ตอบมาตามความจริงนะ
คุณเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่คุณทำอยู่ตั้งแต่เช้าจรดเย็นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?
เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมเพราะตัวกิจกรรมนั้นเองล้วน ๆ
โดยไม่ได้คิดถึงอนาคต หรือพะว้าพะวงถึงผลที่จะตามมาในระยะยาว
คุณใช้ชีวิตอยู่แบบนั้นทั้งเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?
คุณมีปัญหากับการอยู่กับปัจจุบันหรือเปล่า?
คุณลืมภาระหน้าที่ เป้าหมายในชีวิต และประสิทธิภาพการทำงานของตัวเองไม่ได้ใช่ไหม?
ทุกวันนี้ ชีวิตคนเรารายล้อมไปด้วยสิ่งต่าง ๆ เราวัดคุณค่าตัวเองจากวัตถุที่เราครอบครอง จากอำนาจในการควบคุมสิ่งที่อยู่นอกตัวเรา เราประเมินความสำเร็จในชีวิตจากผลิตภาพ (productivity) หรือก็คือ ความสามารถในการผลิตสร้างสิ่งต่าง ๆ
ระบบสังคมของเราขึ้นอยู่กับการผลิตและบริโภควัตถุสิ่งของมากกว่าสิ่งอื่นสิ่งใด แม้กระทั่งตอนที่เราไม่ได้นึกถึงวัตถุสิ่งของ เราก็นำเสนอภาพชีวิตตัวเองออกมาเป็นสิ่งของ เราคิดใคร่ครวญถึงความสำเร็จของเรา โอกาสในอนาคต ตำแหน่งทางสังคม... อะไรก็ตามแต่ยกเว้นความรู้สึกจริง ๆ ของตัวเอง เราบอกกับตัวเองว่า “ผลลัพธ์น่ะทำให้วิธีการที่ใช้ถูกต้องชอบธรรมแล้ว” พูดอีกอย่างก็คือ ผลของการกระทำ—ผลลัพธ์สูงสุดในชีวิตของเรานั้น—มีความสำคัญมากกว่ากระบวนการการใช้ชีวิตของเราเสียอีก
แต่ผลิตผลคือกากปฏิกูลของการกระทำ
ผลิตผลคือสิ่งที่เหลืออยู่เมื่อฝุ่นคลุ้งตลบเบาบางลง เมื่อชีพจรกลับสู่ระดับปกติ เมื่อวันสิ้นสุดลง เมื่อสัปเหร่อฝังโลงศพลงในดิน
แต่ชีวิตของเราไม่ได้อยู่ในใบประเมินผล หรือในมวลฝุ่นที่กำลังเบาบางลง
เราอยู่ที่นี่ตอนนี้ในปัจจุบันกาล
ในการสร้าง
ในการกระทำ
ในอารมณ์ความรู้สึก
เราพยายามแสวงหาความเป็นอมตะโดยการหนีเข้าไปอยู่ในโลกแห่งภาพจำลองที่ไม่แปรเปลี่ยนและไม่มีวันสูญสลาย เช่นเดียวกัน เราต่างก็พยายามถ่ายโอนตัวเองออกสู่ภายนอก (externalization) ด้วยการคิดว่าตัวเรามีค่าเท่ากับผลลัพธ์รวมของการกระทำของเรา มากกว่าจะคิดถึงประสบการณ์การกระทำสิ่งต่าง ๆ ในตัวมันเอง
ถึงอย่างนั้นก็เถอะ มันยากเหลือเกินที่จะต้องมานั่งกังวลว่าเรากำลังมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่จริง ๆ หรือเปล่า หรือกำลังรู้สึกอย่างไรกันแน่ในขณะนี้ มันง่ายกว่าที่จะเอาใจไปจดจ่ออยู่กับผลลัพธ์ ซึ่งเป็นหลักฐาน [ความสำเร็จ] ในชีวิตที่เชื่อถือได้ สิ่งเหล่านี้ดูจะเข้าใจได้ง่ายกว่า และกำหนดควบคุมได้สะดวกยิ่งกว่า
สังคมสมัยใหม่มุ่งความสนใจไปที่การผลิตและการแจกจ่ายวัตถุสิ่งของ มากกว่าจะสนใจความสุขและความพึงพอใจของสมาชิกในสังคม ด้วยเหตุนี้ มนุษย์สมัยใหม่จึงคำนึงถึงชีวิตตัวเองในแง่ของผลลัพธ์ที่เอาไว้โชว์ให้คนอื่นดูได้ มากกว่าจะคำนึงถึงชีวิตในตัวมันเอง
แน่นอนว่าผู้ใช้แรงงานทั่ว ๆ ไปในยุคนี้ต่างคุ้นชินกับการคิดถึงผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ เขาทุ่มเทเวลาและพลังงานส่วนใหญ่ไปกับงานที่ค่อนข้างจะแน่นอนว่าไม่ได้เติมเต็มความฝันของเขา เขาตั้งตารอวันเงินออกทุก ๆ สองสัปดาห์ เพราะเงินค่าจ้างคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเขายังมีความหมายอยู่ หากไม่มีมัน เขาก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองกำลังหายใจทิ้งไปวัน ๆ
