เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ดูแล้วอยากเขียนoctobertiramisu
Miss Congeniality (2000) : โอบรับความเป็นหญิงและจ้องมองผ่านความเป็นชาย
  • บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

                Miss Congeniality พยัคฆ์สาวนางงามยุกยิก เป็นภาพยนตร์ตลกแอคชันนำแสดงโดยแซนดรา บุลล็อค ว่าด้วยเรื่องราววายป่วงของ ‘เกรซี่ ฮาร์ต’ เจ้าหน้าที่เอฟบีไอผู้ห่างไกลจากความเป็นผู้หญิงอย่างที่สุดจำต้องปลอมตัวไปเป็นผู้เข้าประกวดในเวทีนางงามเพื่อสืบหาผู้ก่อการร้ายคดีวางระเบิด ทว่าภายใต้เรื่องราวสูตรสำเร็จตามแบบฉบับภาพยนตร์ฮอลลีวูด ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแฝงไว้ด้วยการสอดแทรกมุมมองของความเป็นหญิงและความเป็นชายได้อย่างน่าสนใจ

                 ด้วยปูมหลังในอดีตและอาชีพการงานที่แวดล้อมไปด้วยผู้ชายทำให้เกรซี่ถูกหล่อหลอมให้มีบุคลิกภาพแข็งแกร่ง พึ่งพาตนเองได้ไปพร้อมกับหลีกหนีจากความเป็นหญิงในทุกรูปแบบ แต่ด้วยสภาวะสั่นคลอนในอาชีพอันเนื่องจากการไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาทำให้เธอต้องจำยอมแฝงตัวเข้าไปในกองประกวดในฐานะนางงามจากรัฐนิวเจอร์ซีเพื่อรักษาหน้าที่การปฏิบัติงานภาคสนามไว้

                 ภารกิจของเธอนำมาซึ่งอีกฉากที่สร้างความสนุกเพลิดเพลินตามสูตรสำเร็จของภาพยนตร์
    ผู้หญิงนั่นคือฉากแปลงโฉมที่แค่ถอดแว่น แต่งหน้า เปลี่ยนทรงผมแล้วนางเอกของเราก็จะเปลี่ยนเป็นสาวสวยเด้งจนทุกคนตะลึงได้ทันที สำหรับเกรซี่ผู้มีกิริยาท่าทางและรูปลักษณ์ที่กระโดกกระเดกขาดการเติมแต่งสมชื่อนางงามยุกยิก เมื่อได้รับการฝึกฝนและแปลงโฉมโดยวิกเตอร์ จากเจ้าหน้าที่เอฟบีไอผู้แข็งกร้าวก็กลายเป็น ‘เกรซี่ ลู ฟรีบุช’ สาวงามตัวแทนจากเมืองนิวเจอร์ซีได้ในชั่วข้ามคืน

    ภาพที่ 1: เกรซี่ก่อนและหลังแปลงโฉม
                 การแฝงตัวเข้าไปในกองประกวดนางงามทำให้เกรซี่ได้เรียนรู้มุมมองต่าง ๆ ของหญิงสาวหลายรูปแบบไปพร้อมกับการค้นพบตัวตนความเป็นหญิงที่ซ่อนอยู่ของเธอ ความฉลาดและความสง่างามอย่างเป็นธรรมชาติส่งผลให้เธอได้เป็นอีกดาวเด่นที่น่าจับตามองพร้อมกับเบาะแสเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายที่กำลังเผยออกมา แต่ความหุนหันพลันแล่นของเธอก็ส่งผลให้ความลับของการปฏิบัติการเสี่ยงที่จะ
    เปิดเผย

