เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ว่าด้วยความกลัวและตัวฉันอ่าน-คิด-เขียน
เรื่องของ "ผม"
  • บทสัมภาษณ์ตัวเองว่าด้วย "เรื่องของ 'ผม'" ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต



    เรื่องของผมเป็นเรื่องของเราเอง ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องของทุกคน สำหรับบางคน 

    ผมเป็นแค่สิ่งปกคลุมศีรษะ บางคนไม่มีผม บางคนเคยมีผม บางคนอาจมีเรื่องราวเกี่ยวกับผม หรือบางคนอาจบอกเล่าตัวเองผ่านทรงผม เราก็เป็นคนหนึ่งที่มีเรื่องราวจะมาแบ่งปันผ่านทรงผมของเราในแต่ละช่วงชีวิตค่ะ 


    ผมเป็นอะไรสำหรับคุณ ? 

    สำหรับเราผมมันไม่ใช่แค่เส้น ๆ เหมือนขนตามร่างกายธรรมดา แต่มันเป็นได้เยอะกว่านั้นมาก โดยทั่วไปเราให้ความสำคัญกับผมกันอยู่แล้ว ทั้งทำความสะอาด บำรุง ตัดแต่ง ทำสี ใส่วิก ปลูกผม เพราะผมบอกอะไรได้หลายอย่าง เช่น คุณสะอาดมั้ย หวีผมมั้ย สระผมมั้ย สนใจเรื่องผมแค่ไหน สไตล์แฟชั่นเป็นยังไง ต่อมาคือเรื่องสถานะ ในบางบริบทสังคม ทรงผมก็สามารถบอกสถานภาพหรือ อาชีพของคนคนนั้นได้ เช่น อยู่ต่างโรงเรียนกัน  เรียนเอกชนหรือรัฐบาล ทรงผมก็ต่างกันแล้ว  หรือบางทีผมก็มักจะมาพร้อมกับเครื่องแต่งกาย อย่างเช่น ทหาร พยาบาล พระ นักเรียน 

    ทรงผมมักจะมีความสอดคล้องกับบุคลิกของเราเช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่เราใส่หรือการแต่งหน้านั่นแหละ มันเป็นการแสดงตัวตนของคนรูปแบบนึง อย่างคนที่ทำสีฉูดฉาดสีรุ้ง ก็อาจจะเป็นคนที่อินแฟชั่น ชอบแต่งตัวอะไรแบบนั้น ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับปกหนังสือแหละค่ะ บอกใบ้ว่าข้างในจะเป็นยังไง เป็นแนวไหน แต่ก็ยังตัดสินกันไม่ได้ซะทีเดียว


    สุดติ่งไปเลยว่ะนาย 

             เนื่องจากเป็นรุ่นท้าย ๆ ที่ต้องตัดผมทรงนี้ ไหนมาแชร์ประสบการณ์ผมติ่งกันหน่อย 



    ทรงผมเสมอหู หรือทรงนักเรียน ที่เราเรียกกันว่า "ทรงติ่ง" เท่าที่เคยรู้มา มันถูกออกแบบขึ้นเพื่อสร้างความเท่าเทียมในหมู่นักเรียน เพราะเขาคิดว่า "เหมือนกัน" แปลว่า "เท่าเทียม" และเพื่อไม่ให้นักเรียนต้องมาดูแลหรือเสียเวลาตัดแต่งทรงผม แต่สมัยนี้ สังคมเรากว้างขึ้นมาก ความหลากหลายในแง่ต่าง ๆ ก็มากขึ้น และความเหลื่อมล้ำก็เห็นได้ชัดเจนขึ้นเช่นกัน จากทรงผมที่ครั้งหนึ่งอาจจะสร้างความเสมอภาคกันได้จริง ในบริบทปัจจุบัน ก็อาจจะพลิกไปเป็นสิ่งที่เป็นตัวแบ่งแยกเราเลยก็ได้  

