เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ดูแล้วอยากเขียนoctobertiramisu
โพสต์นี้มีเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสมกับเยาวชน Mean Girls: เปิด Burn Book ของสาวตัวร้ายและเข้าใจความเกลียดชังในโลกของสาวมัธยม
  • Who here has ever been called a slut?
    สิ้นเสียงคำถาม มีใครในที่นี้เคยถูกเรียกว่านังร่านบ้าง?’ ของมิสนอร์บิวรี่
    เด็กสาวทุกคนในโรงยิมของมัธยมนอร์ธชอร์รวมทั้งตัวฉันที่กำลังนั่งดูภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างยกมือชูขึ้นสุดแขน
    อย่างไม่ลังเล

    บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Mean Girls

           ภาพยนตร์เรื่อง MeanGirls ก๊วนสาวซ่าส์ วีนซะไม่มี ผลงานการกำกับโดย มาร์ก วอเตอร์ส
    และบทภาพยนตร์โดยทีน่า เฟย์ ที่เพิ่งกลับมาสู่หน้าจอสตรีมมิ่งของ
    Netflix เมื่อไม่กี่วันมานี้กลายเป็นโอกาสให้ฉันได้เปิดภาพยนตร์เรื่องนี้ดูอีกครั้งในวัยที่ตนเองเติบโตและขยับห่างออกจากการเป็นเด็กสาวมัธยมอย่างที่ตัวละครในเรื่องเผชิญ

           เคดี้ เฮร์รอน’ เด็กสาวโฮมสคูลจากแอฟริกาผู้ก้าวเข้าสู่โลกของโรงเรียนมัธยมเป็นครั้งแรก
    ต้องพบกับการปรับตัวเข้าสู่สังคมใหม่อย่างยากลำบาก แต่ที่ยากและซับซ้อนยิ่งกว่าคือการเข้าไปสู่
    Girl World ที่เต็มไปด้วยข้อปฏิบัติและข้อห้ามมากมาย โดยเฉพาะการแฝงตัวเข้าไปเป็นสมาชิกคนใหม่ของแก๊งพลาสติกกลุ่มสาวป๊อปฐานันดรสูงสุดในโรงเรียนโดยมี เรจิน่า จอร์จ’ สาวผมบลอนด์ตัวร้ายผู้มีฐานะไม่ต่างกับราชินีแห่งมัธยมนอร์ธชอร์เป็นศูนย์กลางของกลุ่ม

           ไม่เพียงแค่การปรับตัวเข้าสู่สังคมใหม่ที่เคดี้ต้องเผชิญ ภารกิจแฝงตัวและแสร้งเป็น พลาสติก  ตามคำขอของเจนิส เพื่อนผู้มีอดีตดำมืดกับเรจิน่า ความวุ่นวายใจและการถูกเรจิน่าหักหลังที่มี เอรอน
    ซามูเอล
    หนุ่มฮอตที่เคดี้แอบรักเข้ามาเกี่ยวผสมปนเปกับการเลื่อนขั้นสถานะของเคดี้จากเด็กสาว
    ผู้อ่อนต่อโลกมาสู่ควีนบีคนใหม่ในแก๊งพลาสติกยิ่งทำให้เรื่องราวยุ่งเหยิงวุ่นวายเกินกว่าที่เคดี้จะรับไหว

           และแล้วภาพยนตร์ก็ดำเนินมาถึงจุดที่สถานะการเป็นราชินีของเรจิน่าแตกสลายไปพร้อมกับมิตรภาพของเธอกับเคดี้ ผู้ซึ่งกลายเป็นพลาสติกอย่างเต็มตัว พลาสติกที่เย็นชาแข็งกร้าวและเอาตนเองเป็นศูนย์กลางแบบที่เธอเคยหัวเราะเยาะ ขณะเดียวกัน เรจิน่าในสภาพโกรธจัดได้ลงมือแก้แค้นผ่าน
    การแฉสมุด
    Burn Book ของสาวแก๊งพลาสติก สมุดที่รวมคำพูดร้ายกาจต่อเด็กสาวทุกคนในโรงเรียนอันนำมาสู่เหตุการณ์การปะทะกันอย่างรุนแรงของเหล่าสาวๆ นอร์ธชอร์ (และแน่นอนฝันร้ายของครูใหญ่
    ดูวัลล์
    !)

