"งานในสัปดาห์แรกของการฝึกงานเป็นอย่างไร"
สวัสดีอาจารย์ล่วงหน้านะคะ และสวัสดีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ รวมถึงคนที่หลงเข้ามาอ่านด้วยค่ะ ทุกคนคงอยากรู้แล้วใช่ไหมคะว่าฝึกงานอาทิตย์แรกเป็นอย่างไร เราก็ขออนุญาตสรุปเป็นรายวันเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ต่อนักอ่านและเราที่เป็นคนเขียนนะคะ
วันอังคาร (24 พ.ค.) นัดคุยช่วงเช้าเพื่อสอนเกี่ยวกับการทำงานของสำนักพิมพ์ตั้งแต่เริ่มถึงปิดงาน
ภาพรวมของ flow งานทั้งหมดเป็นอย่างไร โดยมีพี่เปย์ (ผู้ช่วยบก.) เป็นผู้อธิบายให้ฟังในวันนี้ ขั้นตอนก็จะคล้าย ๆ ตอนเรียนวารสารกับครูเอื้อง แต่จะลงลึกกว่านิดหน่อยในบางขั้นตอน เช่น ขั้นตอนการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ก็จะมี 2 แบบคร่าว ๆ จะติดต่อผ่านเอเจนซี่หรือติดต่อสำนักพิมพ์ต้นฉบับโดยตรง เอเจนซี่จะมี connection กับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ อยู่แล้ว หรือถ้าสำนักพิมพ์นั้นไม่ได้อยู่ในรายการของเขา ก็จะช่วยติดต่อกับเอเจนซี่คนอื่นให้ ขอแอบกระซิบว่าขั้นตอนนี้ก็ค่อนข้างใช้เวลานานเป็นเดือนก็ว่าได้ และอีกขั้นตอนที่ใช้เวลานานไม่แพ้กันคือ ขั้นตอน Edit เพราะทั้งตรวจภาษาและสำนวนว่ายังติดสำนวนต่างประเทศไหม คำที่ใช้เหมาะกับเด็กหรือเปล่า ต้องตรวจเช็คหลายรอบ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันปรับแก้จนกว่าจะผ่าน ทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมใช้เวลานาน และพี่เปย์จะมีตัวอย่างที่ Edit ออกมาแล้วเป็นอย่างไรให้เราเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น (ถ้าได้ดูตัวอย่างแล้วจะมาเล่าให้ฟังนะคะ)
หลังจากคุยเสร็จถึงประมาณเที่ยง ก็ปิดท้ายด้วยการมอบหมายงานให้เราเขียนรีวิวช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของ Sandclock ไม่ว่าจะเป็น Website Facebook และ Instagram เขียนข้อดีและข้อเสียที่ควรปรับปรุง สิ่งที่เราเขียนทางสำนักพิมพ์ก็จะนำไปพัฒนาปรับปรุงตามที่เราแนะนำ
ต่อแรกก็คิดว่างานนี้รีวิวน่าจะทำได้ไม่ยากแต่ด้วยความที่เป็นงานแรกของการฝึกงานทำให้แอบคิดเยอะและกลัวว่าจะทำออกมาได้ไม่ดี จึงพยายามเขียนอธิบายข้อดีในส่วนนี้ดีอย่างไร ถ้ามีข้อที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ก็จะบอกอย่างรายละเอียดเท่าที่จะทำได้ แต่งานรีวิวนี้เราต้องรีวิวแบบผู้ใช้งานรู้สึกต่อการใช้งานเว็บไซต์อย่างไร และเราต้องรับบทเป็นผู้ปกครองพ่อแม่ตามกลุ่มเป้าหมายของสำนักพิมพ์ทำให้ยิ่งต้องคิดหลายด้าน เพราะวัยพ่อแม่และเราที่เป็นเด็กเจนZคนหนึ่ง ทำให้ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราคิดกับพ่อแม่ที่เขามาใช้งานจริง ๆ จะคิดหรือรู้สึกแบบเดียวกันไหม
แต่จากที่เราดูเว็บไซต์ค่อนข้างเป็นสไตล์มินิมอล โทนเหลือง-ดำ-ขาว โทนสีหลักของสำนักพิมพ์ การใช้งานก็ง่ายไม่ค่อยมีอะไรให้ติเท่าไหร่ หรือเราประสบการณ์น้อย เวลาพิมพ์ไปก็มีแต่คำชม จริง ๆ แล้วอาจจะพัฒนาเว็บไซต์เพิ่มได้อีกแต่เรานึกไม่ออกเอง
วันพุธ (25 พ.ค.) ทางที่ฝึกงานมอบหมายงาน Research ช่องทางออนไลน์ของสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือสำหรับเด็ก เช่น Amarin Kids, นามมีบุ๊คส์, แปลน ฟอร์คิดส์, Barefoot banana และ Wimmel Club สำรวจว่ามี Account บนแพลตฟอร์มไนบ้าง รูปแบบงานคล้าย ๆ รีวิวรอบก่อนแต่คราวนี้ให้สำรวจสำนักพิมพ์อื่น ๆ เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย จุดแข็ง-จุดด้อยของแต่ละสำนักพิมพ์ ซึ่งง่ายต่อการปรับปรุงเว็บไซต์ หรือคอนเทนต์อะไรที่สามารถเพิ่มเติมได้
