เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
นักเรียนนอกครั้งแรกMarut Soontrong
ว่าด้วยวิทยานิพนธ์
  • บทความนี้เป็นบทความที่ผมย้ายมาจากบล็อกส่วนตัวอีกเว็บไซต์หนึ่งมาลงที่ Minimore แห่งนี้ ด้วยเห็นว่ามีประโยชน์แก่ผู้อ่านในนี้ไม่มากก็น้อยครับ เลยนำมาลงก่อนเนื่องจากเป็นผู้เลานใหม่ครับ หากหน้าตาบล็อกยังไม่สวยก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ


    วิทยานิพนธ์ (Dissertation) เป็นงานเขียนเรียงความที่มาขนาดใหญ่ขึ้น ไล่ไปตั้งแต่ 12,000 - 20,000 คำ แล้วแต่ความเข้มข้นของสาขาวิชานะครับ (ของผม 15,000) บางคนสงสัยว่าทำไมที่เมืองไทยเราเรียกกันว่า Thesis คำอธิบายของผมคือ ระบบอุดมศึกษาของอังกฤษแบ่งงานเขียนเพื่อจบการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ Project Paper/Thesis สำหรับปริญญาตรี Dissertation สำหรับปริญญาโท และ (Ph.D.) Thesis ในระดับปริญญาเอก Dissertation ในระดับปริญญาโทนั้นไม่ได้เน้นการสังเคราะห์ทฤษฎีขึ้นมาใหม่เหมือนเป็น Thesis-Antithesis เท่าใดนัก แต่จะเน้นการหาความรู้และเหตุผลมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนึ่ง ๆ เป็นหลัก จึงเรียกงานเขียนระดับปริญญาโทว่า Dissertation ทั้งนี้ อังกฤษกับอเมริกาก็นิยมใช้สลับกัน ผมก็ไม่ค่อยรู้สาเหตุเท่าไหร่นัก รบกวนท่านผู้รู้มาสนับสนุนข้อมูลด้วยละกันนะครับ

    การทำวิทยานิพนธ์ มันคือคือการวิจัยหนึ่งนั่นแหละครับท่านผู้อ่าน! การทำวิจัย เราถูกสอนมาตั้งแต่ประถมด้วยการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ (แม้ว่าจะเป็นงานง่อย ๆ) และสอนในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ แต่กระบวนการที่ถูกสอนกันมา ไม่ว่าจะเป็น การหาปัญหา การตั้งสมมติฐาน ลงมือทำ ตรวจสอบสมมติฐาน และอื่น ๆ มันก็คือการวิจัยทั้งนั้น เพียงแต่เพิ่มระดับความยากตามระดับความรู้ที่เราเรียน ก่อนที่เราจะเริ่มทำวิทยานิพนธ์ เราจะได้รับงานหนึ่งมาก่อนคือ "โครงร่างวิทยานิพนธ์" (Dissertation Proposal) ซึ่งจำนวนคำก็แล้วแต่หลักสูตร ซึ่งหัวข้อสำคัญ ๆ ของโครงร่างที่จะนำไปสู่วิทยานิพนธ์ประกอบด้วยหัวข้อหลัก ๆ ดังนี้

    1) ปัญหาการวิจัย (Research Problems) หมายถึง สิ่งที่เป็นปัญหา และเราไม่รู้ว่าทำไมสิ่งนั้นถึงได้พัฒนามาเป็นปัญหานั้น และมีความจำเป็นในระดับ Damn it! มันต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อแก้ปัญหา จากประสบการณ์ผม โครงร่างและการปรึกษาซุปจะทำให้เรารู้ว่าประเด็นที่เรายกมานั้นมันเป็นปัญหาจริง ๆ รึเปล่า บางคนคิดว่าตัวเองแน่มาก...ไม่ยอมถาม สุดท้ายไปตกมาตายตรงกรรมการให้ความเห็นว่า "ไม่เห็นจะเป็นปัญหาตรงไหน" (PhD จะมีกรรมการพิจารณาโครงร่าง...ถ้าตกก็กลับบ้านเลยครับ) ปัญหาการวิจัยในระดับปริญญาโท อาจจะเป็นประเด็นที่เราสนใจ ซึ่งได้มีการอ่านมาเบื้องต้นแล้วว่ามีความน่าสนใจ และคิดว่าพอจะเอาไปทำประโยชน์ได้