หากเขาไม่ได้มองว่า “ผลลัพธ์” ของสิ่งที่ทำอยู่สมเหตุสมผลกับการกระทำ ชีวิตก็จะเป็นอะไรที่ทรมานเหลือทน—จะเกิดอะไรขึ้นหากเขาพินิจพิจารณาความรู้สึกตัวเองอยู่ตลอดเวลาขณะจัดแจงของชำใส่ถุง? จะเกิดอะไรขึ้นหากเขาถามตัวเองทุกครั้งว่า ‘ที่ทำอยู่นี่มีความสุขมั้ย’ ขณะกำลังปลุกปล้ำอยู่กับเครื่องส่งแฟกซ์?
ตราบเท่าที่ประสบการณ์ในชีวิตประจำวันยังคงซ้ำซากน่าเบื่อและไร้ความหมาย เขาก็ยังจำต้องตั้งตารอวันหยุดสุดสัปดาห์ที่กำลังจะมาถึง การลาพักผ่อนครั้งต่อไป และของชิ้นใหม่ที่จะซื้อ เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นบ้าไปเสียก่อน
และในที่สุดเขาก็จะนำเอาวิธีคิดนี้ไปใช้กับแง่มุมอื่น ๆ ในชีวิตด้วย เขาจะประเมินว่าตัวเองควรหรือไม่ควรทำอะไรจากผลตอบแทนของการกระทำนั้น ๆ เช่นเดียวกับที่เขาจะประเมินคุณค่าของงานหนึ่ง ๆ จากค่าแรงที่เขาได้จากงานนั้น ๆ
ดังนั้นปัจจุบันจึงเป็นอะไรที่แทบจะหมดความสำคัญไปเลยสำหรับมนุษย์ยุคใหม่ เขาใช้ชีวิตไปกับการวางแผนเพื่ออนาคตอยู่ตลอดเวลา เขาเรียนเพื่อเอาใบปริญญา มากกว่าจะเรียนเพื่อความสุขของการศึกษาหาความรู้ เขาเลือกงานที่เงินดี “มั่นคง” ทำแล้วมีหน้ามีตาในสังคม มากกว่าจะเลือกงานที่ทำแล้วมีความสุข เขาเก็บเงินไว้ซื้อของแพง ๆ และทริปลาพักร้อน มากกว่าจะเก็บหอมรอมริบไว้ไถ่ตัวเองออกจากการเป็นทาสค่าแรง และไปสู่การมีอิสรภาพเต็มเวลา
เมื่อเขาพบว่าตัวเองกำลังมีความสุขอย่างล้นพ้นกับมนุษย์อีกคนหนึ่ง เขาก็จะพยายามแช่แข็งห้วงเวลานั้นไว้ และตรึงมันไว้กับที่อย่างสถาพร (เป็นสัญญา) โดยการแต่งงานกับเธอ
เขาไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ และถูกพร่ำบอกให้หมั่นทำความดีเข้าไว้ ไม่ใช่เพื่อความปีติยินดีของการได้ช่วยเหลือผู้อื่นอะไรหรอก แต่เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเขาจะได้มาซึ่งความรอด (salvation) ชั่วนิรันดร์ (ดังที่นิตเช่กล่าวไว้ว่าแม้แต่ชาวคริสต์ตัวอย่างก็ยังต้องการค่าจ้างงานที่ดี) “การกระทำอันสูงส่งโดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา”—ความสามารถในการกระทำเพื่อการกระทำนั้นเอง อันเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัววีรบุรุษทุกคน—เป็นอะไรที่ยากเกินความสามารถของเขา
ชายหญิงชนชั้นกลางวัยกลางคนประสบปัญหาในการออกมาใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ เพราะไม่สามารถวางมือจากแผนการลงทุนและแบบประกันชีวิตได้ เป็นภาพจำเจสุดคลีเช (cliche) ที่พบเห็นได้ทั่วไป ทว่าบ่อยครั้งเหลือเกินที่พวกเราเองก็ลงเอยด้วยการเอาปัจจุบันไปแลกกับอนาคต และเอาประสบการณ์ไปแลกกับของที่ระลึกด้วยเหมือนกัน
เราเก็บวัตถุเตือนใจ กล่องใส่ของที่ระลึก ถ้วยรางวัล และจดหมายเก่า ๆ ไว้ ราวกับว่าชีวิตเป็นสิ่งที่เก็บสะสม รวบรวม และแช่แข็งไว้ใช้วันหลังได้
...วันหลัง?
