เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เก็บเล็กผสมน้อย...ร้อยเป็นเรื่องปลายฟ้า
เล่าเรื่องเบื้องหลัง "สุดปลายทางของชีวิต...มิได้มีเพียงความเศร้าโศก"
  • เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสได้ไปร่วมค่ายนักเล่าความสุขของวารสารสารคดี เขาจัดรอบนี้เป็นรุ่นที่ 3 แล้ว  โจทย์ของค่ายครั้งนี้คือนักเล่าความสุขที่สมัครต้องมาเป็นคู่ และต้องมีวัยต่างกันไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อช่วยกันเขียนสารคดีพร้อมภาพประกอบ คนหนึ่งเป็นนักเขียน อีกคนเป็นช่างภาพ

    ฉันเห็นว่าเป็นเวทีนี้น่าสนใจ เวทีของ “สารคดี” เชียวนะ ไม่รอช้า ติดต่ออดีตเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องที่รักและสนิทกันมากคนหนึ่งว่าสนใจเป็นช่างภาพให้พี่ไหม น้องบอกได้เลย แถมตั้งชื่อทีมมาให้เลือกด้วย เมื่อเลือกชื่อทีมที่มีชื่อเล่นของเราทั้งสองคนอยู่ในนั้นได้  ฉันสมัครไปทันที...

    ด้วยเป้าหมายของค่ายคือการพัฒนาผู้สนใจงานเขียนสารคดี เขาจึงเปิดรับทุกทีมที่สมัครเพื่อให้ได้เข้ามาเรียนรู้ทฤษฎีทั้งวิธีการเขียนสารคดี หลักการถ่ายภาพ และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ก่อนที่แต่ละทีมจะต้องส่งผลงานสารคดีภายใน 1 เดือนเศษหลังจากพิธีเปิดค่ายช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 หลังจากนั้น ทางค่ายฯ จะพิจารณาคัดเลือก 30 ผลงานเพื่อนำไปเผยแพร่ในเพจของวารสารสารคดี และในวันจัดกิจกรรม "วันแบ่งปันความสุข" ในช่วงปลายปี




    หัวข้อของค่ายปีสาม กำหนดให้เขียนเกี่ยวกับความสุขของคนสองวัย หรือ สุขต่างวัย มีให้เลือกสองธีม คือ "สุขของฉัน ฝันของเธอ" และ "สองเรา...ก้าวไปด้วยกัน" ตั้งแต่เห็นธีม ฉันตกลงใจทันทีว่าจะเลือกธีมสุขของฉัน ฝันของเธอ เพราะอยากเขียนเกี่ยวกับมิตรภาพของคนต่างวัย ต่างเจน ซึ่งก็คือฉันกับน้องนี่แหละ เพราะจากการพูดคุยหลายๆครั้งกับเพื่อนๆ หรือจากประสบการณ์ตรง ฉันพบว่าความแตกต่างทางความคิดของคนต่างเจนกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน หรือ ในครอบครัว ดังนั้นฉันน่าจะสะท้อนสิ่งที่เป็นประโยชน์ในมุมมองของคนสองวัยได้บ้าง... ฉันตั้งชื่อสารคดีที่จะเขียนลงไปในใบสมัครอย่างละมุนว่า "เพราะเป็นความแตกต่าง เพียงเข้าใจ ฝันของเธอกับสุขของฉันจึงเป็นเรื่องราวเดียวกัน"   


    ทว่า...ฉันไม่ได้เขียนเรื่องนั้น...ในช่วงเวลาก่อนถึงวันเปิดค่าย (ออนไลน์) ได้ไม่นาน ฉันได้ข่าวว่าแม่ของน้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่ตับอ่อน โอกาสที่จะหายขาด หรือมีชีวิตที่ยาวนานดูเหมือนจะมีไม่มากนัก...วินาทีนั้น ฉันเปลี่ยนใจ ใจหนึ่งคืออยากถอนตัวจากโครงการนี้ เพื่อให้น้องได้ใช้เวลาช่วงนี้ดูแลแม่ให้เต็มที่ อีกใจหนึ่ง คือเปลี่ยนมาเขียนเรื่องราวของแม่กับน้องแทน เพราะอย่างน้อย ฉันคิดว่า ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ น่าจะมีสิ่งที่ควรค่าให้จดจำทั้งคนที่กำลังจะเดินทางไกล และคนที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป

    ฉันถามไถ่ถึงความสมัครใจของน้องกับคุณแม่ เพราะการเขียนสารคดี คือการเขียนเรื่องจริง ที่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อให้เรื่องราวมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ จึงต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเรื่องก่อน เมื่อได้รับคำตอบว่าไม่ขัดข้อง  แม้จะยินดี แต่ด้วยเวลาที่ค่ายให้มา มีไม่มากนัก ฉันเอ้อระเหยไม่ได้เลย อีกทั้งการเขียนสารคดีเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับฉัน 