    ต้องเล่าก่อนว่า ตอนประถมเราอยู่โรงเรียนเอกชน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่กฎระเบียบเรื่องเครื่องแต่งกายน้อยมาก ๆ ให้อิสระเต็มที่ เราจะทำผมทรงอะไร ติดกิ๊บติดโบว์ ใช้กระเป๋าแบบไหนไปเรียนก็ได้เลย ขอแค่ใส่ชุดนักเรียนถูกวันก็พอ มันทำให้เราเคยชินกับอิสระแบบนั้น บวกกับว่าส่วนตัวเป็นคนชอบใส่อะไรกระจุกกระจิกด้วย พวกนาฬิกา สร้อยข้อมือ โบว์ ติดสติกเกอร์บนรองเท้าด้วย (หัวเราะ)  

    พอเราย้ายมาเรียนมัธยมอีกโรงเรียนนึง ที่นี่เป็นโรงเรียนรัฐบาลที่ใหญ่พอสมควร ระดับชั้นนึงมีสิบกว่าห้อง นักเรียนเขาเยอะเพราะฉะนั้นกฎมันเคร่งมาก นี่เลย ผมติ่งตามฉบับ บังคับตั้งแต่ผมยันสีของสายนาฬิกา บางวันมีสุ่มตรวจเสื้อทับหรือเสื้อกล้ามด้วย ส่วนตัวเราก็คือ ก่อนหน้านี้ผมยาวประมาณกลางหลัง เราเป็นคนที่ผมหนามาก ตอนยาวมันก็ทิ้งตัวดี แต่พอตัดสั้นปุ๊ปมันเป็นดอกเห็ด หัวกลมมาก เราไม่เคยชินเลย เราว่าหน้าเราแปลกตาตลอดสามปีที่ตัดทรงนี้  

    ตอนที่รู้สึกโอเคกับผมขึ้นมานิดนึงน่าจะเป็นตอนที่เห็นเพื่อนคนอื่นผมสั้นกว่า ฟูกว่า มันรู้สึกว่า เอ้อ ยังมีคนสภาพผมแย่กว่าเราอีกนะ ซึ่งมันไม่ดีเลยกับการรู้สึกดีขึ้นเพราะเห็นว่ายังมีคนที่แย่กว่า แต่ในสภาพแวดล้อมตอนนั้นมันก็เป็นอย่างนึงที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นจริง ๆ ที่จำไม่ลืมคือ ช่วงม.ต้นเรามีงานแสดงเต้นตลอด แล้วก็ต้องไปซ้อม ไปทำผมแต่งตัว ผมสั้นเป็นอุปสรรคมาก ไม่ใช่แค่ว่าเราทำผมไม่ได้ แต่เรากลับโดนคนไม่ชอบเพราะทรงผมสั้น เราก็แก้ปัญหาด้วยการไปขอโรงเรียนไว้ผม แล้วเรื่องมันก็เป็นแบบนี้ 



    ยาวเกิน 

    "เธอมีสิทธิ์อะไรไว้ผมยาว หื้ม" 

    ครูประจำชั้นจับปลายผมที่ยาวไม่ถึงคาง 

    แล้วดึงผมอย่างเย้าแหย่ 

    เบะปากด้วย ทำทำไม 

    "หนูมีงานแสดงค่ะ ขออนุญาตฝ่ายปกครองแล้วค่ะ" 

    ในตอนนั้น ผมยาวกว่าติ่งหูไม่กี่เซน 

    ก็เหมือนได้รับสิทธิพิเศษมากมาย 

    เป็นที่จับตามอง (และนินทา) 

    ของเพื่อนในชั้น 

    "เอ๊ย ทำไมผมยาวอะ" 

    "ไม่โดนปกครองเรียกอ่อ" 

    "เส้นปะวะ ถามจริง" 

    เบื่อกับการต้องตอบคำถาม 

    เบื่อกับการต้องขอ"อนุญาต" 