                 ในเวลาต่อมาเอฟบีไอเข้าจับกุมผู้ก่อการร้ายวางระเบิดในแหล่งกบดานได้สำเร็จ ภารกิจแฝงตัวในการประกวดนางงามต้องจบลงถึงแม้หลักฐานจะยังไม่กระจ่างชัด ด้วยความระแวงว่าผู้ร้ายตัวจริงยังลอยนวลอยู่และเป็นอันตรายต่อกองประกวด เกรซี่ยืนยันให้หน่วยปฏิบัติการปักหลักเฝ้าระวังแต่ไม่มีใครรับฟังเธอ ผู้บังคับบัญชายืนยันว่าหากเธอดึงดันจะอยู่ หน้าที่ในการเป็นเอฟบีไอของเธอก็จะสิ้นสุดทันที
    เกรซี่เลือกที่จะอยู่และเข้าประกวดต่อไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศเพื่อจับตามองผู้ต้องสงสัยตัวจริงในกองประกวด เมื่อผู้ชนะกำลังจะได้รับการสวมมงกุฎ เกรซี่ได้ช่วยกู้สถานการณ์และปกป้องทุกคนในงานจากการวางระเบิดไว้ได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับที่เธอได้ยอมรับและปลดปล่อยตัวเองให้โอบรับใน
    ความเป็นหญิงที่เธอหลีกหนีมาตลอดชีวิต

    แด่ความเป็นหญิงที่เชื่อมเราเข้าด้วยกัน

                 ความรู้สึกแรกหลังจากชมภาพยนตร์จบเป็นครั้งแรกคือความประทับใจอย่างประหลาด เพราะด้วยชื่อเรื่องและสไตล์ของภาพยนตร์ที่ไม่ได้สร้างความคาดหวังให้มีความเกี่ยวโยงกับการปลดปล่อยตัวตนและความเป็นหญิง แต่แก่นของเรื่องและพัฒนาการของตัวละครเกรซี่ จากเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มักนิยามตนเองว่า “ฉันไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่น” ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตตลอดจนถึงทัศนคติที่แฝงไปด้วยความเกลียดชังผู้หญิงจากภายในโดยไม่รู้ตัวอันเนื่องมาจากสังคมแวดล้อมที่สร้างมายาคติว่าความเป็นหญิงคือความอ่อนแอและเป็นลักษณะไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะในบทบาทอาชีพของเธอ ดังที่ปรากฏในตอนต้นของภาพยนตร์ว่าเกรซี่คอยเหน็บแนมและดูถูกเหล่าหญิงสาวในการประกวดนางงามที่มีความเป็นผู้หญิงสูงว่าเป็นพวกสาวสวยไร้สมอง
    ภาพที่ 2: เกรซี่เข้ารับตำแหน่งนางงามมิตรภาพ
                 เมื่อภาพยนตร์ดำเนินไปจนถึงบทสรุปเรื่อง เกรซี่ได้เข้าไปในโลกของผู้หญิงที่หลากหลายและผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างเข้าอกเข้าใจ เธอค้นพบความจริงที่ไม่เคยตระหนักมาก่อนว่าผู้หญิงแต่ละคนในการประกวดนางงามเหล่านี้ล้วนเป็นคนฉลาด เก่งกาจและมีความแตกต่างหลากหลายกันไปในทุกมิติ แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงแบบใดก็มีคุณค่าในตนเองและไม่ควรถูกตัดสินอย่างที่เธอเคยคิด พร้อมกันนั้นการได้เข้ามาสัมผัสโลกของนางงามก็ทำให้เธอได้ปลดปล่อยและโอบรับความเป็นหญิงในตัวเองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนดังที่เธอสะท้อนออกมาผ่านการตอบคำถามนางงามรอบชิงชนะเลิศ การเรียนรู้มิตรภาพแบบผู้หญิงและการยอมรับในความเป็นหญิงของเกรซี่เป็นสิ่งที่ประทับใจฉันหลังจากได้ดูจบและนึกชื่นชมว่าภาพยนตร์สามารถทำหน้าที่ในการถ่ายทอดประเด็นนี้ได้อย่างดี มีการเล่าประเด็น
    แก่นหลักของเรื่องได้อย่างเรียบง่าย กลมกลืนและเต็มไปด้วยความสนุกที่สอดแทรกอยู่ในทุกจังหวะ

