เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ว่าด้วยความกลัวและตัวฉันอ่าน-คิด-เขียน
"ความกลัวสังคม"..สิทธิพลเมืองที่คนญี่ปุ่น (ไม่ได้) ร้องขอ
  • สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย พิชญา จีนพงษ์ 
    เขียนขึ้นขณะอยู่ชั้นปีที่ 1  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    หากกล่าวถึงคนญี่ปุ่นในสายตาของคนไทยแล้ว เรามักจะคุ้นชินกับภาพของความเป็นระเบียบเรียบร้อย การบริการที่เอาใจใส่ และรอยยิ้มที่เป็นมิตรน่าเข้าหา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาพที่ตราตรึงให้คนไทยส่วนใหญ่ใฝ่ฝันอยากมาท่องเที่ยว และใช้ชีวิตที่ประเทศแห่งนี้ราวกับเป็นคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง 

    แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าการเป็นพลเมืองญี่ปุ่นนั้น มาพร้อมความกลัวบางอย่าง ความกลัวที่สามารถเปรียบเปรยได้กับ “สิทธิ” ที่คนญี่ปุ่นต้องแบกรับ แม้สิทธิที่ว่านี้จะไม่ได้ถูกระบุไว้ในหน้าหนังสือ แต่ทุกคนก็สามารถรับรู้ได้ผ่านการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมญี่ปุ่น บ้างก็มองว่ามันเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวมที่พวกเขาจำเป็นต้องมี บ้างก็มองว่ามันเป็นเหมือนกรงขังที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามที่ต้องการ แต่ไม่ว่าคนญี่ปุ่นจะมองมันอย่างไร ก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่าพวกเขาล้วนมี "ความกลัวสังคม" อยู่ในก้นบึ้งของจิตใจได้ 

    วันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้มารู้จักความกลัวสังคมของคนญี่ปุ่นให้มากขึ้น กับ ซาซากิ มานะ เพื่อนชาวญี่ปุ่น ผู้เคยมีประสบการณ์การเผชิญหน้ากับความกลัวสังคม และก้าวข้ามผ่านมันมาได้ ผ่านการมาแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทย 


    หน้าตาของ "ความกลัวสังคม " 

    “เห...” นี่เป็นคำอุทานแรกของมานะ เมื่อเราถามถึงสิ่งที่เธอรู้สึกหวาดกลัวเป็นพิเศษ   

    “เราน่าจะกลัวสายตาของคนอื่นนะ” มานะทำสีหน้าครุ่นคิดพลางว่าต่อ “แบบเราชอบคิดอยู่ตลอดว่าคนอื่นจะมองเรายังไง ตอนนี้เราทำอะไรแปลก ๆ อยู่รึเปล่า ซึ่งจริง ๆ ที่ญี่ปุ่นก็มีคำเรียกอาการแบบนี้ว่าเป็น โรคกลัวสังคม น่ะ  

    แต่ส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นนิสัยขี้อายของคนญี่ปุ่นมากกว่าที่จะบอกว่าเป็นโรคนะ มานะกล่าวเสริม “เพราะเกือบทุกคนก็กลัวว่าคนอื่นจะมองเรายังไงทั้งนั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ ในญี่ปุ่น เหมือนแบบ... นี่เป็นความกลัวที่คนทั้งประเทศก็มีเหมือน ๆ กัน” 


    “ มันไม่ใช่ความผิดปกติที่ต้องถูกมองว่าเป็นโรค  


    แม้มานะจะยืนกรานว่าความกลัวที่คนญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่นี้ ถือเป็นเรื่องธรรมดาจนเรียกได้ว่าเป็นนิสัยโดยทั่วไปของคนญี่ปุ่น กระนั้นเราก็ยังสงสัยว่าแล้ว "ความกลัวสังคม" ที่เธอพูดถึงนี้ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหน  

           ถ้าเป็นในชีวิตทั่ว ๆ ไป ก็อย่างเช่นเวลามีคนต่างชาติเข้ามาคุยด้วย หรือตอนที่ต้องรายงานหน้าชั้นเรียน คนญี่ปุ่นจะรู้สึกกลัวมาก ๆ ว่าตัวเองจะเผลอพูดอะไรแปลก ๆ ออกไปรึเปล่า หรือถ้าพูดผิดแล้วจะเป็นยังไง ยิ่งในคาบภาษาอังกฤษนะ แทบไม่มีใครกล้าคุยกับครูต่างชาติเลย เพราะกลัวว่าจะโดนว่าเสีย ๆ หาย ๆ น่ะ” มานะพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง 

