โบราณกล่าวว่า เรื่องราวใต้หล้า ที่สุขสันต์ก็สุดแสนชื่นมื่น ที่โศกเศร้าก็ระทมรันทดหาที่เปรียบปาน ล้วนแล้วแต่เป็นสามัญลักษณ์ พบเห็นได้ทุกตัวคน ตั้งแต่องค์ฮ่องเต้สูงส่งยศศักดิ์ จนถึงข้าไพร่จนยากในเรือนเบี้ย ตั้งแต่บุพกาลดึกดำบรรพ์จวบถึงอนาคตไกลโพ้น ก็มิได้แปลกแยกแตกต่าง
สุดแต่ว่าท่านทั้งหลายจะโชคดีได้พบเป็นประการใด
พักหลังมาผมไม่ค่อยได้อ่านนิยายแปลจีนใหม่ ๆ เท่าไรนัก เพราะมีความรู้สึกว่าสำนวนแปลเปลี่ยนไปจากในอดีตพอสมควร สมองที่เริ่มต้นเตาะแตะในงานเขียนประเภทจากน้ำมือของ ว. ณ เมืองลุง และ น.นพรัตน์ เป็นต้น อดไม่ได้ให้รู้สึกว่าภาษาแปลเรื่องจีนในสมัยปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งผมไม่คุ้น พยายามจะอ่านหลายเล่มหลายเรื่องแต่ก็ไปด้วยกันได้ยากอยู่โข จนกระทั่งมาเจอ เหลาสุราฯ ซึ่งออกมาแล้วถึง 2 เล่มนี่แหละที่ทำให้รู้สึกดังว่าเจอสหายเก่า จึงรู้สึกยินดียิ่ง ช่วยบำบัดอาการอ่านอะไรไม่มีสมาธิ อ่านได้ไม่จบ พออ่านจบในเวลาไม่กี่วันถึงได้รู้สึกดีขึ้นมาหน่อยว่าพฤติกรรมการอ่านของเรายังไม่ได้เสื่อมลงขนาดนั้น
ผมเป็นคนชอบเรื่องตะวันออกย้อนยุค ชอบเรื่องทำนองเหนือจินตนาการหน่อย ๆ และชอบเรื่องรักทุกข์สุขโศกแบบที่ทุกข์ก็ถึงดิ่งลงไปถึงราก สุขก็สุขเรียบรื่นตามธรรมดาโลก หนังสือเล่มนี้นับว่าประมวลสามเส้าเข้ามาประชุมกันไว้ได้อย่างหมดจด ด้วยว่าพื้นหลังเรื่องราวหลักดำเนินไปในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง มีตัวเองเป็นภูตพรายมหัศจรรย์ที่เข้ามาพัวอยู่ในหมู่มนุษย์ ทำนองเรื่องก็ดำเนินไปเป็นว่าตัวละครในเรื่องเล่านิทานให้กันฟัง ส่วนเราท่านทั้งหลายได้อานิสงส์รับทราบเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นมาด้วย
นิทานแต่ละเรื่องจะว่าเกินจริงก็เกินจริง แต่พอพินิจให้ดี กลับดังว่าจะจริงเสียยิ่งกว่าจริง ไม่ว่าจะเป็นความโลภทำให้สามียอมขายภรรยาและลูกในท้อง หรือปิศาจจระเข้ที่เลิกกินเนื้อ หันมาพร่ำภาวนาเพราะความรัก ทุกเรื่องเคล้าสุขแกมโศก เคล้าโศกแกมสุข แต่ที่น่าประหลาดใจคือ อ่านไปคลับคล้ายคลับคลาว่าเรื่องเล่านี้น่าจะเคยพบเห็นมาก่อน มีเค้าเป็นนิทานตำนานแต่โบราณโบร่ำ แต่อ่านไป ๆ ก็คล้ายจะเป็นของใหม่ที่ผู้เขียนแต่งขึ้นเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องราวที่สนุกน่าดู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุราวิเศษในร้านของเถ้าแก่อวี๋แห่งเรือนมัจฉาล่มเมืองนั้นมีสารพัดจะวิเศษ ที่จดจำได้ดีคือ สุราจอกหนึ่งมีบรรยายว่า
... ยามเข้าลำคอรู้สึกขมฝาดยากทนทาน ...
รสชาติเดิมทีขมฝาดก็แปรเปลี่ยนเป็นหอมหวานเข้มข้นรุนแรงในพริบตา ...
"สุรานี้เรียกว่ากระไร"
สายตาของอวี๋จียังคงมองพลุหลากสีสันงดงามเจิดจ้ากลางท้องฟ้า
ตอบเนิบนาบว่า "คำเรียกขานเพียงอักษรเดียว---ลืม"
จะมีที่สมควรแจ้งไว้เล็กน้อยว่า เรื่องเล่าที่ปรากฏอยู่ใน เหลาสุราฯ เล่ม 1 และเล่ม 2 นั้นมีธรรมชาติต่างกันอยู่บ้าง ในเล่มแรกจะเป็นเรื่องราวของบุคคลอื่นที่ตัวละครหลักได้ไปประสบพบเจอในปัจจุบัน ส่วนเล่มที่ 2 จะเน้นไปที่อดีตของตัวละครหลักนั้นเอง และมีพื้นเรื่องออกไปทางเซียนเทพอยู่มาก ตอนแรกที่พบอ่านจบเล่ม 1 แล้วเริ่มต้นอ่านเล่ม 2 ก็รู้สึกแปลก ๆ อยู่บ้าง แต่ด้วยความที่ชื่นชอบตัวละครหลักในเรื่อง จนอ่านต่อไปได้ไม่ประดักประเดิด กลายเป็นรสชาติอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน
สุดท้ายนี้ ระหว่างที่รออ่านเล่ม 3 ของ เหลาสุราฯ ผมก็ได้แต่นั่งนึกไปว่า เออหนอ ที่จริงแล้ว "คลังนิทาน" เรื่องราวต่าง ๆ ของไทยในลักษณะอาการเดียวกับเรื่องในเหลาสุราฯ ก็มีอยู่มาก ที่สุขก็ชวนสนุกสุขสันต์ ที่โศกก็จาบัลย์รันทด หมื่นผันพันแปรไม่ต่างไปจากเรื่องราวของดินแดนอื่นใด แต่ไม่รู้ทำไมผมกลับรู้สึกว่าเรากลับมี "เหลาสุรา" ที่ปีศาจจะมานั่งสะท้อนธาตุแท้ของมนุษย์น้อยแสนน้อย เรื่องราวของเราจำกัดจำเพาะอยู่เพียงไม่เกี่ยวรสกี่กลิ่น ผมก็หวังได้แต่ว่าเป็นเพราะความโลกแคบอ่านน้อยของตัวเองที่ทำให้รู้สึกไปเช่นนั้น ไม่ใช่ว่าเพราะโลกแท้จริงของเรานั้นกลับหดหู่จนแม้เหล่าปีศาจก็ยังเวทนาดอก
ยัวร์ส,
มะเขือ.
ปล.อยากลองชิมรสเหล้าในเรือนมัจฉาล่มเมืองของเถ้าแก่อวี๋นัก
เรื่องเล่าของเหล่าปีศาจในเหลาสุรา. (2 เล่ม). เคอสุ้ยอวี้โหยวโจ่ว เขียน. ซินโป-หย่งชุน แปล. 2556. สำนักพิมพ์เอิร์นเนส.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in