เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรื่องเราเล่า "ความ"Suwat Posayawatanakul
ความห่าง...ระหว่างกาล ในวันที่หล่นหาย - 29 กุมภาพันธ์
  • องก์ 1
    เคยรู้สึกว่าบางช่วงเวลามันช่างยาวนานมากกว่าปกติบ้างมั้ย
    หลายคนบอกกว่าเวลาแห่งความสุขนั้นสั้นนัก
    เผลอแพล็บเดียวความสุขนั้นก็เดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว
    แทบไม่ได้มีเวลาได้กอบกำให้หนำใจอย่างที่ควรจะเป็น
    ครั้นกลับกลายเป็นความทุกข์
    เรากลับจมดิ่งอยู่กับมันนานแสนนานราวชั่วกัปชั่วกัลป์
    ทั้งที่ช่วงเวลาแห่งความสุขกับความทุกข์อาจกินระยะห่างของเวลาที่เท่ากัน

    องก์ 2
    60 วินาที เท่ากับ 1 นาที 
    60 นาที เท่ากับ 1 ชั่วโมง 
    24 ชั่วโมงเท่ากับ 1 วัน
    365 วัน เท่ากับ 1 ปี
    ทุกๆ 4 ปี เราจะมีวันเพิ่มอีก 1 วัน 
    นั่นคือ 29 กุมภาพันธ์
    โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ไม่ได้กินเวลา 365 วันอย่างที่ควรจะเป็น
    แต่มันคือ 365.24224 วัน
    นั่นเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องปรับให้ทุกๆ 4 ปีมีวันเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน
    ปีพิเศษนี้จึงถูกเรียกว่า ปีอธิกสุรทิน หรือ Leap Year


    องก์ 1
    *Shawn Achor เคยทดลองในขณะบรรยายให้กับผู้ฟังด้วยการทดลองง่ายๆ
    “หลับตาแล้วร้องเพลงในใจ” โดยใช้เพลงสำหรับเด็กที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี
    พอร้องจบให้ร้องใหม่อีกรอบ ร้องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสั่งให้หยุด
    สิ้นเสียงคำสั่งหยุด ทุกคนลืมตาขึ้น แล้วเขียนคำตอบออกมาว่า
    "พวกเขาคิดว่าตัวเองร้องเพลงในใจไปนานแค่ไหน กี่นาที กี่วินาทีจากความรู้สึกของตนเอง"
    บางคนบอกว่า 2 นาทีบ้าง  4 นาทีบ้าง  45 วินาทีบ้าง
    คนร่วมกิจกรรม 70 คนกับคำตอบที่ต่างกันไปกว่า 70 แบบ
    เวลาที่สั้นสุด 30 วินาทีไปจนถึงเนิ่นนานถึง 5 นาที
    แต่คำตอบที่ถูกต้องอยู่ในมือของ Shawn คือ 70 วินาที หรือ 1 นาที 10 วินาทีนั่นเอง
    เพราะอะไร กิจกรรมเดียวกัน ระยะห่างระหว่างเวลาที่เท่ากัน
    แต่ทำไมแต่ละคนจึงคิดว่า ระยะห่างระหว่างเวลา แตกต่างกันขนาดนั้น
    อะไรเป็นสาเหตุให้ ช่องว่างระหว่างเวลาในแต่ละคน แตกต่างกัน

    องก์ 2
    ระยะห่างระหว่างเวลา มักเล่นตลกกับเราเสมอ
    การรอคอยการเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญบางอย่างในชีวิตที่ยาวนานถึง 4 ปี ดูเป็นเรื่องตลก 
    หากช่วงห่างระหว่างเวลานั้นแคบมากจนไม่เหลือในแต่ละปี 
    เข็มนาฬิกาขยับจากเที่ยงคืน 28 กุมภาพันธ์ ก้าวข้ามผ่านเป็นวินาทีแรกของ 1 มีนาคม 
    เสี้ยววินาทีการขยับของเข็มนาฬิกาที่บรรจุช่วงเวลา 1 วันเต็มๆ ของ 29 กุมภา
    กำลังหล่นหายไปในหลุมดำแห่งกาลเวลา 
    การรอคอยการเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญบางอย่างในชีวิตที่ยาวนานถึง 4 ปี จึงไม่ใช่เรื่องตลก


