เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Of Fire and FilmSchvala_
Alias Grace (2017) : ความจริงหรือคำลวง

  • "I felt a Cleaving in my Mind -
    As if my brain had split -
    I tried to match it - Seam by Seam -
    But could not make it fit. "

    - Emily Dickinson




    สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาเล่าถึงซีรีย์ที่เราเพิ่งดูจบไปไม่นาน ตอนแรกกะจะดูเฉยๆ ไม่ได้คิดจะมาเขียนถึงเรื่องนี้เลย แต่มันกลับติดอยู่ในหัวเราต่อมาหลายวันมาก จนต้องลุกมาทำอะไรสักอย่าง แล้วก็ออกมาเป็นรีวิวกึ่งวิเคราะห์อันนี้เลยค่ะ

    Alias Grace (2017)

    ในประเทศแคนาดาช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 เกรซ มาร์ก ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรเจ้านายของเธอสองราย เธอถูกตัดสินให้จำคุก ในขณะที่ผู้ร่วมก่อการอีกคนถูกประหารโดยการแขวนคอ แต่เกรซกลับไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในตอนนั้นเลย จิตแพทย์นามว่า ไซมอน จอร์แดน จึงต้องเข้ามาไขปริศนาสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของเกรซ และหาคำตอบว่าแท้จริงฆาตกรหญิงผู้นี้บริสุทธิ์หรือไม่

    เนื้อเรื่องเล่าผ่านมุมมองของเกรซที่เป็นนักโทษหญิงเป็นหลัก และเล่าเรื่องในอดีตผ่านการพูดคุยของเธอกับคุณหมอจอร์แดน สลับกับคำสารภาพจากคนอื่นในเหตุการณ์ แม้ว่าเนื้อเรื่องจะเรียบเรื่อย แต่ลึกลับ เต็มไปด้วยปริศนา และชวนให้คนดูสงสัยว่า ในเมื่อเรื่องทั้งหมดถูกเล่าจากมุมมองของคนคนเดียว แล้วความจริงนั้นจะเชื่อถือได้มากแค่ไหนกัน

    ซีรีย์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2017 โดยดัดแปลงมาจากนวนิยายของคุณ Margaret Atwood (ผู้เขียน The Handmaid’s Tale) และยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุฆาตกรรมจริงๆ ในปี 1843 ด้วยค่ะ

    ภาพวาดของเกรซ มาร์กส์ และเจมส์ แมคดอร์แมตต์ ตัวจริง
    ภาพจาก : wikipedia.org/wiki/Grace_Marks

    ซีรีย์ได้รับคำชมอย่างมากจากนักวิจารณ์ โดยเฉพาะในแง่ของเนื้อเรื่องที่มีการเสียดสีสังคม และในด้านการแสดงอันทรงพลังของคุณ Sarah Gordon ผู้แสดงเป็นเกรซ

    --------------------

    **Spoiler alert

    กระทั่งในตอนจบของเรื่อง ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าความจริงในวันนั้น เกิดสิ่งใดขึ้น เกรซมีส่วนลงมือฆาตกรรมหรือไม่ หรือเธอก็เป็นเพียงผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง
    บางทีกระทั่งตัวเกรซเองก็อาจไม่ทราบ

    จากชื่อเรื่อง Alias Grace
    Alias แปลว่านามแฝง สื่อถึงชื่อแมรี่ วิทนีย์ที่เกรซนำมาเป็นนามแฝงในยามที่หลบหนี
    แต่มันมีความหมายแค่นั้นจริงๆ หรือ

    ภายหลังดูจบ ผู้ชมคงจะเกิดคำถาม โดยเฉพาะสองคำถามที่สำคัญก็คงไม่พ้น ‘เกรซเป็นอะไร’ และ ‘แท้จริงแล้วเกรซเป็นฆาตกรหรือไม่’

    1. เกรซเป็นอะไร ?

