เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
postscript.cineflections
เปลวไฟในใจที่เปลี่ยนแปลง: เบื้องหลังความจริงคู่ขนานและสาวล่องหนใน Burning
  • No amount of fire or freshness can challenge what a man can store up in his ghostly heart. 

    ไม่ว่าเปลวเพลิงหรือความสดใหม่มากเท่าใด ก็ไม่อาจท้าทายสิ่งที่มนุษย์พึงเก็บงำไว้ในหัวใจอันน่าสะพรึง

    – The Great Gatsby (1925), F. Scott Fitzgerald


    ตกลงเขาวิ่งทำไมนะ


    ออกมาจากโรงพลางถกประเด็นในหนังกับพี่ที่ไปดูด้วยอย่างออกรส หลากความคิด รายละเอียด การกระทำ และคำพูดในหนังที่ค่อยๆ ใช้เวลาคลี่คลายเผย 'ตัวตน' กับผู้ชมต่างมีความหมายให้ตีความไปหมด แม้กระทั่งการจัดฉาก วิธีการนั่ง อากัปกริยาเล็กน้อยของสองหนุ่มหนึ่งสาว และแต่ละการตัดสินใจในทุกฉาก


    พี่ชายเป็นคนเอ่ยคำถามข้างต้น ขณะเรากำลังตื่นเต้นกับบทแน่นปึกที่ถอดและขยายความเรื่องสั้นได้อย่างงดงาม ไว้ลายทั้งมูราคามิและอีจางดง 

    ได้แต่หัวเราะ แล้วตอบว่า "พี่ถามถึงแก่นหนังเลยนะนั่น"



    เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างเกี่ยวพันเป็นเหตุเป็นผลกัน ตัวละคร สถานการณ์ที่ประสบ และเหตุการณ์ที่เร่งเร้า 'ไฟ' ในใจและนอกกาย ล้วนเชื่อมโยงได้ถึงประเด็นหลักต่างๆ ของหนัง รวมถึง 'การวิ่ง' ของจงซู


    จากหนังที่จุดประกายความคิดจนอยู่ไม่สุข ตั้งคำถามกันสองสามวันหลังดู ก็ยังหาคำตอบไม่แน่นอน เราจะมาค้นพบ 'เบื้องหลัง' ของบางส่วนจาก Burning ไปด้วยกันค่ะ


    *บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังและเรื่องสั้นทั้งหมด 

    (SPOILER ALERT!) 



    Simmering Hunger: เพราะหิวโหยจึงแสวงหา

    หนังที่ดีมักอ้อยอิ่งอยู่ในความคิดเราหลังจบลง และผู้กำกับอีจางดง ก็จงใจให้เราตั้งคำถามกับ Burning แล้วเสียด้วย

    "ผมมักจะสงสัยว่าข้อความตรงๆอย่าง 'ความยุติธรรมชนะทุกสิ่ง - justice prevails' จะกระทบชีวิตคนเราอย่างไร ซึ่งทำให้ผมสร้างหนังที่ถามคำถาม" อีจางดงกล่าว "Burning ถามคำถามเกี่ยวกับโลก ความลึกลับของมัน และการเล่าเรื่อง หนังตั้งคำถามว่าเรื่องเล่า (ของหนัง) นั้นใกล้เคียงกับความจริงแค่ไหน"



    เขาเสริมว่าการตีความว่าหนังเกี่ยวกับการ 'ระเบิด' อารมณ์ของคนหนุ่มสาวนั้นเป็นเพียงหนึ่งการตีความ "แต่ละคนมีอิสระที่จะสร้างการเล่าเรื่องของตนเอง ผมอยากให้[ผู้ชม]ตั้งใจรับฟังเรื่องเล่าของคนอื่นและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน" ซึ่งเชื่อว่าทุกคนล้วนอยากถกประเด็นอันคุกรุ่นในหนังเรื่องนี้หลังฉากสุดท้ายทั้งนั้น

    "ผมไม่เคยสร้างหนังที่สื่อความหมายอะไร และไม่เคยอยากทำด้วย ผมแค่อยากถามคำถาม"



    The Sound and The Fury (1929) นวนิยายเรื่องดังของวิลเลี่ยม โฟลค์เนอร์​ นักเขียนคนโปรดของตัวเอก อีจงซู ถูกนิยามโดยนักวิจารณ์มิลเกท (Millgate, 1966) ว่าเกี่ยวข้องกับ "ปัญหาของความจริงอันหาตัวจับยาก - the problem of the elusiveness of truth"  ซึ่งตรงเผงกับความรู้สึกของเราต่อ Burning และความจริงที่ปรากฏกายได้หลายรูปแบบ แล้วแต่คนจะมองมุมไหน อย่างไร 


    หนึ่งในเหตุผลที่จงซูออกวิ่งเป็นกิจวัตรตามรอยแทงของตนเองตามเรือนกระจกทั้งห้า อาจเป็นเพราะเขากำลังเสาะแสวงหา 'ความจริง' ที่จับต้องได้จากชีวิตที่เปลี่ยนแปลงด้วยหลายตัวแปรหรือเปล่า

    โดยเฉพาะตัวแปรแรกอย่างแฮมี ที่ชักนำเหตุการณ์ต่างๆเข้าสู่ชีวิตเขานี่สิ 

    พอกลับมาอ่านทวนคำอธิบายตัวนางเอกในเรื่องสั้น Barn Burning  (1983) ของมูราคามิ เราแอบปลื้มนักแสดงสาวหน้าใหม่อย่างชอนจองซอมากๆ ที่เล่นบทบาทของสาวผู้ดู 'เรียบง่าย' ภายนอก หากเต็มไปด้วยความเหงาเศร้าอ้างว้างและความรู้สึกอัดแน่นรอวันระเบิดที่คนรอบข้างไม่อาจรับรู้ได้



    มูราคามิเองบรรยายตัวละครนางเอกไว้ว่า "ความเรียบง่ายไร้มารยา[ของเธอ]ดึงดูดคนเฉพาะเจาะจงจำพวกหนึ่ง ชายประเภทที่แค่เพียงปราดตามองความเรียบง่ายของเธอก่อนจะเสริมเติมด้วยความรู้สึกอะไรก็ตามที่พวกเขาเก็บไว้ภายใน"