    ปกติที่ผ่านมา ฉันมักเขียนเรื่องราวของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งแน่นอน ตื้นลึกหนาบางของเรื่องราว ฉันรู้ดีแก่ใจ ทุกอย่างอยู่ในเนื้อ ในตัว ในตนอยู่แล้ว ทว่าครั้งนี้ ต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ข้อมูลทั้งหมดที่จะนำมาเขียนมาจากคนต้นเรื่องทั้งหมด เป็นข้อมูลจากการสัมภาษณ์ล้วนๆ ฉันไม่มีโอกาสไปเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง เช่นบรรยากาศ สถานที่ ฯลฯ ด้วยเงื่อนไขของ COVID-19 ทุกอย่างทำออนไลน์ ทำให้ขาดสาระเรื่ององค์ประกอบเหล่านี้ไปเสียทั้งหมด  แผนของฉันคือเปลี่ยนมาบรรยายสีหน้าอารมณ์ความรู้สึกของคนต้นเรื่องทั้งสองคนแทน 

    ตอนเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์คุณแม่ คุณลูก ทีละคน คนละเวลา ฉันยังไม่ค่อยกังวลเรื่องเนื้อหามากนัก ฉันเตรียมประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่ข้อมูลที่ต้องการโดยเฉพาะเรื่องความเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ และลูกสาว นับตั้งแต่รับรู้ข่าวร้ายจนถึงปัจจุบัน ส่วนข้อมูลนอกจากนั้น ปล่อยให้บทสนทนานำพาไป เพื่อให้ได้เรื่องราวใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม

    แต่...เมื่อสัมภาษณ์และถอดเทปเสร็จ ฉันเริ่มรับรู้ได้ถึงความกังวลกับข้อมูลที่ได้มา เพราะเรื่องที่เล่าจากความทรงจำ ประสบการณ์ของคนสองคน การให้ความสำคัญบางช่วงบางตอน คนหนึ่งมี คนหนึ่งไม่มี หรือบางเหตุการณ์เดียวกัน กลับมีรายละเอียดแตกต่างกัน สิ่งที่ทำเพื่อแก้ปัญหานี้คือ ฉันเขียน timeline ของเหตุการณ์แล้วนำกลับไปยืนยันกับน้องอีกที ทำให้มีความแม่นยำเรื่องลำดับของเหตุการณ์มากขึ้น 

    เสน่ห์ของงานเขียนประการหนึ่งคือเรื่องการเล่าเรื่องราวที่ไม่ลำดับเวลาเป็นเส้นตรงจากหนึ่งไปสอง สองไปสาม เพราะดูธรรมดา ขาดความน่าสนใจ  ดังนั้น การรู้ลำดับเวลาของเหตุการณ์ที่ถูกต้องจึงสำคัญสำหรับฉันมาก เพื่อทำให้ฉันสามารถสร้างจุดเชื่อมของเวลากับเรื่องราว และวนกลับมาที่อีกเหตุการณ์หนึ่งได้อย่างลื่นไหล... ความรู้นี้ได้จากการเข้า workshop และเรียนจากสื่อออนไลน์ที่ทางค่ายทำไว้ และให้เป็นการบ้านสำหรับชาวค่ายทุกคน ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับฉันมากทีเดียว 

    "ใครเป็นคนเล่าเรื่อง"  เป็นอีกประเด็นที่ได้เรียนรู้และทำให้ฉันเปลี่ยนวิธีการเขียน คือ การเล่าจะเล่าผ่านมุมมองของใคร ฉัน เรา เขา หรือเล่าหลายคน   ถ้าเล่าแบบพื้นฐาน ง่าย และเป็นที่นิยมในการเขียนสารคดีคือ “ฉัน” เป็นคนเล่า "ฉัน" อยู่ในเรื่องที่เล่าด้วย   แต่มีอีกวิธีสำหรับฉัน แม้มันยากกว่า  แต่ท้าทายกว่าคือ การเขียนสารคดีที่ ไม่มี "ฉัน" อยู่ในเรื่องราว "ฉัน" เป็นเพียงผู้เขียนที่มองเหตุการณ์นี้และถ่ายทอดมุมมอง และเล่าเรื่องออกมาเป็นสารคดี...นี่เป็นการเขียนในแนวใหม่สำหรับฉันเลย... มันน่าทดลอง และลุ้นดูว่าจะเป็นอย่างไร

    ฉันใช้เวลาในการเขียนๆ แก้ๆ อยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์จนได้ต้นฉบับบทความสารคดีออกมา ฉันใช้ชื่อเรื่องตามธีมของค่ายว่า “สองเรา...ก้าวไปด้วยกัน” สองเราในที่นี้คือคุณแม่กับลูกสาว ที่อยู่ในเรือลำเดียวกัน ต้องช่วยกันพาย ช่วยกันฟันฝ่าไปด้วยกัน 

