สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ก็มาพบกับบล็อกของเราอีกเช่นเคย
ผู้อ่านหลายๆ ท่านที่อาจจะเคยเรียน หรือไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาก่อน แต่อาจจะเคยดูสื่อ อนิเมะ หรือรายการโทรทัศน์ที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น ก็จะใช้คำและสำเนียงที่ค่อนข้างไปในทางทางเดียวกัน เพราะว่าที่เราได้ยินกันตามสื่อหรือรายการโทรทัศน์ใหญ่ๆ จะเป็นภาษาญี่ปุ่นแบบ 関東弁 นั่นเองค่ะ แต่ภาษาญี่ปุ่นนั้นก็ไม่ได้มีแค่ 関東弁 อย่างเดียวค่ะ ดังนั้น วันนี้เราจะมานำเสนอภาษาถิ่นให้คุณผู้อ่านได้รู้จักกันค่ะ
ก่อนอื่น เราไปดูกันก่อนว่าภาษาถิ่นคืออะไร
ภาษาถิ่น (dialect) คือ ภาษาย่อยที่พูดกันในถิ่นๆ หนึ่ง มีลักษณะอบางอย่างที่อาจจะแตกต่างกันไปจากอีกภาษาถิ่นหนึ่ง โดยอาจจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ เช่นภาษาถิ่นระดับจังหวัด หรืออำเภอ เป็นต้น
โดยภาษาถิ่นในประเทศญี่ปุ่น สามารถแบ่งใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1.本土方言(ほんどほうげん)
1.1 東部方言(とうぶほうげん)เป็นภาษาถิ่นที่พูดกันในแถบภาคตะวันออกของญี่ปุ่นรวมถึงโตเกียว
1.1.1 北海道方言(ほっかいどうほうげん)
1.1.2 東北方言(とうほくほうげん)
1.1.3 関東方言(かんとうほうげん)
1.1.4 東海東山方言(とうかいとうさんほうげん)
1.1.5 八丈方言(はちじょうほうげん)
1.2 西部方言(せいぶほうげん)เป็นภาษาถิ่นที่มักพูดกันแถบภาคตะวันตกของญี่ปุ่นรวมถึงเกียวโตและเกาะชิโกกุ
1.2.1 北陸方言(ほくりくほうげん)
1.2.2 近畿方言(きんきほうげん)
1.2.3 中国方言(ちゅうごくほうげん)
1.2.4 雲拍方言(うんぱくほうげん)
1.2.5 四国方言(しこくほうげん)
1.3 九州方言(きゅうしゅうほうげん)เป็นภาษาถิ่นที่พูดกันในภูมิภาคคิวชู แถบจังหวัดคุมาโมโตะและจังหวัดใกล้เคียง
1.3.1 豊日方言(ほうにちほうげん)
1.3.2 肥筑方言(ひちくほうけん)
1.3.3 薩隅方言(さつぐうほうげん)
2.琉球方言(りゅうきゅうほうげん)เป็นภาษาถิ่นที่พูดกันในบริเวณหมู่เกาะริวกิวทางใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น
2.1 奄美方言(あまみほうげん)
2.2 沖縄方言(おきなわほうげん)
2.3 先島方言(さきしまほうげん)
หรือถ้าดูจากรูปนี้ ก็จะทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นค่ะ ว่าส่วนไหน แถบจังหวัดอะไรของญี่ปุ่นมีการใช้สำเนียงแบบไหนบ้าง
(ที่มาภาพ : https://kotobaken.jp/qa/yokuaru/qa-139/)
แต่ในรูปภาพหรือการแบ่งตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นการแบ่งแบบใหญ่ๆ เท่านั้นค่ะ เพราะเป็นการแบ่งแบบตามภูมิภาค ซึ่งแต่ละภูมิภาคก็จะประกอบด้วยหลายๆ จังหวัด และแต่ละจังหวัดก็อาจจะมีภาษาถิ่นเฉพาะของตนเองอีกทีหนึ่งก็ได้ค่ะ
ดังนั้นในบล็อกของเราวันนี้ก็จะมายกตัวอย่างภาษาถิ่นบางส่วนให้คุณผู้อ่านได้ทำความรู้จักกันค่ะ
เริ่มกันที่ 北海道方言
なんも、なんも!จะหมายถึงประมาณว่า ไม่เป็นไร หรือ ไม่เป็นไร อย่าคิดมาก
เช่น A:助けてくれてありがとう
B:なんも、なんも!