    คนอย่างเบนบอกว่าเธอน่าสนใจ เธอกล่าวกับจงซูเช่นนั้น ฝ่ายเราอาจเดาได้ว่าผู้บรรยายหรือจงซู อาจมองเบนเป็นหนึ่งในชายทีี่ถูกดึงดูดโดยเสน่ห์ความ 'เป็นไปได้' ของเธอ รอยยิ้ม และนััยน์ตาซุกซนที่เชื้อเชิญเพศตรงข้ามเข้ามาใกล้ ก่อนจะสร้างเธอเป็น 'อะไรๆ' โดยอิงความรู้สึกตัวเอง

    ขนาดเราเป็นผู้ชม ก็ยังรู้สึกกับแฮมีของชอนจองซอเช่นนั้น ตั้งแต่ฉากปอกเปลือกส้มล่องหน ที่เธอสอบผ่านฉลุย ตรงฉากในจินตนาการตอนอ่านเลยทีเดียว


    Wild Flames: เพราะอัดอั้นจึงพลั้งระเบิด

    หลังจากเริ่มศึกษาและอ่านบทวิเคราะห์งานเขียนของโฟลค์เนอร์ เราไม่แปลกใจว่าทำไมจงซูถึง 'เห็นตัวเอง' ในเรื่องราวของเขา เพราะนอกจากโฟลค์เนอร์จะกล่าวถึงประเด็นชนบท ชนชั้น ผิวสี และเวลา โฟลค์เนอร์ยังโปรดปรานตัวละครซับซ้อน เข้าถึงยาก เช่นตัวเอกในเรื่องสั้น Barn Burning (1939) ชื่อเดียวกันกับเรื่องสั้นของมูราคามิ


    Barn Burning ฉบับต้นตำรับของโฟลค์เนอร์ กล่าวถึงแอ๊บเนอร์ สโน้ป Abner Snope หัวหน้าครอบครัวชาวนา ผู้ชอบเผายุ้งฉางเพื่อระบายความอัดอั้นต่อการเหลื่อมล้ำของชนชั้นที่มีต่อเจ้าของที่นาผู้ร่ำรวย และเมื่อซาร์ตี้ Sarty ลูกชายคนเล็กพยายามแทรกแซงการเผาครั้งล่าสุดของพ่อ เจ้าของนาก็ไล่ยิงทั้งพ่อและพี่ชายคนโต เรื่องจบด้วยเสียงปืนสองสามครั้งและน้ำตาของซาร์ตี้ ผู้วิ่งหนีจากเหตุการณ์และตัดสินใจไม่มองกลับมา

    งานของโฟลค์เนอร์มักเกี่ยวพันกับ 'ความรุนแรง' ทั้งการเผาไหม้ เลือดสาด และตัวละครผู้บาดเจ็บทั้งกายและใจ พ่อของจงซูนั้นไม่ต่างจากแอ๊บเนอร์ สโน้ป ที่ประสบความแปลกแยกและด้านชาต่อสังคมรอบข้างที่อยู่ และจงใจหลีกหนีตัวเองออกมา 

    เพื่อนบ้านของจงซูไม่มีปัญหาในการเซ็นรายชื่อเรียกร้องเพื่อความยุติธรรมแก่พ่อของเขา หากลุงคนหนึ่งติงจุดที่ว่าเขาไม่ใช่ "เพื่อนบ้านที่เป็นมิตร - a friendly neighbor" ซึ่งตรงกับแอ๊บเนอร์​ หัวหน้าครอบครัวที่เผายุ้งฉางเพื่อสนองอารมณ์ตนเอง โดยไม่ใส่ใจกฏเกณฑ์ของผู้อื่น ปล่อยให้กิจกรรม(ไม่ลับ)ในการเรียกร้อง 'ความยุติธรรมด้านชนชั้น' ของตนทำให้ครอบครัวปั่นป่วน คล้ายจงซูที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างบ้านและที่พักในเมือง เมื่อพ่อเกิดเรื่องขึ้น


    ภาพแรกที่เราจินตนาการเห็นซาร์ตี้ ลูกชายแอ๊บเนอร์ (เทียบเท่าจงซู) ในฉากเปิดของเรื่องสั้นคือเด็กชายผู้นั่งหลังงอ - the boy crouched ในศาล นิ่งเงียบและอึนมึนเหมือนจงซู ขณะรับฟังคำไต่สวนความผิดของพ่อผู้ไม่ยอมปริปากพูด เมื่ออ่านภาษา การเปรียบเปรย และโทนการเล่าเรื่องของโฟลค์เนอร์ในฉากนี้ เรารู้สึกถึงอารมณ์อึดอัดในหนังเลย 


    และอาจเป็นเพราะจงซูของยูอาอินเหมือน 'กล่องดำ' ต่อคนภายนอก นักอยากเขียนที่เก็บตัวอยู่กับตัวเองและความคิด เราได้แต่เฝ้ามองฉากในศาลในหนังผ่านมุมมองบุคคลที่สามอยู่ห่างๆ ไม่สามารถ 'อ่าน' สิ่งที่วิ่งวนอยู่ในหัวและสีหน้านิ่งชินชา กระทั่งได้อ่านมุมมองของซาร์ตี้ใน Barn Burning จากการเล่าของผู้บรรยายเรื่องสั้น(ที่เป็นอีกบุคคลล่องหนปริศนาต่อผู้อ่านเช่นกัน) 

    ซาร์ตี้เป็นเพียงตัวละครคู่ขนานกับจงซูอย่างหลวมๆ แต่เราคาดเดาโดยส่วนตัวว่าความคิดของจงซูในฉากอาจเจือปนด้วยความรู้สึกเช่นนี้ไม่มากก็น้อย ด้วยความคล้ายคลึงของปัญหาภายในครอบครัวที่ทั้งซาร์ตี้และจงซูกำลังเผชิญ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่มึนตึงระหว่างพ่อ-ลูก


    "ตัวเอกนิยายต้องบ้าๆ บอๆ หลุดโลก--" ผู้พิพากษาที่รู้จักกับพ่อของจงซูกล่าวหลังศาลเลิก "--ไม่ใช่หรอ..." เป็นคำถามที่สะดุดหูเราในฐานะคนอยากเขียนเช่นกันขณะดูครั้งแรก ทั้งในเรื่อง 'ดราม่า' ชีวิตของพ่อจงซู และเรื่องเบื้องหลังของตัวละครหลักทั้งสาม

