เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Movie StuffsI-love-thee
Girl Scout Cookies เนตรนารีขายคุกกี้
  • หากใครมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์หรือซีรีย์จากทางฝั่งอเมริกาบ่อยๆก็คงเคยได้เห็นฉากของหนูน้อยเนตรนารีที่นำคุกกี้มาขายเพื่อหารายได้สมทบทุนกิจการของเนตรนารีในชุมชนนั้นๆ ผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อย แล้วทำไมต้องขายคุกกี้ ขายอย่างอื่นไม่ได้เหรอ แล้วมันมีที่มาที่ไปอย่างไร?

    ย้อนไปราวๆต้นปี 1917 ที่จริงแล้วการขายคุกกี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเนตรนารีคนหนึ่งชื่อว่า Juliette Gordon Low โดยเธอเป็นสมาชิกของกองร้อย Mistletoe ในเมือง Muskogee รัฐ Oklahoma หลังจากที่เป็นสมาชิกได้ห้าปี วันหนึ่งเธอได้อบคุกกี้มาขายในโรงอาหารที่โรงเรียนซึ่งเป็นเพียงแค่กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ทั่วไปเท่านั้น

    หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคมปี 1922 นิตยสาร The American Girl ซึ่งเป็นนิตยสารกิจกรรมเนตรนารีของอเมริกาโดย Florence E. Neil ผู้อำนวยการท้องถิ่นของเมือง Chicago ในรัฐ Illinois ได้ตีพิมพ์บทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสูตรในการทำคุกกี้พร้อมกับประเมินต้นทุนในการผลิตและการตั้งราคาสำหรับจำหน่ายเพื่อแจกให้กับสมาชิกเนตรนารีกว่า 2,000 คน ซึ่งในช่วงแรกนั้นคุกกี้ที่นำมาขายมักจะเป็นคุกกี้น้ำตาลแบบง่ายๆที่สามารถทำได้เองในครัวเรือนโดยอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ปกครองอีกเล็กน้อย บรรจุในถุงกระดาษไขติดสติ๊กเกอร์ ราคาขายอยู่ที่ราวๆ 25-35 เซนต์ต่อโหลเท่านั้น

  • วัฒนธรรมการขายคุกกี้ของเนตรนารีก็ได้แผ่ขยายออกไปเรื่อยๆมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์และราคาให้เหมาะสม ซึ่งกิจกรรมการขายคุกกี้นี้ช่วยพัฒนาทักษะการจัดการทางธุรกิจให้กับเหล่าเนตรนารีทั้งหลายได้เป็นอย่างดี ดังนั้นทาง Girl Scouts of Greater Philadelphia Council จึงได้ยกระดับธุรกิจคุกกี้ให้มีความจริงจังมากยิ่งขึ้น
    ซึ่งในปี 1935 ทาง Girl Scout Federation of Greater New York ก็ได้ยกระดับธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน มีการอบคุกกี้โดยใช้พิมพ์รูป trefoil เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นครั้งแรกที่มีการประทับตราสินค้าว่า "Girl Scout Cookies" ลงบนกล่องบรรจุอย่างเป็นทางการ และในปี  1963 ทางองค์การเนตรนารีแห่งชาติสหรัฐก็ได้อนุมัติให้มีการขายคุกกี้ของเนตรนารีทั่วประเทศอย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน

    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วัตถุดิบในการทำคุกกี้ เช่น แป้ง และน้ำตาลนั้นขาดแคลน จึงได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นการจำหน่ายปฏิทินเพื่อหารายได้แทน หลังจากสิ้นสุดสงครามแล้วก็ได้มีการปรับสูตรและรสชาติของคุกกี้ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในช่วงยุคเบบี้บูมเมอร์คุกกี้ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จากเดิมที่อบคุกกี้ขายกันเองในชุมชนก็มีการว่าจ้างร้านเบเกอรี่ให้ผลิตคุกกี้ให้ และมีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้สามารถคงความสดใหม่ของสินค้าได้นานยิ่งขึ้น

  • สูตรและรสชาติของคุกกี้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ายุคสมัยอยู่ตลอดเวลาทั้งสูตร low-fat, sugar-free และ gluten-free รวมไปถึงร้านที่รับผลิตจากเดิมที่มีอยู่หลายเจ้าในปัจจุบันก็มีการกำหนดให้เหลือเพียงสองเจ้าเท่านั้นคือ Little Brownie Baker (LBB) ที่เป็นบริษัทลูกของ Keebler Company เจ้าของเดียวกันกับ Kellogg’s และ ABC Bakers บริษัทลูกของ Interbake Foods ซึ่งเจ้าของคือ George Weston Limited

    กิจกรรมการขายคุกกี้นั้นส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิตให้กับเหล่าเนตรนารี 5 ด้านด้วยกัน คือ Goal Setting Skill, Decision Making Skill, Money Management Skill, People Skills และ Business Ethics และยังมีการมอบเหรียญรางวัลและเข็มกลัดเพื่อแสดงถึงความสามารถในด้านต่างๆอย่างที่เราเคยเห็นกันในหนังหรือซีรี่ย์ ในปี 2016 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นการครบรอบ 100 ปีของกิจการคุกกี้เนตรนารีก็ได้มีการโปรโมตคุกกี้ในงานประกาศรางวัลออสการ์ซึ่งทำให้คุกกี้เนตรนารีได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก 

    ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันการขายคุกกี้จึงไม่ได้มีเพียงแค่การตั้งร้านหรือเร่ขายตามบ้านอีกต่อไป การซื้อทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น


    FYI : คำว่า Girl Scout Cookies ในบางครั้งก็ถูกใช้เป็นคำแสลงที่หมายถึงกัญชา


    ภาพและข้อมูลจาก
    Girl Scout Cookie History From girlscouts.org
    Girl Scout Cookies From Wikipedia, the free encyclopedia
    Girl Scout Cookies by xoxxooxo From urbandictionary.com


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in