    แล้วก็อีกจุดนึงคือ เวลาโพสต์รูปลงไอจี คนไทยจะชอบลงรูปหน้าตัวเองใช่มั้ย แถมยังชอบลงรูปตัวเองเดี่ยว ๆ อีก ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นล่ะก็ไม่ค่อยมีใครทำแบบนั้นเลย ทุกคนจะลงรูปเพื่อนหรือไม่ก็รูปขนมเค้กหน้าตาน่ารักอย่างเดียว ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน” มานะปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนจะเน้นย้ำอีกรอบว่า “ทุกคนกังวลเรื่องภาพลักษณ์ของตัวเองจริง ๆ นะ” 


    แล้วทำไมคนญี่ปุ่นถึงให้ความสำคัญกับสายตาคนอื่นมากขนาดนี้ ? เราถามต่อ 

    “ส่วนตัวเราคิดว่ามันมาจากสมัยเรียนนะ” มานะนิ่งคิดไปสักพักก่อนตอบ “เพราะในสังคมญี่ปุ่น โรงเรียนมักเป็นที่ที่เด็กโดนกลั่นแกล้งเยอะมาก จากเหตุการณ์นั้นก็เลยทำให้มีคนผูกใจเจ็บ แล้วกลัวว่าถ้าทำอะไรผิดหรือทำตัวแตกต่างจากเพื่อน ก็จะต้องโดนแกล้งอีก โดยเฉพาะช่วงม.ต้นนี่ ยิ่งเป็นช่วงที่เด็กผู้ชายชอบแกล้งเด็กผู้หญิงมาก ๆ  แบบชอบพูดในเรื่องที่ไม่ควรพูดอย่าง ‘วันนี้เธออ้วนขึ้นนะ’ อะไรแบบนี้” มานะพูดกับเราด้วยสีหน้าไม่ชอบใจนัก  



    “เราก็เคยมีประสบการณ์โดนแกล้งนิดหน่อยเหมือนกัน จำได้ว่าเป็นช่วงราว ๆ ม.ต้น แบบปกติตอนเช้าก่อนเข้าเรียน ครูก็จะเข้ามาเช็คชื่อ แล้วเราก็ต้องขานรับว่า ค่ะ’ ใช่มั้ย แต่มันมีวันนึงที่เสียงของเรามันกลายเป็น ค..คะ แบบเผลอพูดเสียงแตก ๆ ออกไปอะ ทันใดนั้นพวกผู้ชายรอบข้างก็หัวเราะแล้วส่งเสียงขึ้นมาว่า อะไรของแกเนี่ย’ ‘แกนี่มันแปลกจริง ๆ นะ’ อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันทำให้เราอายมาก แล้วก็ไม่มีความมั่นใจในเสียงของตัวเองเลยตั้งแต่วันนั้น”  

    เมื่อมานะเล่ามาถึงตรงนี้แล้ว ทำให้เราอดรู้สึกไม่ดีกับเด็กผู้ชายที่พูดทำร้ายจิตใจเธอไม่ได้ พร้อมกันนั้นก็หวนกลับมาคิดว่านี่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาของเราคนไทย แต่สำหรับคนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษณ์มากกว่าสิ่งใดแล้ว การถูกกลั่นแกล้งคงเป็นเสมือนบาดแผลที่ตามตัวพวกเขาไปตลอด  


    มาถึงตรงนี้แล้วเราก็นึกสงสัยขึ้นมาว่า แล้วคนที่ชอบแกล้งคนอื่นล่ะ พวกเขาไม่กลัวสายตาคนอื่นบ้างเลยหรือ? 

    “ไม่รู้สิ” มานะตอบ “พวกนั้นอาจจะเคยโดนแกล้งมาก่อนในอดีต ก็เลยทำเรื่องแบบเดียวกันก็ได้ หรือไม่ก็ทำเป็นกลบเกลื่อนความกลัวของตัวเอง” 


     เพราะไม่อยากให้รู้ว่าตัวเองกลัว เลยแกล้งคนที่อ่อนแอกว่า                                   

    แต่จริง ๆ แล้วตัวเองนั่นแหละที่อ่อนแอที่สุด  


    แม้คำพูดของมานะจะไม่ได้มีถ้อยคำที่หยาบคายหรือรุนแรงอะไร แต่เราเชื่อว่าถ้าคนพวกนั้นได้มาฟัง ก็คงจะรู้สึกเจ็บอยู่ไม่น้อยทีเดียว 