    ในสิ่งที่เรามีสิทธิ์จะมีอยู่แล้ว 


    สั้นเกิน 

    "นี่อยู่โรงเรียนวัดอะไร 

    มันยังมีอีกเหรอผมทรงเนี้ย" 

    ป้าช่างทำผมปาดเจลครึ่งกระปุกลงบนหัว 

    เพราะไม่สามารถมัดเก็บผมได้ หวีกระชากผม 

    จนหน้าหงายส่งท้าย ทำทำไม 

    "เต้นดี ๆ ล่ะอย่าให้หลุด ชั้นทำนาน" 

    ในตอนนั้น ผมสั้นครึ่งหน้า 

    ก็เป็นที่สนใจของเพื่อน ๆ ในรุ่น 

    "เธอไม่ชอบไว้ผมยาวเหรอ" 

    "เธอเคยไว้ยาวหนิ ตัดทำไมอะ" 

    "ต้องตัดด้วยเหรอ" 

    เบื่อกับการต้องตอบคำถาม 

    เบื่อกับการจ่ายเงินซื้อช่อต่อผม 

    เพียงเพื่อให้ดูกลมกลืนเวลาขึ้นแสดง


    สมัยนั้น มีเสียงต่อต้านเกี่ยวกับกฎระเบียบเรื่องทรงผมไหม ? 

    ในใจเราก็คือต่อต้านเต็มที่มาก แต่ที่ทำได้คือไปขอไว้ผมชั่วคราว เพราะเราก็มีเหตุผลของเราที่ต้องทำผมขึ้นแสดงหรือไปซ้อมบ่อย ๆ ก็ได้มาไม่กี่เซน ให้พอรวบได้บ้าง แต่คนอื่น ๆ ส่วนมากก็ไม่มีใครอยากมีปัญหา แล้วก็ไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม เพราะทุกคนที่มีปัญหา เช่น ไม่ยอมตัดผม หรือถามครูว่าตัดแล้วได้อะไร ฝ่ายปกครองจะจับประจานหมดด้วยการตัดผมให้สั้นขึ้นไปครึ่งใบหู บางคนก็โดนโกนผมท้ายทอยแถมให้ด้วย  

    ส่วนเด็กผู้ชาย ที่เคยเห็นโดนประจานก็โดนไถหัวเป็นรูปหัวใจตรงกลางหัวเลย มันเป็นการประจานที่ไม่ได้แค่ในโรงเรียนแล้วจบด้วยนะ มันอยู่บนหัวเลย ออกไปนอกโรงเรียนมันก็ยังอยู่ เป็นเดือนกว่าจะยาวขึ้นมาได้ เหมือนกับตัดทรงติ่งยังน่าอายไม่พอ พอเขาทำแบบนี้เด็กก็ไม่กล้าประท้วง แต่ในขณะเดียวกันพวกผู้ใหญ่ญาติ ๆ ก็ชอบบอกว่า 


    "ผมสั้นน่ารักจังเลย" "อุ๊ยเด็กม.ต้น" "เนี่ย ใส ๆ สมวัย" 


    เราไม่ได้รู้สึกภูมิใจ หรือเป็นที่รักเลย เรารู้สึกว่าคุณไม่ได้ชมเราที่ตัวเรา แต่คุณแค่เห็นว่าเราทำตามระเบียบโรงเรียน เราตัดทรงเดียวกับที่คุณเคยตัดสมัยเด็กก็แค่นั้น รู้สึกแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำที่เขามองว่ามันน่ารัก 



    แต่เดี๋ยวนี้เขาออกกฎบังคับแล้วนี่ ? 