วันไหนอีกเหรอ?
ชีวิตอยู่กับเราที่นี่ตอนนี้ มันไหลผ่านเราไปราวกับสายน้ำ และเช่นเดียวกับสายน้ำ เราไม่อาจหยุดชีวิตไว้กับที่โดยไม่เสียมนต์เสน่ห์ของมันไปได้ ยิ่งเราพยายามใช้เวลา “กักเก็บ” ชีวิตไว้มากเท่าไหร่ เรายิ่งมีชีวิตให้กระโจนเข้าไปใช้น้อยลงเท่านั้น
คนที่อาการหนักที่สุดในหมู่พวกเราคือพวกหัวก้าวหน้าสุดโต่งและพวกศิลปิน
บ่อยครั้งเหลือเกินที่พวกเรา “นักปฏิวัติ” หมดพลังไปกับการคิดถึงและพูดถึงการปฏิวัติ “ที่จะมาถึง” มากกว่าจะมุ่งความสนใจไปที่การทำให้การปฏิวัติอยู่ในปัจจุบันกาล เราเคยชินกับการคิดในแง่ของผลิตผลเสียเหลือเกิน แม้แต่ตอนที่เราพยายามเปลี่ยนชีวิตให้เป็นอะไรที่ฉับพลันและน่าตื่นเต้น เราก็ยังติดหล่มของการทุ่มความพยายามไปที่เหตุการณ์สำคัญในอนาคต—เหตุการณ์ที่เราอาจอยู่ไม่ถึงวันได้เห็นมันด้วยซ้ำ
และเช่นเดียวกับผู้คุมงานในโรงงาน เราเอาแต่กังวลอยู่กับผลิตภาพ (จำนวนของสหายคนใหม่ ๆ ที่ชักชวนมาได้ ความคืบหน้าในการบรรลุ “วัตถุประสงค์” ฯลฯ) มากกว่าจะเป็นห่วงว่าตอนนี้เราและเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ กำลังรู้สึกอย่างไร และมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร
บรรดาศิลปินทั้งหลายมีแนวโน้มจะคิดไปในทางนั้นมากกว่าใครเพื่อน เพราะอาชีพของพวกเธออิงอยู่กับการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาด้วยวัตถุดิบที่ได้จากประสบการณ์ในชีวิตจริง วิธีการที่พวกศิลปินใช้ปั้นแต่งประสบการณ์ความรู้สึกส่วนตัว ให้ออกมาในรูปแบบที่เป็นตัวของเธอเองผ่านการแสดงออกนั้น มีบางสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นความใคร่ครอบงำแบบทุนนิยมรวมอยู่ด้วย เพราะการแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกใดใด [ในงานศิลปะ] นั้น มักมีการลดระดับความซับซ้อน (simplification) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าอารมณ์ความรู้สึกที่ว่าจะโดดเด่นหาที่เปรียบมิได้เพียงไหน หรือลึกซึ้งเกินหยั่งถึงเพียงใดก็ตาม
การออกไปใช้ชีวิตและตระหนักถึงคุณค่าของมันในแบบที่มันเป็นนั้นไม่เพียงพอสำหรับศิลปิน เธอจึงกัดกินชีวิตตัวเองเพียงเพื่อให้ได้งาน เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งชุดของผลิตผลที่อยู่ภายนอกตัวเธอ และอาจถึงขั้นยอมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองเพื่ออาชีพที่ทำอยู่ด้วย ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เธออาจพบว่าตัวเองไม่สามารถพลอดรักบนดาดฟ้ายามรุ่งสางได้ โดยไม่วางแผนไว้ก่อนว่าจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นฉากสุดเลิศในนิยายของเธอ (กากปฏิกูล!)