    ฉันส่งต้นฉบับให้น้องเพื่อถ่ายภาพประกอบเรื่องราว เมื่อได้ภาพเรียบร้อย พร้อมกับช่วยกันให้ความเห็นทั้งเนื้อเรื่องและภาพถ่าย ทีมเราส่งงานก่อนถึงกำหนด 1 วัน โล่งใจไปหนึ่งเปราะ เปราะที่สองคือรอว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เข้า 30 ทีมไหม ซึ่งถ้าสัญชาติญาณฉันไม่พลาด น่าจะได้เข้ารอบ เพราะตอนที่ส่งต้นฉบับไปให้น้องอ่าน น้องบอกน้ำตาร่วงเลย  ส่วนคุณแม่ อ่านแล้วร้องไห้ บอกว่าเขียนดีมาก กับประโยคที่น้องเขียนมา  ฉันรู้สึกจุกๆ รื้นๆมาที่ตา คือน้องบอกว่า "อยากให้ใส่ในหนังสืองานศพคุณแม่เลยค่ะ"   ฉันได้ตอบไปว่ายินดี แม้จะรู้สึกใจหาย หากรู้สึกว่าสิ่งที่เขียนไปได้ไกล เป็นประโยชน์กว่าที่ฉันคิด



  • เมื่อประกาศผลมา ทีมเราได้เข้าไปอยู่ใน 30 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก ด่านต่อไปคือการนัดให้ความเห็นเกี่ยวกับงานสารคดีเพื่อกลับไปปรับแก้ไขก่อนนำไปเผยแพร่จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากสำหรับนักเขียน เสียดายฉันไม่ได้เข้าร่วมด้วยติดธุระสำคัญ  แต่ได้ข้อมูลว่าทางค่ายชมว่าเป็นการเขียนแนวสารคดีจริงๆ ส่วนเรื่องควรปรับปรุงได้แก่ความเยิ่นเย้อของเนื้อหาบางช่วง บางตอน ที่ต้องตัดออก และต้องขยายความบางเรื่อง  ที่สำคัญคืออยากให้เปลี่ยนชื่อเรื่องให้เฉพาะเจาะจงกับเรื่องราวมากขึ้น  ทำให้ฉันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ปลายทางของชีวิต...มิได้มีเพียงความเศร้าโศก” เพราะฉันสัมผัสได้ว่ามันมีมากกว่านั้นจริงๆ 


     
    “ปลายทางของชีวิต...มิได้มีเพียงความเศร้าโศก” ได้เผยแพร่ในเพจของสารคดีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม เพียงเท่านี้ทีมเราก็เป็นปลื้มมากแล้ว  แต่เมื่อน้องเอาไป share ต่อใน facebook ทำให้คุณแม่ น้องและครอบครัวได้รับกำลังใจอย่างล้นหลามจากกัลยาณมิตร  เป็นผลกระทบในเชิงบวกที่รุนแรงทีเดียว ฉันได้แต่หวังว่าคุณแม่จะมีพลังใจในการต่อสู้กับเจ้าโรคร้ายนี้เพื่อเอาชนะมันให้ได้นานที่สุด 


    หลังจากเผยแพร่ทางเพจไป  ผ่านไปได้เกือบสิบวัน  ฉันเพิ่งมาเห็นว่าทางเพจจัดทำสิบอันดับบทความยอดนิยมประจำเดือนตุลาคม  และเรื่องของทีมเราได้ลำดับสอง น่าตื่นเต้นจริงๆ  เป็นสิ่งที่ไม่รู้ว่ามีการจัดทำอันดับแบบนี้  อีกอย่างคือตอนลงเรื่องของทีมในเพจสารคดีเป็นช่วงปลายเดือนตุลาคมแล้ว  นี่ทำเอาปลื้มปริ่มกันไปอีกรอบ ฉันเดาว่านี่น่าจะมาจากพลังของ social เป็นแน่แท้ 




    สัปดาห์หน้า จะมีกิจกรรม “วันแบ่งปันความสุข”    ฉันจะเป็นหนึ่งเสียงของตัวแทนนักเขียนที่เข้าค่ายในการแบ่งปันประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการเขียน ... การได้เล่าเรื่องเบื้องหลังของสารคดีนี้  จึงเป็นเรื่องราวการทบทวนความคิดในการเขียนสารคดีเรื่องนี้ออกมา เป็นประสบการณ์ดีๆที่เกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่งทีเดียว...เก็บไว้ในความทรงจำ...
      
    ..........................................

    ผู้ที่อยากอ่านเรื่องราวของ “ปลายทางของชีวิต...มิได้มีเพียงความเศร้าโศก” สามารถกดอ่านได้เลยค่ะ 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in