เรียบเรื่อย ทว่าอ่อนโยน ลุ่มลึก ทรงพลังและเปี่ยมด้วยมนตร์เสน่ห์
นั่นคือความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นหลังดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบ
--------------------
ฤดูร้อนปี 1964 ประเทศญี่ปุ่นกำลังเตรียมตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน รัฐบาลจึงมีนโยบายปรับปรุงโครงสร้างประเทศ สร้างตึกใหม่เพื่อให้สวยงามและวางผังเมืองได้ง่าย
อูมิ เป็นเด็กสาวม. 5 ที่อาศัยอยู่บนบ้านบนเนินเขาเหนือท่าเรือเมืองโยโกฮาม่า บ้านของเธอนอกจากจะมีคุณยาย และน้องๆ ของเธอ ยังเป็นแชร์เฮ้าส์ที่มีผู้เช่ารายอื่นด้วย โดยอูมิ ในฐานะลูกสาวคนโตของบ้าน จึงมีหน้าที่รับผิดชอบสิ่งต่างๆ ในบ้าน ตั้งแต่ทำอาหารจนถึงบริหารค่าใช้จ่ายของบ้าน
กิจวัตรประจำวันทุกเช้าของอูมิคือ การชักธงสัญญาณขึ้นเสาหน้าบ้าน ธงนั้นเป็นคล้ายสัญลักษณ์อวยพรให้นักเดือนเรือให้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย พ่อของอูมิที่เป็นกะลาสีได้สอนเมื่อเธอยังเป็นเด็ก ต่อมา แม้เมื่อพ่อจากไปในสงครามเกาหลี อูมิก็ยังคงชักธงสัญญาณอยู่ทุกวันไม่เคยขาด เป็นดั่งคำสัญญาและคำอธิษฐานต่อพ่อ
ชีวิตของอูมิดำเนินไปอย่างเรียบง่าย กระทั่งวันหนึ่งเธอได้เห็นการประท้วงของพวกเด็กผู้ชายต่อนโยบายทุบตึกละตินควอเตอร์ของโรงเรียน และนั่นเป็นครั้งแรกที่เธอได้รู้จักกับชุน
ชุนเป็นสมาชิกของชมรมวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ ซึ่งตั้งอยู่ในตึกละตินควอเตอร์ อาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่สวยงามที่อยู่คู่โรงเรียนมายาวนาน กระทั่งตอนนี้ที่ทางโรงเรียนกำลังจะทุบทิ้งเพื่อสร้างอาคารที่ใหม่กว่า ให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศ
ตึกละตินควอเตอร์เป็นที่ตั้งของชมรมมากมาย ทั้งชมรมปรัชญา ชมรมดาราศาสตร์ ชมรมเคมี มันตั้งอยู่อย่างยาวนาน สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นและมีคุณค่าทางจิตใจอย่างยิ่งต่อนักเรียนเหล่านี้ พวกเขาจึงต้องการรักษามันเอาไว้
เดิมที อูมิไม่ใช่เด็กในชมรมเหล่านั้น แต่เมื่อได้รับรู้เรื่องของละตินควอเตอร์ เธอจึงเสนอให้พวกเขาทำการบูรณะตึกขึ้นมาใหม่
และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อรักษาตึกละตินควอเตอร์เอาไว้ และความสัมพันธ์อันซับซ้อนของเธอและชุน ก่อนที่ความจริงเกี่ยวกับอดีตของเธอและชุนจะถูกเปิดเผย
--------------------
(** Spoiler Alert : บทความต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง)
ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพบ้านเมือง ณ ชายฝั่งทะเลในประเทศญี่ปุ่นช่วงปี 60-70 ได้อย่างงดงาม เราจะได้เห็นเรือที่แล่นผ่านไปมาในทะเล เสียงหวูดเรือที่ดังมาเป็นระยะ รถรางที่แล่นไปทั่วเมือง เด็กนักเรียนที่เดินและปั่นจักรยานไปเรียน ตึกและอาคารบ้านเรือนที่ตั้งเรียงรายบนไหล่เขาเหนือท่าเรือ บรรยากาศเต็มไปด้วยกลิ่นอายอันน่าค้นหา
