สวัสดีวันอังคารสุดท้ายของปีค่ะคุณผู้อ่าน
ฉลองคริสต์มาสกันไปเป็นอย่างไรบ้างคะ ได้ของขวัญถูกใจไหมคะ
ส่วนวันคริสต์มาสที่ผ่านมา เรามีโอกาสไป "พระราชวังเดิม" จึงอยากมาบอกเล่าเก้าสิบให้อ่านกันค่ะ อ่อ ไม่มีรูปนะคะ เนื่องจากภาพที่ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือของเรามีขนาดใหญ่เกิน 2 mb ทุกรูปเลย
สืบเนื่องจากแม่เราได้ข่าวจากเฟสบุ๊คสักเพจหนึ่งบอกว่า พระราชวังเดิมจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม ระหว่างวันที่ 17 - 27 ธันวาคม 2565 (น่าจะถูกนะข้อมูล) แม่รู้ว่าเรายังไม่เคยไป เลยชวนว่า "ไปเที่ยวกันเถอะ"
วันอาทิตย์ เราออกจากบ้าน ขึ้นทางพิเศษ(moterway) มุ่งหน้าไปทางเดียวกับโรงพยาบาลศิริราช พอขับไปแถวๆทางแยกที่จะลงศิริราช เราก็ใช้กูเกิ้ลแมพช่วยว่า ต้องไปทางใดกันแน่ กูเกิ้ลแมพพาเรามายังโค้งประตูใหญ่ซึ่งพอสังเกตแถวนั้นก็ทราบได้ว่า เป็นเขตของทหารเรือ
"ขอโทษนะคะ จะเข้าชมพระราชวังเดิมเข้าทางนี้ใช่ไหมคะ" พวกเราเปิดกระจกถามผู้รักษาการณ์หน้าประตู ได้รับคำตอบว่ามาถูกทางแล้ว ให้ขับเข้าไปด้านในตรงนั้น(ชี้มือไปทางอาคารๆหนึ่ง) หาเจ้าหน้าที่ซึ่งสวมปลอกแขนแบบเดียวกับคนตอบ ลงชื่อเข้าชม แล้วเจ้าหน้าที่จะแจ้งต่อเองว่า ต้องจอดรถที่ใด
เราก็ทำตามเขาบอกไม่มีพลาด จนมาจอดรถที่หน้าประตูทางเข้าพระราชวังเดิม เดินลงจากรถมา ข้ามถนนไปยังพื้นที่ริมน้ำ ไหว้พระรูปของท่านๆหนึ่ง (ขอโทษจริงๆ มองไม่ใคร่ออกว่าเป็นผู้ใด) ถ่ายรูปวิวเล็กน้อย แล้วเดินเข้าประตูสู่พระราชวังเดิม
เราได้ทราบว่า พระราชวังเดิมเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้ ณ อาคารต่อไปนี้
1. ตำหนักเขียวหรืออาคารเขียว : เป็นอาคารสีเขียว เดิมตำหนักเขียวใช้เป็นที่เรียนของนักเรียนนายเรือ ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงวีดิทัศน์ถึงประวัติความเป็นมาของพระราชวังเดิมตลอดจนบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระราชวังแห่งนี้ นอกจากวีดิทัศน์ยังคงเหลือความเป็นห้องประชุมให้ได้เดินชมด้วย ซึ่งตำหนักเขียวนี้ เมื่อเดินผ่านประตูเข้ามาจะอยู่ทางซ้ายมือ และเป็นอาคารหลังเดียวที่ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ อาคารหลังอื่นที่จัดแสดงจะอยู่ฝั่งขวาของประตูทางเข้าทั้งสิ้น
ข้อจำกัดของตึกนี้คือ นั่งชมวีดิทัศน์ได้เพียงครั้งละ 37 คน เท่านั้น และอีกจุดคือ เนื่องจากอาคารนี้เป็นพื้นไม้ เพราะงั้นใครก็ตามที่เดินหรือเคลื่อนไหวบนพื้นจะเกิดเสียงดัง+พื้นยวบ ทั้งแผ่น/ทั่วบริเวณ แบบ โอ้ พื้นไม้มันเป็นแบบนี้หรือนี่
2. อาคารเก๋งคู่หลังเล็ก และ หลังใหญ่ : เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองอาคารที่ตั้งขนานกัน ด้านบนมีหลังคาสไตล์จีนทั้งคู่ อาคารทั้งสองหลังนี้จะจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่รายละเอียดวันพระราชสมภพ การออกจากอยุธยา การยกทัพเข้าตีเมืองจันทบุรี กู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า ตลอดจนการสร้างบ้านแปลงเมืองสมัยกรุงธนบุรี สิ่งที่จัดแสดงก็มีทั้งรูปปั้นของพระเจ้าตากสิน เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ รูปถ่าย พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า จริงๆ...
