต้การดำเนินไปของธรรมชาติ ความงามที่สมบูรณ์แบบนั้นเกิดขึ้นเฉพาะแค่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปไม่มีสิ่งใดคงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ แต่ความงดงามที่ไม่สมบูรณ์แบบนั้นเดินไปพร้อมกับกาลเวลาเสมอ ความงามแบบวะบิซะบินี้เป็นการมองคุณค่าทางสุนทรียะที่เห็นความเป็นไปของธรรมชาติซึ่งแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา


    พิธีชากับการเคารพในวิถีของธรรมชาติ 

    ห้องชาในสมัยของอาจารย์ชา Sen no Rikyu/ Japan guide

    ห้องชาสำหรับพิธีชาจะถูกออกแบบให้งามอย่าง wabi-sabi งานศิลปะหลายชิ้น ไม่ว่าจะทั้งสถาปัตยกรรมภายนอกและภายในห้องชา รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่ในห้องชาล้วนมีความเรียบง่ายธรรมดา สร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ต้องการความโออ่าใด ๆ ทั้งสิ้น ทางเข้าห้องชาเป็นประตูขนาดเล็ก ผู้ที่เข้าไปต้องค่อมตัวก้มต่ำเหมือนกันทุกคน

    ภายในห้องชายังประกอบไปด้วยการออกแบบฝาผนังที่ไม่ซ้ำ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และไม่จำเป็นต้องสมมาตร ไม่พยายามตกแต่งให้สมบูรณ์แบบ แต่พยายามหลีกเลี่ยงการสร้างสิ่งที่ซ้ำกัน เพราะธรรมชาตินั้นไม่ซ้ำกัน เมื่อไม่ซ้ำกันธรรมชาติจึงมีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งมีพื้นที่ไว้ให้เราได้ใช้ความสามารถด้านสุนทรียะในการจินตนาการได้อย่างอิสระ ในห้องชายังมีภาพวาดดอกไม้ธรรมดา ๆ และการประดับตกแต่งอื่น ๆ ไม่ใช่แค่ความไม่ซ้ำกันที่มีพื้นที่ไว้ให้เราได้จินตนาการ แม้กระทั่งเสียงน้ำที่เดือดในหม้อเหล็กก็มีพื้นที่ให้เราได้จินตนาการเป็นภาพต่าง ๆ นานาได้


    ถ้วยชาที่ไม่สมบูรณ์แบบ

    ถ้วยชาของ Sen no Rikyu 
    Black Raku tea bowl ชื่อว่า Ōguro โดย Chōjirō/ nippon.com

    สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจเข้าใจปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในพิธีชาคือการปั้นถ้วยชา ถ้วยชาที่ใช้ในพิธีชาต้องผ่านการปั้นด้วยมือ ตามวิถีของธรรมชาติเช่นเดิม ถ้วยชาไม่จำเป็นต้องเรียบเสมอกัน มีพื้นผิวสัมผัสต่างกัน แต่ละถ้วยล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง นี่คือความงามแบบไม่ซ้ำ เป็นไปตามวิถีธรรมชาติที่แท้จริง โดยการปั้นถ้วยชามีนโนทัศน์ที่สำคัญในขั้นตอนการลงมือทำที่เรียกว่า "ichigo ichie" หรือภาษาอังกฤษที่แปลว่า one time-one chance หมายถึง การตั้งใจทำสิ่งต่างๆ ให้ดีที่สุดในทุกโอกาส เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีโอกาสเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวเท่านั้น สัจธรรมคือความไม่แน่นอน เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้เราจะมีโอกาสได้ทำอีกครั้งในอนาคตหรือไม่ และทุก ๆ โอกาสที่เกิดขึ้นในชีวิตเราแม้จะดูคล้าย ๆ กันแต่ก็เป็นโอกาสครั้งใหม่เสมอ เช่น การตื่นมาเจอคนในครอบครัวหรือสัตว์เลี้ยงของเราเองในทุก ๆ วัน การทานข้าวร่วมกันในแต่ละครั้ง ในทุก ๆ โอกาสมีแค่หนึ่งครั้งเท่านั้น เสมือนกับการปั้นถ้วยชา 

    เรามีโอกาสที่จะทำถ้วยชาให้ออกมาได้ดีที่สุดได้ในขั้นตอนการปั้นเท่านั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้ทุก ความตั้งใจของเรามีสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเราเสมอ ลองนึกถึงตอนเมื่อเรายัดถ้วยชาเข้าเตาเผาแล้วรอว่าถ้วยชาจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น เราไม่สามารถควบคุมผลที่จะเกิดขึ้นได้ เช่นกันกับชีวิตของคนเรา ทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตของเรา มีสิ่งที่เราควบคุมได้และมีสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราสามารถตั้งใจทำทุกสิ่งที่อยู่ในการควบคุมของเราให้ดีที่สุดได้ แต่ผลของความตั้ง ใจของเราหรือสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ สำหรับพิธีชาแล้ว ทุกคนไม่อาจรู้ได้ว่าการพบกันในครั้งนี้จะมีครั้งต่อไปอีกหรือไม่ เพราะฉะนั้นการต้อนรับแขกที่มาเยือนห้องชาจึงเป็นการต้อนรับที่มีความตั้งใจและอบอุ่นเป็นอย่างมาก