เพลงประกอบของเรื่องเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่จับคนดูเอาไว้อยู่หมัด ทำนองเพลงที่ชวนให้คำนึงบางสิ่งในช่วงเวลาเก่าก่อน เนื้อหาที่คล้ายจะเรียบง่ายทว่าลึกซึ้ง ไพเราะและทิ้งบางสิ่งให้ซึมลึกลงไปในใจคนฟัง
--------------------
คำถามที่เป็นประเด็นสำคัญของเรื่องคือ การต่อสู้ระหว่างแนวคิดการก้าวไปข้างหน้าโดยละทิ้งอดีต และการรักษาอดีตเอาไว้
เมื่อประเทศต้องการก้าวไปข้างหน้า พัฒนาเพื่อให้สากลเท่าทันโลกตะวันตก ทำให้สิ่งเก่าแก่ที่ครั้งหนึ่งเคยดีงาม ถูกมองว่าไม่จำเป็นและจำเป็นต้องละทิ้ง ดังเช่นตึกละตินควอเตอร์ที่อยู่คู่โรงเรียนมาเนิ่นนาน และยังคงเป็นตึกที่ทำหน้าที่ของมันในการเป็นแหล่งรวมชมรมได้อย่างดีเยี่ยม เพียงแต่จะต้องถูกทำลายทิ้ง เพียงเพราะมันไม่ทันสมัยพอ
โลกหมุนไปทุกวัน และความเปลี่ยนแปลงย่อมมาถึงสักวัน การปะทะกันของวัฒนธรรมเก่าและใหม่เกิดขึ้นย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือเราควรจะเลือกสิ่งใด รักษาอดีตหรือเลือกอนาคต
ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเราว่า เราสามารถเลือกทั้งสองสิ่งไปพร้อมกันได้
เราสามารถรักษาสิ่งที่มีอยู่ พร้อมกับก้าวไปข้างหน้าได้ เพียงแต่การรักษานั้นอาจต้องมีการปรับตัวบางอย่างเพื่อให้อยู่รอดในความเปลี่ยนแปลงที่มาถึง ดังเช่นการที่เด็กนักเรียนเหล่านี้บูรณะละตินควอเตอร์ให้ดูดีขึ้น
ขณะเดียวกัน การรับเอาสิ่งใหม่เข้ามา ก็ต้องคำนึงถึงตัวตนเก่าของตนรับเอามาเท่าที่และปรับใช้ ให้ไม่ถูกกลืนกินจนไม่เหลือตัวตนเดิม
พบกันที่ไหนสักแห่ง ระหว่างอดีตและอนาคต
และในท่ามกลางประเด็นหลักที่กล่าวไป ภาพยนต์ยังแสดงให้เห็นภาพการต่อสู้ของเด็กวัยรุ่นที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ภาพตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ยืนหยัดต่อต้านอำนาจของผู้ที่เหนือกว่า โดยผ่านภาพของเด็กมัธยมที่พยายามรักษาตึกเอาไว้
ในการอภิปรายครั้งใหญ่ ฝั่งนักเรียนที่เสนอให้ทุบตึก อ้างว่านักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทุบตึก ในขณะที่ฝั่งรักษาตึกได้อธิบายว่า “ไม่มีอนาคตสำหรับคนที่ลืมอดีตหรอก” และ “ประชาธิปไตยไม่ใช่ว่าจะละเลยคนส่วนน้อยได้นะ”
ในสายตาของผู้ใหญ่ สิ่งที่เด็กเหล่านี้ทำ อาจถูกมองเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ทั้งหมดนี้คือพลังของคนหนุ่มสาวที่กำลังเติบโต บางอย่างอาจดูมุทะลุ ผิดพลาดไปตามวัย แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่า เป็นพลังที่เชื่อมโลกใบใหม่และใบเก่าเข้าด้วยกัน