    เมื่อความกลัวกลายเป็นความฝัน 

    แม้ว่าจนถึงตอนนี้มานะจะบอกกับเรามาตลอดว่าเธอเองก็หวาดกลัวผู้คน โดยเฉพาะคนต่างชาติ แต่แท้จริงแล้วมานะเองก็มีความสนใจเรื่องสังคมและวัฒนธรรมต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยยังเด็ก  

    “จริง ๆ เราเคยไปทัศนศึกษาที่แคนาดากับโรงเรียนมาแล้วช่วงประถม” มานะเล่าถึงความรู้สึกในครั้งนั้นให้เราฟัง “ตอนนั้นเราก็กลัวพวกฝรั่งนะ แต่ว่าพอไปถึงแล้วมันก็มีอะไรหลายอย่างให้เรียนรู้ แล้วทุกคนนิสัยดีมาก ๆ  แถมยังมีครูคอยช่วยจัดการให้หลาย ๆ อย่าง ความกลัวตรงนั้นเลยถูกแทนที่ด้วยความสนุกแทน”  

    มานะเล่าให้เราฟังว่า ต่อจากนั้น เธอก็เริ่มอยากไปต่างประเทศมากขึ้น แต่ติดที่ยังหาโอกาสไปไม่ได้เสียที จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงปีสุดท้ายของการเรียน เธอจึงได้รับการชวนให้มาเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนของโรงเรียน ซึ่งมานะก็ตอบรับข้อเสนอนั้นไปอย่างไม่ลังเล 

     “เราเติบโตแล้วก็เรียนที่โรงเรียนญี่ปุ่นมาตลอด แต่พอเรารู้ตัวว่าต่อไปจะต้องเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เราก็เริ่มถามตัวเองว่าถ้าเราต้องเรียนที่ญี่ปุ่นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะดีเหรอ” มานะเล่าย้อนถึงการตัดสินใจในตอนนั้นให้เราฟัง “เราคิดว่าบางที ถ้าเป็นที่ประเทศอื่น เราก็คงได้เรียนรู้อะไรมากกว่านี้ เราคงจะได้เปรียบเทียบวิธีการเรียนของคนญี่ปุ่นกับประเทศอื่นว่ามันต่างกันยังไง เพราะแบบนั้นเราเลยอยากลองท้าทายตัวเองดู”  


    แล้วอะไรคือสิ่งที่มานะอยากจะเรียนรู้ ? เราถามต่อ 

    “อืม... “ มานะนิ่งคิดไปสักพักก่อนตอบ “จริง ๆ น่าจะเรียกว่าเป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศนะ ยกตัวอย่างเช่น ภูเขาไฟบนฮอกไกโด ในหนังสือเรียนญี่ปุ่นก็จะบอกว่าเป็นของญี่ปุ่น แต่พอไปอ่านของรัสเซียก็บอกว่าเป็นของรัสเซีย เราเลยอยากรู้ว่าจริง ๆ แล้วแต่ละประเทศคิดยังไงกับเราบ้าง แล้วความจริงมันเป็นยังไงกันแน่ ประมาณนี้น่ะ”  

    ถึงจะพอเข้าใจจุดยืนในการมาแลกเปลี่ยนของมานะแล้ว แต่เราก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรดลใจให้มานะเลือก   "ประเทศไทย" เป็นจุดหมายของการเดินทางในครั้งนั้น 

     “นั่นสินะ” มานะนิ่งคิดไปสักพักก่อนตอบ “ตอนไปแคนาดา เราก็ไปแค่ 2 อาทิตย์ แต่ว่าตอนนั้นมันเป็นแค่ทัศนศึกษาธรรมดา ๆ  มันต่างกับการไปแลกเปลี่ยนที่กินเวลาไปตั้ง 10 เดือน เพราะฉะนั้นถ้าจะไปทั้งที เราก็คิดว่าอยากจะเลือกประเทศที่มันปลอดภัย ซึ่งสำหรับเรา มันก็คือที่ไทยนี่แหละ มานะตอบยิ้ม ๆ  

