เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
App Jp Ling หรรษาspicygarlic
09. Post-editing มีอะไรแบบนี้อยู่ด้วยเหรอเนี่ย!?

  • ทุกคนเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมเวลาบางครั้งเราอ่านประโยค หรือสื่อที่ไม่ใช่สื่อไทย แล้วเรากลับมาอ่านฉบับแปลไทย แล้วบางครั้งมีการใช้คำที่ต่างออกไป ทั้งๆ ที่ก็เป็นความหมายเดียวกับที่เราคิด แต่การใช้คำของผู้แปลนั้นกลับต่างออกไปจากเรา 


    คำตอบก็คือ เพราะว่า มีการ Post-editing นั่นเองค่ะ


    Post-editing ก็คือการที่เราแก้ไขคำแปล โดยเฉพาะหลังจากที่ใช้เครื่องแปล (machine translator) นั่นเองค่ะ หรือก็คือการที่เราเลือกสรรคำเพื่อทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ และทำให้เกิดผลลัพธ์ตามที่เราต้องการนั่นเอง


    ตัวอย่างเช่น โฆษณาร้านไก่ทอดร้านหนึ่ง ที่มีสโลแกนร้านว่า Food you love, taste you crave ถ้าหากว่าเราเอาประโยคนี้ไปแปลในเครื่องแปล ซึ่งผู้เขียนจะขอใช้เป็น Google Translate จะได้ออกมาว่า "อาหารที่คุณชอบ รสชาติที่คุณโหยหา"


    แต่ว่า พอประโยคนี้ได้รับการ  Post-editing ก็กลายเป็น กรอบที่ใช่ ไก่ที่ชอบ ซึ่งก็ตรงกับวัตถุประสงค์คือการขายไก่ทอด ทั้งยังเก็บการเล่นคำต่างๆ ในประโยคได้อีกด้วย ถือว่าบรรลุวัถตุประสงค์ในการขายไก่ทอดได้อย่างงดงามเลยทีเดียว


    แต่ในการ  Post-editing นี้ ไม่ได้ใช้แค่ในวงการการโฆษณาเพียงเท่านั้น แต่การ Post-editing ในภาษาญี่ปุ่นยังนิยมใช้อย่างมากในวงการธุรกิจอีกด้วย เนื่องจากภาษาญี่ปุ่นนั้นมีความเฉพาะตัวของภาษามาก ถ้าแปลตามที่เครื่องแปลออกมาเลยก็จะกลายเป็นว่าอ่านไม่รู้เรื่อง และไม่เข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อสารออกมา


    จึงอาจกล่าวได้ว่า การ Post-editing เป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมากที่จะทำให้ผู้รับสารเข้าใจสารที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อสารได้เป็นอย่างดี


    โดยการแปลภาษาญี่ปุ่นธุรกิจให้ออกมาเป็นภาษาไทยนั้น จาก สมเกียรติ (2560) มีดังนี้

    1.การปรับสำนวนโดยอิงบริบทหรือสถานการณ์ที่มีการใช้คำดังกล่าว

    2.การใช้สำนวนภาษาไทยที่นิยมใช้ในสถานการณ์เดียวกัน

    3.การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หรือรูปแบบการเขียนให้สอดคล้องกับความนิยมในภาษาไทย


    และ สมเกียรติ (2560) ยังได้มีการยกตัวอย่างในเรื่องของคำว่า 活動 อีกด้วย เพราะโดยปกติคำนี้จะแปลว่า กิจกรรม แต่ว่าในประโยค 日頃は、A社の活動にご理解とご協力をいただき、誠にありがとうございます。แปล 活動 ว่า "เป็นนโยบายการดำเนินงานของบริษัทฯ" ซึ่งทำให้ความหมายนั้นมีความเจาะจงและสอดคล้องกับบริบทมากขึ้นด้วย


    นอกตัวอย่างข้างต้น การ Post-editing ในภาษาญี่ปุ่นธุรกิจก็ยังมีอีกมากมาย  เช่น

    (ประธานกล่าวในการประชุมร่วมกัยตัวแทนจำหน่ายสินค้า) 毎度ありがとうございます。

    ในประโยคนี้ ถ้าเราให้เครื่องแปลแปลออกมาก็จะได้ประมาณว่า "ขอบคุณสำหรับทุก ๆ ครั้ง" 


    ซึ่งเป็นคำแปลที่ถ้าดูตามบริบทแล้วไม่เข้าใจเลยว่าเกี่ยวกันอย่างไร แต่ประโยคนี้ถ้าทำการ Post-editing ก็จะได้มาว่า "ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อบริษัทเสมอมา" ซึ่งเป็นคำแปลที่อ่านเข้าใจและเข้ากับบริบทมากกว่า


    まずは取り急ぎ、ご回答申し上げます。(อีเมลตอบคำถามลูกค้า) ดูเผิน ๆ เหมือนประโยคนี้จะนำไว้ขึ้นในจดหมาย เพราะเมื่อนำไปให้เครื่องแปลแล้วได้ออกมาว่า "ก่อนอื่นฉันอยากจะตอบกลับโดยเร็วที่สุด"


    แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะว่าประโยคนี้จะใช้วางไว้ตอนท้ายจดหมายหรืออีเมล จึงอาจแปลได้ว่า "จึงเรียนมาเพื่อทราบ" ซึ่งเป็นคำที่คนไทยคุ้นชินและใช้กันในจดหมายอยู่แล้ว จึงจะเป็นคำแปลที่อ่านแล้วคนไทยสามารถเข้าใจได้และถูกบริบทมากกว่านั่นเอง


    จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่า Post-editing มีความสำคัญมากไม่ว่าจะในวงการโฆษณาหรือแม้กระทั่งในวงการธุรกิจ การเลือกคำที่จะใช้ทั้งจากการดูบริบทและจากความคุ้นชินของผู้ใช้ภาษาปลายทาง ทำให้ผู้รับสารนั้นเข้าใจในสิ่งที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อ ทำให้สุดท้ายแล้วคำแปลนั้นก็สามารถทำให้ผู้ส่งสารนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งสารดังกล่าวนั่นเองค่ะ


    สำหรับบล็อกนี้ก็จบกันแต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านกันจนมาถึงบล็อกนี้นะคะ

    ขอบคุณค่ะ


    ---------------------------------------------------------------------------------------------------
    อ้างอิง
    สมเกียรติ  เชวงกิจวณิช. (2560). เทคนิคการแปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยให้เป็นธรรมชาติ: วิเคราะห์การแปลเอกสารธุรกิจ. วารสารอักษรศาสตร์, 46 (1), 209-246.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
k.l.k (@k.l.k)
สรุปได้ดีมากเลย อ้างอิงไว้อย่างดี (ชอบตย.ไก่ทอด)
Sodasado (@Sodasado)
まずは取り急ぎ、ご回答申し上げます。 นี่ถ้าไม่ศึกษาให้ดีก่อนก็ไม่รู้เลยค่ะว่าแปลว่า จึงเรียนมาเพื่อทราบ สรุป post-editing ได้ดีมากเลยค่ะ