    มาถึงจุดนี้แล้ว นั่นก็ทำให้เราได้เห็นว่าห้องชานั้นถูกสรรสร้างขึ้นมาด้วยหลักการที่เชื่อในธรรมชาติ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเสมอ ในธรรมชาติมีความงามให้เราได้รับชม แต่ความงามล้วนมีอายุขัย ทุกสิ่งโรยราไปแต่ยังคงงดงามเสมอ ซึ่งยังสัมพันธ์กับหลักไตรลักษณ์ของพุทธศาสนานิกายเซนด้วย (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ซึ่งหมายถึงความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนตลอดเวลา การคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และการไม่มีตัวตน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความไม่จีรังของสรรพสิ่งซึ่งแปรเปลี่ยนเสมอ 





    จากผู้เขียน

    ในมุมมองของผู้เขียน แนวคิดความงามในความไม่สมบูรณ์แบบนั้น สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งธรรมดาสามัญที่ผู้คนอาจมองข้ามไป ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นสิ่งที่ธรรมดามาก ๆ จนหลายคนสามารถมองข้ามไปได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่ได้มีความรู้สึกว่าถึบความพิเศษอะไร ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าทุกสิ่งมีความงามที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และมุมมองความงามแบบวะบิซะบิให้แง่คิดที่ดีในโลกปัจจุบันของเรา 

    ความงามแบบธรรมชาติคือความงามที่ไม่ซ้ำ สรรพสิ่งรอบตัวเราแตกต่างหลากหลายมาก ๆ เกินกว่าที่จะเอาไม้บรรทัดอันใดอันหนึ่งมาวัด เมื่อนึกถึงความงามภายนอกของมนุษย์ ความสมบูรณ์แบบที่มีมาตรฐานไม่ใช่ธรรมชาติ และการใช้มาตรฐานความงามมาวัดสิ่งที่แตกต่างหลากหลายเช่นนี้ อาจทำให้เราพลาดสิ่งสวยงามบางอย่างไป เพียงเพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เหมาะหรือไม่ตรงกับมาตรฐานนั้น ๆ ที่มีอยู่ โลกปัจจุบันนี้เราอาจเห็นคำโฆษณามากมายที่สร้างมายาภาพ สร้างมาตรฐานความงามในสังคม ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกไม่พอใจในตนเองเองอยู่บ่อยครั้ง จนเราอาจลืมไปว่าคนแต่ละคนก็มีความงามที่เป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีใครเหมือนใคร ทุกคนล้วนพิเศษและงดงามในแบบของตัวเอง เช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งหลายที่ธรรมชาติสร้างขึ้น 

    สุดท้ายแล้ววิถีชีวิตของคนเราก็หลีกหนีไม่พ้นวิถีธรรมชาติ วันหนึ่งเราก็ต้องร่วงโรยดังใบไม้ ภายนอกของเรา ผิวที่เคยสดใสเต่งตึง ในวันหนึ่งก็ต้องเหี่ยวย่น มีฝ้ามีกระ แต่นั่นก็คือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลชีวิตและช่วงเวลาต่าง ๆ ที่แบกตะกอนของเวลา ในมุมมองธรรมชาติเรางดงามเสมอ และถ้าหากเราใช้มุมมองแบบวะบิซะบิมองทุกสิ่งทุกอย่างรอบ ๆ กายแล้ว เราอาจจะเห็นคุณค่าความงามในมุมมองใหม่ ที่แม้แต่ในตอนที่รอบตัวเรารายล้อมด้วยสิ่งที่เราเคยมองว่าจืดซีด ธรรมดา ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ จริง ๆ แล้วมันกลับเป็นความงามที่เป็นไปตามสัจธรรม ที่เราสามารถมองเห็นได้แม้ในช่วงเวลาที่แสนจะธรรมดาโดยไม่ต้องโหยหาความงามที่สมบูรณ์แบบอะไร


    Reference: 
    https://einzelganger.co/wabi-sabi-a-japanese-philosophy-of-perfect-imperfection/
    https://japanobjects.com/features/wabi-sabi
    https://bostonteawrights.com/kakuzo-okakuras-book-tea-part-4/
    https://www.youtube.com/watch?v=pSP6Ec7kJbo&feature=youtu.be

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in