                 อีกสิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมคือการแสดงของนางงามยุกยิก แซนดรา บุลล็อค ที่เป็นไปอย่างธรรมชาติพอดิบพอดี ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่าทำไมนักแสดงหญิงคนนี้จึงยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเสน่ห์ในการแสดงที่ทั้งตลกและน่ารัก แม้ในบทบาทจะผ่านการแปลงโฉมเป็นนางงามแต่ก็ยังไม่ทิ้งท่าทางความเปิ่นในตัวตนที่เธอเป็น วิธีการหัวเราะหรือคำพูดยียวนที่มีกับเจ้าหน้าที่คู่หูหรือครูฝึกก็ยิ่งทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดูสนุกได้แบบไม่ต้องคิดมาก ดึงความรู้สึกผู้ชมให้คอยเอาใจช่วยเกรซี่ในการประกวดนางงามไปพร้อมกับจับตัวผู้ก่อการร้ายให้สำเร็จอย่างที่เธอตั้งใจไว้

    ทว่าความเป็นหญิงถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของความเป็นชาย

                 แม้ในความรู้สึกของฉันหลังรับชมภาพยนตร์จบจะเพลิดเพลินและประทับใจในพลังมิตรภาพของหญิงสาวมากแค่ไหน หากมองขยายเข้าไปด้วยแว่นของสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ ภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อ 20 ปีที่แล้วเรื่องนี้ก็มีข้อสังเกตอันน่ายุบยิบรำคาญใจปรากฏขึ้นตลอดเรื่อง

                 นอกเหนือจากประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศและปิตาธิปไตยอันเข้มข้นในสังคมการทำงานของเกรซี่ที่ปรากฏขึ้นในฐานะของอุปสรรคที่ตัวละครต้องพบเจอแล้ว ภาพยนตร์ยังสะท้อนให้เห็นว่า
    รูปแบบของสิ่งที่เรียกว่าความงามนั้นคือลักษณะที่ควรจะเป็นของผู้หญิงตามบทบาททางเพศทั้งสิ้น ลักษณะเหล่านั้นได้แก่ท่วงท่าการเดินที่สวยงาม คำพูดที่สุภาพอ่อนหวานและทัศนคติที่เป็นมิตร ในทางกลับกันลักษณะที่เกรซี่เป็นในตอนต้นอย่างท่าทีแข็งแกร่ง ทะมัดทะแมง พูดจายียวนไม่มีหางเสียงอันเป็นลักษณะของบทบาททางเพศของผู้ชายจะถูกมองว่าไม่เหมาะสมและไม่ตรงกับนิยามความสวยงามอย่างที่ผู้หญิงควรจะเป็น กลายเป็นการกำหนดบทบาทว่าผู้หญิงที่สวยงามและเป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคมต้องเป็นความงามที่ไร้ซึ่งลักษณะความเป็นชาย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการจัดแบ่งบทบาททางเพศ
    ที่แยกความเป็นหญิงชายนั้นยิ่งเป็นการส่งเสริมการมีอยู่ของปิตาธิปไตยและปิดกั้นกดทับความ
    เลื่อนไหลทางเพศ
    ภาพที่ 3: เกรซี่ก่อนได้รับการแปลงโฉม
                 ภาพยนตร์ยังสะท้อนทัศนคติและอคติทางเพศในสังคมการทำงานของเกรซี่ อย่างในตอนที่เกรซี่เป็นผู้หญิงไม่สวยไม่ดูดีก็ไม่มีเพื่อนร่วมงานคนไหนจริงจังกับความคิดของเธออย่างมืออาชีพ แต่เมื่อ
    เกรซี่ได้รับการแปลงโฉมจนสวยเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นหญิง เพื่อนร่วมงานรวมถึงผู้บังคับบัญชาก็ยังไม่เชื่อถือเธอเพราะมองว่าเธอไม่ต่างจากเหล่าสาวสวยไร้สมองอย่างที่สะท้อนออกมาในคำดูถูกของผู้บังคับบัญชาว่าเกรซี่ได้รับเบาะแสการสืบสวนมาจากสาวช่างเมาธ์ในปาร์ตีชุดนอน