    2) คำถามการวิจัย (Research Questions) เป็นร่างพัฒนาการของปัญหาการวิจัย ที่มีความชัดเจนขึ้นในแง่ของการตกผลึกความคิด โดยเป็นคำถามที่จะถูกทบทวนอยู่ในใจว่า "กูอยากรู้อะไร?" คำถามที่ดีก็ต้องมีคำสำคัญจากปัญหาการวิจัยครบถ้วนนะครับ ทั้งแนวคิดทฤษฎี พื้นที่ที่เราจะศึกษา วิธีวิทยา (Methodology) ที่เราจะใช้ และอื่น ๆ ที่จำเป็น คำถามการวิจัยอาจจะมีซัก 1 - 2 ข้อ (พอครับ ข้อเดียวท่านก็ต้องตกตายไปกับมันอย่างน้อยครึ่งเล่ม!) ในกรณีของผม ผมสนใจเรื่อง Collaboration in Public Sector คำถามของผมเลยมี 2 คำถามครับ (ข้างล่าง)

          1) What are characteristics of collaboration in Health and Social Care in England?
          2) What Thailand do need to develop for the collaboration in public health policy?

    อธิบายได้ว่า Collaboration คือแนวคิดที่ผมจะศึกษา ส่วน Health and Social Care เป็นพื้นที่การวิจัยที่ผมจะเน้นว่าผมศึกษานโยบายนี้ และเปรียบเทียบระหว่างแคว้นอิงแลนด์และไทยนะ แค่นี้นะ! ถ้ายูมาถามเรื่องสก็อตแลนด์ไอไม่ตอบ ไม่ได้ศึกษาโว้ยย! ประมาณนี้ครับ คำถามเหล่านี้ ก็จะถูกแปลงเป็นวัตถุประสงค์การวิจัย (Research Purposes) ซึ่งก็เหมือนจะล้อกันมานั่นเอง แต่ก็อาจจะมีมากกว่าคำถามประมาณ 1 ข้อ เพราะไม่สามารถจบลงได้ในข้อเดียว เช่นกรณีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย (ผมเอามันมาเป็นข้อสอง เพราะหลัก ๆ ผมอยากรู้ข้อเดียว ฮ่าาา ๆ ๆ)

    2) สมมติฐาน (Hypothesis)
    คือการคาดคะเนผลของการวิจัยครับ ว่ามันจะเป็นไปในทางใด ซึ่งเราก็ตั้งไว้กว้าง ๆ ได้ ก็เสมือนการลองตอบคำถามนั่นแหละครับ ปัญหาสำคัญของสมมติฐานคือ มันจะนำทางการศึกษาของเราไปในทางนั้นโดยที่เราไม่สามารถกลับลำได้ ถ้าเป็นสายวิทยาศาสตร์ถ้าสมมติฐานไม่ถูกต้องอาจต้อง เท! แล็ปนั้นไป แล้วมานั่งคิดคำอธิบายว่าทำไม แต่สังคมศาสตร์อนุญาตให้เราไปต่อได้ โดยการตอบว่า "ทำไมล่ะจ๊ะ" เช่น วิทยานิพนธ์ของเพื่อนผมทำเกี่ยวกับการตลาดของเครื่องสำอางค์ยี่ห้อดัง เขาพบว่าผู้ชายส่วนใหญ่มักจะพูดถึงอีกยี่ห้อหนึ่งมากกว่า (คือไม่มี Brand Loyalty เท่าไหร่) เขาก็ตอบไปสิว่าทำไม ไม่ต้องเทกระจาดทิ้ง อย่างไรก็ตาม ขอให้คิดว่าสมมติฐานเป็นแนวทางในการทำวิทยานิพนธ์ เพราะเราเชื่อว่ามันต้องถูก! ถ้าไม่ถูกก็หาคำตอบว่าทำไม แค่นั้น!