    แต่ละคนล้วนมีปมและต่าง 'บ้า' กำลังพยายาม 'เสาะหา' อะไรสักอย่างของตัวเองทั้งสิ้น


    Numbed Burns: เพราะแบกรับจึงร้อนรน

    นักวิจารณ์เชื่อมโยงนัย 'การเผาไฟ' ของตัวละครในเรื่องสั้นของโฟลค์เนอร์กับโพรมีธีอุส Prometheus หรือไททันคนแรกในตำนานกรีก ผู้นำไฟมาสู่โลกมนุษย์​ และถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่ง 'การควบคุมความอยากกระหายโดยสัญชาตญาณ - control of libidinal impulse' ทั้งอารมณ์และความคิดที่เกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณความเป็นอยู่ของมนุษย์ ไฟที่คุกรุ่นของแอ๊บเนอร์เปรียบได้ดังอารมณ์และพลังงานที่เขาต้องควบคุมเพื่อใช้ให้ถึงที่สุดในสงครามต่อต้านเจ้าของนา 

    ยูนิส (2012) นิยาม Barn Burning (1939) เป็นการตีแผ่เรื่องราวของผู้มีอำนาจและอิทธิพลเพื่ออาจทำให้สงบลงและหลบหนีจากความเจ็บปวดส่วนตัว - personal pain


    ขณะที่แอ๊บเนอร์มองความร่ำรวยและสำเร็จรอบข้างว่าอยู่ไกลเกินเอื้อม (เช่นความรู้สึกของจงซูต่อคนรวยระดับเบน) และถือการจุดไฟเผาหนึ่งในทรัพย์สินของอีกฝ่ายเป็น 'การทำลายตัวเอง - self destructiveness'  หนึ่งทางเลือกระหว่างการ 'นิ่งเฉย' หรือ 'ต่อต้าน'  (passivity vs. defiance) ซึ่งดูเป็นสองทางเลือกของคนระดับจงซู

    ซาร์ตี้ลูกชายกลับมองเห็นความปลอดภัย ความมั่นคง และความเป็นไปได้ที่สิ่งต่างๆ จะดีขึ้นสำหรับเขา ด้วยเชื่อ(อย่างไร้เดียงสา)ว่าพ่อคงไม่มีวันทำร้ายคนอาศัยในบ้านหรูหราขนาดนั้นได้ 

    สำหรับเรามองว่านี่คือการตัดสิน 'ความแตกต่าง' ด้านชนชั้นจากมุมมองของสองวัยที่ผ่านชีวิตมาไม่เท่ากัน การ 'เงยหน้ามอง' บ้านของเจ้าของนาทำให้เรานึกถึงฉากที่จงซูม 'มอง' ขึ้นตึกดูเบนในฟิตเนส และเมื่อเขาคลานขึ้นเนินเพื่อซุ่มดูอีกฝ่ายชมวิวทะเลสาป ซึ่งล้วนแต่เป็นฉากเงียบ ปล่อยให้ผู้ชมตีความสิ่งที่กำลังผ่านความคิดของจงซู ขณะเขาดูเหมือนลุ่มหลง ถลำตัวเข้าไปในโลกของเบนเรื่อยๆ แม้ตอนแรก และต่อๆ มาจะยึดแฮมีเป็นตัวจุดชนวนและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ยากจะนิยามระหว่างเขากับเบน 


    จากซ้าย: Nick Carraway นิค คาราเวย์ (Sam Waterston แซม วอเตอรส์ตัน)  และ 
    Jay Gatsby เจย์ แก๊สบี้ (Robert Redford โรเบิรต์ เรดฟอร์ด) ใน The Great Gatsby (1974, กำกับโดย Jack Clayton แจ็ค เคลย์ตัน, ดัดแปลงบทโดย Francis Ford Coppola ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า)


    ความสัมพันธ์ระหว่างนิคและแก๊สบี้ในนิยาย The Great Gatsby (1925) คลาสสิกโดย F. Scott Fitzgerald เอฟ สก็อตต์​ ฟิซเจอรัลด์ นั้นเกี่ยวกับหนุ่มผู้ต้องมนต์สะกดมหาเศรษฐีที่รวยขึ้นด้วยตัวเอง ('สร้างตัวเอง' ขึ้นมาใหม่) และพาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวในความรัก ความลับ และเบื้องหลังของอีกฝ่าย นิคไม่ยอมละเลิกความชื่นชมของเขาที่มีต่อตัวแก๊สบี้แม้จะรู้ที่มาของความรวยของ 'ลูกชายของพระเจ้า - son of God'  ช่วงท้ายๆของนิยาย ผิดกับจงซู ที่ความสัมพันธ์ของเขากับเบนผันแปรและคลุมเครือ จนฉากแผดเผาสุดท้ายของเรื่อง 


    Flickering Heart: เพราะเปลี่ยนแปลงจึงเป็นอยู่

    "อะไรคือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เราเห็นและเชื่อว่ามีตัวตน และอะไรที่มีอยู่จริง? นั่นคือคำถามของมุมมอง - What is the difference between what we see and believe to exist, and what does actually exist? It's a question of perception."  ผู้กำกับอีจางดงให้สัมภาษณ์กับ The Korea Herald ถึงหนึ่งในประเด็นที่ผู้ชมและนักวิจารณ์นำมาวิเคราะห์และถกกันยาวนานหลังหนังจบ



    ในบทวิเคราะห์ The Sound and the Fury ของเขา นักวิจารณ์วอร์เรน Warren (1966) อ้างอิงถึงนาฏกรรม (drama) ของปรัชญาพลาโต Platonism ในงานของโฟลค์เนอร์ เกี่ยวกับการ 'ระเบิด' ความโกรธเกรี้ยวและอัดอั้นต่อโลกและเลือดเนื้อ

    นักปรัชญา Plato พลาโต จากรูปวาด School of Athens (1509-1511) โดยศิลปิน Raphael ราฟาเอล

    Platonism เป็นปรัชญาที่ยืนยันการ 'เป็นอยู่' ของวัตถุนามธรรม (abstract) ซึ่งจัดอยู่ใน 'โลกที่สาม - third realm' แยกจากโลกจริงอันมีเหตุผล - the sensible external world และโลกภายในแห่งจิตใต้สำนัก - the internal world of consciousness 

    ส่วน Platonic Realism แยกแยะระหว่างความจริงที่มองเห็นได้หากเข้าถึงไม่ได้กับความจริงที่มองไม่เห็นหากเข้าถึงได้ (reality which is perceptible but unintelligible vs. reality which is imperceptible but intelligible) 