    องก์ 1
    บทเฉลยของกิจกรรมร้องเพลงในใจ ได้ข้อสรุปว่า
    คนที่คิดว่ากิจกรรมนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ปัญญาอ่อน น่าเบื่อ หรือมีภาระเร่งรีบกับงานที่รออยู่ข้างหน้าต้องสะสาง มีแนวโน้มที่จะมองว่ากิจกรรมนี้ใช้เวลายาวนานมาก 
    ในขณะอีกกลุ่มคนที่รู้สึกสนใจและสนุกกับกิจกรรมนี้ ราวกับได้ผ่อนคลายในช่วงสั้นๆ ก็ยังดี 
    กลับรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว

    เพราะวิธีคิดไม่เพียงแต่ทำให้ความรู้สึกที่เรามีต่อเหตุการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป
    แต่ยังทำให้ผลลัพธ์ของเหตุการณ์นั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยเช่นกัน


    องก์ 2
    เมื่อคนเราเริ่มเอาคืน เล่นตลกกับเวลาบ้าง
    เพิ่มหนึ่งวัน เพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหาย
    บางที่นึกสนุกกับการปรับเปลี่ยนเวลาให้เป็นไปตามปรารถนา
    เพราะผลกระทบจากการพระอาทิตย์ที่ขึ้นและตก
    ทำให้ความยาวของช่วงกลางวันแตกต่างกัน
    เกิดเป็น Daylight Saving Time (DST)

    เวลา ปฎิทิน จึงเป็นเพียงสิ่งสมมติ
    โลก จักรวาล ไม่เคยรับรู้เรื่องราวของเวลาและปฎิทินที่มนุษย์ตั้งขึ้น
    โลกยังคงหมุนต่อไปดังเดิม 
    ไม่ขี้เกียจ หรืออิดออด
    หมุนไปตามจังหวะที่ควรจะเป็น 
    ไม่เชื่องช้า หรือเร็วพาดโผนจนเกินงาม
    โลกไม่เคยคิดค่าเช่า ค่าเสื่อม และค่าดูแล 
    ให้คนอยู่อาศัย ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ

    ณ วันนี้  
    หากโลกที่ถูกกระทำอย่างรุนแรงด้วยเงื้อมมือมนุษย์ ที่เป็นเพียงผู้อยู่อาศัย
    จะยังคงอยากรักษาจังหวะเวลาเหล่านี้ไว้เหมือนเดิมอยู่หรือไม่ 
    หรืออยากหมุนเวลาให้เร็วขึ้น 
    เหวี่ยงคนไร้จิตสำนึกเนรคุณให้หลุดออกนอกวงโคจร
    หรือเร่งปฎิกิริยาย่นย่อระยะห่างระหว่างเวลาให้หดสั้นลง 
    เพื่อให้คนอาศัยได้เห็นภาพหายนะก่อนสิ้นอายุขัยของตน
    โทษฐานที่ไม่ดูแลกัน


    องก์รวม
    ความห่าง ระหว่างกาล ทำให้วิธีคิด และผลการกระทำเปลี่ยนไป

    เวลาของหนุ่มสาว นั่งมองพระอาทิตย์ตกดินด้วยความสุข 
    เมื่อดอกรักกำลังผลิบาน

    เวลาของชายชรา นั่งมองพระอาทิตย์ตกดิน ด้วยความเปลี่ยวเหงา 
    เฝ้ารอลูกหลานมาเยี่ยมเยียน

    เวลาของผู้ถูกคุมขัง นั่งมองพระอาทิตย์ตกดิน ผ่านรั้วกรงขอบชิดด้วยความหวัง 
    คงจะมีสักวันที่ได้หลุดจากสถานที่แห่งนี้

    เวลาที่เท่ากัน คนหนึ่งนั้นยาวนาน 
    อีกคนกลับสั้นแค่อึดใจ 
    คนหนึ่งปล่อยให้เวลาผ่านเลยไป 
    อีกคนกลับไขว่คว้าต่อสู้ 
    ร่ำร้องสิ่งที่เสียไปกลับคืนมา 
    ในห้วงเวลาเดียวกัน

    ระยะห่างระหว่างเวลา 
    อาจไม่มีความหมาย
    หากทำช่วงเวลา ณ ปัจจุบันให้ดีที่สุด 
    ไม่ใส่ใจเรื่องราวอดีตอันบอบช้ำที่ผ่านมา 
    หรือมัววิตกกังวล หวังลมๆแล้งๆ กับเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครคาดเดา
    เก็บเกี่ยว ช่วงเวลาแห่งความสุข และตระหนักรู้ว่ามันจะอยู่กับเราไม่นาน ก็พอแล้ว


    *อ้างอิงบางส่วนจาก หนังสือ The happiness advantage ความสุขกับความสำเร็จอะไรเกิดก่อนกัน ของ Shawn Achor ฉบับภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์ วีเลิร์น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in