งานเขียนก็ต่อยอดจากรอบแรก ซึ่งรู้สึกว่าตัวเองเขียนได้ละเอียดมากขึ้น เพราะดูทั้งองค์ประกอบของเว็บไซต์ของแต่ละสำนักพิมพ์มีอะไรเหมือนกันหรือต่างกัน มีขาดส่วนไหนบ้าง ถ้าเป็น Facebook, Youtube, Twitter และ Tiktok ก็จะดูว่ามีคอนเทนต์อะไรบ้าง ลักษณะการโพสต์เป็นอย่างไร รูปแบบของกิจกรรมให้ผู้ติดตามได้มีส่วนร่วมเป็นแบบไหน ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เป็นคร่าว ๆ ที่เขียนเราเขียนรีวิวสำนักพิมพ์อื่น ๆ
วันพฤหัสบดี (26 พ.ค.) นัดคุยช่วงเช้าปรึกษาเกี่ยวกับการสร้างวิดีโอบน Tiktok ทางสำนักพิมพ์มีแนวคิดจะขยายการเข้าถึงบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ มากขึ้น สร้างคอนเทนต์หลากหลายขึ้น และปรึกษากันว่าลักษณะของ Account ควรสร้างในรูปแบบไหน คุยถึงการคิดคอนเทนต์สร้างชาเลนจ์ที่เกี่ยวกับหนังสือ ถ่ายบรรยากาศงานหนังสือ และรีวิวหนังสือในอนาคต
หลังจากคุยเสร็จก็มอบหมายงานให้ออกแบบกราฟฟิกสำหรับโพสต์ Quote ลงแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยให้เราเลือกหนังสือของสำนักพิมพ์แล้วพี่ทรายจะส่ง Quote มาให้เราเลือกและเขียนแคปชั่นสำหรับ Facebook ด้วย
เราก็เลือกหนังสือสองเล่ม เรื่อง โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก กับ Unselfie สอนลูกอย่างไรให้เห็นหัวใจคนอื่น ถามว่าทำไมถึงเลือก หลังจากที่ได้อ่านคำโปรยของหนังสือก็คิดว่าค่อนข้างใกล้เคียงกับประสบการณ์ของตัวเองและน่าจะเขียนได้ง่ายกว่าถ้าเราเข้าใจสิ่งที่หนังสืออธิบายหรือจุดประสงค์ที่หนังสือจะบอกกับผู้อ่าน
วันศุกร์ (27 พ.ค.) หลังจากออกแบบกราฟฟิกเสร็จก็คิดแคปชั่นประกอบอธิบาย Quote ซึ่งได้ออกแบบกราฟฟิกเป็นแบบตัวอย่าง 2 แบบ ลักษณะการเขียนแคปชั่น(ของเรา)ค่อนข้างคล้ายกับเขียนวิเคราะห์วรรณกรรมในตอนเรียน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะตอบโจทย์อย่างที่พี่เขาอยากได้หรือป่าว (ก็ต้องรอตรวจอีกที)
อันนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เราชอบที่สุด
ดูเรียบง่ายแต่อีกใจก็ดูโล่งไป
ถึงแม้ว่าจะได้อ่านหนังสือคร่าว ๆ แต่ที่ได้เป็นเนื้อหาในหนังสือ 2 หน้า ทำให้ค่อนข้างยากถ้าจะอธิบาย Quote จากการอ่าน 2 หน้า เพราะบางทีเขียนบรรยายยาว ๆ แล้วชอบเขียนหลุดประเด็นสำคัญ แต่สุดท้ายก็พิมพ์แคปชั่นต่อจนเขียนครบทั้งสองเรื่องส่งไดร์ฟแล้วก็จบไปอีกหนึ่งงาน
พูดถึงไดร์ฟก็ลืมบอกไปว่าที่นี่จะมีไดร์ฟสำหรับเด็กฝึกงานให้ส่งงานรวมกันในไดร์ฟได้เลย
โดยภาพรวมงานค่อยข้างได้ทำหลากหลาย แต่อาทิตย์ถัดไปก็ได้หนังสือประมาณ 10-15 เล่มสำหรับเขียน Quote และกึ่งบทความประกอบแคปชั่น ก็อาจจะได้ทำงานนี้ยาว ๆ เลย แต่ก็ถ้าใกล้ ๆ ช่วงงานหนังสือจะได้ไปช่วยงานในส่วนของบูธหนังสือด้วยค่ะ
ปล.ในอนาคตทุกคนอาจจะได้เห็นผลงานของพวกเราเด็กฝึกงานผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของสำนักพิมพ์ Sandclock ถ้ามีคอนเทนต์อะไรอย่างไรที่พวกเราทำจะเอามาฝากไว้ในบล็อกอย่างแน่นอนค่ะ
ไว้จะมาอธิบายต่อในอาทิตย์ถัดไป
ขอบคุณค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in