เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
โตแล้วจะรีวิวอะไรก็ได้พรี่หนอม
[Movie] GIRLS DON'T CRY : เด็กสาวเอย เธอจงร้องไห้ให้ดังกว่าเก่า

  • จงอย่าร้องไห้ เพราะน้ำตาไม่มีความหมาย
    หรือห้ามร้องไห้ เพราะชีวิตที่ร้ายกว่านี้ยังรอเราอยู่?

    รีวิวแบบไม่สปอยจากคนที่ไม่ได้เป็นโอตะ ไม่ได้รู้จักน้องทุกคนในวง ไม่ได้ติดตามผลงานอะไรใครเป็นพิเศษ เป็นแค่คนตามกระแสปกติคนหนึ่ง

    ถ้าตัดเรื่องการไปดูเพราะชอบน้องๆกลุ่มนี้ พรี่หนอมว่าหนังเรืองนี้เหมาะกับคนที่กำลังท้อแท้ พยายาม หรือตั้งคำถามกับการมีชีวิตนะ โดยเฉพาะคนที่ต้องตัดสินใจเลือกอะไรบางอย่างในชีวิตอยู่ มันคือการดูประสบการณ์ของคนผ่านหนังเรื่องหนึ่ง

    ต่อจากนี้จะสปอยแล้วนะ ...

    ---

    สปอยแล้วนะ
    สปอยจริงๆ
    สปอย
    สปอ
    สป


    ---



    คำถามแรก : คุณเป็นคนแบบไหน

    1. ตัวท็อปเก่งกาจ เจออะไรแค่ไหนก็เอาชนะได้
    2. คนธรรมดาที่รอลุ้นกับผลของความพยายาม
    3. คนที่พยายามแค่ไหนก็ไม่ได้ห่าอะไรสักอย่าง

    ถ้าคุณเป็นแบบแรก คุณจะเข้าใจว่าทำไมคนแบบนี้ถึงเอาชนะได้ทุกอย่าง ถ้าคุณเป็นคนแบบที่สอง คณจะเห็นทั้งความล้มเหลวและสำเร็จกับสัจธรรมบางอย่างของชีวิต แต่ถ้าคุณเป็นคนแบบสุดท้าย คุณจะเข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องพยายามต่อไป แม้ว่าจะไม่มีใครเห็น

    และที่สำคัญ ทุกคนมีความทุกข์ในแบบของตัวเอง



    คำถามสอง : ทำไมคนชอบบอกให้คนอื่นพยายามมากขึ้น

    ความย้อนแย้งของสังคมไทย (สังคมอื่นด้วยหรือเปล่าไม่รู้) มักจะให้คุณค่ากับความพยายาม สุภาษิต ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น จึงเป็นคำที่พร้ำสอนบ่อยๆ หรือประโยคในตัวอย่างหนังเช่น ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร ก็มักจะถูกใช้เสมอๆ

    แต่คำพูดพวกนี้คือคำพูดจากคนที่ไม่ได้เห็นว่า คนๆนั้นที่เรากำลังสอนเขาอยู่น่ะ เขาพยายามแค่ไหนแล้ว บางทีเขาอาจจะพยายามเกินกว่าสิ่งที่คุณกำลังบอกให้เขาทำมากขึ้นแล้วก็ได้

    จริงอยู่ที่ว่า ความพยายามไม่ได้ทำร้ายคนที่พูด
    แต่มันทำร้ายคนที่พยายามอย่างสุดใจแล้วเสือกได้ยินมัน



    คำถามสาม : เราควรแข่งกับตัวเองหรือแข่งกับคนอื่น?

    เมื่อก่อนเราเองก็ชอบพูดหล่อๆว่าอย่าเปรียบเทียบกับใครจงแข่งกับตัวเอง พิสูจน์เราว่าดีขึ้นกว่าวันเมื่อวาน บลาๆๆ

    ดูหนังเรื่องนี้จบลงแล้ว ผมกลับรู้สึกเรื่องพวกนี้มันเป็นสุขนิยมและการหลอกตัวเองรูปแบบหนึ่งนะ คือโอเค คุณทำได้แหละ ถ้าหากคุณมีเป้าหมายชัด เลือกการใช้ชีวิตในรูปแบบตัวเองได้ และมีโอกาสที่ดีในระดับหนึ่งเรียบร้อยแล้ว

    แต่ถ้าคุณอยู่ในสังคมการทำงาน สังคมที่ตีค่าผลงานคุณเปรียบเทียบกับคนอื่น ยอดไลค์ ฟอลโลว์ ไปจนถึงความนิยมที่คอยวัดผลคุณว่าจะได้งานหรือเปล่า ได้โตหรือเปล่า รวมถึงมีรายได้หรือเปล่า คุณจะต้องอยู่ในโลกของการแข่งขัน และแน่นอนคุณต้องทำมันได้ดีถึงจะเป็นคนชนะ หรืออยู่รอดในเกมส์นี้

    ลองมองย้อนกลับไปที่สังคมการทำงาน คุณก็ต้องแข่งขันกับคนอื่นอยู่นั่นแหละ เพียงแต่คุณแค่ไม่กล้าเรียกว่ามันคือการแข่งขัน เพราะมารยาททางสังคม หรือกลัวว่าตัวเองจะยอมรับความพ่ายแพ้ไม่ได้หรือเปล่า?