    ข้อสันนิษฐานแรก  คือ เกรซน่าจะเป็น Dissociative Identity Disorder (DID) โดยมีบุคลิคแยกสร้างขึ้นมาจากแมรี่

    Dissociative Identity Disorder (DID) หรือโรคหลายบุคลิก คือโรคทางจิตเวชที่ตัวตนของผู้ป่วยเกิดการแยกขาดจากกัน (Dissociation) ทั้งทางความคิด ความทรงจำ ความรู้สึก การกระทำ รวมถึงการตระหนักรู้ตนเอง จนไม่ต่างจากมีใครอีกคนอยู่ในร่างเดียวกั
    เมื่อบุคลิกอื่นเกิดขึ้นแล้ว แต่ละบุคลิกจะเป็นอิสระ มีการแสดงออกที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

    ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดบุคลิกแตกแยกขึ้นมา คือการได้รับความรุนแรงหรือความทรงจำเลวร้ายในวัยเด็ก ทั้งการล่วงละเมิดทางเพศและการทำร้ายร่างกายและจิตใจ

    จากคำบอกเล่าของเกรซ ทำให้เราทราบว่าเกรซเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศมาแต่เด็ก เธอเติบโตมากับพ่อที่ชอบใช้ความรุนแรง และเกือบล่วงละเมิดเธอ จึงอาจเป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เธอเป็นโรคนี้

    แต่ตัวแปรที่สำคัญที่สุด คือ แมรี่ วิทนีย์

    สำหรับเกรซ แมรี่ วิทนีย์ คือ ‘เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิต’ แมรี่เป็นคล้ายเพื่อนคนแรกและพี่สาวของเธอคอยสอนเกรซทุกอย่าง ทั้งเรื่องงานจนถึงเรื่องส่วนตัว
    เมื่อเกรซประจำเดือนมาครั้งแรก ด้วยเหตุที่หญิงสาวสมัยนั้นมักขาดการศึกษา และความรู้เรื่องประจำเดือนไม่ได้แพร่หลาย เกรซตกใจมาก เธอกลัวมากว่าตนจะตาย เพราะตอนแม่จากไปก็เป็นเช่นนี้ แต่แมรี่ปลอบเธอ และสอนว่าควรจะทำอย่างไร นอกจากนี้ แมรี่ยังสอนให้เกรซอย่าไว้ใจพวกผู้ชาย

    การจากไปของแมรี่จึงเหมือนโลกทั้งใบถล่มทลาย

    และทุกอย่างยิ่งเจ็บปวด เมื่อตัวการของเรื่องนี้คือ ‘ผู้ชายพวกนั้น’ ที่แมรี่เคยเตือนเธอไม่ให้ไว้ใจ และทั้งที่มันเป็นบาปที่คนสองคนร่วมก่อด้วยกัน แต่เหตุใดฝ่ายชายจึงยังลอยหน้าลอยตา โยนเงินห้าดอลลาร์มาให้แมรี่ราวกับไม่มีค่า ในขณะที่คนทุกข์ทรมานกับเป็นผู้หญิงฝ่ายเดียว

    เกรซเริ่มมีอาการทางจิตครั้งแรก เมื่อเธอได้ยินเสียงแมรี่ที่ตายไปแล้ว เอ่ยว่า “ให้ฉันเข้าไป (Let me in)” ซึ่งดร.จอร์แดนคิดว่านั่นคืออาการหูแว่ว (Auditory Halluciation) และเป็นอาการแรกเริ่มที่แสดงถึงความผิดปกติทางจิตเวชของเกรซ ก่อนจะตามมาด้วยการหมดสติ
    มีคนเล่าว่า ระหว่างที่เกรซหมดสติ เธอตื่นขึ้นมาครั้งหนึ่งโดยคิดว่าตนเป็นแมรี่ แต่เกรซจำเรื่องนี้ไม่ได้แม้แต่น้อย
    นี่เป็นครั้งแรกที่บุคลิก ‘แมรี่’ ปรากฏขึ้น

    เหตุที่เป็นบุคลิกของแมรี่ อาจเป็นเพราะแมรี่คือบุคคลที่เกรซชื่นชมที่สุด จะเห็นว่าพื้นนิสัยเดิมของเกรซเป็นเด็กหญิงค่อนข้างไร้เดียงสา ขี้ขลาด ยอมคน เมื่อถูกคุกคามก็ทำตัวไม่ถูก ในขณะที่บุคลิกของแมรี่ในสายตาเกรซนั้นกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ร่าเริง เปิดเผย และมีความเย้ายวน ถือไพ่เหนือกว่าเพศชาย