    เป็นปรัชญาที่เชื่อใน 'จักรวาลอันเป็นนิรันดร - eternal universe' และว่าความคิดเกิดก่อนสสาร - idea before matter จึงทำให้ความจริงที่จับต้องได้รอบตัวเป็นเพียงการสะท้อนความจริงก่อนหน้า (a reflection of higher truth)


    ตอนที่ค้นเจอตรงนี้เรานึกถึง 'ความยืดหยุ่น' และผันแปรง่ายของผู้คน สิ่งของ และความคิดในงานของมูราคามิ หญิงสาวและแมวที่มักหายตัวไปโดยไร้คำอธิบาย และยังคงเป็นเช่นนั้นจนจบเรื่องสั้นหรือนวนิยาย ต่อเนื่องมาถึงการ 'มี' และ 'ไม่มี' ของสิ่งที่ 'เป็นอยู่' เห็นด้วยตาและสัมผัสได้ใน Burning, การเป็นอยู่ในโลกคู่ขนาน parallel existence ของเบน และการ 'ชักคะเย่อ' ระหว่าง 'ความเป็นจริง' ทั้งสองฝ่ายในขณะเดียวกันในใจของตัวละครเอกทั้งสาม


    โดยผู้บรรยายใน Barn Burning กล่าวถึงความรู้สึกตัวเองขณะมองตัวละครหญิงสาวแสดงละครใบ้ปอกเปลือกส้มว่า: "ผมรู้สึกถึงความเป็นจริงของทุกสิ่งรอบตัวค่อยๆถูกสูบออกไป - I felt the reality of everything around me being siphoned away."  

    'ความเป็นจริง' ค่อยๆ ละลายหายตัวไปรอบเขา เพียงกำลังมองหญิงสาวคนหนึ่งเล่นกลกับ 'มุมมอง - perception' และความคิด การเชื่อใน 'สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง' เท่านั้น


    ยิ่งค้นคว้าไปลึกขึ้น ยิ่งพบปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับ Platonism ของ Heraclitus เฮราคลิตัส ผู้เชื่อในความจริงในรูป 'ความขึงตึง tension' แทนที่จะเป็นความจริงอันคงที่ - static ซึ่งภายหลัง นักปรัชญาฟรีดริค นิตเช่ Friedrich Nietzsche ได้นำความคิดนี้มาประยุกต์กับคอนเซ็ปท์ด้านจรรยาบรรณ - morals ของเขา และหนึ่งนักเขียนผู้ชื่นชมนิตเช่ก็คือมูราคามิ


    ตรงกับทั้งไฟชนิดนามธรรมและรูปธรรม ที่จับต้อง มองเห็น รู้สึกได้ และไฟที่แผดเผาภายใน จาก Barn Burning (1939), Barn Burning (1983), Burning (2018) ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม เฮราคลิตัสเชื่อว่าโลกประกอบไปด้วยไฟ เพราะความขึงตึงและเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ


    เฮราคลิตัส [535 ปีก่อนคริสตกาล, ในเมืองเอพรีสัส ณ​ ไอโอเนีย, เอเซียไมเนอร์] เป็นนักปรัชญาชนชั้นสูง (nobleman) คนแรกในนักปรัชญากรีกก่อนหน้า เขาละทิ้งทรัพย์สินทางโลกและเข้าป่าไปแสวงหาความรู้ ส่งผลให้ปรัชญาของเขาเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและความเป็นไปของโลก

    เฮราคลิตัส, ภาพวาดสีน้ำมัน โดย Henrick ter Bruggen เฮนริค เตอร์ บรูกเกิน (1628)
    (พิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum, อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์)

    เฮราคลิตัสเชื่อว่า 'ชีวิตคือการไหลเวียน[เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง] -  life is flux.' (Panta Rhei ในภาษากรีก) เขาเป็นนักปรัชญาแห่ง 'การไหลเวียนและเพลิงไฟ - flux and fire philosopher' 

     โดยเขาไม่ได้หมายความว่าโลกและทุกสิ่งในโลกกำเนิดมาจากไฟ (λόγος ในภาษากรีก)  เขาเชื่อใน 'ลำดับการเป็นอยู่ของโลก - world order' เช่น 'ไฟอันเป็นอมตะ ลุกโชนขึ้นเป็นช่วงๆ และมอดหายไปเป็นช่วงๆ - an everlasting fire, kindling in measures and going out in measures.' เพราะทุกสิ่งในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ตลอดกาล

    เขายึด 'ไฟ' เป็นตัวกลางเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งโดยไม่ได้เป็นวัตถุในตัวเอง - transforms a substance into another substance without being a substance itself. 


    ตรงนี้ทำให้เรานึกถึง 'ไฟ' ทั้งนามธรรมและรูปธรรมที่เป็น 'แรงขับเคลื่อน' เดินเรื่อง ก่อการเปลี่ยนแปลง รบกวนความสงบและเป็นอยู่ของแต่ละตัวละครและความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาในเรื่องสั้นทั้งสองและหนังที่ตามมา
     
    'ไฟ' บางอย่างในตัวเขากระตุ้นให้กระหายตัดสินใจจุด 'ไฟ' ภายนอกต่อสิ่งและผู้คนรอบตัว จนหลอมตัว 'เป็นส่วนหนึ่ง' ในการเปลี่ยนแปลงของ 'ความเป็นอยู่ของโลก' พร้อม(และเพราะ)กระทบเส้นกั้นบางๆ ระหว่างความจริงสองขั้วของ Platonic Realism 

    'ไฟ' ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบขณะลอยขึ้นเป็นควันสู่ฟ้า ไม่เคยดูนิ่งคงที่สักโมเม้นท์ หากเราก็ยังเรียกมันว่าเป็น 'ไฟ' เดียวกัน และถ้ามันหยุดเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ มันก็จะมอดลงและหยุด 'เป็นอยู่' 

    'ไฟ' อาศัย 'ความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง' เพื่อคง 'ความเป็นอยู่' ดังชีวิตของคนเรา