なまら หมายถึง มากๆ ความหมายเหมือนกับคำว่า とても หรือ すごく
めんこい หมายถึง น่ารัก หรือ かわいい นั่นเองค่ะ
ดังนั้นถ้าเราอยากจะพูดว่า あの人、とてもかわいい!จะสามารถพูดได้ว่า あの人、なまらめんこい!
なして หมายถึง ทำไม なぜ どうして
เช่น どうして、君はここにいる?จะสามารถพูดได้เป็น なして、 君はここにいる?
しゃっこい หรือ ひゃっこい จะหมายความว่า เย็น หรือ つめたい นั่นเองค่ะ
เช่น A: 雪に触れてみて?
B: あ、しゃっこい!(つめたい)
ต่อมาคือ 近畿方言 หรือชื่อที่เราอาจจะคุ้นเคยมากกว่าก็คือ 関西弁 นั่นเองค่ะ
めっちゃ คำๆ นี้ ผู้เรียนญี่ปุ่นหลายคนอาจจะคุ้นหูคุ้นตากันมาบ้าง เพราะเจอบ่อย โดยคำนี้จะมีความหมายว่า มาก หรือความหมายเดียวกับ とても นั้นเองค่ะ
からい ถ้าพูดคำนี้ในโตเกียว คนคงเข้าใจว่าเราอาจจะกินของเผ็ดมาแน่ๆ เลย แต่สำหรับ 関西弁 คำนี้ แปลว่า เค็ม ค่ะ
ดังนั้น ถ้าเราอยากจะพูดว่า เค็มมาก แบบ 関西弁 ก็จะสามารถพูดได้ว่า めっちゃからい!!นั่นเอง
โดยในเรื่องยอดนักสืบจิ๋วโคนันเล่ม 74 ก็ยังมีการนำคำว่า からい มาใช้เพื่อจับคนร้ายในตอนอีกด้วยค่ะ
(อ่านจากซ้ายไปขวา)
(ที่มาภาพ : ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เล่ม 74)
จากรูปก็จะเห็นได้ว่า คนร้ายในตอน รวมทั้งฮัตโตริและคาซึฮะที่เป็นคนคันไซ จะใช้คำว่า からい ที่แปลว่าเผ็ดใน 関東弁 แทนคำว่าเค็ม เนื่องจาก からい ใน 関西弁 แปลว่าเค็ม ส่วนใน 関東弁 จะใช้คำว่า しょっぱい ที่แปลว่าเค็มนั่นเองค่ะ
ほんま แปลว่า จริงๆ จะมีความหมายเหมือนกับคำว่า 本当に หรือ とても ค่ะ
เช่น 本当においしい ก็จะสามารถพูดได้เป็น ほんまにおいしい
ต่อกันที่ 九州方言
九州方言 หรือ 九州弁 นี้ ในบทความนิตยสารออนไลน์ Oggi ของญี่ปุ่นก็ได้ให้ตัวอย่างไว้ส่วนหนึ่งค่ะ
เช่น ちかっぱ แปลว่า มาก มากๆ หรือ とても すごく ซึ่งคำนี้มักพูดกันในจังหวัดฟุกุโอกะค่ะ เช่นถ้าเราอยากจะพูดว่า すごくいい感じ!จะพูดเป็น 九州弁 ได้ว่า ちかっぱいい感じ!