    บุคลิกแมรี่ยังออกมาอีกหลายครั้ง โดยถูกบอกใบ้มาเรื่อยๆ ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในตอนที่เกรซฝันว่าตนออกไปข้างนอกบ้าน และเห็นยมทูตหัวขาดบนต้นไม้ เมื่อตื่นนอนก็พบว่าเท้าของคนเปื้อนโคลนจริง อีกทั้งบนต้นไม้ก็มีผ้าปูเตียงปลิวไปติดอยู่ ดูคล้ายยมทูตหัวขาดในฝัน
    หรือที่แมรี่ได้ยินแนนซี่พูดกับเจ้านายว่า เกรซทำงานดี รวดเร็ว แต่บางครั้งก็ดูแปลก ขึ้นเสียง พูดจาโวยวาย และชอบพูดคนเดียว ในแง่หนึ่ง อาจมองว่าแนนซี่พูดไปด้วยอคติเพื่อให้เจ้านายไม่ชอบเกรซ หรือบางทีแนนซี่อาจพูดความจริงก็ได้
    นอกจากนี้ ยังมีคำพูดที่เพื่อนนักโทษพูดกับเกรซว่า เธอดูแปลก

    ซึ่งในตอนท้ายของเรื่อง เมื่อเกรซถูกสะกดจิต บุคลิกแมรี่ก็เปิดเผยตัวตนออกมา และยอมรับว่าตนเป็นคนฆ่าแนนซี่เอง ในขณะที่เกรซตัวจริงไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้

    Alias Grace
    ชื่อ แมรี่ วิทนีย์ ที่เป็นนามแฝงของเกรซ จึงไม่ใช่เพียงนามแฝง แต่ยังสื่อถึงอีกบุคลิกหนึ่งในตัวตนของเกรซอีกด้วย



    ข้อสันนิษฐานที่สอง เกรซปกติ ไม่ได้เป็นโรคหลายบุคลิก และในตอนท้ายเป็นเพียงการเล่นละครของเธอเอ
    เราไม่อาจรู้ว่าแท้จริง เกิดอะไรขึ้นกับเกรซกันแน่ และคำบอกเล่าของเธอเป็นจริงแค่ไหน
    แต่เราพอจะอนุมานได้ว่าเกรซคงไม่ได้พูดความจริงทั้งหมด เรื่องราวที่เธอเล่าให้ดร.จอร์แดนฟังมีการดัดแงปลงเพื่อให้อีกฝ่ายพอใจ 
    นอกจากนี้ เราจะได้เห็นว่าเกรซที่เป็นนักโทษมีบุคลิกที่แตกต่างจากเด็กสาวเกรซในเรื่องที่เธอเล่ามาก ในตอนที่เป็นเด็กสาว เกรซหัวอ่อน ขี้ขลาด แต่ในขณะที่เธอพูดคุยกับดร.จอร์แดน เธอสุขุม และอ่านอีกฝ่ายออก เธอรู้ว่าดร.จอร์แดนต้องการสิ่งใดจากตน และรู้ว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรให้เขาพอใจ

    ดังนั้นมันจึงเป็นไปได้ที่ในตอนท้าย เธออาจเพียงเล่นละครภายใต้การสะกดจิตของเจเรไมอาห์ เพื่อเล่าเรื่องที่คนฟังจะพอใจก็เป็นได้


    2. เกรซเป็นฆาตกรหรือไม่ ?