    แล้วอะไรอยู่ใน Burn Book?

           คนที่เคยดู Mean Girls มาแล้วคงพอจะนึกออกถึงรายละเอียดที่มีตั้งแต่เรื่องขำขันเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องเพศฉาวโฉ่ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยดูก็ให้ลองจินตนาการถึงช่วงชีวิตในวัยมัธยมศึกษาที่เคยมีโอกาสได้สัมผัสไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาในอดีตหรือจะเป็นปัจจุบัน ลองไล่เรียงคำพูดว่าร้ายนินทาไปจนถึงก่นด่า
    ที่เด็กสาววัยรุ่นจะพูดใส่กันทั้งต่อหน้าหรือลับหลัง นั่นแหละคือสิ่งที่บันทึกอยู่ใน Burn Book

         "แท้จริงแล้ว Burn Book คือภาพตัวแทนของความเกลียดชังที่เด็กสาววัยรุ่นมีต่อกัน และน่าเศร้าที่มันก็สร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้กับเด็กสาวทุกคน
    บนโลกไม่ต่างกับเด็กสาวในมัธยมนอร์ธชอร์"

           ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญหรือเพราะความแข็งแกร่งของปิตาธิปไตยที่ครอบงำตั้งแต่ซีกโลกตะวันตกยันโลกตะวันออกที่ทำให้ภาพความเกลียดชังของเด็กผู้หญิงวัยรุ่นในบริบทของสังคมไทยไม่แตกต่างจากที่ปรากฏในภาพยนตร์นัก คำพูดว่าร้ายสร้างความเจ็บปวดที่เด็กสาวใช้ทำร้ายกันในระดับรุนแรงที่สุดก็ไม่พ้นคำด่าที่เกี่ยวโยงกับเรื่องทางเพศ และเมื่อมองให้ดีก็จะพบว่าพฤติกรรมที่เข้าข่าย
    การถูกวิจารณ์นั้นล้วนเป็นลักษณะอันไม่เหมาะสมตามบทบาททางเพศของผู้หญิงทั้งสิ้น ตั้งแต่พฤติกรรมการแต่งกายโป๊เปลือย การพูดคุยเล่นหูเล่นตากับเพื่อนเพศชายไปจนถึงการเข้าไปอยู่ในสถานที่อโคจร
    เพราะพฤติกรรมเหล่านี้มักจะถูกเชื่อมโยงและตีตราว่าไม่ใช่ลักษณะของผู้หญิงที่ดี ที่ถูกจัดวางไว้ในระบบสังคมปิตาธิปไตย พร้อมถูกนิยามไว้ภายใต้ชุดคำด่าจำนวนหนึ่งที่สงวนไว้ใช้สำหรับผู้หญิงทั้งหลายเท่านั้น

           อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยแล้วระบบชายเป็นใหญ่มันเกี่ยวอะไรกับการที่ผู้หญิงด่ากันเอง? เพราะว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า Internalized Misogyny แปลแล้วก็ยังฟังไม่ค่อยเข้าใจว่า ความเกลียดชังผู้หญิงจากภายในอธิบายอย่างง่ายมันก็คือพฤติกรรมการเกลียดชังแสดงอคติและเหยียดเพศที่ผู้หญิงเป็น
    ผู้กระทำกับเพศหญิงด้วยกันเองซึ่งอาจเป็นไปอย่างรู้ตัวหรือไม่ก็ได้และมันก็เกิดขึ้นเพราะเราทุกคน
    ต่างเติบโตมาในสังคมที่แวดล้อมและถูกจัดวางกฎเกณฑ์ทุกอย่างด้วยอำนาจของปิตาธิปไตยจนกลายเป็นความปกติที่เคยชิน