    คำถามสี่ : เราหนีความเป็นตัวเองได้หรือเปล่า?

    ระหว่างการเป็นตัวของตัวเอง แต่ไม่มีใครจดจำ กับการเป็นคนที่คนอื่นรักและคาดหวัง แต่สับสนว่าตัวเองทำอะไรอยู่ มันมีความแตกต่างกันคนละแบบนะ

    แบบแรก คุณจะตั้งคำถามกับสังคมว่าทำไมถึงไม่ยอมรับเราสักที แบบที่สองคุณจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำอะไรอยู่

    ไม่ว่าคุณเป็นคนแบบไหน สุดท้ายคุณจะเป็นคนที่คุณอยากจะเป็น ตัวตนของคุณจะเปลี่ยนแปลงไป สังคม (กลุ่มหนึ่ง) จะเข้าใจคุณในที่สุด

    ในหนังมีประโยคหนึ่ง ที่น้องเมมเบอร์คนหนึ่งบอกว่า ต้องมีภาคต่อสิ เพราะว่าจะได้รู้ว่าอนาคตเราจะเป็นแบบนี้ คิดแบบนี้อยู่หรือเปล่า หรือว่าจะเปลี่ยนไปแค่ไหน?

    เราจะหนีความเป็นตัวเองไปทำไมกันเล่า
    เพราะสุดท้ายตัวเราก็จะเปลี่ยนเป็นคนใหม่อยู่ดี


    คำถามสุดท้าย : คนแบบไหนที่เราควรชื่นชม?

    คนที่เราควรชืนชม คือคนแบบไหน คนเก่ง คนตลก คนพยายาม คนน่ารัก คนมีคาแรกเตอร์ หรือ คนที่เจอแล้วรู้สึกถูกชะตา ฯลฯ

    โดยส่วนตัว เราชอบน้องเมมเบอร์คนหนึ่งที่พูดว่า ตัวเองไม่ได้สนใจว่าชื่อเสียงของตัวเองดังแค่ไหน จะโดดเด่นหรือเปล่า แต่วง BNK48 จะต้องดังและอยู่รอดได้ นั่นคือความฝันของเขา เค้าอยากให้วงประสบความสำเร็จ

    ในการทำงาน เราต้องการคนแบบนี้มากๆ คนที่ทำเพื่อทีม เพื่อส่วนรวม เพื่อคนอื่นก่อน เพราะองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ คนแบบนี้แหละที่เราต้องการ

    แต่เรื่องนี้น่าตลกตรงที่เราจดจำไม่ได้แม้แต่ชื่อของเขา และชีวิตจริงเราก็ทำแบบนั้นกับคนเหล่านี้อยู่เสมอๆ

    บทสรุปกับสิ่งที่ไม่เคยถาม

    บทสรุป ผมไม่ได้ร้องไห้ (เพราะไม่ใช่เกิร์ลแล้ว เป็นโอลด์แมน 555) และไม่ได้รู้สึกชอบน้องคนไหนมากขึ้นจนต้องไปกดติดตามแฟนเพจยังเป็นคนที่ติดตามตามกระแสเหมือนเดิม 

    สิ่งที่เพิ่มเติมคือ เรารู้สึกว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นผู้ใหญ่กว่าคนอื่นอีกหลายๆคน หรือในบางแง่มุมเขาอาจจะเป็นผู้ใหญ่มากกว่าคนในวัยใกล้ 40 อย่างเราเสียด้วยซ้ำ

    ถ้าการร้องไห้คือการระบายความเสียใจ หนังเรื่องนี้อาจจะเปลี่ยนความคิดให้เราคิดว่าการร้องไห้มันเป็นการก้าวข้ามผ่านช่วงชีวิตที่อ่อนแอ ก่อนที่จะแชร์บทเรียนของความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นก็ได

    สุดท้ายแล้วการร้องไห้อาจจะไม่มีความหมาย
    และโลกที่ร้ายกว่านั้นก็รอเราอยู่จริงๆนั่นแหละ
    แต่เรารู้สึกดีที่มีน้ำตา

    เพราะว่ามันกำลังบอกว่า
    เรายังเป็นมนุษย์อยู่...

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in