หน้าที่เรา รักษาสืบไป
3. ห้องพระโรง : เดิมคือห้องว่าราชการของพระเจ้าตากสิน ส่วนปัจจุบันจัดแสดงเรือรูปแบบต่างๆ และมีพระพุทธรูปด้วย
เห็นเรือจำลองที่น่าจะเป็นเรือสุวรรณหงส์แล้ว กาพย์ที่ว่า
สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
(กาพย์เห่เรือ บทพระราชนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง)
ก็ลอยสู่ห้วงคำนึงในบัดดล เหม่ ขนาดรูปจำลองยังมีพู่ห้อยขนาดนั้น ของจริงจะเป็นอย่างไรหนอ อยากเห็นจัง
4. อาคารเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว : เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๓) และแน่นอนค่ะ ในปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้เป็นที่จัดแสดงประวัติของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
การเยี่ยมชมอาคารหลังนี้ทำให้ได้ทราบถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับใจคือ ท่านทรงอักษรภาษาอังกฤษได้งามชดช้อยดีเสียจริง แม่ได้ทีคุยใหญ่เลยว่า เนี่ย สมัยแม่เรียนก็โดนบังคับให้เขียนภาษาอังกฤษแบบตัวเขียน ขึ้นเบา ลงหนัก แบบนี้แหละ เด็กรุ่นนี้ไม่เคยเรียนล่ะสิ
เคยสิแม่ แค่ไม่โดนบังคับว่าต้องเขียนแบบนี้ตลอดเวลา ก็เท่านั้น (ส่วน "เด็กรุ่นนี้" จริงๆ ได้เรียนรึเปล่า อันนี้ต้องไปถามลูกเล็กเด็กแดงสมัยนี้เอาเอง คนเจเนอเรชั่นข้าพเจ้าไม่รับรู้และไม่รับทราบ)
5. ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : ก็คือศาลที่มีพระรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินให้กราบไหว้กัน ให้อารมณ์ราวกับเดินไปต่างจังหวัดแล้วไปไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ประมาณนั้น
6. ศาลศีรษะปลาวาฬ : ศาลนี้ตั้งอยู่ข้างๆศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีกระดูกศีรษะวาฬชนิดหนึ่ง ขนาดใหญ่มาก จัดแสดงอยู่ ตามประวัติคือขุดเจอโดยบังเอิญที่ใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนี้เอง
ที่สงสัยมากคือ แล้วปลาวาฬมาอยู่บนบกให้ขุดเจอตรงนี้ ได้ยังไง???