     “แต่เอาตรง ๆ คือครอบครัวเราก็เป็นห่วงนะ ถามตลอดว่าจะไหวรึเปล่า แต่เราก็อยู่ม.ปลายแล้ว ที่สำคัญคือคนญี่ปุ่นไม่ได้คิดว่าคนไทยน่ากลัวเลย ทุกคนมีภาพในหัวว่าประเทศไทยเป็นสยามเมืองยิ้ม เพราะงั้นเลยคิดว่าถ้าเป็นที่ไทย ก็ไม่เป็นไรหรอก”  


    ฟังมาถึงตรงนี้ ทำให้เรารู้สึกดีใจขึ้นมาที่มีคนต่างชาตินึกถึงประเทศเราในแง่มุมนี้ เรากล่าวขอบคุณเธอก่อนจะแกล้งโยนคำถามไปว่า งั้นภาพของประเทศไทยก็ทำให้เธอลืมความกลัวสังคมไปหมดเลยหรือ  

    มานะยิ้มก่อนตอบเราสั้น ๆ ว่า  


    “ เอาตรง ๆ ก็กลัวแหละ แต่ความรู้สึกที่อยากจะเรียนรู้มันมีมากกว่าน่ะ  


    เรียกได้ว่าความมุ่งมั่นที่อยากจะเรียนรู้สิ่งที่แตกต่างไปจากประเทศของตน ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้มานะเริ่มออกเดินทางเพื่อเผชิญหน้ากับความกลัวสังคมของเธออีกครั้ง ถึงอย่างนั้น มานะก็ยอมรับกับเราว่าแม้จะเตรียมใจมาพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องที่เหนือความคาดหมายของเธออยู่ 

    ก่อนมาถึงก็พอรู้แหละว่าต้องเรียนทุกอย่างเป็นภาษาไทย แต่ก็แอบคิดว่าคงพอเข้าใจได้บ้าง ไม่น่ายากขนาดนั้นมั้ง” มานะหัวเราะให้กับความเชื่อแบบผิด ๆ ของตัวเอง “แต่พอมาถึงปรากฏว่าทุกอย่างเป็นภาษาไทยล้วนเลย ยิ่งคาบประวัติศาสตร์ที่เราอยากจะเปรียบเทียบเนื้อหา วิธีการเรียนแล้ว ก็ยิ่งไม่รู้เลยว่ามันต่างกับที่ญี่ปุ่นยังไง ยังดีที่มีคาบเรียนที่พอเข้าใจได้บ้าง อย่างคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ พละ แต่ถึงจะแค่นั้นก็เถอะ เราก็รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นความต่างตรงนั้น” มานะเล่าด้วยดวงตาเป็นประกาย  


     นอกจากนี้พอมาอยู่สักพัก เราก็รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วการเรียนรู้มันไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนอย่างเดียว อย่างเวลาเราได้ไปกินข้าวกับเพื่อน ๆ  ทำกิจกรรมในชมรมหลังเลิกเรียน จนกระทั่งกลับบ้านไปใช้ชีวิตกับโฮสต์ เราก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป เราเลยรู้สึกว่าจริงๆแล้ว ความรู้มันอยู่รอบตัวเรานี่เอง  



    ดูเหมือนว่าการมองหาความแตกต่างนอกห้องเรียน จะช่วยให้มานะสามารถเยียวยาจิตใจเธอจากความไม่เข้าใจในคาบเรียนที่ล้วนบรรยายเป็นภาษาไทยได้พอสมควร ถึงอย่างนั้น เธอก็ต้องเจออุปสรรคด่านต่อไป เพราะความกลัวที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการฟังไม่เข้าใจ คือการสื่อสารไม่รู้เรื่องต่างหาก  

     “ตอนแรกเรามีปัญหาเรื่องการสื่อสารมาก อย่างที่รู้ ๆ ว่าภาษาอังกฤษเราก็พูดไม่คล่อง ภาษาไทยยิ่งไม่ต้องพูดถึง มานะพูดพลางยิ้มออกมาแห้ง ๆ “เรากลัวเรื่องการสื่อสารมาก เรากลัวว่าแบบถ้าพูดผิดแล้วคนไทยจะมองเรายังไง เขาจะมองว่าเราเป็นคนแปลกรึเปล่า แล้วคนญี่ปุ่นจะโดนเหมาว่าอ่อนภาษาอังกฤษเพราะฉันมั้ยเนี่ย อะไรแบบนี้  

    ความกลัวและความกังวลในตอนนั้นของมานะปรากฏอยู่บนใบหน้าของเธอเพียงชั่วครู่ ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยรอยยิ้ม เมื่อเธอเล่าถึงการก้าวข้ามอุปสรรคตรงนั้น 