    ความเปลี่ยนแปลงในขณะคงความเป็นอยู่ของ 'ไฟ' ทำให้เรานึกถึงประโยคที่เบนกล่าวถึงการหายตัวของแฮมี ว่าเธอ 'หายไปเหมือนกลุ่มควัน' และไม่ว่าเธอจะ 'หายไป' จากชีวิตของสองหนุ่มสองชนชั้นด้วยวิธีหรือความจริงใดก็ตาม อาจจะเพิ่มอีกหนึ่งการตีความว่าเธอ 'หายไป' เพื่อ 'ความเป็นอยู่' เปลี่ยนสภาพ จงใจหายตัวจากชีวิตคนรู้จักเข้าสู่โลกและความจริงของเธอเองอีกครั้ง ซึ่งเรา จงซู และเบน ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าเป็น 'ความจริง' แบบไหนกันแน่ 


    เฮราคลิตัสยังเชื่ออีกว่า ดวงจิตเป็นส่วนหนึ่งของไฟที่อยู่เหนือทุกสิ่ง - the soul is a part of [an] all-prevailing fire มีความเท่าเทียมกันระหว่างดวงจิตแห่งโลก (หรือไฟ) -  soul of the world, fire และดวงจิตส่วนบุคคล (ซึ่งจะสุขุมรอบคอบยามแห้งสนิท ใกล้เคียงสภาวะแห่งไฟมากขึ้น - wise only if it is dry, thus getting closer to fire) แม้ดวงจิตจะเป็นสิ่งที่เป็นอยู่แยกจากร่างกาย ดวงจิตเองหรือสิ่งที่เป็นอยู่ทั้งหลาย ก็ไม่พ้นการเปลี่ยนแปลง

    อาจกล่าวได้ว่า จากปรัชญาของเฮราคลิตัส ดวงจิตไม่มีตัวตนที่แน่นอน หากสูญสิ้นไปเรื่อยๆ และกลับมามีชีวิตอีกในช่วงชีวิตของคนๆหนึ่ง 


    ดวงจิตอันแปรผันนี้เกี่ยวข้องกับศูนย์กลางของจักรวาลอย่าง เหตุผล - logos (λόγος ในภาษากรีก) หลักโดยรวม ความจำเป็นและความเป็นระบบของความเป็นอยู่ อันตรงข้ามกับความโกลาหลและไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

    Logos เปรียบดัง 'ไฟ' ที่ไม่มีวันดับ 'ไฟ' ที่แทรกซึมถึงทุกสิ่ง เทียบเท่าแสงสว่างและดวงอาทิตย์ และเปรียบเสมือแรงชักนำชีวิตของมนุษย์ ซึ่งสามารถตีความได้จากมุมมองด้านมนุษยวิทยาหรือการสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์จากมุมมองอันไร้ขอบเขต - infinity 

    เทียบกับพระเจ้าแล้ว มนุษย์เป็นเพียงสิ่งคงอยู่ที่บกพร่องและอ่อนต่อโลก - imperfect and immature being


    เราคิดเชื่อมโยงการนิยามมนุษย์เช่นนี้กับคำพูดของเบน ซึ่งสื่อความต้องการ 'ควบคุม' และมีอำนาจเหนือสิ่งรอบตัวและความเป็นระบบระเบียบในชีวิตเขา เริ่มจากการทำอาหาร: 'ผมชอบทำอะไรที่ผมอยากกิน แบบที่ผมอยากกิน ผมทำเครื่องเซ่นสังเวยให้ตัวเอง แล้วก็กินมัน' เป็นการ 'บูชา' ตัวเองในฐานะพระเจ้าของชีวิตตัวเอง ผู้กุม logos ควบคุมเปลวไฟเพื่อสนองความต้องการ ความกระหาย และแรงผลักดันภายในของตัวเอง 

    และมนุษย์ผู้บกพร่องและอ่อนต่อโลกในที่นี้ก็ไม่ต่างจากตัวละครทอมและเดซี่ - Tom and Daisy ใน The Great Gatsby คู่รักคนรวยผู้ก่อปัญหาปั่นป่วนในชีวิตแก๊สบี้และหนีหายไป หลบหลังกองเงินของพวกเขา ปล่อยให้คนอื่นเก็บกวาดเศษระเบิดและซ่อมแซมความผิดพลาดให้ เกี่ยวข้องกับประเด็น/ธีมด้านคอร์รัปชั่นของจรรยาบรรณ Moral Corruption และจรรยาบรรณเฉพาะที่ Moral Relativism ขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ และสถานการณ์แทนเนื้อหาจรรยาบรรณที่แท้จริง


    เพราะคำสอนของเฮราคลิตัสยก 'ธาตุ' ในธรรมชาติแทนการเปลี่ยนแปลง อีกหนึ่งการเปรียบเทียบที่ดังเป็นคู่กับ 'ไฟ' คือคำสอนด้าน 'น้ำ' หรือ 'สายน้ำที่ไหลเวียน - river of flux' หรือ 'แม่น้ำแห่งความย้อนแย้ง - the river paradox'


    'เราทั้งก้าวและไม่ก้าวลงในแม่น้ำเดียวกัน เราเป็นและไม่เป็น - 

    We both step and do not step in the same rivers. We are and are not.' 


    เราคนที่ก้าวลงในสายน้ำคือคนละคนกับคนที่ก้าวออก มนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงราวสายน้ำ และเฮราคลิตัสกำลังพยายามสื่อว่ามนุษย์ควรปรับตัว ปล่อยตัวเองไปกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าการเดินทางกับสายน้ำที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจะรุนแรงแค่ไหน ซึ่งเป็นแก่นและบทเรียนสำคัญที่เราประทับใจมากๆ จากอีกหนังสองชายหนึ่งหญิงของผู้กำกับชาวเม็กซิโก Alfonso Cuaron อัลฟองซัว คัวรอน: Y Tu Mama Tambien (2001) หนังโร้ดทริปของวัยรุ่นหนุ่มที่เติบโตขึ้นระหว่างการเดินทางกับสาวใหญ่


    "Life is like the surf. 

    So give yourself in like the sea."

