สรุปสั้น ๆ
โดยปกติแล้ว ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อการแบ่งลำดับชั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็อาจทำให้เกิดทัศนคติแง่ลบต่อการมีแกนนำทุกรูปแบบได้เช่นกัน เอาเข้าจริงแล้ว เราต้องการให้มีแกนนำมากกว่าเดิมนะ ไม่ใช่น้อยกว่าเดิม
1.
การบอกว่า “ไม่มีใครเป็นแกนนำ” กับ “เราทุกคนคือแกนนำ” ต่างกันตรงไหน
มองแวบแรก คำกล่าวสองข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นการพูดถึงสิ่งเดียวกัน แต่พูดกันคนละแบบ ใจความสำคัญก็คือ “เราเชื่อในการจัดตั้งตามวิถีแนวระนาบ (horizontal) มากกว่าวิถีแนวดิ่ง (vertical) เราเชื่อในการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน และการต่อต้านลำดับชั้นทางสังคม” แต่คำว่าภาวะผู้นำอาจมีความหมายได้หลายอย่างและไม่ใช่ว่าทุกความหมายของคำนี้จะเกี่ยวข้องกับการสร้างลำดับชั้น การลุกขึ้นมาเป็นผู้นำอาจหมายถึงการลุกขึ้นมาเป็นผู้ริเริ่มผลักดันโปรเจกต์หรือภารกิจหนึ่งๆ ไปข้างหน้า (taking initiative) หรือหมายถึงการยอมรับภาระหน้าที่ในการดูว่ามีเรื่องอะไรบ้างกำลังเป็นที่ต้องการ และก้าวเข้ามาจัดการเรื่องนั้น (taking responsibility) ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล หรือในระดับกลุ่ม
2.
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องแบ่งแยกการจัดตั้งแนวระนาบ (horizontal organization) ออกจากความไร้ระบบระเบียบ และสนับสนุนให้มีโมเดลภาวะผู้นำแบบกระจัดกระจาย (dispersed leadership)ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเสริมความรับผิดชอบ ภาระรับผิดชอบ และความมีประสิทธิภาพ
3.
ที่กล่าวมานี้ไม่ได้เป็นแค่การถกเถียงเรื่องความหมายของคำนะ หากเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่คุยโวโอ้อวดว่าตัวเองไม่มีแกนนำ ผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ อาจลังเลเกินกว่าจะลุกขึ้นมาริเริ่มเคลื่อนไหวก็เป็นได้ เพราะกลัวจะถูกคนเข้าใจผิดว่าตนน่ะเป็น “แกนนำ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีเอาเสียเลยิ เพราะหากเราต้องการจะเปลี่ยนโลกจริงๆ แล้วล่ะก็ เราก็ต้องทำให้คนลุกขึ้นมาริเริ่มเคลื่อนไหวมากกว่าเดิม ไม่ใช่น้อยกว่าเดิม ยิ่งพวกเราแต่ละคนร่วมกันริเริ่มลงมือปฏิบัติงานกลุ่มมากเท่าไหร่ ความสามารถของกลุ่มก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น การสร้างพลังของกลุ่มคือหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดของการจัดตั้งระดับรากหญ้า
4.
เราจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมที่เชื้อเชิญให้พวกเราทุกคนลุกขึ้นมา นั่นหมายถึงการลุกขึ้นในแบบที่เปิดพื้นที่ให้คนอื่น ๆ ลุกขึ้นมาด้วย ในแบบที่ไม่ทำให้เขาหรือเธอรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะลุกขึ้นมาและเริ่มเคลื่อนไหว การ “ลุกขึ้นมา” อาจหมายถึงการตั้งใจฟังและเรียนรู้จากผู้อื่นด้วยความกระตือรือร้น อาจหมายถึงการใช้เวลาทำความเข้าใจยอมรับ และให้ความสำคัญกับภาวะผู้นำ[ของคน]ในกลุ่มที่มีอยู่มากมายหลากหลายรูปแบบ และอาจหมายถึงการมองหาและฟูมฟักศักยะความเป็นแกนนำที่มีอยู่ในตัวผู้อื่น ซึ่งอาจรู้สึกว่าตนไม่มีสิทธิ์ที่จะก้าวออกมาหากไม่ได้รับการสนับสนุนหรือได้รับคำเชื้อเชิญเสียก่อน
5.
วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับภาวะผู้นำที่ดี คือวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับภาระรับผิดชอบด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือการที่เรารับผิดชอบและมีภาระรับผิดชอบต่อกันและกัน แต่การให้ความสนใจกับภาระรับผิดชอบนั้น ต้องมาเคียงคู่กับวัฒนธรรมกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับภาวะผู้นำด้วย มิเช่นนั้น อาจเกิดวิธีคิดแบบ “กลุ่มทหารยิงเป้าที่ยืน[หันหน้าเข้าหากัน]เป็นวงกลม” ขึ้นในกลุ่ม เราจะเสียเวลาไปกับการสอยพวกเดียวกันจนร่วง เพียงเพราะมีคนลุกขึ้นมาลงมือปฏิบัติ
6.
เราต้องการขบวนการเคลื่อนไหวที่คนในขบวนต่างช่วยส่งเสริมกันและกันอยู่ตลอดเวลา ให้เราได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และเฉิดฉายในฐานะกลุ่มของแกนนำที่ทำงานร่วมกันเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม
ขอทุกคนจงเป็นแกนนำ!
เป็นกันเถิดเป็นกันเยอะ ๆ
อย่าให้ไม่มีใครเลย
Jonathan Matthew Smucker เขียน
rchyuan แปล
แปลมาจากความเรียงเรื่อง “We Are All Leaders” โดย Jonathan Matthew Smucker ในหนังสือ Beautiful Problem: A Toolbox for Revolution, หน้า 202-203
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in