    แต่เราก็เริ่มจัดการความกลัวตรงนี้ได้ ส่วนนึงน่าจะเป็นเพราะคำพูดของครูที่สอนภาษาไทยให้เราตอนไปแลกเปลี่ยน” แววตาของมานะดูสดใสขึ้นมาเมื่อเอ่ยถึงครูคนดังกล่าว “ครูมักจะบอกเราแนว ๆ ว่า ไม่เป็นไรหรอก เพราะมานะเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไงถึงได้ทำอะไรไม่ถูก พอได้ยินแบบนั้นแล้วเราก็กลับมาคิดว่า เออ นั่นสินะ ก็ตอนนี้เราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนนี่นา ถึงภาษาอังกฤษเราจะไม่ค่อยเก่ง ภาษาไทยก็พูดไม่ได้ แต่ก็คงไม่มีใครว่าเราเป็นคนประหลาดหรอก มานะเงียบไปสักพัก ก่อนจะพูดต่อ 


    “ อีกอย่างนึง จะพูดภาษาไหนก็ไม่สำคัญหรอก  

    เพราะถึงเราจะใช้ภาษาต่างกัน แต่เราก็เป็นคนเหมือนกัน  


    มานะถ่ายรูปกับ host family ชาวไทย


    ดูเหมือนว่าจากตรงนั้นทำให้มานะเริ่มเอาชนะความกลัวสังคมของตัวเองมาได้ และสามารถเรียนรู้ความแตกต่างของไทยกับญี่ปุ่นได้ตามที่เธอต้องการ แต่เราก็ยังนึกสงสัยอยู่ว่านอกจากความกังวลเรื่องการสื่อสารแล้ว เธอไม่มีความกังวลอื่นหรือช่วงเวลาที่ยากลำบากขณะใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทยบ้างเลยหรือ  

    มานะครุ่นคิดอยู่นาน ก่อนจะนึกขึ้นมาได้ว่า 

    “อ๋อ มีครั้งนึงที่ร้องไห้เพราะปวดท้องน่ะ 



    มุมมองใหม่กับเส้นทางที่เลือกเดิน

    สำหรับมานะแล้ว การแลกเปลี่ยนที่ไทยครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวมานะบ้าง ? 

     “อย่างที่เคยเล่าไป ก่อนมาแลกเปลี่ยนเรากลัวความผิดพลาด กลัวว่าคนอื่นจะมองเรายังไง แต่หลังจากเรากลับมาที่ญี่ปุ่นแล้ว เราก็พยายามเปลี่ยนแนวคิด ประมาณว่าแทนที่จะมองว่าตัวเองทำอะไรผิด อยากให้มองว่าเราได้ลองทำอะไรมากกว่า จากตรงนั้น เราก็กล้าที่จะท้าทายตัวเองขึ้น กล้าคุยกับคนหลากหลายมากขึ้น อย่างตอนเจอคนต่างชาติก็กล้าพูด welcome ok แล้ว ไม่รู้สึกกลัวเหมือนเดิมเลย”  

    มานะเล่าเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังมาแลกเปลี่ยนที่เธอรู้สึกกับตัวเอง การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ไม่เพียงทำให้ความกลัวสังคมของเธอลดลง แต่ยังมีผลต่อการตัดสินใจเลือกคณะในมหาวิทยาลัยด้วย 

    การแลกเปลี่ยนครั้งนั้น ทำให้เราแน่ใจว่าจริง ๆ แล้วเราสนใจสังคมและวัฒนธรรมของต่างประเทศ ก็เลยตัดสินใจว่าจะต้องเรียนต่อคณะมนุษยศาสตร์  เชื่อมั้ยว่าพอเรากล้าพูดมากขึ้นมันทำให้เราไม่กังวลเลยตอนสอบสัมภาษณ์ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าแบบ ขนาดคนไทยเราก็เจอมาแล้ว กับแค่คนญี่ปุ่นนี่มันจิ๊บจ๊อยมาก”  


    แล้วมานะได้มองเส้นทางต่อจากนี้ของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง ? เราลองถามถึงแผนการในอนาคตของมานะ แม้จะรู้ว่าเธอพึ่งขึ้นปีหนึ่งได้ไม่นาน 

    ยังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้นนะ แต่เราคิดว่าตัวเองเริ่มเข้าใจความคิด ความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้นแล้ว ต่อจากนี้ถ้ามีโอกาสก็อยากจะไปแลกเปลี่ยนช่วงเรียนมหาลัยอีก   ยังไม่รู้ว่าที่ไหนดี    แต่อาจจะเป็นที่จีนมั้ง แล้วก็ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำงานในองค์กรพวกเอ็นจีโอ (NGO : non-governmental organization) ที่ช่วยเหลือเด็กยากไร้อะไรแบบนี้”  


    ขอบคุณที่ยังกลัว 

    สุดท้ายนี้เราอยากถามมุมมองของมานะ ในฐานะคนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เคยสูญเสียความมั่นใจไปเพราะอิทธิพลของความกลัวสังคม สำหรับมานะแล้ว "ความกลัวสังคม’" เป็นสิ่งที่เราควรจะก้าวข้ามมั้ย? 

    โห ยากจัง” มานะคิดหนัก แต่เธอก็ให้คำตอบกับเรา “แน่นอนว่าความกลัวเป็นสิ่งที่เราควรจะก้าวข้ามอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าจะไม่ให้มีเลยแบบ 0% มันก็ไม่ได้นะ เหลือไว้ซัก 5% จะดีกว่า แบบสมมติว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามาคุยด้วยตอนกลางคืนงี้ เขาอาจจะเป็นพวกอันตราย น่ากลัว ๆ หรือเป็นพวกยากูซ่าก็ได้ เลยคิดว่าถ้าเรามีความกลัวอยู่นิดนึง น่าจะทำให้เราปลอดภัยกว่านะ”  


    แล้วเคยเสียใจกับตัวเองมั้ยว่าถ้าตอนนั้น(ก่อนมาแลกเปลี่ยน) เรามีความกล้ามากกว่านี้ก็คงจะดีเรายื่นคำถามสุดท้ายให้มานะ  

    จริง ๆ ก็แอบคิดนิดนึงนะว่าถ้าตอนนั้นเราไม่รู้สึกกลัวสังคม ก็คงหาเพื่อนได้เยอะกว่านี้” มานะยอมรับอย่างตรงไปตรงมา “แต่เพราะเรามีความกลัวตรงนี้ต่างหาก เราถึงอยากมาแลกเปลี่ยนที่ไทย เพราะงั้นถ้าไม่มีความกลัวตรงนี้ตั้งแต่ต้น เราก็คงมาไม่ได้ถึงจุดนี้หรอก 

    เมื่อได้ฟังมุมมองที่มีต่อความกลัวสังคมของมานะแล้ว ก็ทำให้เราฉุกคิดถึงเส้นทางของตัวเองที่ผ่านมา ซึ่งมันก็เป็นอย่างที่เธอว่า เพราะทุกเส้นทางล้วนมีความหวาดกลัวสังคม และความกลัวอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้นให้เราไปถึงเป้าหมายด้วยกันทั้งนั้น  


    การสัมภาษณ์จบลงพร้อมกันกับแสงของตะวันที่ค่อย ๆ เลือนราง เราสองคนถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันอีกเล็กน้อย ก่อนจะกล่าวให้กำลังใจกันและกัน ถึงเส้นทางที่เราต้องเดินนับจากนี้ 

    บางครั้งเราก็คงไม่สามารถหลีกหนีความกลัวได้ โดยเฉพาะกับคนญี่ปุ่น ที่ต้องดำเนินชีวิตภายใต้สภาพสังคมที่ปลูกฝังให้การมีความกลัวสังคมนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถึงแม้เราจะทำให้มันหายไปไม่ได้ ก็คงจะไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อย เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ความกลัวนี้ผลักดันตัวเองไปในทิศทางไหน 



    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น




    ผู้ให้สัมภาษณ์:                                                 ซาซากิ มานะ

    ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทสัมภาษณ์:        พิชญา จีนพงษ์ เขียนขึ้นขณะอยู่ชั้นปีที่ 1 

                                                                             คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    ที่มางานเขียน:                                                ผลงานจากรายวิชา “ศิลปะการเล่าเรื่อง” 

                                                                             ปีการศึกษา 2563

    ขอบคุณภาพประกอบ:                                    ซาซากิ มานะ, host family ชาวไทย และ 

                                                                             pinterest.com 

                                                       

    บรรณาธิการต้นฉบับ                                   หัตถกาญจน์ อารีศิลป
              กองบรรณาธิการ:                                           จณิศา ชาญวุฒิ



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in