    "ชีวิตก็เหมือนการโต้คลื่น 

    จงกล้าพร้อมที่จะรับมันดังเช่นทะเลเป็น"


    และเพราะวลี 'สายน้ำที่เปลี่ยนแปลง' กับชื่อนักปรัชญากรีกสะดุดหูเรามาก พอไปตรวจเช็คความสงสัยให้แน่ใจ ก็พบว่าโน้ตที่เอลลิโออ่านจากหนังสือของโอลิเวอร์ใน Call Me By Your Name (2017) เป็นคำสอนจาก Cosmic Fragments ของเฮราคลิตัส 

    ฉากสั้นๆ จาก Call Me By Your Name (2017)

    'ความหมายของแม่น้ำไหลไม่ได้แปลว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงเพื่อที่เราไม่อาจพบเจอมันอีกเป็นครั้งที่สอง หากหมายความว่าบางสิ่งคงสภาพเดิมได้เพราะการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น'

    สายน้ำคงสภาพเป็นสายน้ำได้เพราะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เฉกเช่น 'ไฟ' ที่เรายังเรียกเป็นไฟจากจุดเดิมแม้แปรสภาพกลายเป็นควัน ทั้งจงซูและเอลลิโอก็ล้วน 'เปลี่ยนแปลง' ภายใน เพื่อรักษาหัวใจและความเป็นอยู่ของตัวเอง



    Hazed Lines: เพราะเลือนลางจึงจดจำ

    "คุณอยากจะ 'สร้างสรรค์' เรื่องแบบไหนละ" ผู้พิพากษาถามจงซู​ 


    จากสายตาของจงซูตลอดเรื่อง Burning เรารู้สึกถึงหนึ่งอารมณ์คือ 'ความเคว้งคว้าง' การค้นหา พยายามเสาะแสวง 'ความจริง' ที่จับต้องได้จากอดีตของตัวเอง จงซูสารภาพกับเบนว่างานของโฟลค์เนอร์สะท้อนตัวเขาเอง และพอผู้พิพากษาแนะๆถึงการเขียนเรื่องพ่อของเขา เราจึงนึกถึงประโยคนี้จากฟรานซ์ คาฟคา Franz Kafka นักเขียนแนว Absurd:


    "ศิลปะสำหรับศิลปิน" คาฟคากล่าว 

    "คือการทุกข์ตรมเพื่อที่เขาจะได้ปลดปล่อยตัวเองผ่านการทุกข์ตรมต่อไปอีก"

    "Art for the artist," said Kafka, 

    "Is only suffering through which he releases himself for further suffering."


    เห็นได้จากฉากที่จงซูเริ่มเขียนในห้องเล็กๆ ของแฮมีท้าย Burning การเขียนเกี่ยวพันแนบแน่นกับความรู้สึกและความเป็นไปของชีวิตจงซู เหมือนนัก(อยาก)เขียนหลายคน(รวมเราด้วย) และประสบการณ์ 'ทุกข์ตรม' ไฟร้อนรุ่มและความเย็นเยือกที่แวะเวียนมาเยือนหัวใจ มักกระตุ้นให้คำหลั่งไหลมา


    อีกแง่ของการมองเส้นอันเลือนลางระหว่างอดีตและปัจจุบันของจงซู คือคำวิจารณ์ของ Jean-Paul Sarte ฌอง ปอล ซาร์ตร์ นักปรัชญาต่อประเด็นด้านอดีตและปัจจุบันใน The Sound and the Fury ของโฟลค์เนอร์​ (1955) (เรารักบทความนี้ของซาร์ตร์มาก ภาษาสวยตรึงใจพอๆกับความหมายที่ลึกซึ้งเลย)

    Jean-Paul Sarte ฌอง ปอล ซาร์ตร์

    ซาร์ตร์ออกความเห็นว่า ปัจจุบันของโฟลค์เนอร์นั้นบีบคั้นอึดอัดถึงขั้นสุด (catastrophic) เป็นเหตุการณ์ที่แอบเข้ามาหาเราคล้ายขโมย ยิ่งใหญ่ และไม่อาจคาดคิด เป็นเหตุการณ์ที่แอบเข้ามาหาเราและหายตัวไป

    คำนิยามนี้ของซาร์ตร์เชื่อมโยงได้กับแฮมี อดีตที่แอบข้ามเส้นเข้ามาในปัจจุบันของจงซู และจุดชนวนเหตุการณ์ใน Burning แล้วก็หายตัวไปโดยไร้ร่องรอย

    นักวิจารณ์อย่างKing คิง (1980) เสริมว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอดีตและปัจจุบันในโฟลค์เนอร์นั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและคลุมเครือ เปรียบดังความทรงจำของจงซูกับบ่อน้ำของแฮมี และเรื่องเล่าของเธอที่เขาเคยล้อเธอตอนเด็กๆ


    ซาร์ตร์ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของเวลา (คล้าย 'ไฟ' และสายน้ำที่แปรสภาพไปเรื่อยๆ ในหัวข้อเบื้องต้น) ว่าจากปัจจุบันเวลานี้ไม่มีอะไรอีก เพราะอนาคตไม่มีตัวตน ปัจจุบันกำเนิดจากต้นตอที่เราไม่รู้จักและขับไล่อีกปัจจุบันออกไป เป็นการเกิดใหม่ชั่วนิรันดร์ เพราะในงานของโฟลค์เนอร์นั้นไม่มีการคืบหน้า ไม่มีอะไรที่มาจากอนาคต ปัจจุบันไม่เคยเป็นความเป็นไปได้ของอนาคต - The present has not first been a future possibillity. 

    การอยู่กับปัจจุบันคือการปรากฏตัวด้วยไร้เหตุผลและแทรกตัวลงในชีวิต โฟลค์เนอร์รู้สึกเช่นนี้ในส่วนลึกสรรพสิ่งและพยายามให้ผู้อ่านรู้สึกตาม

    อดีตเหมือนความจริงที่ชัดเจนเหลือเชื่อ - super reality - อันคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนปัจจุบันนั้นไร้นามและพ้นผ่านไปไว พรุนด้วยหลายรู ไร้แรงต้านทางต่ออดีตที่เข้ามาบุกรุก 

    William Faulkner วิลเลี่ยม โฟลค์เนอร์

    ซาร์ตร์เปรียบบทพูดเดี่ยว (monologue) ของตัวละครโฟลค์เนอร์เป็นเที่ยวบินที่มักตกหลุมอากาศ​ และในแต่ละหลุม จิตใต้สำนักของตัวเอกก็ 'จมลงสู่อดีต' และลอยตัวขึ้นเพื่อจมใหม่อีกครั้ง 

    'ปัจจุบันไม่ได้เป็นอยู่ มันกลายร่าง ทุกอย่างนั้น 'เคยเป็น - 

    The present is not; it becomes. Everything was.''

     ทุกอย่างเป็นเพียงการจับวางของหมู่ดาวแห่งอารมณ์ - a matter of emotional constellations.