    หากคิดตามสมมติฐานแรกว่าเกรซเป็นโรคหลายบุคลิก ซึ่งบุคลิกแมรี่ยอมรับว่าเธอเป็นคนทำ แต่เกรซบริสุทธิ์ คำถามต่อมาก็คือในผู้ที่มีจิตผิดปกติเช่นนี้ เมื่อบุคลิกหนึ่งเป็นผู้ลงมือ แต่บุคลิกหลักไม่รู้เรื่อง เราจะถือว่าบุคคลนั้นทำความผิดหรือไม่
    อย่างไรก็ตาม โรคหลายบุคลิกถูกค้นพบในราวปี 1880 แต่ตอนที่ดร.จอร์แดนได้พบกับเกรซ น่าจะอยู่ในราวปี 1860 (อิงตามเหตุการณ์ฆาตกรรมจริงที่เกิดในปี 1843) สิ่งที่เกิดขึ้นกับเกรซจึงสร้างความสับสนงุนงงแก่ทุกคนที่เห็น และยังไม่มีกฏหมายรองรับการกระทำความผิดในลักษณะนี้

    แต่สิ่งหนึ่งที่เราค่อนข้างแน่ใจได้ คือเกรซมีส่วนรู้เห็นในฆาตกรรมครั้งนี้แน่นอน ไม่ว่าเธอจะเป็นผู้ลงมือหรือไม่
    จุดน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ เกรซที่เป็นบุคลิกเกรซจริงๆ น่าจะยืนอยู่เหนือ Trap door ตอนที่ร่างของแนนซี่หล่นลงไปในห้องใต้ดิน เพราะเราจะเห็นว่า เมื่อเอ่ยถึงห้องใต้ดิน เกรซที่รู้ตัวดีจะชะงัก แฟลชแบคภาพนั้นหลายครั้ง จึงน่าจะเป็นภาพในความทรงจำของเกรซจริงๆ แต่เธอเลือกจะไม่เล่าออกมา

    แต่สุดท้ายแล้ว เราคิดว่าคำตอบของซีรีย์เรื่องนี้ไม่ใช่ปลายทางว่าเกรซคือฆาตกรหรือไม่ แต่อยู่ในเรื่องราวทั้งหมดระหว่างทางนั่นเอง
    เมื่อลองพิจารณากว้างขึ้น เราอาจมองได้ว่า เกรซคือภาพแทนของผู้หญิงที่ถูกหล่อมหลอมมาด้วยความรุนแรงและความทรงจำอันเลวร้าย เติบโตมาท่ามกลางสังคมที่ชายเป็นใหญ่ เพศหญิงถูกเอารัดเอาเปรียบและล่วงละเมิดได้ง่าย ความแตกต่างและการกดทับของชนชั้น
    เกรซดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในสังคมอันแสนไม่ยุติธรรมนี้ และมันก็ได้ผลักดันให้เธอมีส่วนพัวพันในเหตุฆาตกรรมในที่สุด


    “หากคุณถูกพบอยู่ในห้องกับผู้ชาย คุณเป็นฝ่ายผิดเสมอ ไม่ว่าจะยังไง”  
    นี่คือสิ่งที่เกรซพูดถึงสถานะของความเป็นหญิงเมื่อเธอถูกคุกคาม 

    ประเด็นที่นำเสนอในเรื่อง จึงไม่ใช่เพียงประเด็นทางจิตเวช แต่ยังเสียดสีสภาพสังคมอย่างแนบเนียนทว่าเจ็บแสบ และทำให้เราเห็นว่ามันสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งอย่างรุนแรงเพียงใด 

    ดังนั้นฆาตกรตัวจริงในเรื่อง อาจไม่ใช่เกรซ ไม่ใช่บุคลิกแมรี่ แต่คือสภาพสังคมที่กดทับพวกเธออยู่ก็เป็นได้

    สุดท้ายแล้ว นี่ก็เป็นซีรีย์อีกเรื่องที่ตั้งคำถามทิ้งไว้ให้แก่ผู้ชมได้อย่างน่าสนใจ

    --------------------

    ขอบคุณที่อ่านกันมาถึงตรงนี้นะคะ :) 
    ชอบไม่ชอบยังไง ติชมกันได้เลยนะคะ มาพูดคุยกันค่ะ

    Schvala
    22 June 2020

    ขอบคุณภาพจาก Netflix 
    ขอบคุณข้อมูลจาก 
    - WebMD : https://www.webmd.com/mental-health/dissociative-identity-disorder-multiple-personality-disorder#1-2
    - American Psychiatric Association : https://www.psychiatry.org/patients-families/dissociative-disorders/what-are-dissociative-disorders

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in