                ภายใต้แว่นของเฟมินิสต์ยังมีอีกหนึ่งทฤษฎีสำคัญที่ใช้ในการมองภาพยนตร์นั่นคือทฤษฎี Male Gaze หรือการจ้องมองของเพศชายโดย ‘ลอร่า มัลวีย์’ ว่าด้วยสายตาและการจับจ้องในภาพยนตร์ที่แทนสายตาการจับจ้องโดยผู้ชาย การมองไปยังผู้หญิงโดยมีจุดประสงค์เพื่อความพึงพอใจทางสายตาและเชื่อมโยงกับแรงขับทางเพศของผู้ชาย ด้วยการจ้องมองนี้เองได้ทำให้ภาพของผู้หญิงที่ปรากฏในภาพยนตร์มักจะถูกทำให้เป็นวัตถุแห่งการถูกจ้องมอง

                 แน่นอนว่า Miss Congeniality ที่แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่เชิดชูความเป็นผู้หญิงมากเพียงใด
    แต่ด้วยขนบวิถีปฏิบัติตามแบบฉบับของหนังฮอลลีวูดและระบบชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำทุกพื้นที่แม้แต่ในโลกของภาพยนตร์ การถ่ายทอดที่ออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงหนีไม่พ้นรูปแบบของการจ้องมองของเพศชายโดยที่เป็นไปอย่างตั้งใจหรือไม่ก็ได้

                 ยกตัวอย่างในฉากหนึ่งที่เด่นชัดเช่นในตอนที่เกรซี่ได้แฝงตัวเข้าไปในฐานะของนางงาม เธอได้ใช้กล้องแอบถ่ายและเครื่องดักฟังที่ส่งสัญญาณภาพและเสียงไปยังหน่วยปฏิบัติการที่ล้วนเป็นผู้ชาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือเหล่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการล้วนพึงพอใจกับภาพเหล่านางงามจากรัฐอื่นที่ถูกจ้องมองอยู่โดยไม่รู้ตัว การแอบจ้องมองในลักษณะนี้เรียกว่า Voyeurism ที่ตอบสนองความพึงพอใจจากการจ้องมองโดยผู้ชายอย่างเด่นชัด
    ภาพที่ 4: หน่วยปฏิบัติการสืบสวนแอบจ้องมองเหล่าผู้ประกวดนางงาม
                 ภาพยนตร์เรื่องนี้มีแก่นของเรื่องที่ดำเนินไปด้วยการต่อสู้ของตัวเอกหญิงและมิตรภาพผ่านความเป็นหญิงตามขนบเฟมินิสต์ แต่ลักษณะการถ่ายทอดภาพในแต่ละฉากก็ยังคงแฝงไปด้วยการควบคุมการจ้องมองจากเพศชายที่ทำให้ภาพของผู้หญิงที่ถ่ายทอดออกมากลายเป็นลักษณะของวัตถุ
    แห่งการจ้องมอง ดังเช่นทุกฉากที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการประกวดนางงาม ภาพของเหล่าสาวงามที่ออกมาก็มักจะถูกนำเสนออย่างตอบสนองแรงขับทางเพศและมีฐานะเป็นสิ่งของที่ถูกครอบครองจ้องมองอยู่ตลอดเวลา
    ภาพที่ 5: ภาพของเหล่าหญิงสาวที่ถูกถ่ายทอดในภาพยนตร์
                 แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะประกอบไปด้วยมุมมองที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมและการถ่ายทอดที่แฝงไปด้วยการควบคุมผู้หญิงให้ตกอยู่ในฐานะของวัตถุทางเพศอยู่ไม่น้อยในมิติของสตรีนิยม ฉันก็ไม่ปฏิเสธที่จะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ฉันชื่นชอบ Miss Congeniality สามารถทำได้ดีในแง่ของการถ่ายทอดแก่นเรื่องว่าด้วยมิตรภาพและความเป็นหญิง การแสดงของนักแสดงที่มีเสน่ห์และความสนุกสนานที่ได้จากการรับชม แต่แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีประเด็นอีกหลายอย่างที่ต้องได้รับการวิพากษ์เพื่อนำไปสู่รูปแบบของการถ่ายทอดที่ดีกว่า มีความเป็นกลางทางเพศในสายตาของการจ้องมองมากยิ่งขึ้นและลบล้างขนบของการจัดวางผู้หญิงไว้ในฐานะของวัตถุทางเพศเพื่องัดง้างกับอำนาจอันแข็งแกร่งของระบบปิตาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่