    *Trigger Warning ย่อหน้านี้มีการกล่าวถึงความรุนแรงทางเพศและการกล่าวโทษเหยื่อ*

           ผลของความเกลียดชังเหล่านี้อาจจะมองดูเล็กน้อยเบาบาง อย่างพฤติกรรมการด่าทอว่าร้ายกันในกลุ่มเด็กหญิงวัยรุ่น ความอคติในกลุ่มผู้หญิงต่อหญิงเรียบร้อยว่าเป็นพวกแอ๊บอ่อยผู้ชายไปจนถึง
    คำกล่าวอ้างของผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ระบุว่าตนเองเลือกคบแต่เพื่อนผู้ชายเพราะจริงใจไม่ขี้นินทาแบบผู้หญิงส่วนใหญ่ แต่ความเกลียดชังประเภทนี้สามารถเพิ่มระดับความรุนแรงและความอันตรายไปจนถึงขั้นการกล่าวโทษเหยื่อจากความรุนแรงทางเพศเพียงเพราะลักษณะของเหยื่อนั้นไม่ตรงกับการเป็น ’ผู้หญิงที่ดีในมาตรฐานของปิตาธิปไตย’ ที่มักสะท้อนออกมาในคำพูดทำนองว่า
    ก็ทำตัวแรดแบบนี้เลยถูกลวนลาม ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างที่สุดเมื่อคำกล่าวเหล่านี้ออกมาจากปากของผู้หญิงด้วยกันเอง

    “But you all have got to stop calling each other sluts and whores,
    It just makes it okay for guys to call you sluts and whores.” 
    Ms. Norbury

           แม้เด็กสาวมัธยมนอร์ธชอร์จะได้เข้าร่วมกิจกรรมเปลี่ยนทัศนคติระหว่างเด็กสาวของมิสนอร์บิวรี
    เรจิน่าที่เพิ่งรู้ความจริงว่าถูกหักหลังมาตลอดก็บันดาลความโกรธใส่เคดี้อย่างเต็มที่ก่อนจะจบลงที่ ‘เหตุการณ์นั้นของเรจิน่า เคดี้ผู้ได้ผ่านเรื่องราวอันหนักหน่วงที่ผ่านมาตั้งแต่การเป็นเด็กใหม่
    ผู้ไม่เดียงสาต่อสังคมมัธยมปลาย ก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกสุดโดดเด่นในแก๊งพลาสติกสาวป๊อปและ
    จบลงที่การถูกรังเกียจจากสังคมในตอนท้ายของเรื่อง ในที่สุดเธอก็ได้เรียนรู้ถึงการเป็นเคดี้คนใหม่
    ที่ไม่ใช่ทั้งสาวใสซื่อจากแอฟริกาหรือสาวพลาสติกตัวร้ายจอมวีนแต่เธอได้กลายเป็นเคดี้ที่เรียนรู้
    ข้อผิดพลาดในอดีตและเติบโตขึ้นมาเป็นตัวเธอที่ดีกว่าเดิม

    “Calling somebody else fat won’t make you any skinnier. Calling someone stupid doesn’t make you anysmarter.” – Cady Heron

           ไม่เพียงแต่การเรียนรู้และการก้าวผ่านช่วงวัยของเคดี้ที่ทำให้เราได้ฉุกคิดถึงทัศนคติและการใช้ชีวิตของตัวเอง ความสนุกและบทพูดที่แสนจะ ‘fetch’ ของตัวละครแต่ละตัวในเรื่องก็ยังสร้างเสียงหัวเราะ
    และคงความไอคอนิกมาจนถึงทุกวันนี้ กฎของสาวพลาสติก
    ทุกวันพุธเราใส่สีชมพูคำพูดจิกกัด
    แสบสันต์ของเจนิส ฉันชอบเวลาเราได้เห็นครูนอกโรงเรียน มันเหมือนได้เห็นหมาเดินด้วยขาหลังหรือฉากการแสดงเพลง ‘Jingle Bell Rock’ ก็ยังทำให้เราอดไม่ได้ที่จะนึกถึงท่าเต้นในตำนานของสาวพลาสติกอยู่ทุกเทศกาลคริสต์มาส