อาคารทั้งหกแห่งนี้คืออาคารที่จัดนิทรรศการทั้งหมดในรั้วพระราชวังเดิมค่ะ ส่วนนอกรั้วริมน้ำนั้นนอกจากพระรูปท่านๆหนึ่ง ก็จะมีศาลพระภูมิเล็กๆ และมีป้อมวิชัยประสิทธิ์ ซึ่งตามประวัติกล่าวว่าเจ้าพระยาวิไชเยนทร์เป็นผู้สร้างไว้ ก็เป็นป้อมขาวๆ สูงใหญ่ มีธงชาติและธงทหารเรือโบกสะบัด ส่วนฝั่งที่หันหน้าเข้าแม่น้ำก็มีปืนใหญ่หลายกระบอกเลย
เดินเที่ยวเดินถ่ายรูปชิวๆได้ แต่แหม แดดแรงจริงๆ
ถ้าถามความรู้สึก ก่อนไปเราไม่กล้าคาดหวังอะไรมาก เพราะหาข้อมูลก็พบแต่รูปอาคารหลังขาวๆ เพิ่งทราบตอนไปว่า เพราะเขาห้ามถ่ายรูปสิ่งที่จัดแสดงภายในอาคาร จึงมีรูปให้ยลในโลกออนไลน์กันได้แค่อาคารภายนอก
แต่พอมาแล้ว ก็ทึ่งในระดับหนึ่ง คือ ประวัติศาสตร์หลายอย่างเราก็พอเรียนมาอยู่บ้าง(รุ่นเรายังได้เรียนประวัติศาสตร์อยู่นะ ก่อนโดนใครบางคนตัดเหี้ยนน่ะ) แต่มาได้อ่าน ได้เห็นหลายๆอย่าง ก็เหมือนได้ย้ำสิ่งที่ตัวเองรู้ และเพิ่มเข้าไปด้วยข้อมูลที่จัดแสดงอยู่ในแต่ละอาคาร
ดีค่ะ ดีที่ได้รับรู้รากของตัวเองมากขึ้นอีกนิด เราเองชอบเดินพิพิธภัณฑ์อยู่แล้วแต่ไหนแต่ไร(ที่เดทในฝันเลยนะ พิพิธภัณฑ์เนี่ย//หาคนเดทด้วยให้ได้ก่อนเถอะ) เราว่าการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็สนุกไปอีกแบบนะ เราอาจไม่สามารถคาดหวังว่าจะได้รูปสวยๆเท่าการไปเที่ยวทะเล น้ำตก หรือภูเขา แต่ในความคิดเรา สิ่งที่ได้ตอนเที่ยวพิพิธภัณฑ์คือ การได้รู้ว่าเราไม่รู้อะไรบ้าง และได้เรียนรู้สิ่งรอบตัวเพิ่มขึ้น
และมันก็เป็นความสนุกในอีกรูปแบบหนึ่ง
สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจ วันนี้(27 ธันวาคม 2565) เป็นวันสุดท้ายที่เขาเปิดให้เข้าชมพระราชวังเดิม ถ้าคุณผู้อ่านอยู่แถวนั้นจะลองแวะไปเยี่ยมชมก็ได้นะคะ ไม่เสียค่าเข้าค่ะ
ส่วนคุณผู้อ่านที่อยู่ไกลเกินจะเดิน, ขึ้นเรือ หรือขับรถไปถึงภายในเวลาที่เขาเปิดให้เข้า แม่เราบอกว่าที่นี่นานๆจะเปิดที คุณผู้อ่านคงต้องคอยตามข่าว น่าจะเป็นข่าวจากทหารเรือกระมัง เป็นระยะๆแล้วล่ะค่ะ ว่าพระราชวังเดิมจะเปิดให้เข้าชมอีกเมื่อไหร่ยังไง
เอาใจช่วยให้ได้ไปเที่ยวนะคะ
สวัสดีค่ะ
ก่อนจบ ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตั้งแต่ประมาณ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา ทาง minimore เปลี่ยนรูปแบบเว็บใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือ งานเขียนเรา...ไม่มีคนอ่านเลย (คาดว่าหาเจอยาก)ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เราจึงตัดสินใจกลับไปเขียนเรื่องราวในบล็อกเดิมของเราแทน คุณผู้อ่านที่ถูกจริตในงานเขียนของเรา สามารถติดตามไปอ่านได้ที่
ขอบพระคุณสำหรับการติดตาม และขอบคุณทาง minimore ที่ให้พื้นที่เราได้ขีดๆเขียนๆเรื่องราวตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
จนกว่าจะพบกันใหม่
สวัสดีค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in