                 การวิพากษ์ด้วยแว่นของสตรีนิยมนี้มักจะเป็นมุมมองที่ทำให้เหล่านักเสพสื่อรู้สึกขยาดกับการเรียกร้องของเฟมินิสต์ที่มักก่นด่าและหาว่าทุกสิ่งคือการกดขี่ผู้หญิง ฉันมักได้ยินคำพูดถากถางบนสังคมออนไลน์ว่าการมีอยู่ของเฟมินิสต์นั้นน่ารำคาญเพียงใดเพราะมันมักจะไปทำลายความสุขของการเสพสื่อที่ผู้คนกำลังได้รับจนหมดสนุกเพราะถูกท้าทายด้วยแนวคิดสตรีนิยม คำกล่าวเหล่านั้นทำให้ฉันนึกถึงบทความหนึ่งของ ‘เฌอทะเล สุวรรณพานิช’ ที่ชื่อว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า: ฉันโง่ บ้า และเป็นเฟมินิสต์” ว่าด้วยความอัดอั้นตันใจของคนเป็นผู้หญิง หากแต่เมื่อเราปริปากระบายความอัดอั้นของผู้ถูกกดขี่ สังคมจะตีตราทันทีว่าเฟมินิสต์คือพวกโง่และบ้าที่ใช้แต่อารมณ์ คอยขัดความสุขและทำลายความสงบด้วยการเรียกร้อง คอยวิพากษ์ภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องโปรดของพวกเขาจนหมดอารมณ์สนุกโดยละทิ้งข้อเท็จจริงที่ว่าในโลกนี้มีผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากแค่ไหนที่ถูกกดขี่อยู่ภายใต้ระบอบปิตาธิปไตย

                 ฉันแค่อยากสะท้อนกลับไปว่าสิ่งที่ดูไม่มีอำนาจสลักสำคัญอะไรอย่างสื่อบันเทิงนั้นมีพลังอำนาจอย่างยิ่งยวดที่จะประกอบสร้างและกำหนดทิศทางของสังคม และหากสื่อทำหน้าที่สรรค์สร้างสังคมด้วยความตระหนักรู้ในสิทธิความเท่าเทียมหลากหลายทางเพศ มีส่วนร่วมในการลดทอนอำนาจของ
    ปิตาธิปไตยอันเป็นระบบที่เป็นพิษต่อทุกอัตลักษณ์ทางเพศไม่เว้นแต่เพศชายเองได้แล้วนั้น สังคมอุดมคติที่ทุกเพศสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมย่อมขยับเข้าใกล้กับความเป็นจริงได้อีกขั้นหนึ่ง

    ปิตาธิปไตยจงฉิบหาย ความเท่าเทียมหลากหลายจงเจริญ!






    อ้างอิง

    เฌอทะเล สุวรรณพานิช. “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า:ฉันโง่ บ้า และเป็นเฟมินิสต์” [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา 
    https://chertalay.medium.com/%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%98%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%87%E0%B9%88-%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%AB%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%87%E0%B9%88-%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%8C-e84a9e63325eสืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2564


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in