どげん หรือ どがん แล้วแต่พื้นที่ ทั้งสองคำนี้จะแปลว่า ยังไง หรือ どう どのように หรือถ้าอยากจะพูดว่า どうしたの?ก็จะสามารถพูดได้ว่า どげんしとん?ค่ะ
なんち? いっちょんわからん!ในประโยคนี้ なんち คือ なんて ส่วน いっちょんわからん คือ 全然わからない ดังนั้นทั้งประโยคนี้ก็จะแปลได้ออกมาว่า なんて?全然わからない!หรือ อะไรกัน ไม่เห็นจะรู้เลย! นั่นเองค่ะ
そうたいね คือ そうだね หรือ นั่นสินะ นั่นเองค่ะ
เช่น A : ちかっぱいい感じ!(すごくいい感じ!)
B : そうたいね(そうだね)
และสุดท้าย 沖縄方言 นั่นเองค่ะ
คำแรก เป็นคำที่อาจจะคุ้นหู เป็นคำที่อาจจะเคยได้ยินบ่อยๆ เวลาทักทายกัน คือคำว่า はいさい นั่นเองค่ะ โดยคำนี้เป็นคำทักทายที่ใช้ได้ไม่ว่าจะช่วงไหนของวัน ความหมายจะประมาณคำว่า こんにちは ค่ะ โดยวันนี้เราก็มีตัวอย่างจากคุณ Yonashiro Sho จากวง JO1 ซึ่งเป็นคนโอกินาว่า ในคลิปแนะนำตัวตอนออกรายการ Produce 101 Japan (season 1) ด้วยค่ะ
จากในคลิปนี้ ก็จะเห็นได้ว่า คุณ Yonashiro Sho พูดคำว่า はいさい เป็นการทักทายก่อนอย่างแรกเลยค่ะ
くわっちーさびら/くわっちーさびたん โดยสองคำนี้จะใช้พูดก่อนและหลังทานข้าว เหมือนคำว่า いただきます และ ごちそうさまでした นั่นเองค่ะ
ちむどんどん แปลว่า ตึกตักๆ หรือคำว่า わくわく หรือ ドキドキ นั่นเองค่ะ นอกจากนี้คำนี้ยังเป็นชื่อละครญี่ปุ่นที่ฉายไปเมื่อปีที่แล้วด้วยค่ะ โดยตัวเอกเป็นคนโอกินาว่า ทำให้ในละครจะมี 沖縄方言 ปรากฏอยู่ด้วยเช่นกัน
จากที่ผู้เขียนได้เขียนไปข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าประเทศญี่ปุ่นนั้น มีพื้นที่มากมาย ประกอบกันด้วยหลายเกาะ ก็ไม่แปลกที่จะมีภาษาถิ่นหลายภาษา ภาษาญี่ปุ่นที่เราเรียนไปนั้น ก็เป็นเพียงหนึ่งในภาษาถิ่นมากมายที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น นอกจากภาษาถิ่นที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างไป ก็ยังมีภาษาถิ่นอีกมากมายที่รอให้ผู้อ่านได้เรียนรู้อยู่ และสำหรับผู้ที่เรียนหรือไม่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่น ถ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยว การรู้ภาษาถิ่นเพียงนิดหน่อยของเราอาจจะสร้างความประทับใจให้ผู้คนที่อยู่ที่นั่นไม่มากก็น้อยแน่ๆ ค่ะ
สำหรับบล็อกวันนี้ ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้
ขอบคุณผู้อ่านทุกคนนะคะ ไว้เจอกันบล็อกหน้า
หากมีข้อผิดพลาดใดๆ สามารถคอมเมนต์บอกกันได้นะคะ สวัสดีค่ะ
—------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
https://www.hidaka-h.wakayama-c.ed.jp/chuko/sotugyokenkyu/heisei22/kokugo%20ihara.pdf
https://japanese-bank.com/nihongo-how-to-teach/japanese-dialect/
https://we-xpats.com/ja/guide/as/jp/detail/6529/
https://hokkaidolikers.com/archives/41709
https://www.tabikobo.com/tabi-pocket/japan/hokkaido/article53164.html
https://matcha-jp.com/jp/175#:~:text=(1)めっちゃ(Meccha),めっちゃ好き。
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in