    3) วิธีวิทยาการวิจัย (Research Methodology)
    เป็นวิธีการที่ได้มาซึ่งความรู้ หรือคำตอบของปัญหานั้น ซึ่งแบ่งออกเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Method) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Method) ซึ่งก็จะมีวิธีการมากมายอยู่ภายใต้ร่มใหญ่ของแค่ละค่าย แล้วคุณจะอยู่ค่ายไหนดี? คำตอบคือดูความเหมาะสมของคำถามว่าสามารถใช้วิธีการใดได้บ้าง ซึ่งในบ้างครั้งคุณอาจต้องพึ่งพาการวิจัยแบบผสมผสาน (Mix - methodology Research) ซึ่งต้องกำหนดสัดส่วนของเชิงคุณภาพและปริมาณให้เหมาะสม อีกปัจจัยที่ต้องดูคือ "ความถนัดของซุป" เพื่อที่ซุปจะช่วยเราได้บ้าง

    4) การทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) สำคัญมากจริง ๆ และใช้เวลามากที่สุด หารทบทวนวรรณกรรมไม่ใช้การสรุปหนังสือที่อ่านมาแล้วมาเขียนนะจ๊ะ! แต่มันคือการอ่านเพื่อสกัดเอาสาระสำคัญของหนังสือหรือบทความนั้นมาใช้กับงานของเรา รวมไปถึงการวิจารณ์คุณภาพและวิธีวิทยาการศึกษาของงานนั้น ๆ ด้วย (ส่วนนี้ผมไม่เก่งเท่าไหร่) แล้วก็นำมาลงใน Storyboard ว่าเราจะใช้แต่ละทฤษฎีหรือแนวคิดที่เราหามาได้อย่างไร ข้อแนะนำของผมคือ ถ้าคิดว่างานเขียนนั้นห่วรหรือไม่ค่อยมีสาระสำคัญ โยนทิ้งไปซะแล้วไปหางานอื่นโดยดูจากอ้างอิงของงานนั้น เพื่อที่จะหาแนวคิดที่แท้จริงของงานแล้วมุ่งไปหามัน อีกข้อแนะนำคือ สำหรับคนที่เลือกค่ายเชิงคุณภาพขอให้หางานเชิงปริมาณมาสนับสนุน เพื่อที่จะได้ไม่ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ไม่ได้

    5) แบบแผนของวิทยานิพนธ์ ในที่นี้ผมหมายถึง Template ของหัวข้อที่จำเป็นต้องมี ได้แก่จำพวกบทคัดย่อ (Abstract) สารบัญ เนื้อหาที่แบ่งเป็นตอน ๆ บทสรุป ขอให้สอบถามกับซุปหรือเจ้าหน้าที่ในเรื่องของตัวอย่างที่ดี เพื่อที่เราจะได้เอามาลำดับเป็นแบบอย่าง สำหรับบทคัดย่อที่ดีนั้น ควรมีความยาวไม่เกิน 250 - 300 คำ และต้องครอบคลุมประเด็นปัญหา คำถามการวิจัย และผลการศึกษา สำหรับกิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) นี่จำเป็นต้องเขียนเป็นมารยาท อย่างน้อยก็ขอบคุณซุปที่ดูแลคุณมา และขอบคุณพ่อแม่ที่ส่งคุณมาถึงขนาดนี้
     
    6) การวางแผนการทำงาน ในตลอดเวลาจนถึงวันส่งเล่มวิทยานิพนธ์ การวางแผนความก้าวหน้าสำคัญมาก เพราะว่าซุปจะไม่มานั่งจ้ำจี้จ้ำไชให้เสียเวลา เราต้องจัดการตัวเองตั้งแต่การเขียนงาน การนัดหมายเพื่อ Supervision ซึ่งมีกำหนดจำนวนครั้งขั้นต่ำที่ต้องพบซุป การเขียนงาน แก้งาน และการตรวจทานเล่ม ผมข้ามส่วนการเขียนไปเพราะหลักการเขียนก็คล้าย ๆ กับการเขียนเรียงความ เพียงแต่เนื้อที่มากขึ้นเท่านั้น