--------------------
ทีนี้เราลองมาดูที่ตัวละครกัน
อูมิเป็นตัวละครที่แทบจะเรียกได้ว่า เป็นตัวแทนของประเด็นหลักในเรื่องได้เป็นอย่างดี เธอเป็นเด็กสาวที่ดูโตเป็นผู้ใหญ่กว่าคนอื่น เธอสูญเสียพ่อไปแต่เด็ก แม่ไปเรียนต่อที่อเมริกา เธอต้องดูแลน้องๆ อีกสองคน และต้องรับผิดชอบเรื่องในบ้านหลายอย่าง แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ภายนอกที่เข้มแข็ง มั่นคง พึ่งพาได้ ในใจของเด็กสาวก็ยังมีบาดแผล
เธอยังไม่อาจก้าวผ่านการสูญเสียพ่อไปได้
ในช่วงต้นของเรื่องจะเห็นว่าอูมิเคร่งครัดกับการชักธงขึ้นเสาทุกวันมาก แม้จะรู้ว่าพ่อจากไปแล้ว แม้ว่าคุณยายจะบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นก็ได้ แต่อูมิก็ยังทำต่อไปทุกวัน ธงนั้นคือคำอธิษฐาน คือคำสัญญา คือสิ่งที่ทำให้เธอมีความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าบางที วันหนึ่งพ่ออาจกลับมา
แต่อูมิไม่เคยรู้เลย สัญญาณของเธอได้รับการตอบกลับเสมอ ชุนที่แล่นเรือในทะเลกับพ่อบุญธรรมเห็นธงของเธอ และเขาก็ชักธงตอบเธอทุกเช้า
ซึ่งนำไปสู่ฉากที่น่าประทับใจ เมื่ออูมิเดินคุยกับชุนที่ท่าเรือหลังกลับจากโตเกียว และชุนบอกว่าเขาเห็นเธอชักธงทุกเช้า นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่เด็กสาวได้รู้ว่าสัญญาณที่เธอส่งออกไปมีคนรับรู้มาตลอด นี่เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ทำให้เด็กหญิงเริ่มยอมรับความจริงได้
ฉากที่น่าประทับใจอีกฉากหนึ่งคือฉากที่อูมิคุยกับแม่ ตั้งแต่ต้นเรื่อง อูมิเป็นเด็กเข้มแข็ง และเก็บความรู้สึกของตนเองมาตลอด ทำราวกับทุกสิ่งไม่เป็นไร การได้คุยกับแม่ เหมือนได้ปลดล็อกบางสิ่งในใจ เราได้เห็นเธอเป็นเด็กสาวอย่างที่ควรจะเป็นตามวัย ไม่ต้องแบกภาระบนบ่าอันมากมาย สับสน เจ็บปวด และมีอ้อมกอดของแม่คอยปลอบโยนเธอยามร้องไห้
คำถามเกิดขึ้นในใจของอูมิไม่ต่างจากคำถามของเนื้อเรื่องหลัก นั่นคือการยึดติดกับอดีตหรือก้าวต่อไปข้างหน้าโดยละทิ้งอดีตเอาไว้
ซึ่งภายหลังผ่านเรื่องราวทั้งหมด เด็กสาวก็ได้เรียนรู้และพบคำตอบของตน ในตอนจบของเรื่อง อูมิอยู่บนเรือ มองออกไปยังเส้นขอบฟ้าที่พระอาทิตย์กำลังตกดิน ตอนนี้เด็กสาวได้รับรู้ความจริงทุกอย่าง เธอได้เรียนรู้ที่จะโอบกอดอดีตไว้โดยไม่ยึดติด และพร้อมจะก้าวไปข้างหน้าด้วยหัวใจที่เปี่ยมความหวัง
อูมิยังคงชักธงขึ้นเสาในทุกเช้า และมองออกไปยังทะเล รู้ว่าในห้วงน้ำสีครามนั้น ใครคนหนึ่งเฝ้ามองสัญญาณธงจากเธออยู่เช่นกัน
--------------------
ขอบคุณที่สนใจเข้ามาอ่านกันนะคะ :)
นี่เป็นรีวิวเรื่องแรกที่เราเขียนลงบล็อกเลยค่ะ คิดเห็นยังไง ชอบไม่ชอบตรงไหน มาคุยกันได้นะคะ
(ขอบคุณภาพจาก Studio Ghibli)
Schvala
15 June 2020
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in