    ใช่แล้ว จริง ๆ มันออกมาหลายรอบแล้วแหละ ตอนเราอยู่ม.หนึ่งก็เคยออกมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อนบางโรงเรียนก็ได้ไว้กัน แต่โรงเรียนเราก็ไม่อนุญาต แต่เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งก็คือประมาณ 8 ปีหลังจากนั้น เราไปเจอเด็กคนนึงที่ใส่ชุดโรงเรียนเรา เป็นเสื้อของม.ต้น ก็เห็นว่าน้องเขาไว้ผมยาวกันได้แล้ว ก็รู้สึกดีใจกับน้องมาก ๆ ที่ไม่ต้องเจอแบบที่เราเจอ หรือแบบที่เพื่อนบางคนเจอ  

    เพราะถึงแม้ว่าดูเผิน ๆ มันจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แค่สามปี แต่มันอยู่ในใจเรานานกว่านั้นนะ ยิ่งตอนที่ไปซ้อมเต้นแล้วเพื่อนมองผมไม่มองหน้า หรือถามบ่อย ๆ เราก็หมดความมั่นใจในการแสดงไปเลย คะแนนตก ไม่อยากเจอเพื่อน ไม่อยากขึ้นแสดง ดีใจที่ตอนนี้คนเห็นความสำคัญของผมกันมากขึ้น



    ม.ปลายก็ได้ไว้ยาวแล้วดีใจไหม ? 


    เราว่าคำถามนี้แอบโฟกัสผิดจุดนิดนึง ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่สั้นหรือยาว ประเด็นมันคือความยินยอมและสมัครใจของเจ้าของผมว่าอยากไว้ทรงอะไรมากกว่า ตอนม.ปลายเราก็ไว้ยาวสุดคือเท่าไหล่เอง  

    ม.ปลายเราอยู่โรงเรียนเอกชน เป็นโรงเรียนหญิงล้วนที่ต้องถักผมเปียไปเรียนทุกวัน ทั้งทรงผมทั้งชุดนักเรียนคือสวย ดูแพง มีเนกไทด้วย แต่ถึงแม้ว่าคนส่วนมากก็โอเคกับการไว้ผมทรงนี้กัน เอาเข้าจริงแล้ว ชุดสวยผมสวย ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ทุกคน เพราะไม่ใช่มนุษย์เพศหญิงทุกคนจะอยากไว้ผมยาว ยังมีคนที่เขาอยากไว้ผมสั้นมากกว่าอยู่ดี  

    ช่วงที่อยู่ม.ห้า เราเองนี่แหละ ไปตัดผมแบบซอยเลยไหล่ขึ้นไปนิดนึง พอถักเปียตะขาบแนบหัวลงมาแล้วมันจะเก็บผม ไม่มีหางเปียยาว ๆ ซึ่งเราชอบ เราว่ามันไม่เกะกะดี เพื่อนก็ไปตัดตามกันแล้วกลายเป็นเทรนด์ผมสั้น หางเปียหายกันหมดเลย ทรงเดียวกันเกือบทั้งห้อง ครูหัวร้อนมาก ทำไมเด็ก ๆ ไปตัดผม เราก็งงว่า เอ๊า ตัดผมไม่ได้เหรอ ด้วยความเป็นเด็กใหม่ก็จะงง ๆ แต่เพื่อน ๆ เด็กเก่าเขาบอกว่า "อ่อ โรงเรียนเรากฎคือต้องไว้ผมยาวอะ แบบถ้าเทียบกับโรงเรียนอื่นในเครือเราแม่งก็ บ้านนอกอะมึง ครูเขาคงอยากคีพลุคเด็ก"  

    เราว่ามันก็น่าสนใจดี การคีพลุคด้วยการกำหนดทรงผมยาว จากประสบการณ์ของเราตอนม.ต้นมันก็ยิ่งชัดว่า คนส่วนหนึ่งมองว่า เด็กผมติ่งดูจน ผมยาวดูรวย แถมยังไม่สามารถแสดงตัวตนผ่านทรงผมได้อีก สังคมที่มีข้อบังคับแบบนี้แล้วยังมีมายเซ็ทแบบนี้ อยู่ยากจัง หลังจากเทรนด์ผมสั้นตอนนั้น เราก็ไม่ได้ไว้ยาวต่อ  ไว้ประมาณไหล่จนจบม.หกเลย ครูเขาก็แค่ชอบมาถามเฉย ๆ ว่าทำไมผมไม่ยาวซะที แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพราะว่าผมมันตัดไปแล้วอะเนาะ มันก็แก้อะไรไม่ได้ ซึ่งก็ดีแล้วแหละ ปล่อยเด็กทำอะไรตามใจตัวเอง เป็นตัวของตัวเองบ้าง (หัวเราะ) 