           มากไปกว่าความสนุกและคุณสมบัติชั้นดีในการสร้างเป็นมีมบนโลกอินเทอร์เน็ต การได้ดูภาพยนตร์วัยรุ่นคอมเมดีเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ตนเองผ่านพ้นวัยมัธยมมาแล้วหลายปีกลับทำให้ได้ตกตะกอนอะไรหลายอย่าง ความเจ็บปวดระคนกับความสับสนวุ่นวายของเหล่าเด็กสาวมัธยมในเรื่องโดยเฉพาะเมื่อ Burn Book ถูกเปิดโปงทำให้ฉันนึกย้อนไปถึงตัวเองในช่วงเวลานั้น ตัวฉันที่ถูกนินทาจากกลุ่มเพื่อน
    เด็กหญิงในช่วงมัธยมต้นเพราะมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายกับคำว่า แรดเงียบได้ดำเนินชีวิตในช่วงวัยรุ่น
    ต่อไปบนความไม่เข้าใจที่ซ่อนอยู่ว่าทำไมตนเองต้องตกเป็นเหยื่อจากเด็กผู้หญิงใจร้ายเหล่านั้น
    กว่าจะได้ตระหนักรู้ว่าต้นตอแห่งความเกลียดชังที่ทำให้เหล่าเด็กสาวพุ่งเป้าและสาดเทคำพูดร้ายกาจใส่กันนั่นก็เพราะปิตาธิปไตยที่ฝังรากลึกอยู่ก็เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ยังไงก็ตามความเข้าใจที่มากขึ้นในเรื่องเหล่านี้มันก็ทำให้ฉันก้าวผ่านความโกรธเกรี้ยวที่เคยมีพร้อมกับความเข้าใจที่ว่าเด็กผู้หญิงทั้งหลายก็ล้วนเป็นเหยื่อที่เติบโตมาในระบบบิดเบี้ยวของปิตาธิปไตยไม่ต่างกัน

           ฉันเชื่อว่าข้างนอกนั่นยังมีเด็กผู้หญิงและผู้หญิงอีกมากมายในสังคมที่ต้องเจ็บปวดจากคำพูดหรือทัศนคติที่แฝงไปด้วยความเกลียดชังทั้งจากผู้หญิงด้วยกันเองและจากสังคมที่พร้อมตัดสินเรา
    สิ่งที่น่าโมโหไม่ใช่คนแต่เป็นระบบ เราทั้งหลายต่างเติบโตมาในสังคมที่จัดวางกฎเกณฑ์และแบบแผน
    มาอีกเพศที่เหนือกว่าและมันก็ทำสำเร็จในการมอบหน้าที่ให้ผู้หญิงกลายเป็นฝ่ายสำรวจตรวจสอบ
    ความถูกต้องในที่ทางแห่งเพศกับผู้หญิงด้วยกันเอง

           สาว ๆ จ๋า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตื่น ฉกฉวยคำก่นด่าตีตราความเป็นหญิงทั้งหลายมาสร้างนิยามใหม่ให้แก่พวกเรา ฉันจะแรด ฉันจะร่าน ฉันจะสำส่อน ฉันจะเรียบร้อย ฉันอยากจะเป็นเมียหรือฉันอยากจะเป็นแม่ ฉันจะเป็นยังไงมันก็เรื่องของฉัน ทั้งหมดนั่นเป็นสิทธิของเธอและฉันอย่างสมบูรณ์
    อย่าตัดสินกันเองและอย่ายอมให้ใครมาแปะป้ายตัดสินเราด้วยการตีคุณค่าที่
    กักขังและกดขี่เพศหญิง
    ไว้ในมาตรวัดอันดีงามที่แสนเอนเอียงของสังคมปิตาธิปไตยแห่งนี้!

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in