แน่นอนว่าการขับถ่ายเป็นกระบวนการที่จำเป็น และดีต่อสุขภาพของจิตวิญญาณพอ ๆ กับที่มันดีต่อสุขภาพกาย เมื่อหัวใจปริ่มล้นจนแทบทะลัก ศิลปะเป็นช่องทางหนึ่งในชีวิตที่เราใช้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกกลับคืนสู่โลก แต่ถ้าเราพยายามทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ จนเกินความจำเป็น ท้ายที่สุดแล้ว ก็จะมีวันที่หัวใจและไส้ในของเราถูกเค้นออกมาด้วย (เหมือนนิทานเรื่องห่านกับไข่ทองคำไงล่ะ พอจะนึกออกอยู่ใช่ไหม?)
เราต้องเอาชีวิตและประสบการณ์มาก่อนเป็นอันดับแรก เราต้องเผชิญโลกโดยมีเพียงความคิดนี้อยู่ในหัวเท่านั้น—ความคิดที่สดใหม่ไร้เดียงสาเหมือนตอนเรายังเป็นเด็ก ความคิดซึ่งปราศจากเจตจำนงที่จะกลืนกิน จัดระเบียบ แบ่งประเภท หรือลดระดับความซับซ้อนของประสบการณ์อันหลากหลายเหลือคณานับของเรา มิเช่นนั้นแล้ว ระหว่างการออกตามหาสิ่งที่กดให้แบนเรียบและเก็บสำรองไว้ “ได้ตลอด” เราก็จะสูญเสียสิ่งที่สำคัญที่สุด งดงามที่สุด และอยู่กับเราทุกชั่วขณะที่สุดไป
ก่อนอื่นเลย เราควรใช้จินตนาการที่มีอยู่เพื่อปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นจริงของชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพื่อสร้างภาพแทนเชิงสัญลักษณ์ของมันแต่เพียงอย่างเดียว (ถามจริงเถอะ ไอ้ชีวิตแบบที่พวกเราส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เนี่ย มันน่าตื่นเต้นพอจะเอาไปแต่งเป็นนิยายได้สักกี่เล่มกันเชียว?)
แทนที่จะพยายามสร้างศิลปะจากชีวิต เรามาใช้ชีวิตให้เป็นศิลปะกันเถอะ
หากเราพบความสุขที่ตามหา
เราจะพบว่ามันไม่ได้อยู่ในผลิตผลของชีวิตเรา
แต่อยู่ในกระบวนการใช้ชีวิต
ในการได้ทำสิ่งที่อยากทำ
และการทำฝันให้เป็นจริง
หากไม่ใช่ตอนนี้
จะหยุดพักกันตอนไหนเหรอ?
จะมีความสุขกับปัจจุบันกันตอนไหนเหรอ?
(พวกเราน่ะหมกมุ่นกับการ “สร้างวีรกรรม” กันเสียเหลือเกิน)
ฉะนั้นจงหยุด “สร้างประวัติศาสตร์”
แล้วมาเริ่มใช้ชีวิตกันเถอะ
แบบนั้นแหละถึงจะเป็นการปฏิวัติที่แท้จริง
ลองเลิกคิดถึง “ผลลัพธ์”
แล้วมีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้กันดีกว่า
เพื่อชีวิตของเราเอง!
“บางครั้ง” จูเลียกล่าว “ฉันรู้สึกว่าอดีตและอนาคตกำลังบีบรัดตัวฉันจากทั้งสองฝากฝั่ง มันบีบแน่นมากเลยล่ะ แน่นเสียจนไม่มีที่เหลือให้ปัจจุบันเลยสักนิดเดียว”
“แต่จะบอกอะไรให้นะเฮนรี ว่าทุก ๆ ชั่วขณะที่คุณขโมยจากปัจจุบันไปน่ะ คือชั่วขณะที่คุณจะไม่มีวันได้คืนมาอีกเลยตลอดกาล...
ชีวิตมีแค่ตอนนี้เท่านั้น”
เจียเนตต์ วินเทอร์ซูน เขียน
rchyuan แปล
บทความต้นฉบับ: https://bit.ly/3CZc2jF
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in