    ที่เล่ามามีแต่ทรงผมที่เป็นกฎโรงเรียน แล้วจริง ๆ อยากไว้ทรงอะไร ? 

    โห ทรงผมในฝันเราอะเหรอ เยอะเลย (หัวเราะ) พอเราจบม.หก ได้เวลาสนุกแล้วสิ รอคอยเวลานี้มานานเหลือเกิน (หัวเราะ) เราจินตนาการมาตลอดว่า ถ้ามีโอกาสทำ จะทำอะไรดี จริง ๆ อยากทำสีเทาอ่อนทั้งหัวเลย แต่พอโทรไปถามร้านเขาบอกว่า สีเทาทำยากสุดเลยนะ ดูแลยากด้วย เราก็ เอาแล้ว งั้นเอาไว้ก่อนก็ได้ ทำแบบเบสิก ๆ ก่อนละกัน ช่วงนั้นสีผิวค่อนข้างเข้ม เราก็คิดว่า เออถ้าสีผมสีเดียวกับผิว น่าจะเท่ดี  (หัวเราะ)  คิดไปเองว่าเท่อะเนอะ  เลยย้อมน้ำตาลสีเดียวกับผิวเรา  จริง ๆ สีมันออกมาแหม่ง ๆ แต่เราชอบมาก เพราะในที่สุดผมเราก็มีสี 

    การได้ทำสีผมมันเหมือนการบอกให้ทุกคนรับรู้ว่า นี่ค่า นางสาวซอแก้วจบม.หกแล้วค่า หลุดระบบโรงเรียนแล้ว จริง ๆ นะ มันรู้สึกขนาดนั้นเลย (หัวเราะ) 

    ทรงที่อยากไว้จริง ๆ ไม่มีตายตัวนะ เราอยากเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ มากกว่า ความสนุกมันอยู่ที่เราได้เปลี่ยนมันเรื่อย ๆ เป็นสีสันในชีวิต สีสันบนหัวเรา ฮ่า 


    อะไรทำให้ชอบทำผม ? 

    เราเพิ่งมาทำผมจริง ๆ จัง ๆ หน่อยก็ ช่วงปีสองเทอมสอง คือปลาย ๆ ปีหกสอง เราเป็นคนที่คนมักจะเรียกว่า ติส ๆ อะเนอะ ไม่รู้จริงมั้ย เราตัดสินใจตัดหน้าม้าเต่อ ตัดเองที่บ้านเลย คือแพลนมานานแล้วแต่ไม่กล้าตัด (หัวเราะ) ตอนนั้นมีส่งละครปลายภาค แล้วเราชอบจริตตัวละครมาก ๆ มันติส ๆ แก่น ๆ เลยมีไอเดียว่าเอ้อทำผมใหม่ส่งละครปลายภาคดีกว่า ไหน ๆ ก็อยากตัดอยู่แล้วด้วย ปรากฏทำแล้วเกิด ฮ่า คนบอกว่าเออมันเข้ากับเราดี เห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นซอแก้ว  

    พอผ่านไปสักพัก เราเบื่อผมโทนน้ำตาลดำ ก็เลยลองทำสีสัน ๆ ดู ครั้งแรก คือช่วงกักตัวปีหกสาม ร้านทำผมมันปิดหมดก็เลยลองทำสีเอง มันเลอะเทอะมาก ๆ สีเพี้ยนด้วย หลังจากนั้นทำเองตลอด ช่วงนี้ก็หัดซอยผมเองด้วย ไม่ได้สวยเท่าร้านทำ แต่เราสนุกมาก ภูมิใจมาก ๆ  

