เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Let the story beginDaffodil
[Review] รุกสยาม ในนามของพระเจ้า
  • ช่วงนี้เชื่อว่าละครที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องบุพเพสันนิวาสที่หยิบยกเอาบทประพันธ์ของรอมแพงมาปรับเป็นบทละคร ทำเอาชาวไทยทั้งหลายติดกันงอมแงม เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ

    แต่วันนี้ไม่ได้จะมาเม้ามอยหรือรีวิวนิยายเรื่องนี้นะคะ เพราะยังไม่ได้อ่าน (ซื้อไม่ทันเจ้าค่ะT^T) แต่เราจะขอรีวิวนิยายอีกเรื่องแทน เป็นนิยายที่เรานึกถึงทุกครั้งเมื่อพูดถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเลยค่ะ


    รุกสยาม ในนามของพระเจ้า (Pour la Plus Grande Gloire de Dieu) นิยายแปลของสำนักพิมพ์มติชน เขียนโดยMorgan Sportes แปลโดยกรรณิการ์ จรรย์แสง เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีตัวเอกของเรื่องคือซิมง เดอ ลาร์ ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางมาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับอยุธยา

    ตัวลาร์ ลูแบร์ในเรื่องนั้น เป็นชายหนุ่มเจ้าสำอางค์ผู้ทาแป้ง ใส่วิก สวมบูทเดินไปเดินมาในเมืองอยุธยาที่แสนจะร้อนอบอ้าวด้วยความทรมานจนแทบจะเป็นบ้า อ่านๆ ไปแล้วก็อดสงสารนางไม่ได้เหมือนกันนะ



    ในด้านเนื้อหานั้น รุกสยามฯ อัดแน่นไปด้วยข้อมูลสำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์จนแทบจะสำลัก ตอนแรกที่อ่านนิยายเรื่องนี้เราอยู่ม.4 แล้วก็ใช้เวลาอ่านนานมากกก อ่านเป็นเดือน อ่านจนบ่นตัวเองในใจว่าจะซื้อมาทำไมวะ แต่มันก็เป็นความทรมานที่บันเทิงอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

    โทนของนิยายเรื่องนี้เน้นไปทางเสียดสีและจิกกัดทุกสิ่ง บางทีเราก็อ่านไปขำไป บางทีก็อ่านไปงงไปเพราะไม่เข้าใจบริบทของสังคมสมัยนั้น ไม่ต้องพูดถึงราชสำนักฝรั่งเศสหรอกค่ะ แค่ราชสำนักอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ยังไม่รู้เลย แต่สเน่ห์อย่างหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือการปะทะกันทางวัฒนธรรมของทั้งสองราชสำนักนี่แหละ


    นอกจากความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่อัดแน่นแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังให้มุมมองใหม่ๆ กับเราด้วยเหมือนกัน เราเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์อย่างเป็นกลางมากขึ้น และที่สำคัญ นิยายเรื่องนี้ทำให้เราสนใจเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมากขึ้นจนยอมเปย์หนังสือของซิมง เดอ ลาร์ ลู แบร์มาประดับบ้าน เพื่ออ่านและเทียบว่านางเป็นอย่างในนิยายรึเปล่า (แต่จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะอ่านค้างไว้ที่หน้า 3 และยังไม่มีทีท่าว่าจะอยากอ่านต่อ)

    ทางด้านตัวละครกันบ้าง อย่างที่กล่าวไว้ว่ารุกสยามฯเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ ตัวละครส่วนใหญ่มีตัวตนอยู่จริง ทุกตัวละครในเรื่องเรียกได้ว่าไม่มีใครเป็นคนดี100%หรือเลว100% ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นตัวละครเทาๆ ในโลกของการแย่งชิงอำนาจ ซึ่งเราชอบตรงนี้ ถ้าจะถามว่าชอบใครที่สุดก็คงตอบยาก แต่ถ้าถามว่านึกถึงใครเป็นคนแรก...แน่นอนว่าน้องเป็นพ่อลาร์ ลูแบร์ เพราะแค่นึกภาพนางสวมชุดขุนนางฝรั่งเศสเต็มยศทั้งเสื้อโค้ท หมวก วิกผม ถุงน่อง รองเท้าบู้ตเดินเหงื่อไหลไคลย้อยในอโยธยาเราก็ขำแล้ว (ขออภัยท่านลาร์ ลูแบร์มา ณ ที่นี้ด้วย แต่ข้าขำจริงๆ เจ้าค่ะ) ว่ากันตรงๆ นางก็เป็นหนึ่งในชาวท่าแซะที่แซะไปเสียทุกอย่าง หงุดหงิดไปเสียทุกเรื่อง แต่ครั้นจะถอยกลับก็ไม่ได้ ต้องอดทนปฏิบัติหน้าที่ต่อจนลุล่วง



    โดยรวมแล้วรุกสยามเป็นนิยายที่กินพลังงานในการอ่านมาก (ถึงมากที่สุด) เพราะเนื้อหาค่อนข้างเยอะ (700 หน้า) มีข้อมูลให้ย่อยมาก อีกทั้งการเดินเรื่องก็เนิบและช้า เราอ่านไปหลับไปอยู่หลายรอบเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้ทนอ่านจนจบได้คงเพราะเสียดายเงิน (ฮา) บวกกับอยากรู้ว่าสุดท้ายแล้วชีวิตของท่านทูตพิเศษลาร์ ลูแบร์จะลงเอยเยี่ยงไร

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้จากนิยายเรื่องนี้นับว่าคุ้มค่า ทั้งเกร็ดประวัติศาสตร์ สภาพสังคมและวัฒนธรรมของอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ รวมไปถึงการปะทะกันทางแนวคิด-ทัศนตคิระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศส ระหว่างคริสต์กับพุทธ และการแย่งชิงอำนาจในราชสำนัก จนนิยายเรื่องนี้เกือบจะมีสภาพเป็นตำราประวัติศาสตร์ขนาด(ไม่)ย่อมเลยล่ะค่ะ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in