    สำหรับคนที่เราเรียกว่า "ซุป" นั้น จริง ๆ ก็คืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์นั่นเอง เป็นคนที่เราจะต้องอยู่ด้วยตลอดสามเดือน  หรือจนกว่าเราจะส่งเล่มวิทยานิพนธ์ บางคนอยู่ต่อถึงปริญญาเอกก็มี ซุปจึงเสมือนเป็นคนสำคัญของเราตลอดช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ บทบาทหน้าที่หลักของซุปคือ การให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการทำวิทยานิพนธ์ของนักเรียน ในระดับปริญญาโทนั้นไม่ค่อนเน้นเรื่องการคัดสรรซุปเท่าใดนักเนื่องจากจำนวนนักเรียนที่มาก ดังนั้นเขาจึงใช้การประชุมและเลือกเด็กสำหรับอาจารย์แต่ละท่านมากกว่า นักเรียนไทยหลายคนชอบคาดหวังว่าซุปจะช่วยเราได้มากมาย...แต่เปล่าเลย! เขามีหน้าที่เพียงแค่แนะนำให้คำปรึกษาในเรื่องการวิจัย อ่านงานของเรา และให้คะแนนวิทยานิพนธ์เท่านั้น เรื่องเนื้อหาในเล่มเป็นเรื่องและหน้าที่ของเรา...โดยมีซุปเป็นคนอ่านและตั้งคำถามให้เราไปหาเพิ่มหรือปรับลดให้เท่านั้นวิทยานิพนธ์ของเรา เราต้องเป็นคนรู้มากที่สุดและดีที่สุด รู้จนถึงระดับที่คุณสามารถคุยกับคนอื่นเรื่องวิทยานิพนธ์ของคุณอย่างเป็นตุเป็นตะ

    เราจะอยู่ร่วมกับซุปอย่างไร?
    ข้อนี้คือแล้วแต่คนจริง ๆ นะครับ สำหรับคนที่ทำงานแล้วน่าจะเข้าใจบริบทได้ดีกว่า ซุปก็เสมือนเพื่อนร่วมงานเราคนหนึ่งครับ เราต้องเข้าใจลักษณะการทำงานของเขา และเราต้องทำงานกับเขาให้ได้ ซึ่งการดูแลของอาจารย์แต่ละท่านก็แตกต่างกันออกไป ไม่มีดีมีแย่หรอกครับ ความคิดส่วนตัวของผม เราจะต้องพูดคุยกับซุปตั้งแต่แรกเริ่มที่คณะประกาศชื่อซุปว่าใคร ซึ่งซุปก็จะมีแนวทางการดูแลเรามาแล้ว เช่น คุณเขียนไปเลยทั้งเล่มนะแล้วค่อยมาอ่านทีเดียว สำหรับกรณีของผม คืออาจารย์ถามว่าผมอยากจะเสร็จวันไหน แล้วก็นัดกันสองสัปดาห์ครั้ง โดยอาจารย์ขอให้ไปจ้างตรวจภาษาเพื่อความสะดวกโยธินของชีวิต (อะไรที่ซุปบอก...ทำเถอะครับ!) ผมก็จะมีวัฏจักรชีวิตสองสัปดาห์ครั้ง เขียนงานทั้งวันทั้งคืนไปสิสองสัปดาห์ (ผมนัดวันพฤหัสบดี) วันศุกร์กลางคืนหลังส่งงาน...ผมก็ออกเที่ยวสิครับจะรออะไร! ผมเชื่อว่าการทำวิทยานิพนธ์ได้อย่างมีความทุกข์น้อยที่สุดคือการวางแผนที่ดี และการพูดคุยกับซุปอย่างสม่ำเสมอ...ไม่ว่าจะตัวต่อตัวหรือส่งอีเมล์คุยกัน

    ท้ายที่สุด การเรียนปริญญาโทที่ต่างประเทศอาจจะมีมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมได้บอกเล่าให้กับผู้อ่านทุกท่านนั้น ต้องขอขอบพระคุณ Dr. Pauline Jas Lecture in Public and Social Policy ที่ University of Nottingham ที่ได้ดูแลผมมาอย่างอบอุ่น และแน่นอนว่าผมระลึกถึงเสมอ (ห้ามไปขอเป็นเด็ก Supervisee โดยอ้างชื่อผมนะ แกไม่รับไปคนนึงละ 55555+) และขอให้ทุกคนที่ยังเรียนอยู่ที่อังกฤษก็ต่อสู้ต่อไปอย่าได้ถอย เพราะเมื่อคุณผ่านพ้นมันได้ คุณจะแกร่งและเก่งขึ้นมาก และที่สำคัญ...

    เรียนอังกฤษปีเดียวไม่ได้ไปเที่ยวอย่างเดียวนะจ๊ะ!

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in