    เราว่าอย่างนึงที่เราชอบคือ ไม่ใช่แค่สีผมทรงผมที่ได้ แต่ว่าเราได้ทำเองนี่แหละ เราเลือกได้เองอยากทำแบบไหน ตรงไหนสั้นยาวมีอิสระกับมันเต็มที่มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยได้มีเลย มันทำให้เรารู้สึกเป็นตัวของตัวเองแบบอินไซด์เอ้าท์ แล้วก็มีความมั่นใจขึ้น กล้าทำอะไรนอกกรอบมากขึ้น ยิ่งทำยิ่งไฟติดด้วย พอสีซีดก็เติมสีนั้นสีนี้ไปเรื่อย ๆ (หัวเราะ) 



    มีแพลนจะทำทรงไหนต่อ ? 

    ยังไม่มีเลยค่า ล่าสุดที่เติมสีก็เดือนกว่าแล้ว ช่วงนี้อยู่บ้านตลอดด้วย ไม่ได้เจอใคร ไม่รู้จะทำผม 

    ไปอวดใคร (หัวเราะ) มีแค่ซอยผมเพิ่มเพราะร้อนเฉย ๆ แต่ถ้าเปิดเทอมเมื่อไหร่ก็หนีไม่พ้นหรอกค่ะ วงการนี้เข้าแล้วออกไม่ได้จริง ๆ แต่น่าจะทำสีเข้มแหละ เพราะว่าผมเสียน้อยกว่า จะได้ปังทั้งทรง 

    ทั้งสีทั้งสุขภาพผมเลย 


     

    อยากฝากอะไรถึงคนอ่านไหม ? 

    เห็นพูดเรื่องทำผมแบบนี้ ก็ไม่ได้จะชวนไปทำผมหรืออะไร (หัวเราะ) แต่อยากให้กล้าทำในสิ่งที่อยากทำ ในตอนที่มีโอกาสหรือมีไฟจะทำ ตามใจตัวเองบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี สนุกดีค่ะ ที่สำคัญคือเป็นตัวของตัวเอง อยากทำอะไรก็ทำเลย อยากใส่ชุดอะไร ผมอะไร แต่งหน้า แต่งตัว ทำเล็บ จัดไป  

    อยากให้ทุกคนมองกระจกแล้วภูมิใจที่เห็นตัวเอง ทั้งภายในและภายนอก ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำนะ แต่ใครอยากทำก็ทำเลย อย่ารอช้าค่า แต่ถ้าอยากทำผมก็ติดต่อได้น้า เดี๋ยวเราทำให้ ฮ่าา.


     หมายเหตุบรรณาธิการ: บทสัมภาษณ์ตัวเองว่าด้วย "เรื่องของ 'ผม'" ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของซอแก้ว ลิมปิชาตินี้ เป็นความเรียงเชิงความคิดที่ผู้เขียน "สะท้อนคิด" (Reflection) เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ผ่านมา ผลงานในโปรเจ็กต์การเล่าเรื่องหัวข้อ "ฉัน" (It's me) นี้มุ่งหมายเพื่อชวนให้ผู้อ่านร่วม "สะท้อนคิด" เกี่ยวกับประสบการณ์ "เรื่องของผม" ที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อม เพื่อตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์ "พื้นที่ชีวิต" และ "ตัวตน" ผ่านเสรีภาพของ "ผม" 


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น


    เรื่อง / ภาพ:                                     ซอแก้ว ลิมปิชาติ 

    ที่มางานเขียน:                                ผลงานจากรายวิชา “ศิลปะการเล่าเรื่อง” ปีการศึกษา 2563

    บรรณาธิการต้นฉบับ:                     หัตถกาญจน์ อารีศิลป

    กองบรรณาธิการ:                            จณิศา ชาญวุฒิ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in