    'อดีต' ในที่นี้คือแฮมีอีกเช่นเคย สิ่งที่คงที่จากอดีต ที่มีคุณค่า สะกิดอารมณ์ความรู้สึก ตรงข้ามกับลำดับความเป็นไปตามเวลาและเหตุผล สำหรับโฟลค์เนอร์แล้ว เวลาไม่เคยเลือนหายไป หากสิงอยู่กับเขา เป็นความหลงใหลตามตัว - an obsession เหมือนที่จงซูพยายามวิ่งไล่ตามจับอดีต และหญิงสาวจากอดีตของตัวเอง


    ซาร์ตร์เขียนว่าโฟลค์เนอร์เป็นชายผู้หลงทาง และเพราะเขารู้สึกหลงทาง เขาจึงกล้าเสี่ยงและตามความคิดตัวเองจนถึงที่สุด สลัดอนาคตจากเวลา รวมทั้งมิติทั้งหลายของการกระทำและอิสรภาพ เขาวางแผน แต่แผนติดอยู่กับเขาและไม่สามารถทอดสะพานไปไกลเกินปัจจุบันได้ เขาเป็นนักฝันผู้ถูกความจริงผลักดันให้โบยบิน วนอยู่กับความไร้เหตุผลของเวลา

    เพราะปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดา สิ่งที่ไร้รูปจึงถูกตัดสินจากความทรงจำอันล้นเหลือ 

    ชายในวรรณกรรมของโฟลค์เนอร์คือบุคคลผู้ประสบสูญเสีย โหยหา 'ความเป็นไปได้' ต่างๆ นานาและสามารถนิยามได้โดยประสบการณ์ที่เขาพบเจอมา - a creature bereft of possibilities and explicable in terms of what he has been.

    ฟังดูแล้วคล้ายจงซูและการวิ่งของจงซูเลย


    เราชอบที่ซาร์ตร์กล่าวว่า ลำดับของอดีตคือลำดับของหัวใจ ("The order of the past is the order of the heart.") มันคงจะผิดหากคิดว่าเมื่อปัจจุบันกลายเป็นอดีต มันจะกลายเป็นความทรงจำที่ใกล้ชิดเราที่สุด 

    การแปรสภาพของปัจจุบันอาจทำให้อดีตจมลงสู่ก้นบึ้งของความทรงจำ หรือลอยตัวอยู่เหนือพื้นผิว ความหนักแน่นและความหมายของอดีตต่อชีวิตเราเท่านั้นที่จะตัดสินว่าอดีตจะอยู่ในความทรงจำของเราระดับไหน

    พูดถึงระดับแล้วก็คิดถึงระดับชั้นหัวใจ ห้องและเส้นทางลับในการทับถมความทรงจำของ San Clemente Syndrome ใน Call Me By Your Name (2017) ขึ้นมาจริงๆ


    Matthews แมตทิวส์ (1939) วิเคราะห์ว่าความทรงจำในโลกของโฟลค์เนอร์ไม่เคยก้าวล้ำเส้นความสูญเสีย โฟลค์เนอร์เองยืนยัน 'การเขียน' เป็นการทำลายและสูญเสียตัวตนที่เคยเป็น เขาเข้าหาภาษาเหมือนเข้าหาผู้หญิงและไวน์ 

    เมื่อถามโฟลค์เนอร์ถึง 'สาวในอุดมคติ' เขาก็ให้คำตอบที่ตรงกับสาวในดวงใจของจงซู: 


    "ผมไม่สามารถอธิบายถึงเธอด้วยสีผม สีตา 

    เพราะเมื่อผมวาดภาพเธอแล้ว จู่ๆ เธอก็หายตัวไปอย่างไร้เหตุผล - 

    I couldn't describe her by the color of hair, color of eyes, 

    because once she is described, then somehow she vanishes."


    แคดดี้ Caddy ตัวเอกใน The Sound and The Fury เป็นหญิงสาวที่หายตัวจากครอบครัวไปหลายปีแต่ต้นเรื่อง เป็นตัวละครที่เขียนมาเพื่อให้ 'หายไปกับนิยาย' และเป็นคนที่คนเขียนพร้อมจะหายตัวไปด้วยกัน

    สำหรับเบนจี้ Benji พี่สาวของเขาเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงความสูญเสียมากที่สุด ความทรงจำของเขาไม่มีความทรงจำ เขาไม่สามารถจดจำหรือลืมเลือนอะไรได้ สำหรับเขาแคดดี้เหมือนเพิ่งหายตัวไปไม่กี่วินาที ร่องรอยของเธอสดใหม่อยู่ชั่วกาล และการสะกิดความรู้สึกเล็กน้อยทำให้เขาทรมานเรื่องการหายไปของเธอได้ทันที

    แคดดี้หลอกหลอนน้องชายผ่านความทรงจำ เธอไร้ตัวตน เป็นร่างลึกลับจับต้องไม่ได้ ความเป็นอยู่ที่ไม่มีอยู่จริง ที่คงอยู่เพียงในรูปไม่กี่รูป ชัดเจนแต่เหมือนฝัน เธอกุมอำนาจเหนือคนที่เธอทิ้งไว้จากระยะห่างไกลของเธอเอง (Bleikastein, เบลก้าสตีน, 1990) ตรงนี้อธิบายถึงอารมณ์ของจงซูที่ 'วิ่งไล่' อดีตและคลุกตัวอยู่ในห้องของแฮมีหลังเธอหายไป จ้องมองรูปของเธอ และคิดถึง รู้ตัวว่ารักเธอ ผูกพันกับเธอ ต่อเมื่อเธอไม่มีตัวตนในชีวิตเขาแล้ว

    ความทรงจำกลับทำให้ความรู้สึกสูญเสียเลวร้ายขึ้น อดีตถูกจดจำด้วยความเจ็บปวดแทนความสงบ จงซูรู้สึกถึง 'การมีอยู่ - presence' ตัวตนของแฮมีจากการจากไปของเธอ รู้สึกถึงความใกล้ชิดจากความห่างไกล


    ด้านหญิงสาวอีกคนในชีวิตของจงซู​อย่างแม่ของเขา ก็กลับมาโดยไม่คาดคิด แม่ของจงซูคล้ายแม่ๆของโฟลค์เนอร์ที่ทิ้งลูกไป เป็นคนคุยจ้อที่มาพึ่งพิงลูกชายในยามยาก (โฟลค์เนอร์เชื่อในแม่ผู้ฟูมฟักดูแลลูกขณะเป็นหญิงที่สลบปากสงบคำ - Weinstein, ไวน์สตีน 1992) และเราก็มองเห็นเธอผ่านเลนส์ของลูกชายคนปวดร้าวยากจะแก้ไขของเธอ


    Catching Smoke: เพราะแตกหักจึงสูญหาย

    Barn Burning ของโฟลค์เนอร์จบลงด้วยเสียงกระสุนปืน และเด็กชายที่วิ่งหนีครอบครัวของเขาโดยไม่มองกลับมา ความรุนแรงที่ปรากฏชัดในฉากไคล์แมกซ์และจุดจบของ Burning ที่ประทุระหว่างตัวเอกทั้งสอง

    ซาร์ตี้ยังคงโหยหิวทางกาย - physically hungry ในฉากจบ เพราะไม่มีอะไรสรุปแน่นอน เขาหนาวเย็น เพราะตีตัวออกห่างครอบครัว เป็นการเริ่มต้นใหม่โดยสละตัวจากผลกระทบอันบีบคั้นของอดีต เฉกเช่นจงซูผู้กำจัดชายที่เชื่อมโยงเขากับอดีตอย่างแฮมี และเปลื้องผ้าตัวเองในหิมะ ขับรถออกโดยไม่หันกลับมองกองไฟที่ลุกโชน

    วิคเกอรี่ (1992) กล่าวถึงการดำเนินเรื่อง The Sound and the Fury ของโฟลค์เนอร์ว่ามีความคืบหน้า การคลี่คลายปมของพล๊อต หากแต่ละช่วงตอนนั้นคงที่ จิตสำนึกของตัวละครกลายเป็นตัวกลางชึ้แจงและถูกชี้แจงถึงสถานการณ์หลักของเรื่อง

    ด้วยการเล่าเรื่องสไตล์ยึดโครงสร้างของเรื่องให้คงที่ ขณะทิ้งสถานการณ์หลักของเรื่องให้คลุมเครือ โฟลค์เนอร์บังคับให้ผู้อ่าน 'สร้างเรื่อง - reconstruct' ขึ้นมาใหม่ด้วยตนเองและพยายามเข้าใจความสำคัญของเรื่องด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกันที่พยายามจับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่อแก่นเรื่อง ซึ่งเราเดาว่าเป็นประสบการณ์เดียวกับการดู Burning ของเราและหลายๆคน 

    พอกลับไปคิด กลับไปดู สร้างเรื่องขึ้นมาเองในความคิด เราก็รู้สึก connect เชื่อมโยงกับเรื่องมากขึ้น

    ความอมตะและน่าดึงดูดใจของวรรณกรรมโฟลค์เนอร์ในสมัยปัจจุบันในคำของนักวิจารณ์วอร์เรน Warren (1966) ตรงกับความเห็นของเราต่อ Burning ของอีจางดง 

    โฟลค์เนอร์ และหนังของผู้กำกับนักวิชาการคนนี้ ต่างเป็นตัวแทนของบางสิ่งที่แปลกแตกต่างและสูญหาย เป็นสิ่งที่โลกยุคใหม่รู้สึกสับสน คลางแคลงใจอย่างลึกซึ้ง และจึงไม่อาจมองข้ามได้ ถึงแม้ว่าต้องการจะมองข้ามมากเพียงใดก็ตาม

    .


    ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ <3


    คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ

     
    ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ


    หรือจะแวะมาทาง twitter: @cineflectionsx 

    หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ



    ขอบคุณค่า

    x

    ข้าวเอง.


    ขอบคุณรูปบางส่วนจาก FB: Documentary Club


    อ้างอิงข้อมูลจาก - References:

    Bleikasten, A. (1990). The Quest for Eurydice In D. Minter (Ed.), The Sound and The Fury (pp. 413-430). New York, NY: Norton Critical Editions.

    Faulkner, N. (1939). Barn Burning. In R. P. Warren, A. Erskine (Ed.), Short Story Masterpieces (pp. 148-168). New York: Dell Publishing.

    Faulkner, N. (1994). The Sound and The Fury (D. Minter, Ed.). Norton Critical Editions. New York: Norton. (Original work published 1929).

    Fitzgerald, F. S. (1926). The Great Gatsby. London, England: Penguin Books.

    Kafka, F. (2004). The Metamorphosis (S. Corngold, Trans. Ed.) Bantam Classic Reissue. New York, NY: Bantam Dell. (Original work published 1915).

    King, R. E. (1980). A Southern Renaissance. In D. Minter (Ed.), The Sound and The Fury (pp. 246-255). New York, NY: Norton Critical Editions.

    Kirchdorfer, U. (2015). Flight in William Faulkner's BARN BURNING. The Explicator, 73(2), 115-119. DOI: 10.1080/00144940.2015.1030583.

    Matthews, J. T. (1982). The Discovery of Loss in The Sound and The Fury In D. Minter (Ed.), The Sound and The Fury (pp. 370-392). New York, NY: Norton Critical Editions.

    Milgate, M. (1966). The Sound and The Fury: [Story and Novel] In D. Minter (Ed.), The Sound and The Fury (pp. 297-310). New York, NY: Norton Critical Editions.

    Sarte, J. P. (1955). On The Sound and The Fury: Time in the Work of Faulkner In D. Minter (Ed.), The Sound and The Fury (pp. 265-275). New York, NY: Norton Critical Editions.

    Vickery, O. W. (1992). The Sound and The Fury: A Study In Perspective In D. Minter (Ed.), The Sound and The Fury (pp. 278-289). New York, NY: Norton Critical Editions.

    Warren, R. P. (1966). Faulkner: Past and Future In D. Minter (Ed.), The Sound and The Fury (pp. 243-246). New York, NY: Norton Critical Editions.

    Weinstein, P. M. (1970). "If I Could Say Mother": Construing the Unsayable About Faulknerian Maternity In D. Minter (Ed.), The Sound and The Fury (pp. 430-442). New York, NY: Norton Critical Editions.

    Yunis, S. S. (1991). The Narrator of Faulkner's "Barn Burning." The Faulkner Journal, 6(2), 23-31. https://search.proquest.com/openview/bf77031c113d243b5aba462b042b2f67/1?pq-origsite=gscholar&cbl=1819860.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in